วิธีสร้างความเข้มแข็งให้แก่มหานครด้วยการตั้งมหาวิทยาลัยวิจัย


เป้าหมายสำคัญคือการสร้างงาน เขาต้องการให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ๓๐,๐๐๐ คน ในสหรัฐอเมริกาเป้าหมายการสร้างงานเป็นเรื่องสำคัญมาก ในการคาดหวังบทบาทของอุดมศึกษา

วิธีสร้างความเข้มแข็งให้แก่มหานครด้วยการตั้งมหาวิทยาลัยวิจัย

ข่าว University Teams Bid for NYC Research Campus ในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๔ พ.ย.​๕๔ ทำให้ผมคิดถึงประเด็นนี้   ว่านี่คือตัวอย่างของวิธีการสมัยใหม่ในยุคความรู้ ในการใช้กระบวนการทางความรู้และ การสร้างนวัตกรรม ในการพัฒนามหานคร ซึ่งในกรณีนี้คือนครนิวยอร์ค

วิธีการนี้คือการที่มหานครลงทุนสร้าง research campus  และประกาศให้มหาวิทยาลัย และบริษัทต่างๆ แข่งขันกันเสนอแผนการดำเนินการ   โดยนครนิวยอร์คจะจัดพื้นที่ดิน และทุน ๑๐๐ ล้านเหรียญให้ 

โปรดสังเกตว่า เป้าหมายสำคัญคือการสร้างงาน เขาต้องการให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ๓๐,๐๐๐ คน   ในสหรัฐอเมริกาเป้าหมายการสร้างงานเป็นเรื่องสำคัญมาก ในการคาดหวังบทบาทของอุดมศึกษา    ตามข่าวนี้มี ๕ มหาวิทยาลัยเสนอโครงการเข้าแข่งขัน

ผมมองว่า นี่คือวิธีลงทุนสนับสนุนอุดมศึกษาแบบมีเป้าหมายชัดเจน และเน้นให้แก่สถาบันที่เข้มแข็ง เพราะเน้นการแข่งขันเสนอโครงการ   ใน สรอ. เขาทำเช่นนี้ได้เพราะสังคมของเขาไม่ใช่สังคมอุปถัมภ์     ในสังคมที่เน้นความเท่าเทียมในการได้รับอุปถัมภ์ (แบบไทย)    จะทำโครงการเช่นนี้ยาก   เพราะจะมีคนค้าน ว่าผู้ได้รับประโยชน์ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ 

ที่จริงตามข่าวนี้ไม่ใช่การตั้งมหาวิทยาลัยใหม่   แต่เป็นการตั้งวิทยาเขตวิจัย   โดยนครนิวยอร์คคิด วางแผนอย่างดี ว่าลงทุนอย่างนี้แล้วจะคุ้มค่าอย่างไร หรือเกิดประโยชน์อย่างไรต่อเมือง    ต้องมีเงื่อนไขรายละเอียด ให้ดำเนินการอย่างไร   แล้วจึงประกาศให้มหาวิทยาลัยและบริษัทเสนอโครงการ    ตามข่าวนี้มหาวิทยาลัย ๕ แห่ง ที่เสนอโครงการ เป็นมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของโลกทั้งสิ้น 

ผมอยากเห็นการใช้กลไกทำนองนี้ ในการใช้สถาบันอุดมศึกษา ขับเคลื่อนความเจริญให้แก่พื้นที่ ในประเทศไทย   โดยเราต้องเปลี่ยนเงื่อนไข ให้เป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อบริบทในแต่ละพื้นที่ของไทย    คือหมายความว่า หากจะทำในสังคมไทย ควรมีเงื่อนไขหลายแบบเพื่อเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ที่แตกต่างกัน   ก็จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละกลุ่มได้มีโอกาสร่วมมือทำงานสร้างความเจริญให้แก่พื้นที่ได้หลากหลายแบบ

วิชาการสายพัฒนาสังคม มีหลากหลายรูปแบบ   

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ย. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 467752เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2011 04:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท