dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

จิตสาธารณะกับการปลูกฝังในเด็กปฐมวัย


จิดสาธารณะ:การปลูกฝังในเด็กปฐมวัย

จิตสาธารณะกับการเสริมสร้างในเด็กปฐมวัย

                      ปัจจุบันนี้เราจะพูดถึงเรื่องจิตสาธารณะกันบ่อยๆ ที่พูดกันนั้นพูดในลักษณะหรือในแง่ลบว่าทำไมหนอคนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีจิตสาธารณะกันเลย ดูจากปัญหาขณะนี้ที่เกิดขึ้นเพราะส่วนหนึ่งมาจากการขาดการมีจิตสาธารณะกัน แล้วเราจะทำอย่างไรดีเพราะทุกคนก็อาศัยอยู่ภายในสังคมเดียวกันเมื่อมีปัญหาแล้ว ทุกคนก็ได้รับผลกระทบถ้วนทั่ว ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมมือทำให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นให้ได้ถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของจิตใจ ความรู้ และการปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการอบรมเลี้ยงดูที่ถูกต้อง เหมาะสมและได้ฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาและอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือผู้อบรมเลี้ยงดูเด็กต้องปลูกฝังกันมาเลยเพราะเป็นเรื่องของจิตใจนำไปสู่การปฏิบัติจนเป็นนิสัย จิตสาธารณะถ้าพูดให้ง่ายขึ้นนั้นหมายถึง การมีจิตที่ตระหนักรู้ และคำนึงถึงบุคคลอื่น มีความรู้สึกเอาใจใส่ในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม สังคม มีการปฏิบัติตนในการดูแล บำรุงรักษา และแนะนำช่วยเหลือสังคม หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้สังคม ส่วนรวมเกิดความชำรุดเสียหาย ในสิ่งที่สังคมใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือสิ่งที่เป็นสาธารณะสมบัติ รวมถึงความสามารถนำสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มาใช้อย่างประหยัดและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและถือเป็นหน้าที่ในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสาธารณะสมบัติ และเคารพสิทธิในการใช้สาธารณะสมบัติร่วมกับผู้อื่นที่อยู่ร่วมกัน

                จิตสาธารณะเป็นด้านหนึ่งในจิตสำนึกของคนทั่วไปซึ่งมีอยู่ 3 ด้านที่เป็นหลักของมนุษย์เราด้านที่กล่าวมานี้ได้แก่

               จิตสำนึกเกี่ยวกับตนเอง เป็นจิตสำนึกเพื่อพัฒนาตนเองทำให้ตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น

ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ความอดทน ความขยัน เป็นต้น

              จิตสำนึกเกี่ยวกับผู้อื่น เป็นจิตสำนึกของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของคนในกลุ่ม ในสังคมใดสังคมหนึ่งหรือกลุ่มชนหนึ่ง เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น

              จิตสาธารณะหรือจิตสำนึกเกี่ยวกับสังคม เป็นจิตสำนึกที่ตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งสำคัญคือคำนึงถึงผู้อื่นที่มีความสัมพันธ์กันในสังคม เช่น จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม จิตสำนึกด้านเศรษฐกิจ จิตสำนึกด้านวัฒนธรรมประเพณี จิตสำนึกด้านการเมือง เป็นต้น จิตสำนึกเกี่ยวกับสังคมดังกล่าวมีรายละเอียดหรือมีองค์ประกอบสำคัญของจิตสาธารณะด้านนั้นๆอีก อย่างจิตสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์สาธารณะสมบัติต่างๆ นั้นคือ จิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างชาญฉลาด ทั้งส่วนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นมา โดยใช้อย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ใช้ได้ยาวนานที่สุด จิตสาธารณะในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสังคมเรามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ประเทศเราจนกระทั่งถึงโลกที่เราอยู่ร่วมกัน การอบรมเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายตามพัฒนาการและอายุของเด็กจึงจะเกิดพฤติกรรมตามเป้าหมาย สำหรับระดับอายุที่ควรปลูกฝังให้มีจิตสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมมีดังนี้

                      อายุ 3-4 ปี ไม่ทำลายสิ่งของเครื่องใช้ส่วนรวม

                      อายุ4-5 ปี รักษาสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน

                      อายุ 5-6 ปี ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

                      ดังนั้นการปลูกฝังจิตสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมถ้าจะให้เกิดขึ้นต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย แล้วสังคมเราคงจะไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามที่เราได้ประสบกันอยู่ขณะนี้ โดยต้องอาศัยสถาบันครอบครัว โรงเรียนและชุมชน ช่วยกันฝึกอบรมและเลี้ยงดู ให้ความรู้ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจ สร้างกรอบความคิด ตลอดจนสร้างเจตคติ และทักษะ กระบวนการปลูกฝังให้กับเด็กต้องเริ่มจากให้เด็กมีความรักสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้ในลักษณะของรูปธรรม ฝึกการปฏิบัติในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ไม่เห็นแก่ตัว เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และที่สำคัญเด็กปฐมวัยต้องอาศัยตัวแบบที่ดีด้วย ฉะนั้นผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องเป็นตัวแบบในเรื่องจิตสาธารณะในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

 

              

 

หมายเลขบันทึก: 467698เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท