แนวทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ของการป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสวนไม้ผล รองศาสตราจารย์ ดร.รวี เสรฐภักดี 1/


แนวทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ของการป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสวนไม้ผล รองศาสตราจารย์ ดร.รวี เสรฐภักดี 1/

แนวทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน 

ของการป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสวนไม้ผล 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.รวี  เสรฐภักดี 

 

     สภาวะน้ำท่วมขังสวนไม้ผลที่เกิดขึ้นในทุกระยะ  ได้สร้างความสูญเสียให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ได้พบมาก่อนนั้นเป็นเรื่องของความแห้งแล้ง ชาวสวนจึงไม่ค่อยได้คำนึงในเรื่องนี้มากนัก  ภัยจากน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นในปี  2538-39  และต่อเนื่องมาในปี 2539-40  ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชาวสวนเป็นอย่างมากจนถึงกับสิ้นเนื้อไป  ดังนั้น  เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่อาจเกิดตามมาในอนาคตอันใกล้นี้  จึงได้จัดทำเอกสารฉบับนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการป้องกันและการแก้ไขปัญหาของสภาวะน้ำท่วมขัง เพื่อให้ประโยชน์แก่ชาวสวนไม้ผลและนักวิชาการหรือนักส่งเสริมที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ปฏิบัติต่อไป

 

สำหรับการป้องกันและการแก้ไขนั้น  แบ่งได้เป็น 3 สถานะ ดังนี้

 

     1. การป้องกันมิให้น้ำท่วมขัง   หากเป็นสภาพพื้นที่ราบลุ่ม  ขอให้เกษตรกรตรวจดูความแข็งแรงของคันดินรอบสวน  โดยให้พิจารณาถึงความสูงและความหนาของคัน  หากพบมีจุดบกพร่องหรือมีความสูงไม่เพียงพอให้รีบดำเนินการเสริมคันดังกล่าวก่อนภาวะฝนตกชุกจะมาถึง  สำหรับสวนในสภาพพื้นที่ดอนนั้น  น้ำท่วมขังมักเกิดจากน้ำป่าไหลหลากซึ่งระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว  ความสูญเสียมักเกิดจากความแรงและต้นไม้ที่น้ำพัดพารวมทั้งตะกอนดินที่อาจทับถมไว้อันเป็นสิ่งที่ยากจะป้องกันได้   อย่างไรก็ตาม  การป้องกันการชะล้างหน้าดินหรือมีแนวรั้วหรือมีการปลูกแนวไม้บังลมที่แข็งแรงอยู่ก่อนแล้วก็สามารถลดความรุนแรงนี้ลงได้เป็นอย่างมาก ในกรณีที่ทราบสถานการณ์ล่วงหน้า หากมีโอกาสแนะนำให้ตัดแต่งเอาใบออกประมาณ 25-30% โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นใบอ่อน ซึ่งใบเป็นส่วนที่มีการใช้อาหารมากที่สุด

 

     2. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของสวนไม้ผลในขณะที่ถูกน้ำท่วมขัง   แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

 

          1. ในสภาพของสวนในที่ลุ่ม  ให้ชาวสวนรีบดำเนินการจัดเสริมสร้างคันดินโดยรอบให้แข็งแรงพอที่จะรองรับแรงดันของน้ำให้ได้  จากนั้นรีบสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้สวนแห้งโดยเร็วจนน้ำในสวนลดลงสู่ระดับปกติ

 

          2. ในกรณีที่สวนนั้นไม่สามารถเสริมคันดินได้         สิ่งที่พอจะประทังได้คือ การช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำโดยใช้วิธีการพ่นอากาศลงในน้ำที่ท่วมขังอยู่  ซึ่งอาจใช้มอเตอร์หรือเครื่องยนต์หมุนกังหันน้ำหรือใช้การตีให้น้ำที่ท่วมขังมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มออกซิเจนให้ละลายในน้ำได้มากขึ้น โดยใช้หลักการเดียวกับการปลูกพืชในน้ำยา (hydroponics)       และรากของต้นไม้สามารถนำไปใช้ได้ส่วนหนึ่งจนกว่าน้ำลด

 

     3. ข้อควรปฏิบัติภายหลังน้ำลด    สิ่งที่ต้องพึงระวังไว้ให้มากทั้งสวนในสภาพพื้นที่ลุ่มและที่ดอนคือ เมื่อระดับน้ำลดแล้วแต่ดินยังมีความเปียกชุ่มหมาดอยู่  ห้ามเดินย่ำผิวดินโดยเด็ดขาด  เนื่องจากจะมีผลทำให้ดินอัดแน่นระบบรากต้นไม้ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนอยู่แล้วจะได้รับอันตรายมากขึ้นและต้นตายได้โดยง่าย  ควรปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 วันจนหน้าดินแห้งก่อน จากนั้นให้ใช้ปุ๋ยทางใบและผสมกับสารเคมีต่าง ๆ ฉีดพ่นให้กับต้นไม้ผลตามสัดส่วน  ต่อน้ำ 20 ลิตร  ดังต่อไปนี้

 

  1. ปุ๋ยทางใบ อัตราส่วนของ N-P-K ประมาณ 3:1:2 เช่น 15-5-10 หรือ 4:1:3 เช่น 20-5-15 หรือที่มีสูตรใกล้เคียงกัน  ปริมาณ 30-40  กรัม

  2. ธาตุอาหารย่อย (trace elements)   5 กรัม

  3. น้ำตาลทรายขาว  1 % (น้ำตาล 200 กรัม)

  4. สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น  คอปเปอร์อ๊อกซีคลอไรด์ หรือ แมนโคเซ็บ ฯลฯ

 

     ดำเนินการฉีดพ่นให้กับต้นไม้ผล 2-3 ครั้ง ห่างกันประมาณ 3 วัน/ครั้ง เพื่อฟื้นคืนสภาพต้นโดยเร็ว เมื่อต้นไม้ผลมีการผลิยอดอ่อนขึ้นมาใหม่จนสามารถเจริญเติบโตกระทั่งใบแก่สมบูรณ์แล้ว จึงจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความอยู่รอดของต้นไม้นั้นได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาใบอ่อนชุดนี้ให้สมบูรณ์และปลอดภัยจากการเข้าทำลายของศัตรูพืชต่าง ๆ ในระยะใบอ่อนนี้  มิฉะนั้นแล้วต้นอาจตายได้โดยง่าย  หากต้นมีการออกดอกและติดผลตามมาในระยะนี้ให้กำจัดออกให้หมดเพื่อรักษาต้นแม่ไว้ เนื่องจากต้นไม้ผลจำเป็นที่จะต้องฟื้นคืนสภาพจากสภาวะน้ำท่วมขังให้มีความสมบูรณ์ดังเดิมก่อน

 

     ข้อเตือน   ต้นไม้ผลที่อยู่ในสภาพของน้ำท่วมขังไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาสั้นหรือยาวก็ย่อมเป็นผลเสียหายทั้งสิ้น  พืชแต่ละชนิดหรือเป็นชนิดเดียวกันหรือพันธุ์เดียวกันก็ตาม ความสามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมขังก็ย่อมแตกต่างกันออกไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้

 

     1. ธรรมชาติหรือชนิดของไม้ผล ไม้ผลแต่ละชนิดหรือแต่ละพันธุ์มีความทนทานต่อสภาวะน้ำท่วมขังได้ไม่เท่ากัน  บางชนิดอาจอ่อนแออย่างมาก  เช่น  ขนุน จำปาดะ มะละกอ กล้วย ทุเรียน  ในขณะที่บางชนิดสามารถทนทานได้มากกว่า  เช่น มะขาม ส้มโอ  มะกอกน้ำ มะพร้าว เป็นต้น

     2. ความสมบูรณ์หรือความแข็งแรงของต้น  ต้นไม้ที่มีการดูแลรักษาให้มีความสมบูรณ์ดี มีอาหารสะสมในต้นอยู่สูงในระยะก่อนถูกน้ำท่วมขัง จะมีความสามารถอยู่ได้นานมากกว่า ต้นไม้ผลที่มีการติดผลดกมากและภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีอาหารสะสมในต้นต่ำมาก  หากถูกน้ำท่วมขังจะตายไปในระยะเวลาอันสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่สมบูรณ์กว่าในแปลงเดียวกัน

 

     3. ระยะของการเจริญเติบโต  ช่วงระยะที่มีการผลิใบอ่อนโดยเฉพาะในระยะใบพวง (เป็นระยะที่แผ่นใบขยายเต็มที่แล้ว  แต่ใบยังมีลักษณะที่อ่อนนุ่ม) ต้นจะมีความอ่อนแอมากที่สุด เนื่องจากต้นได้นำเอาอาหารสะสมจากรากไปใช้ในการสร้างใบ ทั้งนี้เพราะใบเป็นส่วนที่มีการใช้อาหารมากที่สุดในขณะที่ถูกน้ำท่วมขัง ดังนั้นการตัดแต่งกิ่งให้มีจำนวนใบลดน้อยลงในช่วงก่อนน้ำท่วมขังก็ย่อมสามารถที่จะช่วยยืดอายุต้นไปได้

 

     4. อายุของต้นไม้ผล   ต้นที่มีอายุน้อยหรือ            มีพุ่มต้นขนาดเล็กจะมีความทนทานได้น้อยกว่า นอกจากนี้ระดับความสูงของน้ำที่ท่วมขังก็มีบทบาทที่สำคัญด้วย หากส่วนของใบอยู่ใต้น้ำแล้วก็จะตายได้โดยง่าย

 

     5. สภาพแวดล้อมที่ถูกน้ำท่วมขัง     อุณหภูมิ   ความเร็วลม   รวมทั้งสภาพของน้ำที่ท่วมขังก็เป็นส่วนประกอบร่วมด้วย  อุณหภูมิสูง ลมพัดจัดและน้ำนิ่งย่อมทำให้ความอยู่รอดของต้นไม้ผลสั้นลง ต้นที่ถูกลมพัดโยกคลอนมักมีโอกาสตายสูง

   

เอกสารประกอบการค้นคว้า

 

รวี  เสรฐภักดี.  2540.  ต้นไม้ผลในสภาวะถูกน้ำท่วมขังและแนวทางการแก้ไข, หน้า 9-20.  ใน อุทกภัย : ผลกระทบต่อสวนไม้ผลและแนวทางแก้ไข.  สถาบันวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

 

รวี  เสรฐภักดี และธีระ  ภู่หิรัญ.  2540. สภาวะน้ำท่วมสวนของ คุณพยงค์ ภู่หิรัญในปี 2539, หน้า 69-84.  ใน อุทกภัย : ผลกระทบต่อสวนไม้ผลและแนวทางแก้ไข. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

                         

ขอบพระคุณพี่สมชายมากครับที่คอยดูแลท่านอาจารย์

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ตามที่อยู่ข้างต้น หรือที่หมายเลขโทรศัพท์  ดังนี้

 

ที่ทำงาน 034-281-084 ,  081-643-2681

Fax 034-281-086         e-mail:  [email protected]

ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ 14 ตุลาคม  2554

 

 

      ข้าราชการไทย ควรดูไว้เป็นตัวอย่างครับ สำหรับการบริการและการเข้าแก้ไขปัญหาของประเทศ ในด้านต่างๆ ซึ่งทางด้านการเกษตร ท่าน รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี ให้ กระผมรีบนำข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ อีกทั้งอนุญาติให้ใช้เบอร์ โทรศัพท์ส่วนตัวของท่านอาจารย์ ใช้ในการติดต่อโดยตรง พอแล้วครับ ไม่อยากพิมพ์ต่อ ดีใจครับ                                                  

  


ความเห็น (28)

สวัสดีครับ อ.สามารถ.

ผมไม่มีโอกาสได้โทร.มาคุยกับอาจารย์ซ๊ะนาน เพราะน้ำท่วมบ้านที่สิงห์บุรีตั้งแต่วันที่ 2ก.ย.54ถึงวันนี้ย่างเข้าเดือนที่ 3 แล้ว น้ำท่วมบ้านสูงสุด 3.20 เมตรเท่านั้นเอง ขณะนี้น้ำเริ่มลดลงไปบ้างแล้ว วันนี้ผมส่งรูปตอนน้ำไหลเข้าท่วมสวนมะนาวมาให้อาจารย์ดู(ตอนที่น้ำเริ่มไหลเข้ามาท่วมใหม่ๆ)

เพียง 1 คืนเท่านั้น สภาพของสวนมะนาวก็กลายเป็นทะเลสีฟ้า สวยดีครับ

วันที่ 15 ก.ย.54 เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อน 3,618 ลบ.ม./วินาที น้ำเริ่มไหลล้นคลองชลประทาน และไหลเข้าสวนมะนาวตอนกลางคืน พอตอนเช้าน้ำไหลเข้าท่วมเต็มสวน มิดต้นมะนาวที่ปลูกใหม่ไปแล้วเป็นบางส่วน

ตอนเช้า อบต.นำรถแบ็คโฮมาขุดดินยกคันดินป้องกันน้ำไม่ให้ไหลล้นคันคลองชลประทาน เพราะชาวนายังไม่ได้เกี่ยวข้าวกันเลยทั้งทุ่ง

คันดินที่รถแบ็คโฮขุดทำเป็นคันกั้นน้ำ สูงเกือบ 1 เมตร

คันดินที่สร้างคันดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว

คันดินที่สร้างคันดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว

อ.สามารถครับ น้ำท่วมบ้านดีไปอย่างครับ ใช้พายเรือแทนรถ ไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน แถมได้ออกกำลังกายทุกเช้า ทุกเย็น (ตอนเช้าพายไปถนน 1 ก.ม ตอนเย็นพายกลับเข้าบ้านอีก 1 ก.ม.พายเรือแบบนี้ ย่างเข้าเดือนที่ 3 แล้ว)

น้ำท่วมถนนรถวิ่งหน้าบ้าน สูงแค่มิดหัวเท่านั้นเอง แต่ท่วมสูงสุด 3.20 เมตร (เท่านั้นเอง)เป็นปีที่น้ำท่วมสิงห์บุรีสูงที่สุดเป็นประวัติศาตร์ของประเทศไทย(ตั้งแต่ลืมตามองโลก)

ประตูรั้วหน้าบ้าน น้ำท่วมใหม่ๆสูงแค่นี้แล้ว

ทุกเช้าพระอาจารย์ฯที่วัดฯจะพายเรือมารับการใส่บาตรจากญาติ โยม ถึงหน้าบ้านทุกหลังคาเรือน

Ico48ผมโทรหาครับ แต่ไม่ติด จะพยายามครับ

 

ท่านอาจารย์ หลายท่านทราบแล้วครับ ตอนนี้ได้ออกช่วยเหลือเกษตรกรหลายๆจังหวัดครับ ปัญหาก็คือ บริจาคสิ่งของแล้วไม่ถึงมือผู้ที่เดือดร้อน เพราะไม่ทราบข่าวการบริจาค หรือไม่ก็ต้องเดินทางไกลมากๆครับ อีกทั้งไม่มีเรือใช้ในการเดินทางครับ วันนี้งานเยอะเลยครับ ต้องเขียนโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม วันสุดท้าย อ.รวี อ.มณฑา ให้ระบุ พื้นที่ของ อ.อัครพนธ์ เข้าไปด้วยครับ

อาจารย์ สามารถ.ครับ ผมต้องขอโทษด้วยครับที่โทร.ไปมาหาผมไม่ได้ เพราะเครื่องตกน้ำยังไม่สามารถใช้งานได้ แต่มีเบอร์ที่ใช้ได้ คือ 08-6972-3782 ขณะนี้น้ำที่ท่วมสวนมะนาวแห้งแล้วครับ เริ่มปลูกมะนาวต้นใหม่(ที่เตรียมไว้)ทดแทนต้นที่น้ำท่วมตายได้แล้วครับ ขอบพระคุณคุณ อาจารย์ สามารถ,อาจารย์ รวี และอาจารย์ มณฑา.เป็นอย่างมาก ที่เป็นห่วงครับ (ผมขุดต้นมะนาวหนีน้ำขึ้นมาพักฟื้นได้ 200กว่าต้น ขณะนี้เริ่มแตกใบอ่อนขึ้นมาใหม่แล้ว วันนี้เริ่มย้ายลงไปปลูกใหม่ได้บ้างแล้ว)

ต้นมะนาวที่ดำน้ำลงไปขุด 200 กว่าต้นขึ้นมาพักฟื้นเอาไว้บนคันดินกันน้ำท่วมสวน ริมคลองชลประทาน(สงสารต้นมะนาวครับ ไม่อยากให้ยืนต้นจมน้ำท่วมตาย)

มะนาวที่ขุดขึ้นมาพักฟื้นเริ่มแตกใบอ่อนแล้ว

เริ่มขนย้ายมะนาวที่แตกใบอ่อนกลับลงไปไว้ในสวนเพื่อรอเวลานำกลับลงไปปลูกใหม่

ย้ายมะนาวที่พักฟื้นกลับมาไว้ในสวนหมดแล้ว

แหม....หยอกซะผมจุกเชียวอาจารย์ ไปเยี่ยมคราวหน้าถ้าผมไม่มีไม้เท้าไปด้วยก็ถือว่าโชคดีแร้ววววว(โดนตีขาหักแหง) เล่าเรื่องที่ไปผจญภัยกลางสายน้ำบ้างซีครับ ประกอบภาพด้วย

Ico48ตลก ตลก พี่สมชาย แหมๆๆๆๆ 

Ico48เมื่อวาน ท่านรองอธิการบดีมหาวิทยาลลัยเกษตรกำแพงแสน ได้(แทง น่ากลัว)

        หนังสือมาถึงท่าน ผอ.และท่านรองผอ. เรื่องโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้วครับ และสั่งเพิ่มเติมว่าให้กำหนด จังหวัดสิงห์บุรีเป็นจังหวัดเป้าหมายด้วยครับ เมื่อกี้ผมโทรไปหา อ.อัครพนธ์ แล้วครับ ผู้รับสายบอกว่าท่านหลับอยู่ ผมบอกว่าไม่ให้ปลุกเองครับ เป็นอันว่ารับทราบปัญหาครับ รักษาสุขภาพด้วยครับ  เรียนเชิญพี่สมชายด้วยครับ  ก็ต้องช่วยกันอย่างนี้ละครับ คนไทยด้วยกัน

อ.สามารถครับ ผมต้องกราบขอโทษอาจารย์ฯเป็นอย่างมากที่ไม่ได้ตื่นมารับโทร.วันนี้ทำงานหนักตั้งแต่เช้า ถึงเที่ยง (ฉีดน้ำล้างถนนหน้าบ้าน และย้ายกิ่งพันธุ์มะนาวจากร้านฯลงมาวางไว้กับพื้น)เนื่องจาก น้องน้ำ.ได้โบกมือลา เพื่อเดินทางต่อไปลงทะเลแล้ว หลังจากมาหยุดพักอยู่ที่บ้านผมนาน 73 วัน แถมแวะทานต้นมะนาว ของผม 2 สวนไปซ๊ะหลายต้น (โชคยังช่วยที่ตอนกิ่งพันธุ์มะนาวเอาไว้ปลูกก่อนน้ำท่วม จ้างเขาทำร้านยกสูงหนีน้ำท่วมได้อย่าง หวุด หวิด)

กิ่งพันธุ์มะนาวขนหนีน้ำขึ้นไปไว้บนร้าน(สร้างชั่วคราว)ป้องกันน้ำท่วมสูงๆ เตรียมเอาไว้ปลูกหลังน้ำแห้ง เพื่อทดแทนต้นมะนาวที่น้ำท่วมตาย

สวนมะนาวบ้านบางระจัน ที่ทำนอกฤดู กำลังติดลูกเล็กๆ ถ่ายไว้ขณะที่น้ำกำลังไหลเข้าท่วมสวนฯ (น้องน้ำ.กินไปซ๊ะหลายต้น)

ที่ไหนเมื่อไหร่ว่ามาเลยครับ กับทีมอาจารย์สุดๆไปเลยครับ

ขึ้นไปเก็บภาพบนหลังคารถ เพื่อให้เห็นทะเล น้องน้ำ.ที่เดินทางมาด้านหลังสวนบ้านบางระจัน เพื่อวางแผนต้อนรับ น้องน้ำ.ปีหน้า

Ico48พี่สมชายครับ เดี๋ยวถ้าผมได้เรือแล้วจะโทรแจ้งให้ทราบน่ะครับ ไปด้วยกัน ตลกๆๆพี่ ก็นึกถึงพี่สมชายและเป็นห่วงอยู่เสมอครับ เออๆๆบ้านน้องหนูคนสุดท้องท่วมไหมครับ ฮ่าๆๆตลกไม่ออก ฮ่าๆๆ

Ico48ตอนนี้ประสานงานไปยังหน่วยงานเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือ ท่านอาจารย์แล้วครับ ผมเชื่อว่าได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือแล้ว แต่ก็เดือดร้อนกันทั่วหน้า จึงประสานไปยัง ที่บางระจัน ตั้งแต่ระดับ ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ไม่รู้ว่าทำไม่เข้าระบบไม่ได้ เลย เข้าไปยังอีเมล์ ของ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี  คุณพระช่วยจริงๆครับ ได้เฉยเลย จึงได้กราบเรียนและนำภาพของท่านอาจารย์ พร้อมการทำงานของ ทีมงาน ม.เกษตร และ หน่วยงานภาครัฐส่วนต่างให้ท่านทราบครับ ส่วนทาง ม.เกษตร ท่านอาจารย์หลายๆท่านให้ความเป็นห่วงครับ หาเรือให้ ได้หลายลำครับ แต่ คุณพระช่วย ใหญ่กว่ารถผมอีกครับ เรียกว่า เอารถผมไปอยู่บนเรือได้เลยครับ  เป็นห่วงครับกราบขอบพระคุณท่าน อ. อัครพนธ์ และภรรยา ท่านที่ส่งข้อมูลมาให้ครับ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ ท่าน อ.รวี และท่าน อ. มณฑา อ.รัฐกานต์และน้องๆ ติดตามและให้กำลังใจอยู่เสมอครับ  ส่วนผมให้ได้เรือก่อนครับ จะลากเอาพี่สมชายไปด้วยครับ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับIco48

จะเรียนให้ท่าน รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี และ ท่านผู้บริหารสถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน ทราบต่อไปครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท