บันทึกมวยไทยไชยา(๓)


ท่าดีไชยา ฤาจะสิ้นมนต์ขลัง...

บรมครูทอง เชื้อไชยา (ทองหล่อ ยาและ)ผู้สืบทอดมวยไชยามาถึงยุคปัจจุบัน

ทุ่ม..ทับ..จับ..หัก ในมวยคาดเชือก
..........ทุ่ม ทับ จับ หัก ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ์พร้อมฝึกฝน ท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียก'ท่าครู'รวมทั้งแม่ไม้ต่าง ๆ เช่นการออกอาวุธ ป้องปัดปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ให้เชี่ยวชาญ ดีแล้ว จึงจะสามารถแตกแม่ไม้กล ลูกไม้ กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ใช้ออกไป จึงจะเกิดความคม เด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็งดังใจ ..........เช่นท่าครูมวยไชยา(ท่าย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์)นั้นได้ชื่อว่ามีความรัดกุมเฉียบคม จนสามารถชนะการแข่งหน้าพระที่นั่งสมัย ร.5 เมื่อคราวจัดให้มีงาน ณ ทุ่งพระเมรุ ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ คือ นายปล่อง จำนงทอง ที่สามารถใช้ 'ท่าเสือลากหาง' โจนเข้าจับ ทุ่มทับจับหักปรปักษ์จนมีชัย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 'หมื่นมวยมีชื่อ' ท่าที่ใช้จับทุ่มรับการจู่โจมด้วย เตะ ถีบ เข่า อย่าง ' ถอนยวง' นั้น สามารถทุ่มโยนปรปักษ์ออกไป หรือจับกดหัวให้ปักพื้นแล้วทับด้วยก้นหรือเข่าได้ หากเป็นการรุกด้วยหมัดนั้นให้แก้ด้วย ' ขุนยักษ์พานาง' หรือ 'ขุนยักษ์จับลิง' ศอกแก้ด้วย 'พระรามหักศร' และยังมีท่าอื่น ๆ อีกมาก ที่ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านมิได้กำหนด ชื่อเอาไว้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จำต้องรู้เคล็ดป้องปัดปิดเปิด และกลประกบประกับจับรั้ง เป็นท่าร่วมเพื่อเข้าจับหักด้วยมือ หรือ เกี้ยวกวัดด้วยท่อนแขน ฯลฯ
เวทีชกมวย
              การชกมวยไชยา ในยุคแรกชกที่ศาลาเก้าห้อง โดยที่ศาลาเก้าห้องมีบริเวณที่ชกมวยก็คือสนามหน้าศาลา จะมีเจ้าหน้าที่ปักหลักสี่หลักแล้วใช้เชือกป่านขนาดใหญ่(เชือกพวน)ขึงกับหลักสามสี่สาย โดยในศาลาจะมีเจ้านาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆของเมืองไชยาจะพักอยู่ในศาลาเพื่อชมการชกมวยทุกครั้งไป
เวทีมวยวัดพระบรมธาตุไชยา
             เมื่อการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องต้องมีอันล้มเลิก เนื่องมาจากศาลากลางถูกย้ายไปอยู่ที่บ้านดอน พระยาไชยาก็ไปเป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอนดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นรวมทั้งได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาไว้ที่อำเภอไชยาในปัจจุบันก็เกิดสนามมวยแห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณสนามวัดพระบรมธาตุ เพราะในสมัยนั้นวัดพระบรมธาตุมีงานประจำปีในเดือน 6 ของทุกปี การจัดให้มีการชกมวยก็ขึ้นที่สนามแห่งนี้ด้วย โดยครั้งแรกชกบนลานดินเหมือนที่ศาลาเก้าห้อง ที่ตั้งสนามอยู่ระหว่างพระเวียนกับถนนที่ตัดผ่านหน้าวัด(ถนนที่ผ่านทุกวันนี้แต่สมัยนั้นยังไม่มีกำแพงแก้วเหมือนปัจจุบัน) การชกและกติกาก็เหมือนที่ศาลาเก้าห้องทุกประการ จะต่างกันที่สนามวัดพระบรมธาตุมีการเก็บเงิน โดยใช้ปีกเหยี่ยว(ใบตาลโตนดผ่าซีกแล้วแล้วโน้มมาผูกติดกับก้านใบ) กั้นเป็นบริเวณสนามและเนื่องจากกีฬามวยเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไป พระครูโสภณเจตสิการา(เอี่ยม)เห็นว่ามีหนทางที่จะเก็บเงินเป็นรายได้บำรุงวัด จึงดำริคิดสร้างเวทีมวยถาวรขึ้นที่สนามมวยแห่งนี้ โดยให้นายภักดิ์ ลำดับวงค์ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง นายจอน แสงสิทธิ์ เป็นนายช่าง นายร่วง เชิงสมอ เป็นลูกมือช่าง และสร้างเสร็จในปี 2474 โดยท่านพระครูโสภณเจตสิการามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ทั้งสิ้น ประมาณ 500 บาท
              เวทีใหม่แห่งนี้ใช้ทางเหนือของสถานที่เดิมไปเล็กน้อย โดยเลื่อนใกล้ถนนเข้าไปอีก ลักษณะของเวที เป็นเสาปูนซีเมนต์เสริมเหล็กหน้า 8 นิ้ว จำนวน 4 ต้นกว้างและยาวด้านละ 4 วา เทคอนกรีตเท่าหน้าเสาทั้ง 4 ด้าน สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ตรงกลางถมดิน เสาสูง 6 ศอก หลังคามุงสังกะสี ไม้ที่ใช้เป็นไม้หลุมพอโดยตลอดเฉพาะเครื่องทำหลังคา
สมัยเริ่มแรก

              การชก ยกเลิกหมัดถักมาใช้นวม ยกเลิกยกเวียนมาเป็นยกตลอด คือแต่ละคู่ชกกันจนครบ 5 ยก แล้วจึงเป็นการชกของคู่ต่อไป กติกาการชกเหมือนปัจจุบัน
             การจัดสนามและเวที สนามจะกั้นด้วยผ้าขาว เวทีกั้นเชือกแบบปัจจุบัน รอบขอบเชือกด้านนอกจนติดขอบคอนกรีตมีต้นกล้วยวางเรียงโดยรอบเพื่อป้องกันอันตรายให้แก่นักมวย พื้นเวทีซึ่งถมดินไว้ถูกปูทับด้วยแกลบหรือฟางข้าวแล้วปูทับด้วยกระสอบป่าน ซึ่งต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้ผ้าใบ
                การจับเวลา ใช้นาฬิกา การให้สัญญาณการชกและหมดเวลาใช้ระฆังของโรงเรียนวัดพระบรมธาตุ
เครื่องดนตรีใช้ปี่เป็นหลักและใช้กลองยาวช่วยในการประโคม
                เครื่องขยายเสียงไม่มีใช้ ต้องใช้โทรโข่งทั้งประกาศและพากย์มวย นายชม จุลกัลป์ เป็นผู้ประกาศประจำเวทีเป็นคนแรก
                กรรมการ กรรมการห้ามมวยคนแรกของเวที คือ นายอมโร อมรบุตร คนที่สอง คือ นายพันธ์ ทิพย์มณี สมัยดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอท่าฉาง คนต่อมาคือ นายชม จุลกัลป์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประจำแผนกอยู่ที่ว่าการอำเภอไชยา
สมัยสิ้นสุด
               หลังจากพ้นยุคแรกมาการชกก็มีการเปลี่ยนแปลงจนเข้ารูปแบบของปัจจุบันทุกประการ แต่เมื่อสิ้นสมัยของพระครูโสภณเจตสิการาม(เอี่ยม) ท่านเจ้าคุณพุทธทาส(สมัยนั้น) ก็ให้ยกเลิกงานมหรสพและงานประจำปี คงรักษาไว้แต่พิธีทางศาสนา แต่ก็มีผู้คิดเปลี่ยนสถานที่ชกและสถานที่จัดงานไปไว้ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอไชยา แต่จัดได้ไม่กี่ปีก็ต้องมีอันล้มเลิกการจัดงานนั้นไป ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการชกมวยในงานต่างๆจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
นักมวยฝีมือเอกของไทยที่เคยผ่านการชกที่เวทีแห่งนี้มีมากมาย เท่าที่พอจะได้รายชื่อก็มี จำเริญ ทรงกิตรัตน์ , โกต๊อง แก้วอำไพ , กลยุทธ ลูกสุรินทร์ , บุญธรรม แสงสุเทพ , ไสว แสงจันทร์ , เชิด จุฑาเพชร
การรื้อถอนเวทีแห่งนี้
               สาเหตุที่ต้องทำการรื้อถอนเวทีแห่งนี้ ก็เพื่อที่จะเตรียมสถานที่เพื่อรับเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในคราวยกพระสุวรรณฉัตรพระบรมธาตุไชยา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2525 โดยทำการรื้อถอนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2524 ผู้ควบคุมการรื้อถอนได้แก่ นายนุกูล บุญรักษา ครูใหญ่โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอดีตเคยเป็นนักมวยฝีมือดีที่เคยผ่านการชกที่เวทีแห่งนี้มาก่อน ท่านบอกว่าเสียดายของเก่าแต่จำเป็นที่ต้องรื้อถอน

(คัดลอกจาก มวยไชยา บันทึกโดย วาโยรัตนะ 19/03/2009 กระดานสนทนาวัดท่าขนุน www.watthakhanun.com )

คำสำคัญ (Tags): #มวยไชยา
หมายเลขบันทึก: 466955เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2011 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ลุงรักชาติราชบุรี เป็นลูกศิษย์ครูทองหรือคะ

เปล่าครับ..ผมเสียดายมากที่ไม่ได้มีโอกาสเรียนมวยกับคุณครูทอง เชื้อไชยา..แต่มีความเคารพนับถือท่านด้วยคุณงามความดีที่ท่านมีต่อลูกหลานไทยทุกคน..ครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท