คดีละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยาย : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2551


คดีละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยาย : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2551

31 ตุลาคม 2554

1. ข้อเท็จจริง (Fact)

 1.1 โจทก์ฟ้องว่า

โจทก์   -       นางวิมลศิริไพบูลย์

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยายของโจทก์จำนวน 6 เรื่องต่อมาจำเลยทั้งหกให้จำเลยที่ 2ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ว่ากระทำละเมิดลิขสิทธิ์จริงแต่ขอจำหน่ายหนังสือนวนิยายทั้ง 6 เรื่องที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งหกให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปีโดยชำระค่าตอบแทนให้โจทก์จำนวน 120,000 บาทต่อมาโจทก์สืบทราบว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันจำหน่ายหนังสือนวนิยายที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์จำนวน15 เรื่อง รวม 36 เล่มซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดหนังสือดังกล่าวไว้เป็นของกลาง นอกจากนี้โจทก์ยังทราบว่าจำเลยทั้งหกได้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือของโจทก์ตลอดมาอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และเป็นการกระทำผิดข้อตกลงฉบับลงวันที่18 เมษายน 2533 ซึ่งจำเลยทั้งหกทำไว้กับโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

 

1.2 จำเลย

จำเลย   -         บริษัทบูรพาสาส์น (1991) กับพวก

จำเลยทั้งหกให้การว่าจำเลยทั้งหกไม่ได้มอบหมายหรือยอมรับให้จำเลยที่ 2ไปทำบันทึกข้อตกลงตามฟ้องกับโจทก์ จำเลยที่ 2ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1จำเลยทั้งหกไม่ผูกพันต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 2ทำไว้กับโจทก์ จำเลยทั้งหกไม่ได้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือนวนิยายทั้ง15 เรื่อง อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โจทก์บังคับข่มขู่ให้จำเลยที่ 2ชำระค่าลิขสิทธิ์หนังสือนวนิยายดังกล่าวเพิ่มโดยโจทก์ขยายเวลาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 จำหน่ายออกไปอีก 2 ปีซึ่งจำเลยที่ 2 ได้จำหน่ายหนังสือหมดภายใน 2 ปีโดยไม่พิมพ์หนังสือดังกล่าวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง

 

 1.3ศาลชั้นต้นตัดสินว่า

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 และที่2 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ให้เป็นพับ

 

 2. คำตัดสินของศาลฎีกา(Decision)

แม้ จะไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาจะจำหน่ายหนังสือ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งจำเลยที่1 แต่พฤติการณ์ต่อมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้นได้รับและถือเอาประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญากับโจทก์ โดยการจัดจำหน่ายหนังสือนวนิยาย 6เรื่องต่อไป ถือว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ทราบและถูกผูกพันตามข้อตกลงสัญญาดังกล่าว

การที่หนังสือนวนิยาย 11เรื่องยังคงมีวางจำหน่ายหลังจากระยะเวลาที่มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลานานไม่อาจใช้เป็นข้อสันนิษฐานรับฟังให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 1 ได้และการที่ราคาหนังสือนวนิยายแตกต่างกันอาจเป็นเพราะสาเหตุอื่น เช่นมีการจัดพิมพ์หนังสือนวนิยายนั้นมาเป็นเวลานานโดยกรรมวิธีแบบเก่าจึงไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่แข่งขันกับหนังสือนวนิยายฉบับที่พิมพ์ใหม่ได้ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าหนังสือนวนิยายของกลางเป็นงานที่ลักลอบพิมพ์ใหม่หรือทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ลำพังการที่จำเลยที่ 1มีหนังสือนวนิยายดังกล่าววางจำหน่ายย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์

ศาลฎีกาได้ตั้งประเด็นในการวินิจฉัยรวม 4 ประเด็น ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1

คดีนี้โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างอุทธรณ์จึงเห็นควรรวมพิจารณาไปพร้อมกัน โดยเห็นควรวินิจฉัยในประเด็นแรกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยายจำนวน 5 เรื่องคือ สายสัมพันธ์ สายรุ้ง ล่า ทิพย์ และดาวเรืองตามที่ตกลงตามสัญญาจะจำหน่ายหนังสือหรือไม่

 

ศาลฎีกาตัดสินว่า

จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นจึงชอบแล้วศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ประเด็นที่ 2

จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ในการละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยาย 5 เรื่อง ดังกล่าวต่อโจทก์หรือไม่

 

ศาลฎีกาตัดสินว่า

คดียังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1 และที่ 2 ในนวนิยาย 5 เรื่อง ดังกล่าวต่อโจทก์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 3

จำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในนวนิยายอีก 11 เรื่องคือเรื่องคู่กรรม จิตา ฌาน แผลหัวใจ มงกุฎหนาม มายา ยอดอนงค์พ่อม่ายทีเด็ด ไอ้คุณผี สายใจ และทางรัก หรือไม่

 

ศาลฎีกาตัดสินว่า

จำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในนวนิยายอีก 11 เรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาจึงชอบแล้วศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

 

ประเด็นที่ 4

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงใด

 

ศาลฎีกาตัดสินว่า

โจทก์ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนยอดจำหน่ายที่ขาดหรือลดไปมาแสดงต่อศาล ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังว่า จำเลยที่1 และที่ 2 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นหนังสือจำนวน 22 เล่มและกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าสมควรแล้วศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน

 

3. หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (Rule)

 

หลักกฎหมาย คือ หลักสัญญาต้องเป็นสัญญา หลักเสรีภาพในการทำสัญญาหลักสุจริต (Good faith)  หลักตัวการตัวแทน หลักสิทธิเด็ดขาด(Exclusive rights) หลักความคุ้มครองลิขสิทธิ์ (Protection)หลักความรับผิดในความเสียหาย (Liability) หลักการใช้โดยธรรม (Fair useor Fair dealing) หลักกรรมสิทธิ์ร่วม

 

ป.พ.พ. ม. 800

มาตรา 800 ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม.27

มาตรา 27การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม.31

มาตรา 31ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไรให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อหรือเสนอให้เช่าซื้อ

(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

(3)แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์

(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

 

4. เหตุผลที่ศาลฎีกาอ้าง (Ratio decidendi)

ศาลฎีกาใช้บทสันนิษฐานจากพฤติการณ์ การเบิกความสืบพยานว่าไม่น่าเชื่อถือ หรือ ไม่มีเหตุผลเพียงพอหรือมีพฤติการณ์ตามที่วินิจฉัย

 

“แม้ จะไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาจะจำหน่ายหนังสือ เพราะขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งจำเลยที่1 แต่พฤติการณ์ต่อมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้นได้รับและถือเอาประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญากับโจทก์ โดยการจัดจำหน่ายหนังสือนวนิยาย 6เรื่องต่อไป ถือว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ทราบและถูกผูกพันตามข้อตกลงสัญญาดังกล่าว”

 

“การที่หนังสือนวนิยาย 11เรื่องยังคงมีวางจำหน่ายหลังจากระยะเวลาที่มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลานานไม่อาจใช้เป็นข้อสันนิษฐานรับฟังให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 1 ได้และการที่ราคาหนังสือนวนิยายแตกต่างกันอาจเป็นเพราะสาเหตุอื่น เช่นมีการจัดพิมพ์หนังสือนวนิยายนั้นมาเป็นเวลานานโดยกรรมวิธีแบบเก่าจึงไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่แข่งขันกับหนังสือนวนิยายฉบับที่พิมพ์ใหม่ได้ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าหนังสือนวนิยายของกลางเป็นงานที่ลักลอบพิมพ์ใหม่หรือทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ลำพังการที่จำเลยที่ 1มีหนังสือนวนิยายดังกล่าววางจำหน่ายย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์”

 

5. วิจารณ์หมายเหตุท้ายฎีกา

มีข้อพิจารณา คือ

“การอนุญาตจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์” และ

“การละเมิดลิขสิทธิ์ต้องทำเพื่อทางการค้าหากำไร...” 

(มีข้อยกเว้นการละเมิดฯ ตามมาตรา 32(3) ติชม วิจารณ์หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น)

ผู้หมายเหตุ เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวในประเด็นต่อไปนี้ 

ประเด็นแรก การที่โจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 โดยอนุญาตให้จำเลยทั้งหกจำหน่ายหนังสือนวนิยาย  ทั้ง 6  เรื่อง ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งหกให้เสร็จสิ้นภายใน  2 ปี   กรณีดังกล่าว  ถือได้ว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้จำหน่ายหนังสือนวนิยายดังกล่าวโดยชอบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์  เพราะพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์  พ.ศ.2537 มาตรา 27  วางหลักการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ว่า“การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5)ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

ประกอบ  คำนิยาม ตามมาตรา  4 “เผยแพร่ต่อสาธารณชน” หมายความว่า การทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง...การจำหน่ายหรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

 

ประเด็นที่สอง  พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ  ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าหนังสือนวนิยายของกลางอีก 11 เรื่อง คือเรื่องคู่กรรม จิตา ฌานแผลหัวใจ มงกุฎหนาม มายา ยอดอนงค์ พ่อม่ายทีเด็ด ไอ้คุณผี สายใจและทางรัก เป็นงานที่ลักลอบพิมพ์ใหม่หรือทำซ้ำ โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์  ลำพังการที่จำเลยที่ 1มีหนังสือนวนิยายดังกล่าววางจำหน่าย ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพราะนิยายเหล่านี้ โจทก์เคยอนุญาตให้บริษัทรวมสาส์น(1997)จำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดบำรุงสาส์น พิมพ์และจำหน่าย  แต่ยังจำหน่ายไม่หมด  จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์  เพราะพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์  พ.ศ.2537 มาตรา 27  วางหลักการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ว่า“การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5)ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง…”

 

ผู้หมายเหตุ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวในประเด็นต่อไปนี้ 

ประเด็นแรก  การที่หนังสือนวนิยาย 11เรื่อง  คือเรื่อง  คู่กรรม จิตา ฌาน แผลหัวใจ มงกุฎหนามมายา ยอดอนงค์ พ่อม่ายทีเด็ด ไอ้คุณผี สายใจ และทางรัก ยังคงมีวางจำหน่ายหลังจากระยะเวลาที่มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลานาน ผู้หมายเหตุเห็นว่าสามารถใช้เป็นข้อสันนิษฐานรับฟังให้เป็นโทษแก่จำเลยที่1 ได้  เพราะการที่ราคาหนังสือนวนิยายที่จำเลยทั้งหก มีราคาต่ำกว่า หนังสือนวนิยายฉบับที่พิมพ์ใหม่ของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย  ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์  เพราะ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์  พ.ศ.2537  มาตรา 31 วางหลักการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ว่า

 

ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไรให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ 

(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่าให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ

(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

(3)แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์…”

 

ประเด็นที่สอง  ผู้หมายเหตุเห็นว่า แม้ว่าโจทก์จะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนยอดจำหน่ายที่ขาดหรือลดไปมาแสดงต่อศาล  ทำให้ศาลกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 100,000บาท  ผู้หมายเหตุเห็นว่า ค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้แก่โจทก์ได้รับนั้นน้อยเกินไป ซึ่งทำให้เห็นว่าศาลไทยไม่ให้ความสำคัญ กับผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ต่อไปในภายภาคหน้าจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์กันอีกมาก เพราะผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทำให้นักเขียนเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งส่วนใหญ่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่านายทุนเจ้าของสำนักพิมพ์ ยิ่งเสียเปรียบมากขึ้นแน่นอน และประเทศไทยของเราก็คงไม่มีผู้สร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่เพราะประเทศของเราไม่ให้ความสำคัญกับ“ผู้สร้างสรรค์” (Creator)

หมายเลขบันทึก: 466680เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2011 00:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2018 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท