อยุธยามหาอุทกภัย 2


อยุธยามหาอุทกภัย ปี 54

รู้จักพระนครศรีอยุธยา

            กรุงศรีอยุธยา ราชธานีแห่งที่ 2 ของไทยที่มีอายุยาวนานถึง 417 ปี เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชนชาติไทย โบราณสถานต่างๆ ที่ปรากฏในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นวิหารพระมงคลบพิตร พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และ เพนียดคล้องช้าง ล้วนเป็นหลักฐานทางอารยธรรมซึ่งแสดงถึงระยะเวลา  อันสงบสุข และเป็นปึกแผ่นที่ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ อำนาจทางการเมือง อันมั่นคงและซับซ้อน ความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านและประเทศตะวันตก อาทิ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งเรืองและมั่นคั่งของอาณาจักรอยุธยาได้เป็นอย่างดี

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

1 ที่ตั้ง
            อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ 1,810 ไร่ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา เขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือตามถนนสายเอเซีย ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ 3,000 ไร่

 

2 ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
             ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.1893 นั้น นักวิชาการ เชื่อกันว่า บริเวณดังกล่าวได้มีบ้านเมืองตั้งอยู่ก่อนแล้วเรียกว่า เมืองอโยธยา หรืออโยธยาศรีรามเทพนคร มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกนอกเกาะเมืองอยุธยา ปรากฏหลักฐานโบราณสถานที่เป็นวัดสำคัญ เช่น วัดมเหยงค์ และวัดอโยธยา เป็นต้น รวมทั้งจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ กล่าวถึงการก่อสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า พระเจ้าพนัญเชิง พระประธานของวัดพนัญเชิง ที่ระบุว่า สร้างขึ้นก่อนที่ พระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยา ถึง 26 ปี   ด้วยทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นเกาะเมืองมีแม่น้ำที่สำคัญ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน รวมทั้งเป็นชุมทางคมนาคม และเป็นปราการธรรมชาติในการป้องกันข้าศึกศัตรู กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นราชธานีใหญ่สามารถกุมอำนาจเหนือเมืองใกล้เคียงเป็นเวลานาน
              กรุงศรีอยุธยาเติบโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของภูมิภาค เอเซีย ในพุทธศตวรรษที่ 20-23 มีชาวต่างชาติทั้งจากเอเซียและยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เดินเรือเข้ามาค้าขาย ซึ่งส่วนมากมีสัมพันธ์ทางการทูตด้วย บ้างก็ได้รับพระราชทานที่ดินตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ตั้งสถานีการค้า และศาสนสถาน หมู่บ้านส่วนใหญ่ของชาวต่างประเทศจะอยู่นอกตัวเมืองมีเฉพาะชาวจีน แขกฮินดู และมุสลิมเพียงบางกลุ่ม ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักเท่านั้น ที่ได้รับพระราชานุญาตให้สร้างบ้านเรือนอยู่ภายในเมือง
              นอกจากนี้ กรุงศรีอยุธยายังมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการปกครอง กฎหมายการศาล ระบบสังคม การศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ ภาษาวรรณกรรม และนาฏดุริยางค์ศิลป์ศิลปะ วิทยาการ ทุกแขนงที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาสั่งสมไว้นั้น เป็นอารยธรรมที่ กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ยึดถือเป็นแบบแผน สืบทอดและพัฒนาเป็นอารยธรรมตามยุคสมัย หลายอย่างยังคงใช้สืบต่อมาตราบจนทุกวันนี้

3 โบราณสถานสำคัญ
             ด้วยเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทั้งเกาะเมืองมีพื้นที่ประมาณ 4,800 ไร่ ลักษณะของเกาะเมืองเป็นไปตามสภาพของแม่น้ำที่กัดเซาะแผ่นดินมีรูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งมีผู้สันนิษฐานว่า มีลักษณะคล้ายน้ำเต้า แต่เดิมกำแพงเมืองเป็นคันดินและมีเสาไม้ระเนียด ต่อมามีการเปลี่ยนเป็นกำแพงอิฐในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091-2111) และถูกทำลายในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 รวมทั้งมีการรื้อถอนกำแพงเมืองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อนำอิฐมาใช้ในการก่อสร้างที่กรุงเทพฯ และป้องกันไม่ให้มีการใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ซ่องสุมผู้คนอีกต่อไป
             กรุงศรีอยุธยาเป็นลักษณะของเมืองน้ำ มีการออกแบบแนวคูคลองที่ทั้งใช้ประโยชน์ในการคมนาคม และเป็นการระบายน้ำในหน้าน้ำหลากด้วย ทำให้ผังเมืองอยุธยามีแม่น้ำลำคลองจำนวนมากเป็นเครือข่ายโยงใยกันทั้งนอกเมืองและในเมืองขนานไปกับแนวคูคลองคือ ถนนที่เป็นทั้งถนนดินและถนน ปูอิฐ โดยมีสะพานสร้างข้ามคลองทั้งสะพานไม้และสะพานก่ออิฐมากกว่า 30 แห่ง โบราณสถานเท่าที่สำรวจพบแล้วทั้งภายในเมืองและนอกกำแพงเมืองมีมากกว่า 425 แห่ง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโบราณสถานที่สำคัญและอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ 1,810 ไร่ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเกาะเมืองและพื้นที่ด้านทิศเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง มีโบราณสถานที่สำรวจพบแล้วทั้งสิ้น 95 แห่ง ในที่นี้ขอยกตัวอย่างสถานที่สำคัญดังนี้

3.1 พระราชวังโบราณหรือพระราชวังหลวง
             พระราชวังโบราณ เป็นที่อยู่ของพระมหากษัตริย์และเป็นทั้งศูนย์กลางด้านการเมืองและการปกครองในเวลาเดียวกัน เมื่อแรกสร้างกรุงศรีอยุธยานั้นพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. 1893-1912) ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพระศรีสรรเพชญ์

             พระราชวังหลวงหรือพระราชวังโบราณ ตั้งอยู่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ทางด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่1(พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อพ.ศ.1890 และเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จในปีพ.ศ.1893 จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนองโสน ปราสาทในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายที่บริเวณปราสาทให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์วัดในเขตพระราชวัง แล้วทรงสร้างปราสาทใหม่เลื่อนไปทางเหนือชิดกับแม่น้ำลพบุรี


บริเวณพระราชวังหลวงมีพระที่นั่งสำคัญดังนี้
           พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุด เป็นปราสาทยอดปรางค์มีมุขหน้าหลังยาวแต่มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม 2 ด้าน ตามพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2186 เพื่อแทนพระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ ชาวบ้านเรียกว่า “ปราสาททอง” เนื่องจากเป็นปราสาทปิดทององค์แรกที่สร้างขึ้นสำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ
           พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทยอดปรางค์ตั้งอยู่ตรงกลางสร้างแบบเดียวกันกับพระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันถึงห้าชั้น มีมุขเด็จยื่นออกมาเป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกขนาบอยู่ทั้งสองข้าง
           พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เดิมชื่อ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้เพื่อให้คล้องกับชื่อพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลงมีพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ ตั้งอยู่ติดกำแพงริมแม่น้ำ ใช้เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ทางน้ำ ตามพงศาวดารกล่าวว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาได้อัญเชิญพระบรมศพจากเมืองลพบุรีมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้
            พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างเมื่อพ.ศ. 2175
พระราชทานนามว่า“พระที่นั่งสิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์’’”คล้ายปราสาทที่นครธม ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์” ลักษณะเป็นปราสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่และฝึกหัดทหารเหมือนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
             พระที่นั่งตรีมุข เป็นพระที่นั่งศาลาไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่
นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เข้าใจว่าเดิมเป็นพระที่นั่งฝ่ายใน และเป็นที่ประทับในอุทยานเป็นพระที่นั่งองค์เดียวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
              พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ หรือ พระที่นั่งท้ายสระ เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับอยู่ข้างในและเป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถเมื่อ พ.ศ. 2231 และได้เสด็จประทับตลอดรัชกาล มีพระแท่นสำหรับทอดพระเนตรปลาที่ทรงเลี้ยงไว้ในสระนั้นด้วย
             พระที่นั่งทรงปืน เป็นพระที่นั่งรูปยาวรี อยู่ริมสระด้านตะวันตก ใกล้พระที่นั่งบรรยงคก์รัตนาสน์ เข้าใจว่าเป็นที่สำหรับฝึกซ้อมอาวุธและในสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงใช้เป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกขุนนาง
             พระที่นั่งต่างๆที่ปรากฎให้เห็นซากหลงเหลือในปัจจุบันเป็นอาคารที่สร้างในสมัยสมเด็จพระบรม
ไตรโลกนาถ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล

3.2 วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสมัยอยุธยา เดิมเป็นพระราชวังที่ประทับซึ่งสมเด็จ
พระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  พ.ศ. 1991 โปรดให้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ทางด้านริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังให้เป็นวัดสำหรับประกอบ พิธีต่าง ๆ

           วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัยในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับที่บริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอุทิศบริเวณพระราชมณเฑียรให้เป็นวัดภายในพระราชวังและโปรดเกล้าฯให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
            ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2โปรดเกล้าฯให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อ พ.ศ.2035 องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดาและองค์ที่สองคือองค์กลางในปัจจุบันเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา
               ต่อมาในปีพ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปีพ.ศ.2043 ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา( 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหารถวายพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุงพ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมดสำหรับเจดีย์องค์ที่สาม ถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังการะหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั้นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างเพิ่มในภายหลัง ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

3.3 วัดราชบูรณะ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 1967 ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากการรบแย่งชิงราชสมบัติ

           วัดราชบูรณะ อยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ตรงข้ามวัดมหาธาตุ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระ ยา) โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1967 ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา ซึ่งชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัยและโปรดเกล้าฯให้ก่อเจดีย์ 2 องค์บริเวณนั้น ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหาร และส่วนต่างๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก พระปรางค์เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกซึ่งนิยมสร้างตามแบบขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด พระปรางค์องค์นี้มีลวดลายสวยงามมาก ภายในกรุปรางค์มีภาพเขียนด้วยสี แดงชาดปิดทองเป็นรูปพระพุทธรูปปางลีลา และปางสมาธิ รวมทั้งรูปเทวดาและรูปดอกไม้ เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งพระปรางค์วัดราชบูรณะ ได้ ขุดกรุนำโบราณวัตถุที่มีค่าไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

3.4 วิหารพระมงคลบพิตร
พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อพ.ศ. 2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้บูรณะวิหาร พระมงคลบพิตรใหม่ทั้งหมดดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

             พระราชวังหลวงหรือพระราชวังโบราณ ตั้งอยู่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ทางด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่1(พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อพ.ศ.1890 และเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จในปีพ.ศ.1893 จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนอง โสน ปราสาทในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อพ.ศ. 1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายที่บริเวณปราสาทให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์วัดในเขตพระราชวัง แล้วทรงสร้างปราสาทใหม่เลื่อนไปทางเหนือชิดกับแม่น้ำลพบุรี

          นอกจากนี้ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังมีโบราณสถานที่
สำคัญแห่งอื่นอีก เช่น วัดพระราม วัดญาณเสน วัดธรรมิกราช วัดวรโพธิ์ วัดวรเชษฐาราม เป็นต้น
          อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าโดดเด่น
จนได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีมรดกโลก จากการประชุม ณ กรุงคาร์เรจ ประเทศตูนิเซีย ในปี พ.ศ.2536 ด้วยหลักเกณฑ์ที่ว่า เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยาน หลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว 

           จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในครานี้ทำให้สภาพเกาะเมืองอยุธยา โบราณสถาน โบราณวัตถุอันล้ำค่าเสียหายประมาณค่ามิได้

 

          น้ำท่วมหรือจะสู้น้ำใจ

น้ำท่วมอยุธยา หนักหนา แสนสาหัส
เห็นได้ชัด จากทีวี มีข่าวสาร
ท่วมบ้านเรือน โบราณสถาน ท่วมโรงงาน
น่าสงสาร น่าเห็นใจ ไทยด้วยกัน

ขอน้ำใจ ร่วมส่งไป ช่วยไทยหน่อย
ที่เฝ้าคอย ความช่วยเหลือ เพื่อต่อฝัน
ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง สารพัน
น้ำดื่มนั้น ความต้องการ เหลือคณา

ยารักษา โรคภัย ส่งไปได้
ช่วยบรรเทา ทุกข์โรคภัย ที่หนักหนา
สุขาลอย และเรือพาย ไม่มีมา
ช่างลำบาก หนักหนา แสนสากรรจ์

ไทยต้องช่วย พี่น้องไทย เวลานี้
ช่วงวิกฤติ ที่ไทยมี น่าโศกศัลย์
ก่อนน้ำลด ช่วยเปิดใจ ให้เห็นกัน
คนไทยนั้น ไม่ทิ้งกัน “ไม่ทิ้งไทย”

 

หมายเลขบันทึก: 466029เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2011 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท