ฟังให้ลึกซึ้ง ดึงประสบการณ์ สานประโยชน์ร่วมกัน ด้วยกระบวนการ AIC


การระดมความคิดก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์

       ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการนำเสนอแนวทางการพัฒนาสถานศึกษา ในครั้งนี้ผู้บริหารสถานศึกษาของผู้เขียนได้ใช้กระบวนการ AIC เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา คราวนี้ลองมาดูกันครับว่า AIC คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

       AIC เป็นกระบวนการประชุมแบบมีส่วนร่วม โดยย่อมาจาก A คือ Appreciation I คือ Influence และ C คือ Control  ซึ่งนับว่าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาองค์กรหรืออีกนัยหนึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นกระบวนการทัศน์ใหม่ในการพัฒนาก็คงไม่ผิด โดยเทคนิคการระดมความคิดโดยกระบวนการ AIC ที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายและได้ผลดีมีผลให้เห็นอย่างชัดเจนใน 2 ด้าน คือ 1) ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของคน 2) การเรียนรู้เกิดขึ้นระหว่างประชุม ผู้เข้าประชุมจะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับคนอื่น ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รู้จักอดกลั้น ใช้หลักประนีประนอมด้วยเหตุ และผลจากการตัดสินใจร่วมกัน

       ผู้เขียนได้สรุปขั้นตอนการดำเนินการประชุมแบบมีส่วนร่วมตามกระบวนการ AIC ที่      รองศาสตราจารย์ชอบ เข็มกลัด และ รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอไว้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 (A1) สภาพปัจจุบันที่รับรู้ สำรวจสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน

    1) โดยผู้ร่วมประชุมแต่ละคนวาดภาพสะท้อนความเป็นจริงตามที่ตนเองเห็น (ในกระดาษแผ่นเล็ก)

    2) แลกเปลี่ยนความเห็น (อธิบายภาพ) ในกลุ่มเล็ก โดยมีพฤติกรรมให้เกียรติ ความรัก ความเป็นมิตร เห็นคุณค่า (Appreciate) เข้าใจ เห็นใจ กรุณา ถามได้แต่ไม่วิจารณ์ ให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกันไม่ครอบงำ สรุปให้เป็นภาพเดียว (ในกระดาษแผนใหญ่) มีประธานเลขา ผู้เสนอตามที่เห็นควร

    3) นำเสนอในกลุ่มใหญ่โดยมีพฤติกรรมถามได้แต่ไม่วิจารณ์ การยอมรับให้เกียรติ

ขั้นตอนที่ 2 (A2) สภาพที่ปรารถนาในอนาคต หรือการกำหนดสภาพที่มุ่งหวัง

     1) แต่ละคนวาดภาพแสดงความมุ่งหวัง อนุโลมให้มีตัวหนังสือประกอบได้ แต่ควรเป็นข้อคิดที่เป็นรูปธรรมเป็นได้โดยมีพฤติกรรม คือ แลกเปลี่ยนความคิด (อธิบาย) ในกลุ่มเล็กยังคงใช้ความรัก ความเป็นมิตร ให้เกียรติ เห็นคุณค่า  (Appreciate) ยังคงงดเว้นการวิจารณ์ ให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ครอบงำ

     2) สรุปให้เป็น “ภาพแห่งความหวัง” ภาพเดียว (ในกระดาษแผ่นใหญ่) นำเสนอในกลุ่มใหญ่ เมื่อได้ข้อสรุปที่ประชุมกลุ่มใหญ่อาจตั้งคณะทำงานตัวแทนกลุ่มสิ่งที่ได้ คือ วิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) คำขวัญ สัญลักษณ์ และนำเสนอผลสรุปต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

ขั้นตอนที่ 3 (I) กำหนดแนวทางปฏิบัติสู่ความสำเร็จตามสภาพที่ปรารถนาคิดค้นวิธีการสำคัญ (ยุทธศาสตร์) ซึ่งจะทำให้ได้สภาพที่มุ่งหวัง

      1) แต่ละคนคิด “ยุทธศาสตร์” (Strategies) ตามลำพังให้ได้ประมาณ 1 – 3 ข้อ โดยเขียน “ยุทธศาสตร์” ลงบนกระดาษย่อยแผ่นละ 1 ข้อ อธิบายแลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่มเล็ก คัดเลือก “ยุทธศาสตร์” ที่กลุ่มเห็นว่าดีที่สุดประมาณ 3 – 5 ข้อ แต่ละ“ยุทธศาสตร์” อาจมี “ยุทธศาสตร์” (มาตรการ) พ่วงไปด้วยได้มากกว่า 1 ข้อ และอภิปรายถกแถลงกันได้ เพื่อหาข้อยุติที่มีเหตุผลกลุ่มพอใจมากที่สุดยอมรับมากที่สุด

      2) กลุ่มเล็กนำข้อสรุป  (ยุทธศาสตร์ 3-5 ข้อ พร้อมมาตรการพ่วง) เสนอกลุ่มใหญ่ ยังคงอภิปรายถกแถลกกันได้หรืออาจใช้วิธีอื่นใด เพื่อหาข้อยุติที่สมเหตุผลและกลุ่มพอใจมากที่สุด แต่ไม่ลืมเรื่อง ความรัก ความเป็นมิตร และความคิดเห็นเชิงบวก (Positive Thinking) เพื่อสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ร่วมกัน

ขั้นตอนที่ 4 (I2) การวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติสู่ความสำเร็จตามสภาพที่ปรารถนา

     กลุ่มศึกษาผลกระทบและความเป็นไปได้ในการนำยุทธศาสตร์ไปใช้ปฏิบัติจริง

      1) มีความสัมพันธ์เชิงสมดุล

      2) ปฏิบัติได้โดยกลุ่มผู้เข้าสัมมนา

      3) ส่งผลต่อสภาพแห่งความมุ่งหวัง/ที่ปรารถนา

      4) ปฏิบัติได้โดยไม่ขัดแย้งกับนโยบายหลัก คือเลือกยุทธศาสตร์ที่เข้าเงื่อนไข 1-3

ขั้นตอนที่ 5 (C1) เขียนแผนปฏิบัติการ

      1) นำ “ยุทธศาสตร์” แต่ละข้อพร้อมด้วย “มาตรการพ่วง” มาทำ “แผนดำเนินการ” (Action Plan)

      2) แสวงหาผู้รับผิดชอบโดยแบ่งกลุ่ม และลงชื่อตามความสมัครใจว่าจะร่วมสัดทำแผนงานในมาตรการใด

      3) นำเสนอ “แผนดำเนินการ” ในที่ประชุมกลุ่มใหญ่

ขั้นตอนที่ 6 (C2) หาข้อยุติและสัญญาใจ

      1) ร่วมพันธสัญญา

      2) สรุปผลการสัมมนา

      3) ดวงใจปณิธาน

ขั้นตอนที่ 7 (C3) ติดตามผลและให้การสนับสนุน

     การจัดประชุมเพื่อให้การชมเชย เผยแพร่กิจกรรม และการให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาที่ต้องร่วมแก้ไข ทั้งนี้อาจมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำร่วมด้วย

ประโยชน์ของกระบวนการ  AIC

1) สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทุกขั้นตอน

2) สามารถกระตุ้นให้สมาชิกมีอิสระในการแสดงออกอย่างเต็มที่ทั้งการคิด พูด วาดภาพ เขียนและฟัง

3) ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกได้ ฝึกให้รู้จักฟัง ยอมรับเคารพสิทธิของผู้อื่น ช่วยกันหาทางประนีประนอม หาทางออก จัดลำดับความสำคัญของปัญหา

4) เกิดทักษะการคิดเป็นระบบและมองรอบด้าน

5) สร้างความโปร่งใสในการทำงานตั้งแต่ต้น

6) ฝึกฝนการกระจายอำนาจและบริหารอำอาจ

7) ฝึกฝนการเป็นประชาธิปไตย

8) ช่วยให้มีความกระตือรือร้น มีพลังสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาระบบงาน

9) ส่งเสริมให้คนมีความรักกัน เรียนรู้ร่วมกัน

10) ระดมความคิดได้ในทุกระดับ ลดปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคล

       กระบวนการ AIC เป็นเทคนิคการประชุมที่ผู้เข้าร่วมประชุมมีส่วนร่วมในการประชุมมากที่สุด เป็นรูปแบบการประชุมที่ทำให้เกิดพลังความสามัคคี ในการพัฒนางานร่วมกันได้ดีที่สุด เป็นการประชุมเพื่อวางแผนงานที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด เนื่องจากทุกคนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหา ร่วมกำหนดแนวทางในการพัฒนาและร่วมการประเมินผลการทำงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาอย่างยั่งยืน

     ด้วยประโยชน์ของกระบวนการ AIC ซึ่งเป็นการนำบุคคลที่เกี่ยงข้องหลายฝ่ายมาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล ในทุกขั้นตอนของการแก้ปัญหา หรือการพัฒนา เป็นการพัฒนาคุณภาพภายในในบรรยากาศที่เป็นมิตร มีความรัก เข้าใจ ในเกียรติ และยอมรับซึ่งกันและกันก่อให้เกิดแนวทางที่สร้างสรรค์ในการพัฒนา อันจะส่งผลต่อผลสำเร็จของการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #aic
หมายเลขบันทึก: 465821เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2011 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับอาจารย์ โสภณ เปียสนิท ที่แวะมาทักทายและให้กำลังใจ

ชอบภาพครับ เข้ากับบรรยากาศน้ำท่วมดี ขอหนูไปด้วยคน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท