ช้าลงสักนิด ชีวิตเป็นสุข


ช้าลงสักนิด ชีวิตเป็นสุข
นิตยสาร IMAGE ตุลาคม ๒๕๕๔ 
ช้าลงสักนิด ชีวิตเป็นสุข
โดย ภาวัน
 

 

       เธอเป็นผู้หญิงเก่ง เชื่อมั่นตนเองและขยันทำงาน คิดค้นงานใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ แต่ละวันเธอจึงทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ตื่นเช้าขึ้นมาก็รีบทำงานหนึ่งให้เสร็จ เพื่อต่ออีกงานหนึ่งในตอนบ่าย ตกค่ำก็ยังทำงานไม่เลิก แม้จะมีงานมากมายที่ต้องทุ่มเทแต่เธอก็ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ทำให้รู้สึกมั่นใจในตนเองมาก แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็พบว่าโครงการใหญ่ที่เธอคาดหวังว่าจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ทำท่าจะพังครืน เธอผิดหวังอย่างรุนแรง รู้สึกแย่กับตัวเองมาก จนถึงกับคิดจะฆ่าตัวตาย แม้ลูกเธอจะขอแบ่งเบางาน เธอก็ไม่ไว้ใจพอที่จะมอบความรับผิดชอบให้

 

        ช่วงนั้นเธอได้ไปสมัครเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชีวิต มีวิชาหนึ่งอาจารย์ได้จัดกิจกรรมเพื่อช่วยให้นักศึกษารู้จักตนเอง หลังจากที่ได้แสดงพฤติกรรมที่ทำอย่างเคยชินออกมาผ่านกิจกรรมดังกล่าว เธอก็ได้พบว่าเธอเป็นคนที่ชอบทำอะไรเร็ว ๆ ใจไม่ค่อยจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ต่อหน้า แม้กระทั่งกินข้าวก็รีบ ๆ กิน ดังนั้นเมื่ออาจารย์เสนอให้นักศึกษาแต่ละคนเลือกทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อการ ปรับปรุงตนเอง การบ้านที่เธอเลือกทำคือ "เคี้ยวอาหารให้ช้าลง"

        ทันทีที่ทำการบ้านดังกล่าว เธอสังเกตเห็นใจของตนเองเวลากินข้าวว่า ใจจะนึกไปถึงงานที่รออยู่ข้างหน้า จึงรีบ ๆ เคี้ยวเพื่อจะได้ไปทำงานชิ้นนั้นไว ๆ แต่เมื่อเธอดึงใจมาจดจ่อกับการกินข้าว พยายามเคี้ยวข้าวให้ช้าลง เธอพบหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน อย่างแรกก็คือ เธอเพิ่งรู้ว่า "ข้าวมีรสหวาน อาหารที่อร่อยเป็นยังไง" ต่อมาก็พบว่าการกินอาหารช้าลงทำให้เธอได้สังเกตความรู้สึกของคนในครอบครัวที่นั่งร่วมโต๊ะ ได้มีเวลาโอภาปราศรัยและใส่ใจ ความรู้สึกของลูก ส่วนลูกก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเธอ เมื่อรู้ว่าเธอตั้งใจทำอะไรอยู่ ก็ให้กำลังใจ บรรยากาศภายในบ้านจึงดีขึ้น จนเธอรู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นใกล้ชิดยิ่งขึ้น แต่เดิมที่สนใจแต่ "งาน" ก็หันมาสนใจ "คน" มากขึ้น

ที่น่าแปลกก็คือ หลังจากเคี้ยวช้าลง โรคปวดท้องที่ก่อความทุกข์ทรมานแก่เธอมานานหลายสิบปี จู่ ๆ ก็หายไป เช่นเดียวกับ โรค"หายใจไม่ทัน" หรือหายใจขัด ไม่เต็มปอด ทั้งนี้โดยเธอไม่ได้พึ่งยาเลย

 

        หลังจากทำการบ้านนี้ได้ไม่นาน เธอก็รู้สึกใจเย็นขึ้น เวลาทำอะไร ใจก็จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น แทนที่รีบทำให้เสร็จเพราะคิดถึงงานอื่นที่รออยู่ข้างหน้าเหมือนเมื่อก่อน ต่อมาเธอก็เริ่มวางใจในตัวลูกมากขึ้น ให้ลูกรับผิดชอบงานมากกว่าเดิม แล้วก็พบว่าเขาทำได้ดีกว่าตัวเธอเสียอีก เธอจึงเริ่มวางมือจากงานเหล่านี้ นับแต่นั้นมาเธอก็รู้สึกเครียดน้อยลง มีเวลาส่วนตัวมากขึ้น รวมทั้งมีเวลาไปเยี่ยมพ่อและพาพ่อไปเที่ยว ผิดกับแต่ก่อนที่ปฏิเสธคำขอของพ่อเสมอเพราะว่า "ไม่มีเวลา"

 

       เมื่อทบทวนชีวิตที่ผ่านมา เธอถึงกับออกปากกับว่า ไม่คิดเลยว่าการกินอาหารแต่ละมื้อเกิน ๕ นาที จะทำให้เธอมีความสุขได้มากมายอย่างนี้ เป็นความสุขที่ได้มาง่ายมาก

 

        สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชานี้ ให้แง่คิดจากเรื่องราวของเธอว่า "ความสุขที่คนเราได้มาโดยไม่ต้องลงทุนขวนขวาย แสวงหาจากภายนอก มักเป็นความสุขลึก ๆ ที่เกิดขึ้นภายในจากการปล่อยวางบางสิ่งบางอย่างลง"

 

        ไม่ต้องปล่อยวางอะไรมาก แค่วางงานที่ผ่านไปแล้วหรือยังมาไม่ถึง ให้ออกไปจากใจ แล้วใส่ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่เฉพาะหน้า แม้สิ่งที่กำลังทำอยู่ดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งสำคัญ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ถูฟัน แต่หากทำสิ่งนั้นให้ช้าลง ไม่ต้องรนหรือรีบทำให้เสร็จไว ๆ เพื่อทำอย่างอื่นต่อ จะช่วยให้จิตใจเราผ่อนคลายขึ้น และส่งผลให้ชีวิตเราช้าลง มีเวลาใส่ใจความรู้สึกของคนรอบข้าง เพียงเท่านี้ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็จะตามมามากมาย ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

        เรื่องราวของเธอไม่เพียงบอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงในจุดเล็ก ๆ หากยังสะท้อนให้เห็นว่า เพียงแค่ใช้ชีวิตให้ช้าลง ลดความเร่งรีบ ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น เป็นสุขที่ไม่ต้องแสวงหาอะไรจากภายนอกไม่ว่าเงินทองหรือชื่อเสียงมาหล่อเลี้ยง แต่เป็นสุขจากภายในเมื่อใจได้ปล่อยวาง

**********

กิ่งธรรมจาก http://www.visalo.org

 
หมายเลขบันทึก: 465516เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2011 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท