ผู้ทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมหิดล


 

          การสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลคราวนี้ได้เกิดเหตุการณ์ “ความลับรั่ว” ออกไปเปิดเผยใน นสพ. ดังข่าวในมติชนที่ สกอ. ตัดมารวบไว้นี้ทั้งๆ ที่เป็นกติกาว่าการประชุมคณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นความลับยิ่งยวด  กรรมการสรรหาทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของการประชุม มีข้อตกลงย้ำแล้วย้ำอีกว่าต้องรักษาความลับ

          เรื่องราวเผยแพร่ออกไปทางใน เฟสบุ๊ค ด้วย อ่านได้ที่นี่

          ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อวันที่ ๒๑ ก.ย. ๕๔ นอกจากมีมติแต่งตั้ง ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นอธิการบดีแล้ว   สภายังมีมติว่าผู้ที่นำเอาผลการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาไปเปิดเผยเป็นผู้ทำความผิดทางจริยธรรม  และทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมหิดล   กรรมการบางท่านถึงกับเสนอให้สอบสวนหาตัวมาลงโทษ

          กรรมการสภาฯ หลายท่านอภิปรายว่า   พฤติกรรมของผู้เอาความลับไปเผยแพร่ครั้งนี้เป็นการบอกสังคมทางอ้อมว่า มีคนในมหาวิทยาลัยมหิดลที่ไม่มีความมั่นคงทางจริยธรรม (integrity) และอาจก่อความเข้าใจผิดว่าคนมหิดลส่วนใหญ่มีนิสัยเช่นนี้

          ศ. นพ. ประเวศ วะสี ได้มีบันทึกถึงนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลดังนี้

 

บันทึก
มหาวิทยาลัยมหิดล
                       ๑๖ กันยายน ๒๕๕๔

เรื่อง    การสรรหาอธิการบดี
เสนอ  นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล


     การสรรหาอธิการบดีมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ควรมีหลักการดังต่อไปนี้
มีความถูกต้อง
มีความประณีตงดงาม  
ไม่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี


     ปรากฏว่าการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลที่กำลังดำเนินการอยู่เกิดเหตุการณ์ที่อาจไม่เป็นไปตามหลักการข้างต้น   กล่าวคือมีข่าวผลของการสรรหาไปปรากฏต่อสาธารณะก่อนที่คณะกรรมการสรรหาจะรายงานผลการสรรหาต่อสภามหาวิทยาลัย

     ในข่าวที่ปรากฏต่อสาธารณะมีรายละอียดว่ากรรมการสรรหาออกเสียงให้กับผู้รับการสรรหาท่านใดเท่าไร   พร้อมทั้งจำนวนคณะ/สถาบันที่เสนอชื่อท่านผู้ใดเท่าไร   รายละเอียดที่ไปปรากฏต่อสาธารณธรวมถึงปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วย   ทั้งๆ ที่สภามหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับทราบผลการสรรหา   เป็นการที่ทั้งไม่ถูกต้องและไม่งาม  ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ คาดเดา ร่ำลือ ไปต่างๆ นานา ว่า กรรมการสรรหาผู้ใดโหวดให้ท่านผู้ใด  และคณะ/สถาบันใดเสนอชื่อท่านผู้ใด  เหตุการณ์เช่นนี้อาจทำให้เกิดการแตกความสามัคคีกันขึ้น  และไม่เป็นภาพพจน์ที่ดีของมหาวิทยาลัยมหิดล

          ผมจึงขอเสนอมาเพื่อโปรดนำเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยมหิดล   เพื่อเป็นการเรียนรู้และหามาตรการลดความเสียหาย  สภามหาวิทยาลัยควรสร้างหลักปฏิบัติในการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่มีรายละเอียดในกระบวนการ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

          จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 


                                                                 (ลายเซ็น)
                                             ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี
                                                         กรรมการสภามหาวิทยาลัย

 

 

 

          ผมคัดบันทึกนี้เอามาลงไว้ เพื่อเป็นข้อเรียนรู้สำหรับผู้สนใจทั่วไป

          ศ. นพ. ประเวศ กล่าวในที่ประชุมให้ผู้นำความลับไปแพร่งพรายได้ตระหนักว่า ตนได้ทำความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยมหิดลอย่างหนัก  “ไม่ต้องสารภาพก็ได้แต่พึงเข้าใจว่าได้ทำให้เกิดความเสียหายหนัก”

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ก.ย. ๕๔
    

หมายเลขบันทึก: 465327เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2011 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • อุดมศึกษา แต่ อุดมปัญหา
  • ทั้งที่ "อุดมปัญญา"
  • สงสาร "ลูกศิษย์" ครับ

"The truth shall set you free"

ทำไมไม่คิดว่าการเปิดเผยข้อมูลจะทำให้คนเข้าใจและเลิกระแวงกันครับ เราคงห้ามไม่ได้ที่จะมีข้อมูลที่แพร่ออกมา จริงบ้างไม่จริงบ้าง เพราะยุคนี้ข้อมูลมันแพร่กันง่าย

ถ้าจะมีข้อมูลออกมา ก็ควรมี context ว่าการตัดสินใจเป็นเพราะอะไร มีที่มาอย่างไร และข้อมูลเหล่านี้ก็ควรมาจากสภาเองเลย

Link มติชน เสีย ครับ มีข้อมูล เรื่องอุดมศึกษา กับ อาเซี่ยน น่าสนใจมากมาก ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท