ประวัติพระพุทธศาสนาตอนที่๙


พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช



พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา



              พระเจ้าอโศกมหาราช  ทรงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นอย่างมาก
พระองค์ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ ๓
แล้วทรงส่งพระสมณทูตออกไปประกาศพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนต่างๆ  จำนวน ๙ สาย
ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเถรวาทได้เผยแผ่ไปยังนานาประเทศ  รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าสุวรรณภูมิประเทศ 
ถือได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรงริเริ่มงานพระธรรมทูตในดินแดนนอกประเทศอินเดีย
เพื่อให้ผู้ศึกษาได้ทราบบทบาทของพระเจ้าอโศกมหาราช
จึงนำเอาประวัติของพระองค์มากล่าวดังต่อไปนี้



                   ในปกรณ์บาลีคัมภีร์มหาวังสะและคัมภีร์สมันตปาสาทิกาเล่าว่า  พระเจ้าอโศกมหาราช
เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพินทุสาร แห่งราชวงศ์เมารยะ (โมรีย์) พระมารดาพระนามว่า
ศิริธรรมา เป็นเจ้าหญิงราชวงศ์โมริยะองค์หนึ่ง พระเจ้าพินทุสารมีพระมเหสี ๑๖
พระองค์ มีพระโอรสจำนวน ๑๐๑ องค์ แต่ที่สำคัญมี ๓ พระองค์คือ เจ้าชายอโศก
เจ้าชายติสสะ และเจ้าชายสุมน พระราชบิดาทรงมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าชายสุมน
ซึ่งเป็นพระเชษฐโอรสที่ประสูติจากพระอัครมเหสีเสด็จขึ้นครองราชย์แทน
จึงทรงวางแผนส่งเจ้าชายอโศกไปเป็นอุปราชที่เมืองอุชเชนี
แคว้นอวันตีซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าพินทุสารในสมัยนั้น



                   ในฎีกามหาวงศ์กล่าวว่า
เมื่อเจ้าชายอโศกได้เป็นพระอุปราชที่อุชเชนี 
ได้อภิเษกสมรสกับสาวงามชื่อว่า เทวี ธิดาของเวทมานกเศรษฐีในเมืองเวทิสา
กล่าวกันว่านางได้สืบเชื้อสายมาจากศากยวงศ์ ต่อมาได้พระนามว่า เวทิสามหาเทวี
ได้พระโอรสและพระธิดากับพระเจ้าอโศก ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายมหินทะ กับ
เจ้าหญิงสังฆมิตตา และทั้งสองพระองค์ก็ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา 
ต่อมาเมืองตักกศิลาคิดกบฏพระเจ้าพินทุสารส่งเจ้าชายสุมนไปปราบแต่ไม่สำเร็จ  จึงส่งเจ้าชายอโศกไปปราบผลปรากฏว่า ปราบสำเร็จ
จึงทำให้เจ้าชายอโศกมีชื่อเสียงเรื่องลือไปไกล ทรงมีอำนาจบารมีเหนือพระโอรสทั้งปวง  เมื่อพระเจ้าพินทุสารสวรรคตเจ้าชายอโศกได้ยกทัพมาจากเมืองอุชเชนีเข้ายึดเมืองปาฎลีบุตร
ประหารชีวิตพี่น้องทั้งหมดยกเว้นเจ้าชายติสสะ 
ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกัน แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๗๘
โดยใช้เวลาในการต่อสู้แย่งชิงราชสมบัติอยู่  ๔  ปี  



                   ในปกรณ์สันสกฤตคัมภีร์อโศกาวทานกล่าวว่า
พระเจ้าอโศกเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ด้วยพระองค์ทรงมีอุปนิสัยที่โหดร้ายอยู่แล้ว
ฆ่าขุนนางข้าราชการที่กระด้างกระเดื่องจำนวน ๕๐๐ คน
ใครไม่เชื่อฟังและขัดคำสั่งของพระองค์ให้ฆ่าเสีย
และในคราวหนึ่งพระเจ้าอโศกทรงรับสั่งให้บำรุงรักษาต้นอโศกอย่างดี
เพราะเป็นต้นไม้ที่มีชื่อเหมือนพระองค์
พอพวกนางสนมกำนัลไปหักรานกิ่งและดอกต้นอโศกเล่น
พระองค์ทรงกริ้วมากจึงจับนางสนมกำนัลเหล่านั้นเผาไฟทั้งเป็น
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงถูกขนานพระนามว่า “จัณฑาโศก” แปลว่า “อโศกผู้ดุร้าย”
ต่อมาพระองค์รับสั่งให้สร้างสถานที่สำหรับประหารชีวิตขึ้นเรียกว่า “นรกาลัย”[1]
สถานที่แห่งนี้เป็นนรกในมนุษย์โลก มีวิธีการลงโทษแบบต่างๆ เช่น
เอาผู้กระทำผิดลงต้มในกระทะทองแดง หรือ จับโขลกในครกเหล็กให้ละเอียด เป็นต้น



                   เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วพระเจ้าอโศกได้ยกกองทัพไปตีเมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆ
มากมาย และยกทัพไปตีแคว้นกาลิงคะ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐโอริสสา)
เป็นเหตุให้ทหารและราษฎรเสียชีวิตเป็นแสน
และถูกจับมาเป็นเชลยในครั้งนั้นนับแสนเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก
ทำให้พระองค์ทรงเกิดความเศร้าสลดหดหู่พระทัยยิ่งนัก
ดังข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกหลักที่ ๑๓ ความว่า



                   “...เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ราชาภิเษกได้ ๘ ปี
ได้มีชัยชนะเหนืออาณาจักรกาลิงคะ จับผู้คนมาเป็นเชลยจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ คน
ประหารชีวิตคนจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ หลังจากปราบแคว้นกาลิงคะได้แล้ว
พระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นที่รักของทวยเทพจึงได้อภิบาลรักษาธรรม ทรงพอพระทัยในธรรม
และทรงสั่งสอนธรรม
โดยเรื่องการชิงชัยนั้นเองบันดาลให้พระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นที่รักของทวยเทพกำสรวลสลดสังเวชพระทัยยิ่งนักในการตีแคว้นกาลิงคะครั้งนี้
เนื่องด้วยการรบพุ่งตีชิงประเทศย่อมจะต้องมีการประทุษร้าย การพิฆาตผู้คนหรือการจับคร่าคนมาเป็นเชลย
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสเหลือเกิน..”[2]



              พระองค์จึงทรงวางดาบวางอาวุธหันมาสนพระทัยในทางศาสนา
 แต่เดิมนั้นพระองค์ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์และเชนเหมือนพระเจ้าจันทรคุปต์พระอัยยิกาเจ้า
และพระเจ้าพินทุสารพระชนกนาถ ต่อมาได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในตำนานต่างๆ
ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้พระเจ้าอโศกมานับถือพระพุทธศาสนาเอาไว้ต่างกัน



                   ในคัมภีร์มหาวงศ์
กล่าวว่าสามเณรนิโครธ โอรสของเจ้าชายสุมน ราชโอรสของพระเจ้าพินทุสารองค์หนึ่งได้พาพระชายาหลบหนีภัยเมื่อคราวที่เจ้าชายอโศกยกกองทัพเข้ายึดเมืองปาฏลีบุตร
โดยไปหลบภัยอยู่กับพวกจัณฑาล ต่อมาพระชายาได้ประสูติพระโอรสจึงตั้งชื่อว่า นิโครธ เมื่อนิโครธกุมาร
อายุ  ๗ ขวบ
ได้ฟังเทศน์จากพระมหาวรุณเถระเกิดความเลื่อมใสจึงขออนุญาตออกบวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
 ในเวลาเช้าของวันหนึ่งพระเจ้าอโศกได้ทอดพระเนตรเห็นนิโครธสามเณรเดินผ่านหน้าพระราชวัง
ซึ่งเดินอย่างสำรวม มีกิริยาอาการสงบเสงี่ยม
มีผิวพรรณผ่องใสน่าเคารพเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก
จึงนิมนต์เข้าไปในพระราชวังพอได้สนทนากันเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว  นิโครธสามเณรจึงแสดงธรรมเทศนาเกี่ยวความไม่ประมาทเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติของพระเจ้าอโศกจนพระองค์เกิดความศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้นแล้วทรงนับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



                   ส่วนในคัมภีร์อโศกาวทานของฝ่ายมหายานกล่าวว่า
เมื่อพระเจ้าอโศกให้สร้างนรกาลัยแล้ว ทรงตั้งนายจันฑคีริกะเป็นเพชฌฆาตประจำนรกาลัย
พระองค์ทรงรับสั่งว่าใครก็ตามที่เข้ามาในนรกาลัยนี้แล้วต้องฆ่าให้ตายทั้งหมดจะไม่ให้กลับออกไปอีก
ต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า พาลบัณฑิต
เดินทางเข้ามาในนรกาลัยจันฑคีริกะจึงจับพระเถระโยนลงไปในกระทะทองแดงที่กำลังเดือดพล่าน
แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักพระเถระกลับไม่เป็นอันตราย
จัณฑคีริกะไปกราบทูลให้พระเจ้าอโศกทรงทราบ
แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อจึงเสด็จไปทอดพระเนตร
พระเถระเลยถือโอกาสแสดงธรรมเพื่อชี้แจงแสดงให้พระเจ้าอโศกทรงเห็นโทษของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  จนพระเจ้าอโศกเกิดความสังเวชแล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา
พระองค์จะเสด็จกลับออกไปจัณฑคีริกะไปยืนขวางหน้าพระองค์ไว้
แล้วจะจับพระองค์โยนลงกระทะทองแดง ทำให้พระองค์ทรงพระพิโรธอย่างมาก
จึงรับสั่งให้จับจัณฑคีริกะโยนเข้ากองเพลิงทันที และให้ทำลายนรกาลัยเสีย
ต่อมาพระองค์ได้พบกับพระอุปคุตเถระ
ได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากพระเถระทำให้พระเจ้าอโศกเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นถึงจำนวน
๘๔,๐๐๐ องค์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ



                   เมื่อพระเจ้าอโศกทรงนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว
พระองค์ทรงบำเพ็ญตนเป็นอุบาสกที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน
โดยการทรงเลิกเสวยน้ำจัณฑ์ เลิกเสวยเนื้อสัตว์
ชักชวนให้ประชาชนรับประทานผักผลไม้แทนเนื้อสัตว์ พระองค์ทรงผนวชอยู่ระยะหนึ่ง
เอาพระทัยใส่ในการศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
แล้วอบรมสั่งสอนประชาชน  มีความรอบรู้และแตกฉานในหลักธรรมอย่างมาก
จนสามารถนำเอาหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาเข้ามาใช้ในการบริหารบ้านเมือง
ทรงยุติการขยายอาณาเขตด้วยการใช้กำลังกองทัพทหาร
แต่พระองค์ทรงประกาศความยิ่งใหญ่โดยเอากองทัพธรรมนำหน้า เรียกว่า “ธรรมวิชัย” คือชัยชนะโดยธรรม
ดังข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกตอนหนึ่งว่า “...ข้าได้เห็นคนจำนวนมากกว่าแสนถูกประหารชีวิต
คนเหล่านี้ไม่ใช่ทหาร ข้ารู้สึกเสียใจในการกระทำครั้งนี้ ข้าเริ่มมุ่งหาธรรมะ
เริ่มฝักใฝ่ในธรรม เพราะข้าประจักษ์แล้วว่า
ชัยชนะอันสูงสุดมิใช่เกิดจากแสนยานุภาพใดๆ แต่ต้องเป็นชัยชนะโดยธรรม
ซึ่งจะเผล็ดผลให้ความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ข้าจึงขอประกาศว่าบรรดาบุตรหลานของข้า จงทำแต่ธรรมวิชัย อย่าทำยุทธวิชัยเลย...”[3] พระเจ้าอโศกมหาราชทรงปฏิวัติการปกครองบ้านเมืองโดยใช้หลักธรรมในการบริหาร
เช่น



                   ๑)  การปกครองบ้านเมืองด้วยระบอบธรรมาธิปไตย ใช้หลักธรรมวินัยบริหาร บ้านเมือง



                   ๒) ทรงอุทิศพระองค์เป็นธรรมทาส โดยทรงหวังผลทั้งภพนี้และภพหน้า
นำประชาชนให้งดเว้นจากมิจฉาชีพ ดำรงชีวิตโดยหลักสัมมาอาชีพ



                   ๓)  เสด็จประภาสเพื่อธรรม เที่ยวนมัสการปูชนียสถานในพระพุทธศาสนา
และแนะนำสั่งสอนประชาชนให้รู้และปฏิบัติธรรม



                   ๔)  ทรงปฏิวัติสังคมโดยธรรม คือทรงยกเลิกพิธีกรรมต่างๆ
ที่มีการเบียดเบียนทำลายชีวิตสัตว์ด้วยการบูชายัญ



                   ๕)  ทรงใช้ระบบรัฐสวัสดิการ ด้วยการสร้างโรงพยาบาลรักษาคน
โรงพยาบาลรักษาสัตว์ ปลูกสวนสมุนไพรตามที่ต่างๆ ขุดบ่อน้ำ สร้างถนน
คูคลองส่งน้ำเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชน



                   ๖)  ให้เลิกพิธีกรรมที่ไม่เป็นธรรม ให้นำเอาหลักมงคลสูตร
สิงคาลสูตรเข้ามาใช้ เพื่อให้คนปฏิบัติต่อกันตามสมควรแก่ฐานานุรูป
เน้นให้ประชาชนรู้จักการให้ทานแบ่งปัน การอบรมสั่งสอนกันด้วยจิตเมตตา



                   ๗)  ทรงตั้งข้าหลวงแทนพระองค์เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรม
โดยให้ข้าหลวงเหล่านั้นมีความรู้สึกใกล้ชิดกับประชาชนประดุจบิดากับบุตรหลาน
ให้สอดส่องดูแลทุกข์สุขของประชาชนดุจบิดาเอาใจใสต่อบุตร
การกระทำทุกอย่างทรงเน้นให้เห็นเรื่องบุญและบาปทั้งในภพนี้และภพหน้า



                   จากการที่พระเจ้าอโศกได้นำเอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าใช้ในการปกครองและบริหารประเทศชาติ
ที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตย นี้ ทำให้ประเทศต่างๆ
มีความประสงค์จะเข้ามาสัมพันธไมตรีด้วย
ยอมตนเข้ามาเป็นขอบขันธ์สีมาเดียวกันกับพระองค์
เพราะความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาดังข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกตอนหนึ่งว่า



                   “...มา ณ ยุคปัจจุบันนี้
โดยเหตุที่พระเจ้าอยู่หัว เป็นที่รักของทวยเทพได้ทรงปฏิบัติธรรมแล้ว
ประชาราษฎร์แทนที่จะได้ยินเสียงยุทธเภรี แต่กลับได้ยินเสียงธรรมเภรีแทน...
ในกาลก่อนนิกรชนชาวชมพูทวีปไม่ได้อยู่ร่วมกับทวยเทพ
ครั้นมาบัดนี้ได้อยู่ร่วมกับทวยเทพแล้ว
เช่นนี้คือผลแห่งการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดของข้าโดยไม่ต้องสงสัย...” [4]



                   พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น สร้างวัด วิหาร พระสถูป พระเจดีย์ และหลักศิลาจารึก
เป็นต้น
และได้ทรงบำรุงด้านปัจจัยสี่แก่พระภิกษุสงฆ์เพื่อให้พระสงฆ์ได้รับความสะดวกมีโอกาสได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่
จึงทำให้อลัชชีเข้ามาปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อหวังลาภและสักการะจำนวนมาก
ต่อมาได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ในโอกาสต่อไป













[1] จำนงค์ ทองประเสริฐ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์.
(กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์คุรุสภา,  ๔๕๓๔),หน้า ๔๖๖







 [2] เสถียร  โพธินันทะ,ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา.
พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพฯ :
บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด) ๒๕๔๔,หน้า ๑๓๐.



 



 







                [3]
เสถียร  โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ฉบับมุขปาฐะ ภาคที่ ๑, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย) ๒๕๓๙, หน้า ๘๗.







[4]  พระเทพดิลก (ระแบบ  ฐิตญาโณ), ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. (กรุงเทพฯ
: มหามกุฏราชวิทยาลัย) ๒๕๔๙, หน้า ๑๕๗.





คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 464871เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2011 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท