เครือข่ายการพัฒนาเยาวชนในโรงเรียน


ปีการศึกษา 2548  กงไกรลาศวิทยาสามารถเป็นกัลยาณมิตรแก่นักเรียน มีครูเป็นกัลยาณมิตรหลัก  ครูและนักเรียนมีกรอบความคิดที่ชัดเจนว่าครูคือกัลยาณมิตร(ที่ต้องทำอะไร กับใคร เวลาใด ที่ไหน เพื่ออะไร) มีเวลาให้แก่กัน มีสถานที่ที่จะพบปะกัน มีพื้นที่(space)ที่จะเข้าถึงกันคน รู้จักกันเป็นอย่างดี  แต่การที่จะได้ต้องอยู่กันยาวๆ นั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะนักเรียนที่เข้าสู่โรงเรียนนั้น ก็เหมือนเข้าสู่ระบบสายพาน ไหลผ่านครูที่เฝ้าอยู่ประจำจุดต่างๆ เมื่อผ่านมาถึงนักเรียนก็ได้รับการจัดกระทำ ณ จุดนั้นๆ สมัยที่ดิฉันเรียนมัธยม  กติกาสมัยนั้นถ้านักเรียนคนใดสอบตกก็ซ้ำชั้น เป็นอันอยู่จุดนั้นนานหน่อย  แต่ปัจจุบันสายพานเวลาก็พานักเรียนไหลไปเรื่อยๆ  นายสุดทนก็เช่นกัน ทราบว่าครูใหญ่ ม.4 จำตนและพวกได้  ครูประจำชั้นจำตนและพวกได้  ความเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียนของตนและพวกก็อยู่ในข่ายพระญาณของครู  ถึงไม่อยู่ครูก็ตรวจสอบได้โดยไม่ช้า  เป็นอันว่าหลังจากเหตุการณ์วิวาทกับนายวิศาล  นายสุดทนไม่มีเรื่องกับใครอีกเลย  ไม่ว่าจะเป็นวิวาท พนัน ชู้สาว และยาเสพติด

 

   ปีการศึกษาต่อมา  นายสุดทนขึ้นชั้น ไปอยู่ ม.5  เวลาผ่านไปแค่เดือนเดียวก็ออกอาการ(แต่ยังไม่ทันมีเรื่อง)  คราวนี้ครูประจำชั้นจับอาการได้ในทันที(เพราะว่าทราบแล้วจากประวัติที่ส่งต่อมาพร้อมตัว)  จึงหารือครูใหญ่  ครูใหญ่บอกว่างานนี้จะจัดการเอง  ว่าแล้วก็ตามตัวนายสุดทนมาพบในเวลาพักเที่ยงวันหนึ่ง  ครูใหญ่ ม.5 อ่านประวัติของนายสุดทนให้ฟัง  นายสุดทนอุทานอย่างตกใจว่า “อ้าว อาจารย์รู้หรือ”  ครูใหญ่ว่า “รู้สิ... ม.4 ส่งตามตัวเธอขึ้นมา”  นับแต่นั้นมา นายสุดทนเรียบร้อยน่ารัก  นี่เป็นเคล็ดวิชาการส่งต่อระหว่างเครือข่ายค่ะ  ตามภาพข้างล่างนี้

 

 

 

จากภาพ  ครูประจำชั้นแต่ละท่าน(วงแรก มีหน้าที่สั่งสอน อบรม กล่อมเกลา ใกล้ชิด)ซึ่งรับผิดชอบนักเรียนจำนวนน้อยแต่ชัดเจนได้บันทึกประวัติทุกด้านของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ  ครั้นสิ้นปีการศึกษาก็มีการมอบงานกัน  โดยครูใหญ่เป็นผู้จัดการในฐานะโรงเรียนเล็ก(วงกลาง มีหน้าที่ร่วมกันเป็นคณะและเป็นระบบในการดูแล ป้องกัน แก้ไข) คือ ม.1 ส่งมอบงานให้แก่ ม.2,  ม.2 ส่งมอบงานให้แก่ ม.3,  ม.3 ส่งมอบงานให้แก่ ม.4,  ม.4 ส่งมอบงานให้แก่ ม.5,  ม.5 ส่งมอบงานให้แก่ ม.6   ม.6 ก็ส่งออกนักเรียนสู่อาชีพหรือสถาบันอุดมศึกษา  การส่งต่อนี้ ใช้เครื่องมือที่ราชการกำหนด เช่น สมุดประจำตัวนักเรียน(ป.พ.) และเครื่องมือที่โรงเรียนกำหนดเพิ่มเติม เช่น บันทึกของครูประจำชั้น ตลอดจนการเล่าเรื่องและตอบข้อซักถามระหว่างครูประจำชั้นที่มอบงานกัน  เป็นบรรยากาศของการผูกโยงกันเป็นเครือข่ายกัน  “เครือข่ายการดูแลช่วยเหลือนักเรียน”

 

การมอบงานกันนี้  เป็นที่ชื่นชอบของครูที่มีความรับผิดชอบ  ครูกลุ่มนี้สะท้อนว่างานของตนเบาลง ชัดขึ้น ง่ายขึ้น ที่สำคัญ คือ ครูปรึกษาหารือกันได้ทั้งในรู้ระดับชั้นเดียวกัน และระหว่างระดับชั้น รู้สึกว่ามีเพื่อนร่วมทาง  ความดีงามเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะบุคลิกส่วนตัวของครู แต่เป็นคุณภาพที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ  กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การจัดโครงสร้างกลุ่มภารกิจเช่นนี้เอื้อต่อความร่วมมือกันทั้งภายในกลุ่มระหว่างกลุ่ม  แน่นอนเป็นที่ทุกข์ร้อนของคนบางกลุ่มเพราะไม่มีงานจะส่งมอบต่อไปยังกลุ่มงานถัดไป !..

 

ด้วยโครงสร้างกลุ่มภารกิจและกระบวนการนี้  นายสุดทนไม่ต้องออกกลางคัน สร้างความล้มเหลวแก่เจ้าตัว สร้างความสูญเสียแก่พ่อแม่  นายสุดทนเรียนจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานชั้น ม.5 และขึ้น ม.6 โดยราบรื่น  ที่ ม.6 นี้ นายสุดทนมีที่อยู่ที่ยืนอย่างสง่างาม  ด้วยฤทธิ์ที่เหลือขอมาก่อนทำให้รู้ทาง...  จึงทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครู(ไปโดยปริยาย)ในการดักทางรุ่นพี่ที่ริอ่านจะทำตัวเป็น “ขาใหญ่” ปีนั้นทั้งปี ไม่มีนักเรียนเกใน ม.6 เลย  เป็นอันว่าบรรดาครูครูใน ม.6 ไม่ต้องเสียเวลา เสียกำลังในการแก้ไขปัญหา  เลยมีเวลามากขึ้นในการทุ่มเทสติปัญญาส่งเสริม แนะแนว  นายสุดทนก็ได้อานิสงค์จากการแนะแนวนี้ด้วย จบหลักสูตรการศึกษาชั้นมัธยมปลายและเข้ามหาวิทยาลัยโดยสวัสดิภาพ   ดิฉันมัวสาละวนกับงานเฉพาะหน้า เผลอไปชั่วครู่   ได้ทราบว่าวันนี้วันที่ดิฉันเล่าเรื่องนี้  นายสุดทนกำลังช่วยดูแลกิจการของพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้มีฐานะในอำเภอ

 

ตามโครงสร้างกลุ่มภารกิจที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่” หกโรงเรียนเล็กนี้ โจทย์การพัฒนานักเรียนจะถูกล็อกไว้ที่ครูประจำชั้น  ใครเป็นผู้ปฏิบัติก็ช่าง เราถือว่าช่วยครูประจำชั้น  และครูประจำชั้นรับผิดชอบทุกเรื่องเสมือนผู้ปกครองตลอดเวลาที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน  ครูทุกคนรับผิดชอบชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ทำเมื่อไร กับนักเรียนคนไหน ในจำนวนนักเรียนที่แน่นอนและไม่มากนัก  ถ้าทำไม่ไหวก็ส่งต่อ  แต่จะมาส่งปากเปล่าไม่ได้  ต้องมาพร้อมบันทึกให้เห็นว่าตนได้ทำส่วนของตน(แนบข้อมูลเชิงประจักษ์)ครบถ้วนแล้ว  แต่กรณี(case)นี้ เกินกำลังจึงขอส่งต่อ  ไปๆ มาๆ กลุ่มภารกิจนี้พัฒนาไปเองตามวงจร PDCA-PDSA กลายเป็นกลุ่ม Q.C.C. ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ  มีครูที่ประสบความสำเร็จในการเป็นกัลยาณมิตรผ่านหน้าที่ครูประจำชั้นเพิ่มขึ้นทุกปี  นักเรียนเคารพรักครูและสนิทสนมมาก  ไม่ได้ไหลตามสายพานแล้วไปลับ  สอบขึ้นชั้นไปแล้วยังเดินทวนสายพานแวะเวียนกลับไปหาครูประจำชั้นเสมอ  ครูและนักเรียนมีความสุข…

 

งานนี้ วงใหญ่ตกงาน  รองผู้อำนวยการของดิฉันนั่งตบยุงทุกวัน  ไม่มีกรณี(case)ส่งต่อขึ้นมาเลย

ที่กงไกรลาศวิทยา  รองผู้อำนวยการไม่ได้ทำงานจัดการ  และทำงานยุทธศาสตร์...

 

       แน่นอน...  ผู้อำนวยการโรงเรียน ปิดทองหลังพระ  ความสำเร็จไม่ได้ปรากฏที่ผู้อำนวยการนี่นะ ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน...

 

หมายเลขบันทึก: 464757เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2011 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ดีจังเลยครับ
  • นักเรียนในโรงเรียนเล็กๆก็ดูแลกันเองได้
  • ชอบมากๆๆ

น่าจะหาทางให้รอง ผอ. ทำหน้าที่ส่งเสริม PLC นะครับ

วิจารณ์

เป็นครูมาสิบกว่าปี พยายามคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำอย่างไร ที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพ( คือสอนให้เด็กได้รับอะไรมาก ๆ ทั้งความรู้ ประสบการณ์ ) แต่งานครูก็มากเหมือนที่ ผอ.กล่าวไว้ การทำโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่น่าจะตอบโจทย์ที่ดิฉันคิดมานานได้ซะที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท