ความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน อำนาจอยู่ที่นั่น


ผู้เรียนที่ยังเป็นเด็กและเยาวชน พัฒนาการทั้งหลายยังตกอยู่ที่ระดับต้นๆ ของทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ และความคิดด้านคุณธรรมก็ยังอยู่ในระดับต้นๆ ตามการจำแนกของโคลเบิร์ก  ผู้เรียนจึงต้องการการเรียนรู้ทั้งด้านคุณธรรม(ซึ่งเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้)ด้านการค้นพบจัดการตนเอง(ซึ่งอาศัยการจัดกิจกรรมหลากหลาย หรือกิจกรรมหลายทางเลือก) และด้านความรู้ความคิด  โดยที่การเรียนรู้ทั้งสามด้านนี้จะต้องได้รับการประคับประคองจากผู้ใหญ่ในลักษณะของการอำนวยการเรียนรู้  นิยมกล่าวกันในปัจจุบันว่ากัลยาณมิตร  อันที่จริงกงไกรลาศวิทยาใช้วิถีพุทธในการบริหารจัดการและปฏิบัติการทุกมิติของมนุษย์ แต่จะเล่าถึงภายหลังนะคะ

 

โรงเรียนคือกัลยาณมิตรจัดตั้ง โรงเรียนเป็นองค์รวมของกัลยามิตร  ครูคือกัลยาณมิตรหลักในโรงเรียน คนจะเป็นกัลยาณมิตรของใครได้ต้องอยู่กันยาวๆ  รู้จักกันเป็นอย่างดี  มีเวลาให้แก่กัน  มีสถานที่ที่จะพบปะกัน มีพื้นที่(Space)ที่จะเข้าถึงกัน  และมีกรอบความคิดที่ชัดเจนว่าครูคือกัลยาณมิตร(ที่ต้องทำอะไร กับใคร เวลาใด ที่ไหน เพื่ออะไร)  ในโรงเรียนที่มีผู้เรียนมากกว่า 300 คน จะต้องมีวิธีจัดการให้ครูจำผู้เรียนได้ และผู้เรียนก็รับรู้ว่าครูจำตนเองได้ด้วย ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น  จากประสบการณ์ของดิฉัน งานบริหารเพื่อการมี/เป็นกัลยาณมิตรนั้นมากมายหลายหลากจริงๆ เฉพาะครั้งนี้ของเล่าเรื่องเดียวก่อน

 

โรงเรียนกงไกรลาศวิทยา ได้ทำให้ครูได้รับผิดชอบงานที่มีขนาดเล็กลงแต่ชัดขึ้นมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 ทุกคนสามารถที่จะรู้ได้ตรงกันว่าความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน เราจัดโครงสร้างครูเป็นกลุ่มภารกิจที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่” มีทั้งหมด 6 โรงเรียนเล็ก ในฐานะครูประจำชั้นในโรงเรียนเล็ก ครูแต่ละท่านรับผิดชอบเหมือนกัน คือ ทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จสูงสุดตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษา ไล่ตั้งแต่ ป้องกัน ส่งเสริม พัฒนา แก้ปัญหา ปรับปรุง  ต่อมาในปีการศึกษา 2548 เกิดประสบการณ์แตกฉาน ผูกโยงกันเองเป็นเครือข่ายภายในโรงเรียน คือ  ครูแต่ละท่านภายในโรงเรียนเล็กเป็นเครือข่ายกันปฏิบัติงาน  แยกกันรับผิดชอบแต่ช่วยกันปฏิบัติงาน  ทำนองเดียวกันโรงเรียนเล็กเป็นเครือข่ายกัน เรียกชื่อเก๋ๆ ว่า “เครือข่ายการพัฒนาเยาวชน” บางทีก็เรียกว่า “เครือข่ายการดูแลช่วยเหลือนักเรียน”  แล้วแต่เหตุการณ์  ดังภาพข้างล่าง

 

 

 

 

 

ได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ ข้อหนึ่ง เข้าสมัยมาก..ก..ก เพราะเป็นการกระจายอำนาจด้านวิชาการและงานบริหารทั่วไป(ตามกฎ ศธ.2550)ถึงครูประจำชั้นเลยทีเดียว  ข้อสอง แม้ครูประจำชั้นบางท่านจะไม่มั่นใจในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนักเรียน  แต่ครูท่านทำได้ และทำได้ดี  ข้อสาม งานดูแลช่วยเหลือนักเรียนคล่องตัวมากขึ้น  ช่วงนี้เรามีข้อค้นพบว่าครูประจำชั้นท่านที่ปฏิบัติงานป้องกัน ส่งเสริม พัฒนา ได้เข้าทางและต่อเนื่องก็จะไม่มีนักเรียนคนใดเลยที่ครูจะต้องแก้ปัญหาและปรับปรุง เฉพาะปีแรกนี้ พฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เกิดในโรงเรียนลดไปจนเกือบหมด ลองดูสักหนึ่งตัวอย่างนะคะ

 

มีสิ่งหนึ่งที่เกิดเป็นประจำเสมือนว่าเป็นธรรมชาติของโรงเรียนไปแล้ว คือ การแก้ไขของครูเมื่อมีกรณีวิวาทของนักเรียน ดังตัวอย่างต่อไปนี้  ครูวุ่น ฝ่ายปกครองของโรงเรียน ได้รับแจ้งจากบิดาของนายวิศาลว่านายสุดทนและพวกชกนายวิศาลเมื่อวานนี้เวลา 16.00 นาฬิกา โรงเรียนเลิกแล้ว  จนบุตรชายของตนได้รับบาดเจ็บแต่มาโรงเรียนได้  ครูวุ่นจึงตามนายสุดทนมาซักถามทันที ซัดทอดถึงใครก็ไปตามนักเรียนคนนั้นมาจากชั้นเรียนที่ครูท่านอื่นกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่  งานนี้ไม่ยาก ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงก็ได้ชื่อผู้ก่อวิวาททุกคนทั้งสองฝ่าย  คำถามมีอยู่ว่า  ใครคือผู้รับผิดชอบสอนซ่อมสาระวิชาส่วนที่นักเรียนแต่ละคนไม่ได้เรียนเพราะว่าครูวุ่นเรียกมา  ครูวุ่นหรือครูประจำวิชาหรือผู้อำนวยการโรงเรียนหรือรองผู้อำนวยการฝ่ายปกครองที่เป็นผู้รับผิดชอบ จะซ่อมกันเมื่อไรและใช้เวลานานเท่าไร

 

คราวนี้ก็ถึงเวลาดำเนินการด้านปกครอง มีการบันทึกพฤติกรรมทีละราย เจ้าตัวยอมรับแล้วลงชื่อรับทราบไว้ด้วย  งานนี้ก็ไม่ยาก ใช้เวลาไม่ถึงสองชั่วโมง  คำถามเกี่ยวกับสิทธิในการเรียนรู้ของผู้วิวาทและผู้ถูกพาดพิงยังคงเดิม เช่นเดียวกับเมื่อหนึ่งชั่วโมงที่แล้ว คำถามมีอยู่ว่า  ใครคือผู้รับผิดชอบสอนซ่อมสาระวิชาส่วนที่นักเรียนแต่ละคนไม่ได้เรียนเพราะว่าครูวุ่นเรียกมา  ครูวุ่นหรือครูประจำวิชาหรือผู้อำนวยการโรงเรียนหรือรองผู้อำนวยการฝ่ายปกครองที่เป็นผู้รับผิดชอบ จะซ่อมกันเมื่อไรและใช้เวลานานเท่าไร แต่ยังมีอีกคำถามหนึ่ง คือ เวลาเกือบสองชั่วโมงหลังนี้ครูวุ่นมีหน้าที่สอนนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง 40 คน ใครมีหน้าที่สอนแทนครูวุ่น ครูหมวดเดียวกัน หรือหัวหน้าหมวด หรือรองผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง หรือฝ่ายวิชาการ หรือผู้อำนวยการโรงเรียน  สรุปโดยรวมแล้ว นักเรียนที่วิวาทไม่ได้เรียนเกือบสามชั่วโมงและครูวุ่นไม่ได้สอนเกือบสองชั่วโมง

 

นี่ดีนะ ไม่ได้ดึงครูประจำชั้นมาด้วย  ถ้าดึงมาและครูประจำชั้นติดสอนด้วยก็ต้องมีผู้รับผิดชอบนักเรียนที่ครูไม่ได้สอน และนี่ก็จัดสอนแทนไม่ได้เพราะไม่ใช่เข้าเกณฑ์การจัดสอนแทนของฝ่ายวิชาการ

 

มาดู VERSION กล.บ้าง  กงไกรลาศวิทยาได้ทำให้ครูได้รับผิดชอบงานที่มีขนาดเล็กลงแต่ชัดขึ้นโดยจัดโครงสร้างครูเป็นกลุ่มภารกิจ  การแก้ปัญหาในกรณีเดียวกัน  บิดาของนายวิศาลแจ้งแก่ครูใหญ่ ม.6 ว่านายสุดทน ม.4 และพวก ชกนายวิศาลเมื่อวานนี้เวลา 16.00 นาฬิกา โรงเรียนเลิกแล้ว  จนบุตรชายของตนได้รับบาดเจ็บแต่มาโรงเรียนได้  ครูใหญ่ ม.6 แจ้งครูใหญ่ ม.4 จากนั้นก็ดำเนินการใน ม.ของตนเอง ลำดับแรกครูใหญ่แจ้งครูประจำชั้น(วงที่ใกล้ชิดนักเรียนที่สุด) ครูประจำชั้นสมจิตรายงานครูใหญ่ ม.6 พร้อมยื่นกระดาษจดรายชื่อนักเรียน ว่าเมื่อเช้าขณะปฏิบัติหน้าที่หน้าเสาธง ได้ซักถามได้ความจากนายวิศาลแล้วว่านายสุดทนและพวกอีก 4 คน รายชื่อในกระดาษได้รุมชกตนเอง ทั้งนี้ได้มองหน้าท้าทายกันเมื่อวันที่ 28 เดือนที่ผ่านมา ที่บันใดตะวันออกอาคาร 4 ยุติเพราะรองฯอุ้ยห้ามไว้ 

 

 ต่อมาเมื่อวานนี้ตอนเที่ยงนายวิศาลกับนายสุดทนได้ชกกันคนละตุ้บที่โต๊ะปิงปอง ยุติเพราะครูต้อยห้ามไว้ ทั้งสองครั้งครูประจำชั้นไม่ทราบเรื่อง  ฝ่ายครูใหญ่ ม.4 ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับครูใหญ่ ม.6 คือแจ้งครูประจำชั้น ครูประจำชั้นแจ้งว่าตนกำลังจะรายงานชั้นต้นให้ครูใหญ่ทราบพอดี กล่าวคือ เมื่อวานเวลาประมาณ 16.30 นาฬิกา ตนกำลังจะกลับบ้านก็ได้รับโทรศัพท์จากนักเรียนหญิงคนหนึ่งแจ้งว่านายสุดทนกำลังวิวาทกับใครก็ไม่ทราบที่ลานลั่นทม ตนได้แจ้งยามหน้าประตูปิดประตูเข้าออกและให้ขอร้องครูที่ผ่านมาช่วยสกัดนายสุดทนไว้ด้วย 

 

 เมื่อตนมาถึงที่เกิดเหตุไม่พบอะไร ต่อมาที่หน้าเสาธงเช้านี้ตนได้พบนายสุดทนและซักถามแล้ว ได้ความว่าชั่วโมงหกเรียนพละกับครูพลนายสุดทนได้เลี่ยงมาริมสนามและถูกนายวิศาลชกเข้าทีหนึ่ง นายสุดทนจึงท้าว่านายวิศาลว่า ถ้าแน่จริงวันนี้คิดบัญชีกันหลังโรงเรียนเลิก  หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างครูใหญ่ ม.4 และครูใหญ่ ม.6  ครูประจำชั้นของนายวิศาลก็ตรวจสอบได้ว่านายวิศาลหลุดออกจากชั้นเรียนไปในชั่วโมงสอนของครูชรี  งานนี้ไม่ยาก ครูใหญ่ ม.6 แจ้งครูชรีให้ชี้แจงว่าเหตุใดนายวิศาลจึงหลุดไปชกนายสุดทนได้ ฝ่ายครูใหญ่ ม.4 แจ้งครูพลให้ชี้แจงว่าเหตุใดนายสุดทนจึงหลุดไปถูกนายวิศาลชกได้  ส่วนรองฯอุ้ยและครูต้อยก็ได้รับการสอบถามจากครูใหญ่ทั้งสองว่าเหตุใดจึงไม่ได้แจ้งครูประจำชั้นของนายสุดทนและนายวิศาล  กิจกรรมดังกล่าวข้างต้นดำเนินการเสร็จสิ้นโดยยังไม่ต้องเรียกนักเรียนคนใดมาสอบถามในเวลาเรียนของนักเรียนเลย  และครูที่ดำเนินการก็ไม่ต้องทิ้งชั่วโมงสอนด้วย

 

 นอกจากนี้ครูคนอื่นในระดับชั้นก็ช่วยหาข้อมูลด้วยเนื่องจากจำนักเรียนได้ และทราบประวัติของนักเรียนเป็นอย่างดี(เพราะโครงสร้างเครือข่ายพัฒนาผู้เรียน ครูระดับชั้นเดียวกันเป็นทีมเดียวกัน)  เมื่อข้อมูลเบื้องต้นพร้อมแล้ว ที่ ม.6 ครูประจำชั้นนัดนายวิศาลและที่ ม.4 ครูประจำชั้นนัดนายสุดทนมาซักถาม ใช้เวลาเพียงครู่เดียวก็ดำเนินการด้านปกครองได้ คือ เจ้าตัวยอมรับ ครูตักเตือนให้สติ บันทึกพฤติกรรม ลงรายมือชื่อรับทราบ เป็นอันยุติเรื่อง  ส่วนการเยียวยาด้านร่างกายเป็นหน้าที่ของโรงเรียนกับโรงพยาบาล งานนี้ก็ไม่รบกวนเวลาเรียนของนักเรียนและเวลาสอนของครูเลย  ไม่มีการส่งต่อถึงรองผู้อำนวยการฯด้วยซ้ำ  ที่สำคัญผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ต้องรับผิดชอบต่อคำสั่งของตนเองที่ขัดกัน เช่น สั่งครูวุ่นให้สอนนักเรียน 40 คน และสั่งครูวุ่นให้รับงานปกครองซึ่งติดพันและไม่ได้ไปสอนนักเรียน 40 คนนั้น

 

ถ้าให้ความสำคัญกับการเข้าสอนของครู จะเห็นว่า VERSION หลังนี้ ลดเวลาในการแก้ไขปัญหาไปไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง และถ้าให้ความสำคัญกับสิทธิทางการเรียนของนักเรียนจะเห็นว่าลดเวลาการสอนซ่อมนักเรียนที่ถูกดึงออกมาจากชั้นเรียนและอีก 40 คนที่ครูวุ่นไม่เข้าสอน แต่ถ้าไม่เห็นความสำคัญดังกล่าวก็ถือว่าแล้วกันไป  ด้วยเหตุนี้โรงเรียนกงไกรลาศวิทยาจึงมีเวลาเหลือเฟือสำหรับฝึกทักษะทางคุณธรรมจริยธรรม

  

ในเชิงบริหาร เราใช้ปัจจัยบริหารน้อยลงไปมาก เช่น ใช้เวลาน้อยลง ใช้ครูน้อยลง ไม่ต้องแยกการแก้ไขปัญหาออกจากภาระงานที่ปฏิบัติปกติของครูผู้ปฏิบัติ  ที่สำคัญมากก็คือ ครูประจำชั้นจะรู้จักนักเรียนในความรับผิดชอบทุกแง่มุมและนักเรียนก็รับรู้ด้วยว่ามีครูอย่างน้อยหนึ่งท่านที่รู้จักตนอย่างจริงจัง(รู้ถึงไส้) แต่ที่สำคัญมากที่สุด คือ VERSION นี้คงทำให้หลายโรงเรียนมีทางออกสำหรับ ครูผู้เสียสละมากเหลือเกินแบบครูวุ่น ที่ปฏิบัติงานหัวไม่วางหางไม่เว้นแบบนี้นะคะ 

 

เรื่องของนายสุดทนยังมีตอนต่อ สนุกค่ะ  โปรดติดตาม...

 

หมายเลขบันทึก: 464604เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2011 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ได้ความรู้มากเลย
  • มีหลายบริบทมาก
  • แบบนี้นี่เองที่ผอ.เล่าให้ฟัง
  • รออ่านอีกครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท