หนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน : การต่อยอดด้วยมิติ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน (สโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์)


ถึงแม้บางครั้งกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน (มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน)  จะปรากฏในเชิงกิจกรรมที่เน้นการปลูกสร้างวัตถุมากก็จริง  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระยะต้นนั้น  เราเดินงานตาม "โจทย์" ที่เกิดจาก "ความต้องการ" ของชุมชนเป็นตัวตั้ง

ถึงอย่างไรทั้งผมและทีมงาน ก็พยายามที่จะมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้และให้บริการแบบ "บูรณาการ"  ด้วยการเสริมแรงให้เรียนรู้ในเรื่องวิถีวัฒนธรรม  ฝากตัวเป็นลูกฮัก  ฯลฯ

เช่นเดียวกับบ้านห้วยชัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม  พื้นที่ความรับผิดชอบของสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์  ซึ่งหลักๆ แล้วก็มีโจทย์การเรียนรู้และให้บริการก็คือการ "เทพื้นศาลาประชาคม"


เดิมศาลาหลังดังกล่าว  ผมเคยได้แนะนำให้ชมรมพรางเขียวได้ไปซ่อมแซมมาแล้วระยะหนึ่ง  ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการ "ต่อยอด" ในงานนั้นๆ อีกรอบ

ผมมองว่าชุมชนนี้ให้ความสำคัญกับศาลาประชาคมมากเป็นพิเศษ  เพราะตั้งอยู่ในจุดอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของหมู่บ้าน  เป็นที่พบปะพูดคุย, ประชุมหารือการงานและประเพณี, เป็นศูนย์ข่าวสาร เป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ เป็นที่รับแขกบ้านแขกเมือง ฯลฯ...

 

ผมค่อนข้างชื่นชมกิจกรรมที่ขับเคลื่อนของสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์อย่างมาก  เพราะสามารถนำพานิสิตและบุคลากรในสังกัดคณะมาทำงานกับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม  ถึงขั้นผู้บริหารก็ลงมาลุยในพื้นที่ด้วย ขณะที่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ก็ลุยงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนิสิตอย่างน่าชื่นชม

ความร่วมมือแบบมีส่วนร่วมในทีมสังกัดคณะเช่นนั้น  ยังปรากฏชัดในเชิงการต่อยอดพันธกิจ "เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน"  โดยการนำกิจกรรมเชิงรุก ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนไปให้บริการวิชาการแก่สังคมไปในตัว  ซึ่งครั้งนี้ทางคณะฯ เลือกที่จะให้ความรู้และร่วมปฏิบัติการกับชาวบ้านในเรื่องการทำ "นาโยน"  ...

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น  ทางคณะยังคงผนึกกิจกรรมอื่นๆ เสริมหนุนเข้าไป  เช่น  การรับบริจาคหนังสือไปให้กับชาวบ้าน เพื่อเสริมสร้างกระบวนการรักการอ่าน  การคิดการเขียนให้กับชุมชน  โดยมุ่งเน้นให้หนังสือเหล่านั้นได้จัดเก็บอยู่ในศาลาประชาคมหลังดังกล่าว  รวมถึงการสร้างประเด็นให้หมุนเวียนกันอ่านตามครัวเรือน

ก่อนหน้านั้นผมเคยได้พบปะกับรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตของคณะวิทยาศาสตร์  ครั้งนั้นท่านเปรยให้ผมรับรู้ว่าระยะต้นที่ลงชุมชนนั้น  ก็ยังคงทำกิจกรรมหลักตามความต้องการของชุมชนนั่นแหละ  โดยการเทพื้นศาลาประชาคมร่วมกับชาวบ้าน  พอทำไปทำมาก็ค้นพบแนวคิดหลายเรื่อง  ซึ่งเป็นทั้งที่คณะบูรณาการคิดเชิงรุกบนข้อมูลชุมชนที่คณะมีอยู่ ผสมผสานกับความต้องการพื้นฐานของชุมชนในบางประเด็น  จึงหยิบยกมาขยายผลเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น  การอ่าน การจัดการกับขยะและการทำงานโยน  ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดก็เน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วม  มีการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาช่วยขับเคลื่อนอย่างชัดเจน  ทั้งงานช่าง และแปลงนาโยน


 

ครับ-นี่คือความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านที่ขับเคลื่อนขึ้นแบบบูรณาการผ่านการเรียนรู้ชุมชนควบคู่ไปกับการให้บริการวิชาการแก่สังคม ...

ครับ-นี่คือความสำเร็จที่กิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน  ถูกขยายผลหรือต่อยอดทางความคิดไปสู่กิจกรรม ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน  ซึ่งต้องยอมรับว่าวิสัยทัศน์ของคณะนั้นเป็นรูปธรรมมาก  ก่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง  เพราะแทนที่จะไปเริ่มต้นใหม่ที่หมู่บ้านอื่น   แต่กลับปักธงการเรียนรู้ที่ "บ้านห้วยชัน" พร้อมๆ กับการนำพานิสิตและอาจารย์กลับเข้าไปทำงานในพื้นที่นั้นอีกรอบ

และเป็นที่น่าชื่นชมว่าสายสัมพันธ์ของนิสิตกับชาวบ้านนั้นก็ยังคงแน่นแฟ้นสืบมาจนบัดนี้  เฉกเช่นเมื่อครั้งหมู่บ้านประสบภัยน้ำท่วม  นิสิตก็ไม่รีรอที่จะมุ่งลงไปกรอกกระสอบทราย และอื่นๆ อีกจิปาถะ

นี่คือการเติบโตเล็กๆ ในวิถีกิจกรรม ๑ คณะ ๑ หมู่บ้านที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด "จิตสำนึกสาธารณะ : เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน"

 

หมายเหตุ
ภาพ โดย สโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์

 

หมายเลขบันทึก: 464601เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2011 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ชอบทั้งของคณะวิทย์ฯและคณะเภสัชที่อ่านในบันทึกก่อน
  • ได้บริบทคนทำงานอาสา
  • ทุกครั้งที่ผมเป่านกหวีด
  • ผมจะคิดถึงน้องแผ่นดิน

เวลา...ความผูกพัน

ความคุ้นเคย...เป็นญาติอย่างยิ่ง

ยิ่งให้ยิ่งได้...ใจ

ก่อร่างสร้างร่วมกัน....จิตสาธารณะ

  • เป็นการสร้างพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมค่ะ
  • เป็นกิจกรรมที่ดีมากค่ะ...
  • ชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ
  • สายสัมพันธ์ของนิสิตกับชาวบ้านนั้นก็ยังคงแน่นแฟ้นสืบมาจนบัดนี้ เฉกเช่นเมื่อครั้งหมู่บ้านประสบภัยน้ำท่วม นิสิตก็ไม่รีรอที่จะมุ่งลงไปกรอกกระสอบทราย และอื่นๆ อีกจิปาถะ..ความสำเร็จที่แท้จริงนะครับอาจารย์ 
  • ขอบคุณประสบการณ์การเรียนรู้ดีๆนี้ครับ

      เราก็เริ่มจากการทำตามความต้องการของชุมชน จึงก่อเกิดของแนวคิดเรื่อง ฝากตัวนิสิต เป็นลูกของชุมชน เพราะ "มหาวิทยาลัยคือส่วนหนึ่งของชุมชน" ถึงแม้ระยะแรกเราก่อตั้งแนวคิดนี้ด้วยความทุลักทุเลพอสมควร  อาจจะด้วยประการณ์ในการทำงานของแต่ละฝ่ายที่ไม่เท่ากัน แต่เมื่อเกิดความร่วมมือทั้งของผู้บริหารของคณะ และชุมชนเอง เราก็ทำกิจกรรมนี้อย่างมีความสุข

  ขอขอบคุณที่รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะวิทยาศาสตร์ ที่ท่านเห็นความสำคัญของกิจกรรมพัฒนานิสิต จนก่อเกิดการบูรณาการหลายเรื่องราวควบคู่ไปพร้อมกับกิจกรรมนิสิต

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ขอบพระคุณสำหรับการเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ นะครับ

กรณีคณะเภสัช,และคณะวิทย์ฯ นั้น  ถือว่าเป็นการคิดที่เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล  การทำสวนสมุนไพร  เป็นการฟื้นเรื่องราวเหล่านั้นให้กลับมาเป็นศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาในชุมชนอย่างแท้จริง หลังจากปล่อยร้างไว้ระยะหนึ่ง  และผมชอบตรงมีการคิดครบวงจรตั้งแต่การปลูก การบำรุงรักษา การเรียนรู้และการใช้ประโยชน์

ส่วนกรณีคณะวิทย์นั้น  เห็นได้ชัดว่าเป็นกิจกรรมที่มีการต่อยอดไปสู่การบริการวิชาการแก่สังคมที่ชัดเจนขึ้น และการทำซ้ำในชุมชนนั้น ถือเป็นจังหวะที่ดี  เพราะมีทุนเดิมอยู่แล้ว  จึงย่อมช่วยให้การทำงานราบรื่นมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ทพญ.ธิรัมภา

แนวคิดเหล่านี้  ผมสร้างวาทกรรมนำพาแก่นิสิต คือ "เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุน"  ซึ่งครอบคลุมทั้งชุมชนรอบมหาวิทยาลัยและชุมชนในจังหวัดมหาสารคาม  เพื่อวางเป็นกลไกการเรียนรู้ชุมชนและบริการสังคมไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นกระบวนการเหล่านี้ที่จะขับเคลื่อนไปสู่ที่ต่างๆ เพียงแต่ระยะต้นนี้ เน้นกลุ่มพื้นที่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยเสียก่อนฯ

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท