ความต่างของอุเบกขาในพรหมวิหาร 4 และโพชฌงค์ 7


ในหลักธรรมคือ พรหมวิหาร 4 และโพชฌงค์7 ล้วนมีองค์ธรรมชื่อ อุเบกขา เป็นหนึ่งในองค์ธรรมทั้งหมด แม้ชื่อจะเหมือนกัน มีลักษณะคือการวางจิตเป็นกลางด้วยการรู้เห็นอย่างถ้วนทั่วเหมือนกัน แต่ก็มีสิ่งที่ต่างกันอยู่บ้าง

พอจะแยกความต่างได้ 2 อย่าง คือ

1สิ่งที่เป็นอารมณ์ขององค์ธรรม

คำว่า อารมณ์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความเป็นไปของจิตอย่างที่เรามักใช้กันทั่วไป แต่หมายถึง

เครื่องยึดหน่วงของจิตต์, สิ่งที่จิตต์ยึดหน่วง,สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์

อารมณ์ในองค์ธรรมพรหมวิหาร 4 คือ สัตว์ แต่อารมณ์ในโพชฌงค์ 7 คือ ธรรม (อันที่จริง "สัตว์" ก็รวมอยู่ในคำว่า "ธรรม" นี้แล้ว เพราะความหมายที่แท้จริงของ ธรรม คือ ทุกสิ่ง เนื่องจากรวมไว้แล้วทั้ง สภาวธรรม สัจธรรม ปฏิปัติธรรม และวิปากธรรม)

ในพรหมวิหาร 4 นั้น ประกอบด้วยองค์ธรรมคือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เน้นที่สัตว์โลก เพื่อนมนุษย์ โดยในขณะที่บุคคลอื่นมีชีวิตอย่างปกติ เราปรารถนาให้เขามีความสุขมากขึ้น คือ เรามีเมตตาต่อเขา หากในขณะที่เขามีความทุกข์ เราปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ นั่นคือเรามีกรุณาต่อเขา หรือในขณะที่เขาประสบความสำเร็จ เราพลอยยินดีด้วย ไม่อิจฉา คือเรามีมุทิตาต่อเขา

แต่หากเขามีความเห็นผิด ทำความผิด หากเราได้แนะนำ ได้ช่วยเหลือตามธรรมจนเต็มกำลังแล้ว แต่เขาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงที่สุดแล้ว เราก็ต้องวางใจเป็นกลาง ปล่อยไปตามธรรม เช่น ให้เขารับโทษตามความผิดที่ได้ทำลงไป เพราะไม่เช่นนั้น เราจะทุกข์ในสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้ นั่นคือ เรามีอุเบกขาต่อเขา

หรือผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อเรา เมื่อเขาได้รับโทษ เราก็พึงมีจิตเป็นกลาง คือมีอุเบกขาต่อเขา ไม่ซ้ำเติม ด้วยถือว่าเขาได้รับผลจากการกระทำของเขาแล้ว

(การวางใจเป็นกลางที่เรียกว่า อุเบกขา นี้ ต่างจาก อัญญานุเบกขา ตรงที่ว่า อุเบกขาประกอบด้วยการกระทำเพื่อความถูกต้องมาจนถึงที่สุดแล้วจึงวางเฉย แต่อัญญานุเบกขานั้น ไม่มีการกระทำใดๆ เป็นการวางเฉยเพราะไม่เอาเรื่องเอาราว หรือเพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรจึงเฉยเสีย ซึ่ง 2 องค์ธรรมนี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธต้องไม่นำมาปะปนกัน)

ส่วนอารมณ์ขององค์ธรรมอุเบกขาในโพชฌงค์ 7 ซึ่งองค์ธรรมเริ่มต้นที่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และจบลงที่ อุเบกขานั้น คือ ธรรมอันเป็นทุกสิ่งไม่ว่าจะเป้นสัตว์ บุคคล เรื่องราว สัญญา หรือแม้กระทั่งความเห็นใดๆ

นั่นคือเมื่อบุคคลมีสติอยู่ แล้วเกิดธัมมวิจยะ หรือ ธรรมวิจัย ตามมา

ธัมมวิจยะ ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์

ซึ่งองค์ธรรมธัมมวิจยะนี้ เกิดได้ทั้ง (1) ขณะเผชิญอารมณ์เฉพาะหน้า แล้วคว้าธรรมนั้นไว้ได้ เช่น เกิดเวทนาขึ้นเป็นต้น แล้วระลึกรู้ตัว คว้าธรรมคือเวทนาไว้ได้ก่อนที่เวทนานั้นจะดับ แล้วจึงนำธรรมที่คว้าได้มาพิจารณาต่อไป หรือ (2) อาจจะตั้งสติระลึกถึงเวทนาที่ผ่านมา เพื่อ คว้า มาพิจารณาโดยตรง เพื่อให้จิตเห็นทั้งคุณและโทษของเวทนานั้น จนไม่ดึงเข้าหาเพราะคุณ ไม่ผลักออกเพราะโทษ กระทั่งวางใจเป็นกลางได้ในที่สุด

2 กระบวนการเกิดและความต่อเนื่องของกระบวนการเกิด

องค์ธรรมในพรหมวิหาร 4 นั้น มักมีสถานการณ์เป็นองค์ประกอบ การเกิดของแต่ละองค์ธรรมมักสัมพันธ์กับสถานการณ์ และแต่ละองค์ธรรมก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดตามกัน เช่น เมื่อเราปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ มีความสุขเพิ่มขึ้น หากเขาและประสบความสำเร็จแล้วไม่มีการกระทำความผิดใดๆจนเราต้องช่วยแก้ไขจนสุดความสามารถ กระทั่งที่สุด ไม่สามารถช่วยอะไรได้อีกแล้ว องค์ธรรมอุเบกขาก็อาจไม่เกิดขึ้น

แต่องค์ธรรมอุเบกขาในโพชฌงค์ 7 (อันเป็นธรรมที่เป็นส่วนประกอบของโพธิปักขิยธรรม 37 ) กระบวนการมักเกิดตามมาเป็นชุด โดยมีรอยต่ออยู่ที่ วิริยะ ซึ่งหากมีวิริยะจนเห็นแจ้งในธรรมที่กำลังพิจารณา องค์ธรรมที่เหลือก็จะทยอยเกิดตามกันมาเป็นชุดในเวลาเพียงชั่วอึดใจ

ดังที่กล่าวแล้วว่า องค์ธรรมทั้งหมด ประกอบด้วย สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา

กระบวนการเกิดองค์ธรรมจึงคือ เมื่อมีสติอยู่ (สติ) คว้าธรรมไว้ได้ (ธัมมวิจยะ) หากยังไม่เข้าใจในองค์ธรรมนั้น ก็จะเพียรหาเหตุผล อาจจะทั้งด้วยการใช้เหตุผลตามองค์ธรรมที่เคยรับรู้มาตามความรู้เดิม หรือเพียรหาความรู้เพิ่มเติม และเพียรทำงานทางปัญญาต่อ (วิริยะ)

ซึ่งในขั้นตอนของวิริยะนี้ อาจใช้เวลาไม่นาน หรือ หลายๆวัน หลายๆเดือนก็ได้ แล้วแต่ระดับของ ญาณ

เมื่อใดที่เพียรทั้งหาความรู้และพิจารณาเหตุผลจนเห็นแจ้ง ได้เห็นทั้งคุณทั้งโทษอย่างแท้จริง ประสบความสำเร็จในการทำงานทางปัญญาในธรรมนั้น ก็จะเกิดปีติขึ้น แล้วองค์ธรรมที่เหลือจึงจะทยอย เกิด-ดับ เกิด-ดับ ตามกันมาเป็นชุดเจนจบกระบวนธรรม นั่นคือ เมื่อปีติสงบ (ปัสสัทธิ) ก็จะเกิดสุข (สุข) ตามมา (หรือก็คือเมื่อ ดรีกรีหรือความพลุ่งพล่านของปีติลดลงก็กลายเป็นสุขนั่นเอง) เมื่อสุขดับ จิตก็จะตั้งมั่น (สมาธิ) แล้วจิตก็จะเกิดความเป็นกลางกับธรรมที่เพิ่งเห็นแจ้งโดยรอบด้านแล้ว (อุเบกขา)

ซึ่งเมื่อเกิดอุเบกขาในธรรมใด ก็จะคลายความยึดถือมั่นในธรรมนั้น

แล้วธรรมนั้นๆก็จะไม่เป็นเหตุที่จะนำเราไปสู่ทุกข์ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น กุศลธรรม ... หรืออกุศลธรรม

เหล่านี้จึงเป็นความต่างของธงค์ธรรม "อุเบกขา" ในหลักธรรมทั้งสองดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 464591เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2011 05:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2016 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อรุณสวัสดิ์รับธรรมคติ พาจิตสงบสว่างละสิ่งทุกข์ใจ

ขอบคุณค่ะสำหรับอรรถรสของการอธิบายข้างต้นที่ให้ความเข้าใจที่ชัดเจนดีมาก

แถมด้วยภาพดอกกล้วยไม้ที่งดงามละเอียดอ่อนหวาน ชื่นชมค่ะ

  • มองทางไหนไม่เห็นดิน
  • ทั่วทุกถิ่นมีแต่น้ำ
  • ล้นหลากวิบากกรรม
  • เคราะห์คอยซ้ำกรรมใดเอย 

 

ขอบคุณดอกไม้จากคุณถาวร พี่ใหญ่ และคุณโสภณมากค่ะ

พี่ Ico48 คะ

เพิ่งเข้าไปดูนิทรรศการเทอดพระเกียรติที่บ้านพี่มา ซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท