สวัสดิการชุมชน


สวัสดิการในอิสลาม

   สวัสดิการชุมชนเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชนท้องถิ่นที่ร่วมกันสร้างระบบหลักประกันความมั่นคงของชีวิตเพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนในชุมชนท้องถิ่นและสังคม  มุ่งฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นให้มีการอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทรพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติและคนกับวัฒนธรรม ตามหลักศาสนาและภูมิปัญญาของท้องถิ่นตั้งแต่เกิดจนตาย สวัสดิการชุมชนเป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลทีเริ่มจากการพึ่งตนเองก่อน เป็นการช่วยเหลือที่มากกว่าเงินหรือวัตถุ แต่เน้นความสัมพันธ์ที่ดี การมีน้ำใจ การไว้ใจซึ่งกันและกัน การมีกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นการสร้างการออมเพื่อการให้เป็นกองบุญมากกวากองทุน ทุกคนต่างเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ เป็นการ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” การช่วยเหลือที่เผื่อแผ่ถึงผู้ทุกข์ยากและผู้ด้อยโอกาส ในชุมชน สวัสดิการชุมชนต่างจากระบบประกันเชิงพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญกับระบบ สมาชิกและการได้รับประโยชน์ต่างเบี้ยประกัน สวัสดิการชุมชนจะขับเคลื่อนได้อย่างมีพลังสามารถบรรลุเป้าหมาย มีความมั่นคงของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ชุมชนต้องเป็นแกนหลักสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางผนึกพลังกับท้องถิ่น เชื่อมโยงสวัสดิการชุมชนกับการสร้างทุนใหม่ของชุมชนซึ่งเป็นทุนเศรษฐกิจและทุนสังคม การเชื่อมโยงกับการพัฒนาอื่นๆของชุมชนอย่างกลมกลืน สร้างกระบวนการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแต่มีความซื่อสัตย์ และมีประสิทธิภาพเป็นการสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดเวลา

       การให้สวัสดิการในระบบสังคมอิสลามนั้นมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้านการประกันให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขมั่นคงในอุดมการณ์ ชีวิตและทรัพย์สินมีความปลอดภัยเพื่อสู่การมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ ส่วนหลักสวัสดิการทางสังคมในอิสลามเป็นหลักที่อัลลอฮได้บัญญัติไว้โดยโยงใยเกี่ยวข้องกับการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ หลักการนี้ได้ถูกกำหนดมาพร้อมกับอิสลามและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมอิสลามอันมีมาตั้งแต่ 1,400 ปีกว่าแล้ว (http://www.cis.psu.ac.th/fathoni/lesson/islamic_society/6.htm)

         ระบบสวัสดิการชุมชน มีความแตกต่างจากระบบการขายประกันโดยทั่วไป เพราะใช้กระบวนการชุมชนเป็นตัวในการดูแลกันและกัน มีความรักเอื้ออาทรกันและกัน เป็นเรื่องของคุณค่ามากกว่าเงินทอง ส่วนรูปแบบหรือกิจกรรมสวัสดิการชุมชนนั้นต้องมาจากฐานคิดเดียวคือ ฐานคิดที่ต้องการที่จะสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงร่วมกันของคนในชุมชน สร้างกระบวนการในการจัดการตนเอง อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพิง พึ่งพา อันเป็นทุนทางสังคมของชุมชนที่มีอยู่เดิม เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ที่โยงใยวิถีชีวิตผู้คนเข้ากับธรรมชาติ ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น สวัสดิการชุมชนมีฐานมาจากกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ดังนี้ เช่น จากฐานองค์กรการเงินชุมชนและการบูรณาการกองทุน รูปแบบ “ออมวันละบาท” และกองบุญสัจจะวันละบาท กองทุนสวัสดิการจากฐานศาสนา กองทุนสวัสดิการจากฐานกองทุนผู้สูงอายุ กองทุนสวัสดิการจากฐานการช่วยเหลือคนจนและผู้ด้อยโอกาส กองทุนสวัสดิการจากฐานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กองทุนสวัสดิการชุมชนฐานชุมชนเมือง และขบวนการกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัด (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, 2542: 16-19)

 

หมายเลขบันทึก: 463848เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2011 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานราก....คือการพัฒนาสวัสดิการชุมชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท