KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๓๓. ใช้ KM พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน


 

          ภาคีระบบสุขภาพปฐมภูมิจัดการประชุมวิชาการ มหกรรมสุขภาพชุมชน “New Management New Possibility” ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๔  ณ ห้องประชุมอิมแพ็ก เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร

 

          เขาจัดพิมพ์หนังสือ “เสริมพลัง สร้างการมีส่วนร่วม: หัวใจของการจัดการใหม่เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน”  และขอให้ผมเขียนเรื่อง “การจัดการความรู้กับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน”   จึงนำบทความมา ลปรร. ดังต่อไปนี้

 

 

การจัดการความรู้กับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

 

วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
…………………………

 

 

          ระบบสุขภาพชุมชนมีลักษณะซับซ้อน มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลากหลายมากมาย และไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวอยู่ตลอดเวลา   ในทางวิชาการเรียกว่าเป็น “ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว” (Complex-Adaptive Systems)   แต่ละชุมชนต่างก็มีระบบของตน   ระบบของต่างชุมชนมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและส่วนที่แตกต่างกัน   ระบบของแต่ละชุมชนต่างก็เป็นอนุระบบอยู่ภายในระบบใหญ่ของประเทศ หลากหลายระบบ เช่นระบบการเมืองการปกครอง ระบบการศึกษา ระบบการผลิต การค้า การเกษตร การอุตสาหกรรม ระบบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น   ที่ต่างก็เป็นระบบที่ซับซ้อนและปรับตัวเช่นเดียวกัน 

          จิตวิญญาณหรือแนวคิดหลักของระบบสุขภาพของประเทศไทย มุ่งเป้าหมาย “สุขภาวะ” (well-being) ของผู้คน  โดยเน้นให้บุคคลเอาใจใส่ดูแลสุขภาวะของตนเอง ครอบครัว และเอื้อเฟื้อออกไปที่ผู้คนที่อยู่ร่วมชุมชน   เป็นระบบสุขภาพที่เน้นการดูแลตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   ไม่ใช่มุ่งแต่จะพึ่งพาระบบบริการสุขภาพ

          ระบบสุขภาพของประเทศไทยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค มากกว่าการแก้ไขเมื่อมีโรค   เราเชื่อว่า แนวคิดเช่นนี้จะทำให้ผู้คนในสังคมของเรามีสุขภาพดีโดยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่ำ (Good health at low cost)

          ด้วยแนวคิดเช่นนี้ ระบบสุขภาพชุมชนจึงมีความสำคัญยิ่ง   และระบบบริการสุขภาพทุกระดับพึงส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งของระบบสุขภาพชุมชน

 

พัฒนาระบบสุขภาพชุมชนด้วยการเรียนรู้

   

          การสนับสนุนความเข้มแข็งของระบบสุขภาพชุมชนทำได้หลายอย่าง   แต่ที่สำคัญที่สุดคือสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้   ให้ระบบสุขภาพชุมชนของแต่ละชุมชนเป็นระบบที่ “เรียนรู้และปรับตัว” อยู่ในท่ามกลางบริบทความเป็นจริงของแต่ละชุมชนที่ไม่เหมือนกัน   ระบบสุขภาพชุมชนของต่างชุมชนมีหลักการเหมือนกัน แต่รายละเอียดแตกต่างกัน เนื่องจากบริบทที่แตกต่างกันดังกล่าวแล้ว

          การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้และปรับตัว   ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้และปรับตัวของบุคคล องค์กร ชุมชน และของสังคมหรือประเทศ   ดังนั้น ระบบสุขภาพชุมชนของชุมชนใดก็ตาม พึงมีการจัดการความรู้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ   บูรณาการแนบแน่นอยู่กับระบบจนเป็นเนื้อเดียวกัน   อยู่กับชีวิตประจำวันตามปกติของระบบ

          สุขภาพของชุมชน เกิดจากการลงมือปฏิบัติร่วมกันของคนในชุมชน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และบำบัดโรคเมื่อเกิดขึ้น   ย้ำว่าจุดสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติ   และเมื่อมีการปฏิบัติก็ย่อมเกิดผลของการปฏิบัติ  การจัดการความรู้คือกระบวนการนำผลของการปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน   เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะ และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างซับซ้อน   รวมทั้งเพื่อนำเอาความรู้เชิงทฤษฎีมาตีความทำความเข้าใจบนฐานของผลการปฏิบัติ  ความรู้ปฏิบัติ (Tacit Knowledge) เกี่ยวกับสุขภาวะของคนในชุมชนก็จะยกระดับขึ้นอยู่ตลอดเวลา   ผ่านการปฏิบัติและการจัดการความรู้

          ในชีวิตจริงของผู้คน การเรียนรู้ที่มีพลังที่สุดคือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ  และการจัดการความรู้คือเครื่องมือช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติได้ง่าย และได้อย่างมีพลัง

 

 

เจ้าหน้าที่ของระบบสุขภาพชุมชนทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้   

          นอกเหนือจากความรู้และทักษะในการให้บริการสุขภาพที่จำเป็นแล้ว เจ้าหน้าที่ในระบบสุขภาพชุมชนต้องมีทักษะในการทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ของการจัดการความรู้สุขภาพชุมชน   เพื่อส่งเสริมให้ภารกิจของสุขภาพชุมชนไปอยู่ที่ผู้คนในชุมชนเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด  เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและผู้อำนวยความสะดวกเป็นหลัก   ไม่ใช่เป็นผู้ทำให้เกิดสุขภาวะของผู้คนและชุมชน   

          ทักษะในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (Knowledge Facilitator) ของการจัดการความรู้ เป็นสิ่งที่ต้องฝึก   เพราะเป็นทักษะมากกว่าเป็นความรู้เชิงทฤษฎี

 

 

ชุมชนเป็น “ชุมชนนักปฏิบัติ” เพื่อสุขภาวะของตนเอง

 

          เมื่อมองจากมุมของการจัดการความรู้ ผู้คนในชุมชน เป็นสมาชิกของ “ชุมชนนักปฏิบัติ” (CoP - Community of Practice) เพื่อเป้าหมายสุขภาวะของตนเองและของเพื่อร่วมชุมชน   และเจ้าหน้าที่ของระบบสุขภาพชุมชนทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ของ CoP เป็นหลัก 

          มองอีกมุมหนึ่ง   ระบบสุขภาพชุมชน เป็นระบบที่มีเป้าหมายหนุนการเรียนรู้ของผู้คนในชุมชน ในส่วนที่มีเป้าหมายเพื่อสุขภาวะ   เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่องเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ   และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action)   โดยมีเจ้าหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ของการเรียนรู้นี้

          การเรียนรู้จากการปฏิบัตินั้น นอกจากเน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเองแล้ว  ยังควรเรียนรู้จากการปฏิบัติของคนอื่น หรือชุมชนอื่นด้วย   โดยเฉพาะการเรียนรู้จากชุมชนที่มีผลสัมฤทธิ์ด้านสุขภาพดีเป็นพิเศษ   ชุมชนเหล่านี้มี “ความรู้ปฏิบัติ” ด้านสุขภาพที่ดีเด่น  หรือเรียกว่ามี Success Story หรือมี Best Practice  การจัดการความรู้จาก Success Story ของชุมชนอื่น เรียกว่า SSS (Success Story Sharing)   ทำโดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้   หรือไปดูงาน โดยใช้เครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดูงานที่เรียกว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน” (Peer Assist)   ซึ่งอ่านวิธีการได้ที่ http://www.gotoknow.org/blog/thaikm/2415 

 

เครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างชุมชน 

 

          นอกจากแต่ละชุมชนมีการรวมตัวกันของคนในชุมชน เป็น “ชุมชนนักปฏิบัติ” เพื่อเรียนรู้จากปฏิบัติการสุขภาวะของตนเองและครอบครัวแล้ว   ชุมชนใกล้เคียงกันควรรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายการเรียนรู้” สุขภาวะ   เพื่อใช้ SSS เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้เคล็ดลับต่างๆ ที่ค้นพบจากการปฏิบัติ

          เจ้าหน้าที่สุขภาพชุมชน พึงทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้เกิดเครือข่าย  และมีกิจกรรม SSS อย่างสม่ำเสมอ

 

เจ้าหน้าที่ของระบบสุขภาพชุมชนในพื้นที่รวมตัวกันเป็น PLC

          ในวงการเรียนรู้สมัยใหม่ ได้มีคำว่า PLC (Professional Learning Community)   ซึ่งมีความหมายว่า คนที่เป็นคนในวงการวิชาชีพ (Profession) ต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต   และต้องรวมตัวกันเรียนรู้ เป็น “ชุมชนเรียนรู้” ของผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน  เพื่อเรียนรู้วิธีการทำหน้าที่ของวิชาชีพให้ได้ผลดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง   เป็นวงจรของการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น 

          ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของระบบสุขภาพชุมชนแต่ละชุมชน จึงควรรวมตัวกันเป็น PLC   เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์การทำหน้าที่   ยกระดับความรู้ความเข้าใจและทักษะในการทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องเป็นวงจรไม่รู้จบ  ซึ่งหมายความว่า เจ้าหน้าที่ก็ใช้การจัดการความรู้เพื่อยกระดับความรู้และทักษะการทำงานของตนเองด้วย

          ระบบสุขภาพชุมชนของประเทศไทย จึงควรมีกลไกส่งเสริมอำนวยความสะดวกของ PLC ของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในระบบสุขภาพชุมชน   โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจและทักษะในการทำงานต่อเนื่องไม่รู้จบ  และเพื่อทำให้การทำหน้าที่เป็นความตื่นเต้นสนุกสนานไม่จำเจน่าเบื่อ

          PLC เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานประจำวันตามปกติ  และส่วนหนึ่งของกิจกรรมเรียนรู้จากการพัฒนางาน ยกระดับขึ้นเป็น R2R (Routine to Research)

 

 

เครือข่ายของสถานบริการสุขภาพในพื้นที่

 

          แต่ละพื้นที่ (เช่นอำเภอ) มีการรวมตัวกันของสถานบริการเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานและการเรียนรู้   เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ ที่เน้นการส่งเสริมให้ผู้คนในชุมชนดูแลสุขภาวะของตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน   เน้นการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง   โดยใช้เครื่องมือ SSS, CoP, PLC, R2R, Lean และอื่นๆ 

          เป้าหมายคือระบบบริการสุขภาพชุมชนที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์  ก่อผลสุขภาวะที่ดีของประชาชน  และเจ้าหน้าที่ในระบบบริการก็มีสุขภาวะที่ดี   รวมทั้งค่าใช้จ่ายไม่สูง (Good health at low cost)   และมีการปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง  

 

 

ใช้การจัดการความรู้สร้างระบบสุขภาพชุมชนของประเทศ

 

          เวลานี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบสุขภาพชุมชนที่ถือได้ว่าดีเยี่ยม  ยังต้องมีการพัฒนาต่อไปอีก  โดยที่ไม่มีรูปแบบหรือพิมพ์เขียวตายตัวให้เราดำเนินการตามอย่าง   เราต้องพัฒนาขึ้นเองจากสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย  และจากการลงมือปฏิบัติและพัฒนาของคนไทยเอง

         นั่นคือ ระบบสุขภาพชุมชนไทย ต้องพัฒนาขึ้นเองจากชุมชนไทย เพื่อชุมชนไทย และ โดยชุมชนไทย   โดยที่เจ้าหน้าที่หรือวงการวิชาชีพสุขภาพทำหน้าที่ “คุณอำนวย”   ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ SSS ระหว่างชุมชนต่างๆ   ดังกรณีโครงการประชุมวิชาการ มหกรรมสุขภาพชุมชน ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ ก็น่าจะนับเป็นการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ SSS ระหว่างชุมชนต่างๆ ได้ด้วย   ซึ่งก็คือการใช้การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนของประเทศไทย จากพลวัตของการพัฒนาสุขภาพชุมชนส่วนย่อยของแต่ละชุมชน  ที่มีการศึกษารวบรวมมานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมายในการประชุมนี้

        เป็นการพัฒนาระบบใหญ่ จากฐานความเป็นจริงของระบบย่อย (bottom-up)  นำมาตีความและยกระดับตามแนวทางของระบบใหญ่ที่กำหนดจากฝ่ายบริหารระดับประเทศ (top-down)   และเป็นการพัฒนาแบบต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง คล้ายเป็นระบบที่มีชีวิต

 

 

ทักษะของมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

 

          ขณะนี้เป็นที่เข้าใจกันชัดเจนแล้วว่า โลกสมัยใหม่ ที่เรียกว่าโลกในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่แน่นอน ไม่คาดฝัน   ผู้คนในศตวรรษนี้จึงต้องมีทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในสภาพเช่นนั้น ที่เรียกว่า 21st Century Skills   นักวิชาชีพสุขภาพชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในระบบสุขภาพชุมชน จึงต้องฝึกฝนตนเองจากการทำงาน ให้มี 21st Century Skills  โดยใช้ PLC เป็นเครืองมือเพื่อบรรลุทักษะดังกล่าว   ท่านที่สนใจรายละเอยดของ 21st Century Skills ค้นได้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/tag/21st Century Skills   

          ที่จริง ทักษะสำหรับมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคน   ไม่ใช่จำเป็นต่อเจ้าหน้าที่ในระบบสุขภาพชุมชนเท่านั้น   การเรียนรู้ของคนในชุมชนเพื่อสุขภาวะของตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่องอกงามทักษะสำหรับมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑

                          

การฝึกฝนทักษะด้านการจัดการความรู้

          ความรู้เบื้องต้นของการจัดการความรู้อ่านได้จากหนังสือ การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ  เขียนโดยวิจารณ์ พานิช  และ การจัดการความรู้ฉบับมือใหม่หัดขับ  เขียนโดยประพนธ์ ผาสุขยืด   และหนังสือที่เขียนโดยผู้อื่น   รวมทั้งอาจอ่านได้จากบันทึกชุด KM วันละคำ ที่ผมเขียนเป็นประจำลงใน บล็อก Gotoknow.org  ซึ่งเข้าไปอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/tag/km วันละคำ    

          เนื่องจากการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ และการใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างมีพลังต้องการการฝึกฝน  โดยอาจฝึกกันเอง หรือใช้บริการของหน่วยงานที่ให้บริการการฝึกก็ได้  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เป็นมูลนิธิที่จัดบริการฝึกอบรมด้านการจัดการความรู้  ดูรายละเอียดได้ที่ www.kmi.or.th   

 

…………………….

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๕๔

 

        

          

        

        

 

หมายเลขบันทึก: 463707เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2011 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เยี่ยมเลยครับท่าน
    ได้เจือจานความรู้สุขภาพ
  • ขอท่านรับทราบ
    จะนำสภาพไป ลปรร.
  • ที่ ม.ชีวิต
    ได้ครุ่นคิดแตกฉานในวิชา
  • ระบบสุขภาพ
    ใช้ KM ฉายภาพ-สำเร็จ-จริง

หมออนามัยในท้องถิ่น...ติดตามบทความของท่านมาตลอดครับ....สุดยอดจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท