วราภรณ์
นางสาว วราภรณ์ (ดอกไผ่) ธรรมทิพย์สกุล

"ห้องนี้รื่นรมย์" ผ่าหัวใจคนรักหนังสือ


กราบเท้า  คุณลุงคุณป้าด้วยความเคารพรัก

               ค่ำคืนนี้จันทร์แรมไม่สดใสแต่ลมยังพัดรวยรินพร้อมกลิ่นดอกจำปีที่พาให้ชื่นใจนานแค่ไหนแล้วที่หนูหน่อยไม่ได้เขียนจดหมายทั้ง ๆ ที่เคยเป็นงานอดิเรกที่แสนรักจำได้ว่าหลังจากที่คุณลุงคุณป้าและเพื่อนผู้มากประสบการณ์ทยอยจากกันไปหมด  พวกเราก็หันมาติดต่อกันบนทางสายใหม่ที่รวดเร็วทันใจ  หากแต่ความละเมียดละไมและความอดทนของจิตวิญญาณกลับตรงกันข้าม

                อาิทิตย์นี้หนูหน่อยเดินสายไปอบรม  ไม่อยู่โรงเรียนรวมสี่วัน  ได้ไปเห็นโลกภายนอก เห็นผู้คนที่แตกต่าง  ทำให้ชีวิตมีชีวาไม่น้อย  แถมยังได้เก็บเกี่ยวสิ่งดี ๆ จากผู้คนรอบข้างที่พบเห็น  คนแต่ละคนมีอะไรมากมายให้เราได้ศึกษาได้เรียนรู้เปรียบเหมือนหนังสือหนึ่งเล่มที่รอให้เราค้นหาโดยเริ่มต้นจากหน้าปกนะคะ  บางเล่มหน้าปกสวย  แต่อ่านไม่กี่หน้าก็ต้องวาง  บางเล่มอ่านแล้ววางไม่ลงถึงแม้หน้าปกจะไม่เร้าใจก็ตามที  ฮา ฮา..

                 พูดถึงหนังสือก็ขอเล่าเรื่องหนังสือที่วางไม่ลงสักหนึ่งเล่มให้ฟังนะคะ  หนังสือเล่มนี้ได้มาจากคุณไพลิน รุ้งรัตน์  หรือคุณชมัยภร  แสงกระจ่าง นักเขียนนามอุโฆษท่านแจกเพราะความเมตตา เมื่อวันที่ไปอบรมเรื่อง "มหัศจรรย์ของการอ่าน"  (การอ่านมหัศจรรย์ดังว่าเพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราได้พบกันนะคะคุณลุง)

                 เมื่อวานฤกษ์งามยามดีนั่งอ่านตั้งแต่ทุ่มเศษ ๆ จนห้าทุ่มและมาต่อตอนเช้าอีกหนึ่งชั่วโมงจนจบ ๓๐๑ หน้า ทำไ้ด้ยังไงคะเนี่ยเก่งจังนะคะ... 

                   

                  ปกติจะไม่ค่อยอ่านหนังสือนวนิยายประโลมโลก  ชอบอ่านอะไรที่มันได้สาระทำให้เกิดแรงบันดาลใจหรืออ่านหนังสือที่ทำให้เกิดปัญญาญาณมากกว่า  แต่ไหน ๆ ก็ได้รับมาแล้วก็ต้องอ่านให้จบเปิดโลกทัศน์ตัวเองนะคะ  ฮา ฮา

                  ใครจะไปรู้ว่าแค่หยิบอ่านก็ "เพลิน" ตกกับดักของนักเขียนที่ล่อหลอกเราด้วยจินตนาการจนเราเคลิบเคลิ้มหลงใหล    คิดว่าตัวเองเป็นนางเอกเสียอีก   เรื่องนี้วางโครงเรื่องได้น่าสนใจเป็นเรื่องราวของคนรักหนังสือสามคนที่โคจรมาพบกันแม้ต่างสถานะแต่ก็ก็จับวางมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างลงตัว  อีกทั้งยังผูกด้วยความรักระหว่างพี่น้องและรักสามเส้าระหว่างชายสองหญิงหนึ่งที่คนอ่านต้องลุ้นสุดตัว  การดำเนินเรื่องมีหนังสือเป็นสะพานรักและคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง


               

                  
                 เปิดเรื่องด้วยพี่น้องสองคนที่แตกต่างทางความคิดและความสนใจ พี่ชาย เฌอ  อักษรวงศ์จบวิศวกรรมศาสตร์วัยยี่สิบห้า  ส่วนน้องสาว ชลา  อักษรวงศ์ กำลังเรียนอักษรศาสตร์ปีสามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเธอคือผู้รักหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ  แต่กลับต้องทุกข์ระทมฝังตัวเองอยู่แต่ห้องหนังสือเพราะพ่อแม่ผู้มีฐานะและชื่อเสียงด่วนจากไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งคู่   และได้ฝากฝังลูกทั้งสองให้เพื่อนสนิทอาจารย์ลายสือ  ซึ่งจบทางด้านอักษรศาสตร์เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วยดูแลเป็นญาติใกล้ชิด

                   ส่วนนางเอกนั่นเล่าเป็นเด็กบ้านนอกไม่มีพ่อแม่ดูแลต้องอยู่กับป้า คอยช่วยป้าขายขนมจีน  และมีหน้าที่ล้างจาน  เวลาว่างก็สนใจแต่หนังสือ  เหตุการณ์ที่ทำให้้นางเอกประทับใจไม่รู้ลืมก็คือ     วันที่เธออยากได้หนังสือเรื่องเจ้าชายน้อยซึ่งหมายมั่นตั้งแต่แรก  แต่พอไปขอเงินป้ามาได้  หนังสือนั้นก็ขายหมดแล้ว เธอได้แต่ยืนร้องไห้

                   จนมีชายหนุ่มวัยกลางคนยื่นหนังสือเล่มนั้นให้ด้วยสายตาที่เมตตาและอ่อนโยน  เธอได้แต่นำเงินเหรียญรวมแปดบาทยัดใส่มือชายคนนั้นแล้ววิ่งจากไปอย่างรวดเร็ว  และ "เจ้าชายน้อย" ก็กลายเป็นแรงบันดาลให้เธอได้เรียนต่อสอบชิงทุนได้จนกลายมาเป็นอาจารย์ภาษาไทย    คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มาเป็นครูของชลา อักษรวงศ์ในเวลาต่อมา

                          HOME LIBRARY : มุมหนังสือในบ้าน

                   สุดท้ายใครเลยจะคิดว่าทั้งเฌอ  และ ลายสือจะมารักผู้หญิงคนเดียวกันคือ "ครูกรรพุม"  อาจารย์ลายสือผู้หลงรักหนังสือมากกว่าผู้หญิง  ใช่ว่าจะไม่เคยมีรักแต่หาผู้หญิงที่รักหนังสือเหมือนตนไม่ได้จึงคุยกันไม่รู้เรือง  ขออยู่คนเดียวจนเป็นหนุ่มใหญ่โดยไม่คิดหมายปองใคร   แต่เมื่อมาพบกับคุณครูกรรพุมและเธอคือเด็กหญิงที่เขาเคยมอบหนังสือ "เจ้าชายน้อย" เมื่อสิบห้าปี   จึงเกิดสะพานรักและเป็นจุดเริ่มต้นของความปิติที่ทำให้ชีวิตเขาดูมีชีวาและสดใสกว่าเดิม

                   ส่วนพระเอกของเราผู้มีน้องสาวเป็นแม่สื่อ  แต่ไม่เคยชอบอ่านหนังสือแม้แต่น้อยจนกลายเป็นเส้นขนานระหว่างน้องสาวและครูของน้องสาว  แต่สุดท้ายทำไมนางเอกจึงเลือกคนที่มีนิสัยแตกต่างและตรงกันข้าม  น่าคิดนะคะ 

                    สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือ ตอนที่นางเอกบังคับให้พระเอกอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่มีขนาดหนาเป็นหนังสือแปลที่อ่านยาก  จนพระเอกถอดใจและยอมถอยให้คนที่เหมาะสมกว่านั่นคือคนที่เขาเคารพรักเหมือนพ่อ....ทำให้นางเอกเข้าใจและยอมรับ  ตรงนี้ชี้ิให้เห็นว่าความรักที่แท้นั่นคือการยอมรับธรรมชาติของกันและกันได้หาใช่การบังคับจิตใจ และการเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องเปลี่ยนจากภายในใจของเขาเอง

                   ในด้านความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง  มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้พี่น้องโกรธกันหลายเดือนก็คือตอนที่น้องสาวเจ็บปวดเพราะเข้าใจเพื่อนพี่ชายคือโทนผิดเพราะโทนวานให้ชลาช่วยเลือกหนังสือเพื่อไปจีบสาวคนรักผู้ซึ่งมีชายหนุ่มคนใหม่มาหมายปอง 

 

                         

               ขณะที่กำลังเลือกหนังสือรักมากมายเพื่อจะได้นำไปอ่านนั่นเอง    สายตาโทนก็เหลือบไปเห็นแฟนสาวไปกับชายหนุ่มคนใหม่จึงทำให้เขาเจ็บปวดและโกรธแค้น   จังหวะเดียวกับที่ชลาถามว่าต้องการหนังสืออะไรเพิ่มอีกไหม  เขากลับตอบไปด้วยน้ำเสียงที่โกรธแ้ค้นเพื่อหวังให้คนทั้งสองได้ยินว่า "หนังสือรักระยำ" แต่คนที่ได้ยินเต็มหูคือชลาผู้มีจิตใจอ่อนไหวง่ายกลับเสียใจเป็นที่สุด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความบาดหมางของคู่รักคู่่น้องซึ่งผูกพันกับเพื่อนพี่ชายตั้งแต่ยังเยาว์วัยโดยที่ต่างไม่รู้ใจของตนเอง

                    ช่วงนั้นชลาเสียใจเก็บตัวเองอยู่ในห้องหนังสือ  พี่ชายเรียกกินข้าวก็ไม่กินจนพี่ชายโกรธดึงหนังสือจากมือน้องซึ่งกำลังอ่านอย่างติดพันไป  น้องสาวทวงคืนพี่ก็ไม่ให้  สุดท้ายหนีเข้าห้อง  พี่ชายเรียกก็ไม่ออกมาจึงบอกว่าจะนำหนังสือไปเผาหากไม่ออกมา   และพี่ชายที่มีนิสัยแข็งกระด้างเข้าไม่ถึงหัวใจคนรักหนังสือก็เผาหนังสือเล่มนั้นจริง ๆ  น้องสาวได้แต่ช็อกเสียใจให้คนรับใช้ช่วยกันดับไฟ  แต่หนังสือที่เก่าแก่ก็ชำรุดและเสียหายเกินกว่าที่จะอ่านได้    และแล้วพี่ชายก็ต้องเสียใจกับการกระทำของตนเองเมื่อน้องสาวพยายามหลบหน้า

                    ส่วนโทนพยายามปรับความเข้าใจติดต่อกับชลาอย่างไรเธอก็ไม่เปิดโอกาสให้  ความรู้สึกของเด็กหนุ่มบ้านนอกที่เสียคนรักและน้องสาวเพื่อนจึงเจ็บปวดเกินทน  เขาลาออกจากงานและเดินทางแสวงหาชีวิตใหม่อย่างไร้จุดหมาย  จนกระทั่งไปพบร้านหนังสือ และคนขายหนังสือใจดีที่ยอมให้ยืมหนังสือ ฟ้าใกล้ แผ่นดินไกล ของ เขมานันทะให้อ่าน  และหนังสือเล่มนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตโทนเพราะเขาเริ่มสนใจภาพวาดลายเส้นที่ประกอบหนังสือเขากลายเป็นนักวาดภาพลายเส้นพร้อม ๆ กับการค้นหาชีวิตใหม่ของตัวเองและเพิ่งรับรู้ว่าตนเองแอบรักน้องสาวเพื่อนโดยไม่รู้ตัวจากความสัมพันธ์ที่น้องสาวเพื่อนคอยแนะนำหนังสือและซื้อหนังสือให้กับหญิงที่เขาหมายปอง

                     โทนผจญโลกภายนอกและเรียนรู้โลกภายในตนโดยได้ไปอยู่กับชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) สัมผัสธรรมชาติความบริสุทธิ์ที่เรียบง่ายพร้อม ๆ กับหมั่นวาดภาพลายเส้น และส่งไปรษณียบัตรซึ่งบอกเล่าความรู้สึกสั้น ๆ ถึงการเดินทางและความคิดถึง  ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างสม่ำเสมอจนผ่านไปถึงประเทศลาว  และเดินทางกลับมาบ้านอักษรวงศ์อีกครั้ง  หลังจากที่ใช้เวลาค้นหาคำตอบใ้ห้ชีวิตถึงสองปีโดยที่ไม่พบ

                                

                เขากลับมาด้วยความหวังว่าจะพบหญิงสาวคนที่เขารักจับใจ  แต่กลับทราบจากเฌอว่า น้องไปเรียนต่อเกี่ยวกับการวาดภาพที่อิตาลีแล้ว  และช่วงหลังน้องสาวก็เปลี่ยนไปนอกจากชอบอ่านหนังสือแล้วยังวาดภาพเต็มบ้าน

                 โทนทราบข่าวว่าชลาหรือน้องไปเรียนต่อพร้อม ๆ กับเพื่อนชื่อนรินทรเด็กหนุ่มที่แอบหลงรักน้องยิ่งทำให้เขาเจ็บปวดและเสียใจไม่น้อย   จนมีโอกาสได้พบกับอาจารย์ลายสือผู้ซึ่งบัดนี้ยอมเสียสละหญิงที่ตนรักและมีหนังสือ "อิสระแห่งชีวิต" ของ "กฤษณะมูรติ" คอยสมานบาดแผลใจ  และโทนก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือดังกล่าวจนเข้าใจแก่นแท้แห่งความรัก

                      อาจารย์ลายสือเป็นธุระให้เฌอและกรรพุมได้แต่งงานกันแม้ใจจะเจ็บปวดก็ไม่แสดงความรู้สึก   ส่วนชลาเดินทางกลับจากต่างประเทศ  เธอมองหาใครคนหนึ่งซึ่งคิดว่าจะมารับเธอด้วย  แต่หารู้ไม่ว่าเขาแอบมารับเธอห่าง ๆ โดยเธอไม่รู้ตัว  และยังหลงเข้าใจผิดว่าเธอนั้นรักนรินทร

                      สุดท้ายพี่ชายและน้องสาวเข้าใจกันได้อย่างไร และความรักของชลาและโทนจะลงเอยแบบไหน  ในเมื่อโทนเริ่มเงียบหายเก็บตัวเองเช่าบ้านที่ท้ายสวนเล็ก ๆ รับจ้างทำงานออกแบบก่อสร้างบ้านและวาดรูปประกอบหนังสือ  กลายเป็นฤๅษีไว้หนวดเครารุงรัง 

                      คงต้องทิ้งท้ายให้คนอ่านไปจินตนาการกันเองต่อแล้วกระมังคะคุณลุง  คุณป้า  คนเล่าเริ่มง่วงนอนแล้วค่ะ

                       หนังสือเล่มนี้เล่มเดียวอ้างอิงถึงนวนิยาย ปรัชญาชีวิตที่น่าสนใจรวม ๓๘ เล่ม มีบรรณานุกรมอ้างอิงไว้ท้ายเล่ม นับเป็นงานเขียนนวนิยายที่แปลกกว่าเล่มอื่นแต่ก็สะดวกสำหรับผู้สนใจนะคะ

                       ที่สำคัญหากจะอ่านหนังสือให้สนุกต้องฝึกวิจารณ์ ค้นหาแก่นเรื่อง   ความสมจริงของตัวละคร  ฉาก  การเปิดปิดเรื่อง  ปมของเรื่องที่สำคัญถ้าจะอ่านให้ได้อรรถรสต้องรู้จักประวัติผู้เขียนเพราะเบื้องหลังม่านวรรณกรรมแต่ละเรื่องย่อมสะท้อนตัวตนของคนเขียนโดยสิ้นเชิง

                       แท้จริงชีวิตคนเราก็ไม่ต่างจากตัวละคร  อ่านตัวละครแล้วก็ต้องย้อนกลับมาอ่านตัวเอง อ่านคนรอบข้าง  ใช้ทั้งหลักจิตวิทยาใช้ทั้งหลักพระอภิธรรมมาจับในเรื่องการทำงานของจิต  เจตสิก มองทะลุเข้าไปถึงแ่ก่นแท้แห่งจิตวิญญาณ  ขณะอ่านก็ศึกษาอารมณ์ของคนอ่านที่หนีไม่พ้นกฎอนิจจังมีขึ้นมีลงเดี๋ยวหัวเราะร้องไห้ไปกับบทโดยมีผู้้เขียนเป็นคนกำกับ  แต่สิ่งสำคัญอย่าลืมบทชีิวิตที่เราเองเป็นผู้กำกับ

                     ชีวิตที่ขาดสติทำอะไรตามอารมณ์ย่อมถูกไฟแห่งตัณหาเผาไหม้โดยง่าย  คนที่ขาดคุณธรรมกำกับย่อมขาดหางเสือนำทิศทาง...

                                                             
                                                                ราตรีสวัสดิ์ค่ะ
                                                                 หนูหน่อย

 (ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 463404เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2011 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณคะ

ในเรื่องประโลมโลก ก็มีความจริงมุมหนึ่งของโลกให้เรียนรู้

ปล.เพลง ผ่อนคลาย ดีจังคะ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอIco48
  • ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจ และความคิดเห็นดี ๆ ค่ะ
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ประทีป
  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมทักทายค่ะ

"มหัศจรรย์ของการอ่าน" มหัศจรรย์จริงครับ เพราะการอ่าน จึงได้แวะมาอ่าน บันทึกของคุณครู ดอกไผ่

คุณครูดอกไผ่ เขียนสนุกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท