มองต่างมุมในเด็กซน


ขอบคุณกรณีศึกษาวัย 2 ปี 10 เดือน ที่ผู้ปกครองฝ่าน้ำท่วมมาถึงคลินิกกิจกรรมบำบัด ม.มหิดล ศาลายา ทำให้ ดร.ป๊อป มองเห็นมุมที่สังคมควรตระหนักรู้เด็กซนที่ไม่ธรรมดา

กรณีศึกษานี้ทำให้ ดร.ป๊อป เรียนรู้ว่า "ทำไมสิ่งแวดล้อมถึงมีผลให้เด็กซนมากกว่าปกติ" และผมใช้เวลาเกือบ 1 ชม. ในการเรียนรู้ที่มาที่ไปของสภาวะสมาธิสั้น และ/หรือไม่อยู่นิ่งมากขึ้น

ลองคลิกอ่านเพิ่มเติมที่ 

http://en.wikipedia.org/wiki/Attention_deficit_hyperactivity_disorder

http://adhdthai.com/

http://www.nimh.nih.gov/health/publications/attention-deficit-hyperactivity-disorder/complete-index.shtml

กรณีศึกษาท่านนี้น่ารักและฉลาดมากๆ สังเกตได้จากความสามารถในการจ้องมองและการสังเกตภาษาท่าทางและสิ่งเร้าที่เป็นบุคคลได้อย่างมีความรู้ความเข้าใจ มุมมองนี้ที่ ดร.ป๊อป ได้เรียนรู้ว่า "นักกิจกรรมบำบัดที่เข้าใจปรัชญาทางศาสตร์ของการดำเนินชีวิตที่มีเหตุผลทางคลินิกที่ถ่องแท้ คือ มุมมองจากความสามารถและความสุขในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต"

เมื่อมองที่ความสามารถในการเล่นของเล่นที่อาศัยสหสัมพันธ์ของตาและมือ การรับรู้รูปทรง-สี-ขนาด ทำได้ดีโดยไม่ต้องชี้นำในสื่อการเรียนรู้ แต่ต้องชี้นำไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่อยู่นิ่ง เนื่องจากกระตุ้นเคลื่อนไหวตัวเร็วๆ เขย่งเท้าซ้ำๆ ขยับงอนิ้วมือซ้ำๆ เมื่อเห็นสิ่งเร้าวัตถุและบรรยากาศที่หลากหลายความรู้สึก เช่น พื้นที่เล่นกว้างให้วิ่งได้เรื่อยๆ มีของเล่นให้เลือกมากจนไม่รู้ว่าจะเล่นอะไรก็วิ่งเล่นกระโดดไปมา ที่สังเกตมากขึ้นคือ กรณีศึกษาไม่ชอบแต่บอลที่หลากหลายผิวสัมผัส ไม่ค่อยชอบให้แม่กอด (สอบถามจนทราบว่าเกิดพฤติกรรมนี้ตั้งแต่อายุ 10 เดือน) แต่เมื่อแนะนำให้แม่กอด-เล่น-หอมแก้มกรณีศึกษาก็ทำให้ลูกนิ่ง ยอมให้กอด แต่เมื่อแม่พูดส่งให้ทำ (มากกว่าเล่นด้วยกันกับลูก) ลูกก็จะกรีดร้องตะโกนเสียงดัง แบบสนุกสนาน เพื่อจะขอวิ่งเล่นมากกว่าการให้กอด บ่งชี้ถึงภาวะหลีกหนีต่อการสัมผัสเล็กน้อย (Mild Tactile Defensiveness)

เมื่อ ดร.ป๊อป ลองนิ่งและกระซิบเสียงเบาๆ เช่น เรียกชื่อ นับ 1-30 กรณีศึกษาก็นิ่งและยอมให้ดร.ป๊อป กอดนานมากกว่า 1/2 นาที เมื่อลองทำเรื่อยๆ สลับกับการเล่นที่เคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว เช่น เล่นวิ่งไต่ขึ้นลงทางลาด นั่งเบาะติดล้อเลื่อนลงทางลาด เล่นลอดอุโมงค์เร็วๆ สังเกตว่าจะกระตุ้นระบบประสาทการรับรู้การเคลื่อนไหวและการทรงท่าพร้อมๆ กัน โดยไม่มีเสียงเป็นสิ่งเร้า จากนั้นค่อยหยุดการเคลื่อนไหวจากเร็วมาช้าด้วยการผ่อนคลายระบบประสาทสัมผัสและข้อต่อ ซึ่งเทคนิคนี้คือ กระบวนการกระตุ้นและยังยั้งระบบประสาทการรับรู้ ซึ่งเมื่อให้กิจกรรมการเล่นด้วยกระบวนการนี้นาน 15 นาที ก็ทำให้กรณีศึกษามีภาวะอยู่นิ่ง ควบคุมตัวเองไม่กรีดร้อง และมีความสนใจเรียนรู้กิจกรรมการเรียนรู้ได้นานถึง 10 นาที เช่น การนำรูปทรงหลากหลายใส่กล่องได้เองอย่างถูกต้อง

จากการประเมินโปรแกรมกิจกรรมบำบัดที่มีเหตุผลทางคลินิกที่เหมาะสม และดร.ป๊อป คาดว่า ผู้ปกครองน่าจะเรียนรู้ตอบโจทย์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงดูใหม่ เช่น การลดเสียงสั่งการ การลดเสียงดีใจ การลดเสียงสั่งการดังๆ การทำหน้านิ่งเฉย การจ้องมองตาลูก จนเด็กลดการกระตุ้นตนเอง (หัวเราะดัง ตะโกนดัง กรีดร้องด้วยอารมณ์สนุกสนาน วิ่งวนไปมาเร็วจนหัวใจเต้นเร็วมาก) จากนั่นก็ให้กิจกรรมกระบวนการทางระบบประสาทข้างต้น แล้วตามด้วยการสื่อสารโดยเน้นภาษาท่าทางมากกว่าการคาดหวังภาษาพูดในระยะแรก

นอกจากนี้ ดร.ป๊อป ต้องขอบพระคุณ อ.ชนัตถ์ ผู้ก่อตั้งกิจกรรมบำบัด ม.มหิดล และผู้เชื่ยวชาญด้านความผิดปกติของการสื่อความหมาย อาจารย์แนะนำให้ ดร.ป๊อป เล่นกับกรณีศึกษา และอาจารย์จะทดสอบว่ากรณีศึกษาตั้งใจแยกแยะสิ่งเร้าของสื่อการเล่นกับสิ่งเร้าทางการได้ยิน เช่น กระดิ่ง กรับไม้ ปรากฎว่า กรณีศึกษาสนใจเสียงกระดิ่งมากกว่ากรับไม้ บ่งชี้ถึงความชอบเสียงดัง ที่น่าจะมาจากสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงดูลูกด้วยการใช้เสียงมากเกินกว่าให้โอกาสเด็กเรียนรู้ภาษาท่าทาง ทำให้เด็กไม่มีข้อมูล (ความหมายของคำและท่าทาง) เช่น ออกเสียงไม่ได้ ชี้นิ้วหรือดึงผู้ปกครองให้ช่วย

อ.ชนัตถ์ ได้ลองให้ดูสมุดภาพสีสันสวยงาม ทำให้เห็นว่า กรณีศึกษาชอบเรียนรู้ผ่านภาพได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจารย์ได้แนะนำให้ผู้ปกครองสอนลูกแบบเล่าเรื่องพร้อมให้ลูกเปิดสมุดภาพ เมื่ออาจารย์นำสมุดที่มีผิวสัมผัสเป็นลิงที่เด็กต้องดึงหางให้ลิงตัวสั่นได้ พบว่า กรณีศึกษาเรียนรู้สัมผัสที่มีเป้าหมายได้ดี และส่งเสียงหัวเราะได้เหมาะสม (ไม่ดังจนเกินไป) เมื่อเด็กนิ่งและพร้อมจะเรียนรู้มากขึ้น อาจารย์ได้ทำท่าเอามือปิดปากสลับกับออกเสียง "วอ วอ วอ" นานกว่า 5 ครั้ง ขณะที่ ดร.ป็อป ก็กอดและจับมือเด็กเลียนแบบท่าของอาจารย์ไปเรื่อยๆ มหัศจรรย์มากคือ กรณีศึกษาทำตามได้ถึง 2 ครั้ง และจ้องมองการออกเสียงต่างๆ เช่น "ลา ลา ลา" ฯลฯ ซึ่งกรณีศึกษาพยายามเคลื่อนไหวริมฝีปากและลิ้น แต่ต้องใช้เวลาฝึกกับผู้ปกครองที่บ้านมากขึ้น

รวมแล้วกว่าจะได้โปรแกรมกิจกรรมบำบัดและการฝึกทักษะการสื่อสารที่บ้าน ซึ่งนับเป็นความร่วมมือระหว่างสองวิชาชีพที่หายากในเมืองไทยในการประเมินและออกโปรแกรมพร้อมกัน

ก่อนกรณีศึกษากลับ นักกิจกรรมบำบัดท่านหนึ่งก็เสนอตัวขอให้กรณีศึกษาที่อยู่ในโครงการหมออาสา...มาหานะเธอ ไม่มีค่าใช้จ่ายและเน้นผู้ปกครองเรียนรู้กระบวนการฝึกที่บ้านด้วยแนวคิดการจัดการตนเองและติดตามผลใน 6 สัปดาห์ ให้มาฝึกที่คลินิกกิจกรรมบำบัดและมีค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุผลว่า เห็นปัญหาเด็กเยอะมาก จากแบบสอบถามและสังเกตขณะที่อยู่กับ ดร.ป๊อป เป็นบางช่วง และเด็กโตมากน่าจะฝึกกับนักกิจกรรมบำบัดที่คลินิกด้วย เพราะน่าจะมีปัญหากระบวนการประสาทบูรณาการ

ดร.ป๊อป ก็ไม่เห็นด้วยมากนัก แต่อธิบายให้ผู้ปกครองเลือกเอง ปรากฎว่า ผู้ปกครองยังไม่มั่นใจในการฝึกด้วยตนเองที่บ้าน จึงขอเดินทางไกลฝ่าน้ำท่วมและเสียค่าใช้จ่ายมาฝึกกับนักกิจกรรมบำบัดที่คลินิก ผมจึงไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม เพราะพยายามอธิบายกระบวนการข้างต้นว่า กรณีศึกษามีความสุขความสามารถที่จะทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง ไม่ควรมองแต่ปัญหาที่มาก หรือยัดเยียดปัญหาให้เด็กแบบมากเกินพอดี ดร.ป๊อป จึงตัดบทว่า ลองฝึกดูก็ได้ แต่นักกิจกรรมบำบัดมีคิวว่างเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดร.ป๊อป จึงตัดสินใจยอมให้นักกิจกรรมบำบัดประเมินความก้าวหน้าใน 4 สัปดาห์ และย้ำว่า พ่อแม่ต้องฝึกตามที่แนะนำที่บ้านและเน้นความสุขความสามารถของเด็กในทุกกิจกรรมการดูแลตนเอง การเล่น และการเรียนรู้ เช่น ขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม ก็สัมผัสและสอนเด็กเรียนรู้อวัยวะต่างๆ ได้ เรียนรู้การทาแป้งเองได้ นี่แหละ "กิจกรรมบำบัด" ที่มองมากกว่ากรอบความคิดเฉพาะประสาทบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ ซึ่งกรณีศึกษานี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะวินิจฉัยทางการแพทย์แบบเด็กสมาธิสั้นและไม่อยู่นิ่ง เพราะเป็นการพัฒนาของเด็กจากขั้นไม่อยู่นิ่ง ถ้าไม่ฝึกการเรียนรู้ ก็จะแสดงไม่มีสมาธิ และอารมณ์ก้าวร้าว เมื่ออายุผ่านไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ 2-6 ปี หากไม่แก้ไข ก็มีผลต่อการควบคุมตนเองในผู้ใหญ่ต่อไป

งานนี้ ดร.ป๊อป จึงได้เรียนรู้ว่า "มุมมองที่ไม่ประสานกันอาจทำให้เด็กที่มีความสามารถอยู่แล้วค่อยๆ เสื่อมและมีปัญหามากเกินตัวได้"   

หมายเลขบันทึก: 463332เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2011 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากครับคุณ Tum พี่ อ.ดร.ขจิต อ.ดร.จันทวรรณ คุณ ป. และคุณบีเวอร์ ที่แวะมาให้กำลังใจบันทึกนี้ครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

พร้อมกับมาเรียนรู้ด้วยนะคะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากครับคุณต้นเฟิร์น และ อ.ณัฐพัชร์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท