505 ผจญภัยในอัสสัม - การไปเยือนไทผาเกครั้งที่ 3


ไปเพื่อให้

(ภาพแม่น้ำบุรีดิหิงหน้าหมุ่บ้านไทผาเก)

ดวงชะตา พาฉันมา นำผาเก

เพราะเสน่ห์ ผาเก่าไท ใช่ต่างถิ่น

พวกเดียวกัน ที่ห่างหาย ย้ายแผ่นดิน

คนละถิ่น แต่หัวใจ ไทเดียวกัน

26 กย. 2554

 

 

(ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊คของผม อัลบั้ม assam ครับ)

 

ในที่สุด เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2554 ผมก็ได้กลับไปเยือนหมู่บ้านนำผาเก เมืองดีบรูการ์ (Dibrugarh) รัฐอัสสัมอีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการเยือนที่ยากจะลืมเพราะได้รับความอบอุ่นความประทับใจและความรู้เพิ่มเติมมากมาย สมความตั้งใจที่จะไปสำรวจข้อมูล จปฐ ซึ่งได้แนวทางจากที่ผมนำเรื่องการจะไปเยือนในวันที่ 25 กย.เล่าสู่กันฟังในเว็บบล๊อคโกทูโนและบอกว่าสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำมีอะไรบ้างตามประสานักการทูตที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการพัฒนาชุมชนเลย กัลยาณมิตรหลายท่านสนใจและได้กรุณาเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการสำรวจดังกล่าว ทำให้ผมมีแนวทางและเห็นภาพที่ชัดเจน ขอขอบคุณหมอเจ้คนสวยแซ่เฮและอีกหลายท่าน ณ ที่นี้ นอกจากนั้น ผมยังตั้งใจว่าการไปครั้งนี้จะนำความรู้ที่คิดว่าน่าสนใจไปเผยแพร่ด้วยโดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับชาวไทผาเก ก็ได้ทำตามความตั้งใจครบทุกอย่างรวมถึงการไปแนะนำให้ชาวบ้านนั่งสมาธิด้วยซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่รวมถึงคนรุ่นหนุ่มสาวสนใจกันมาก

การเดินทาง

เช้าวันที่ 24 กย. 2554 ผมและคณะ 3 คน (คุณคณิน บุญญะโสภัต เลขานุการโทและคุณพิชญะ สนใจ เลขานุการโท) เดินทางโดยทางเครื่องบินสายการบินเจ็จแอร์ไลน์จากเดลีไปยังเมิองกูวาฮาตีรัฐอัสสัมใช้เวลา 2.30 น จากนั้นเครื่องบินแวะรับผู้โดยสารที่กูวาฮาตีแล้วบินต่อไปยังเมืองดีบูรการ์ ใช้เวลาเดินทางอีก 45 นาที

การต้อนรับที่แสนอบอุ่น

ทันทีที่ผมและคณะถึงสนามบินเมืองดีบูรการ์ ผมก็พบว่าอาคารสนามบินนั้นเป็นอาคารใหม่ ใหญ่โตทีเดียว เมื่อสองปีที่แล้ว ยังเป็นอาคารเล็กๆ เมื่อเดินถึงตัวอาคาร ก็พบชาวไทผาเกมายืนต้อนรับ 5-6 คน ทุกคนจำผมได้และเข้ามาทักทายอย่างดีใจ นี่คือความงามของจิตใจของชาวไทผาเก เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยการคล้องผ้าตามธรรมเนียมของชาวไทอัสสัม ถามทุกข์ถามสุขกันจากนั้นก็ไปส่งที่โรงแรมในเมืองดีบูรการ์

สภาพของเมืองดีบรูการ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากมีอาคารร้านค้าทันสมัยขนาดเล็กๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง ถนนยังคงเรียบและขรุขระสลับกันไป(แต่ขรุขระมากกว่าเรียบ) โดยเฉพาะบริเวณชุมชนและตลาด

เดินตลาด

บ่ายวันนั้น ผมและคณะต้องทำตัวเป็นพ่อครัวสำรวจตลาดท้องถิ่นของเมืองเพราะความตั้งใจของเราคือการไปค้างคืนวันที่ 25 กันยายนที่หมู่บ้านและเพื่อมิให้เป็นฝ่ายไปกินข้าวของชาวบ้านอย่างเดียว ผมจึงบอกกับน้องๆ ว่าอยากจะทำอาหารไปให้ชาวบ้านทานด้วย เป็นลักษณะการเสริม แต่ด้วยความที่คณะเราเป็นหนุ่มน้อยกันทั้ง 3 คน (ผมนั้นก็หนุ่ม แต่เป็นหนุ่มเหลือน้อย) จึงกะว่าเราคงทำได้เพียงทอดไข่เจียวแบบไทยๆ หรือแกงจืด การตระเวณตลาดจึงเกิดขึ้นท่ามกลางวันที่ฝนตกพรำๆ ด้วยใจที่สู้จึงฝ่าเข้าไปในตลาดโดยมีทหารถือปืนไรเฟิ้ล 4 คนเดินตามไปทุกฝีก้าว ซึ่งก็นับว่าเป็นกาตามล่าหาคนอร์ซุ๊ปไก่ แต่ปรากฏว่าหาไม่ได้ เพราะไม่มีคนอร์ซุ๊ปไก่เลย ได้มาแต่ไข่ 2 โหล ผักและซะอิ้ว ซื้อของกันเสร็จ เราก็แอบหวังว่าชาวบ้านคงจะทานอาหารที่เราทำได้ในเย็นวันพรุ่งนี้ (25 กย.) 

โปรแกรมวันที่ 25 กันยายน 2554

มอบหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยให้ “Thai Corner”

วัตถุประสงค์หลักของการไปเยือนอัสสัมครั้งนี้คือการไปมอบหนังสือให้สถาบันไทศึกษา ซึ่งมี ศจ.Girin Phukon เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากการที่  ฯพณฯ พิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีได้ไปเยือนสถาบันไทศึกษาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางสถาบันโดย ศจ. Girin Phukon ได้แจ้งความประสงค์ขอรับบริจาคหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทย ทูตพิศาลจึงได้จัดทำโครงการมอบหนังสือให้กับสถาบัน โดยมอบหมายให้ผมเป็นผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตไปมอบ

คณะของเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก Chao Jibeswar Mohan ประธานสถาบันฯ ศาสตราจารย์ Girin Phukon ผู้อำนวยการสถาบันฯ Dr. B.K. Gogoi เลขาธิการสถาบันฯ ตลอดจนคณะนักเรียนชาวไทที่ได้เตรียมการแสดงท้องถิ่นไทไว้คอยต้อนรับคณะตั้งแต่ประตูทางเข้าสถาบันเลยทีเดียว ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์  Phukon ได้กล่าวต้อนรับผมและคณะ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ ที่ได้มีดำริและทำให้เกิดโครงการมอบสื่อการเรียนการสอนนี้ขึ้น ตามคำร้องขอของสถาบันฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิชาการและนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเกี่ยวกับประเทศไทย และทำให้สถาบันฯ กลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับประเทศไทยในอินเดีย โดยสื่อการเรียนการสอนต่างๆ จะถูกเก็บไว้ที่ “Thai Corner” ภายในห้องสมุดของสถาบันฯ

ผมได้มีโอกาสพูดต่อที่ประชุมว่า ผมและคณะเป็นตัวแทนของเอกอัครราชทูตและสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้เป็นดำริของเอกอัครราชทูตฯ เพื่อตอบรับคำร้องขอของสถาบัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 80 เล่มนี้ จะมีส่วนช่วยในการศึกษาเกี่ยวกับชาวไทและรักษาไว้ซึ่งอัตตลักษณ์ของความเป็นไทไม่ให้เลื่อนหายไปจากสังคมและถูกรักษาไว้เพียงแต่ในพิพิธภัณฑ์ในสถานะของประวัติศาสตร์ หากแต่ควรจะเป็นการอนุรักษ์สังคมไทที่ยังคงเหลืออยู่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชีวิตอันมีค่า (live museum) ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามจากชีวิตต่อไป ทั้งนี้กลุ่มคนไทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ว่าจะเป็นไทอาหม ไทยตำตี ไทยผาเก ไทตูรุง ไทไอตอนและไทคำยาง ต่างก็เป็นคนไทเชื้อสายเดียวกันในอินเดีย จึงต้องช่วยส่งเสริมความเป็นไทนี้เอาไว้

จากนั้นก็มีพิธีการมอบสื่อการเรียนการสอนให้กับสถาบันฯ โดยมีประธานสถาบันฯ เป็นผู้รับมอบ ตอนท้ายผู้บริหารสถาบันได้นำเราไปยัง “เรือนแขก” ซึ่งอยู่ในบริเวณด้านหลังของสถาบันและได้เลี้ยงอาหารว่างด้วย เรือนแขกนี้ เคยเป็นที่พักของนักวิชาการจากประเทศไทยหลายคนซึ่งศจ. Girin Phukon บอกว่ายินดีต้อนรับคนไทย

เยี่ยมหมู่บ้านไทผาเก

หลังจากมอบหนังสือให้สถาบันไทศึกษาอย่างเป็นทางการแล้ว คณะของเราก็เดินทางต่อไปยังหมู่บ้านนำผาเกซึ่งอยู่ในเขตนาหาคาเทีย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองดีบรูการ์ ประมาณ 50 กิโลเมตร  ชาวไทผาเกเป็นชนกลุ่มน้อยในอัสสัมที่มีภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี คล้ายกับชาวไทยล้านนา อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์  2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ หมู่บ้านชาวไทผาเกแห่งนี้ซึ่งได้สร้างความปลาบปลื้มปีติแก่ชาวไทผาเกเป็นอย่างยิ่ง

รถของเราวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านเห็นทุ่งนาข้าวเขียวขจีงดงามตาเป็นอย่างยิ่ง สิ่งหนึ่งที่สร้างความรู้สึกให้ความแตกต่างของสภาพบ้านเรือนในเมืองดีบรูการ์และโดยเฉพาะเขตนาหาคาเทียก็คือบ้านเรือนมีหลังคาทรงจั่วแบบบ้านเรา ส่วนใหญ่มุงด้วยสังกะสี แต่ก็มีหลายหลังที่ยังคงใช้ใบจากมุงหลังคา รั้วบ้านทำด้วยไม้ไผ่ ทำให้เหมือนกับไม่ได้อยู่ในอินดียแต่อยู่ในชนบทบ้านเรานี่เอง เมื่อรถถึงหน้าถนนทางเข้าวัดพุทธของหมู่บ้าน เราก็เห็นชาวไทผาเกมายืนต้อนรับพวกเราด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม หลายคนจำผมได้ก็ทักทายกันด้วยความดีใจ ผมก็พูดคำว่า ”จูมหลง จูมใจ” ซึ่งหมายความว่าดีใจกับทุกคนที่มายืนต้อนรับทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวและเด็กๆ เป็นภาพบรรยากาศที่น่าประทับใจยิ่ง มีความรู้สึกเหมือนได้กลับมาถิ่นเก่า บ้านเคยอยู่ อู่เคยนอนทำนองนั้น

ที่วัดพุทธ หัวหน้าหมู่บ้านได้ชี้ให้เราดูอนุสรณ์การเสด็จเยือนหมู่บ้านของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีซึ่งชาวบ้านภูมิใจมาก คณะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวไทผาเก ตั้งแต่พระสงฆ์ หัวหน้าหมู่บ้านและชาวบ้าน หลังจากทำพิธีต้อนรับและบายศรีผูกข้อมือในวัด เราได้ไปที่ห้องประชุมของหมู่บ้านซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวคล้าสยห้องประชุมเอนกประสงค์อยู่ริมแม่น้ำไม่ไกลจากวัด ณ ที่นั้นชาวสานจัดอาหารกลางวันมาให้พวกเราทานรวมทั้งจัดการแสดงพื้นบ้านโดยเยาวชนของหมู่บ้านให้เราชมในช่วงเย็นด้วย

การแสดงของเด็กอายุประมาณ 10 กว่าขวบ 4 คน ฟ้อนรำกันได้น่ารักน่าเอ็นดูมาก มีครูควบคุมสอนอย่างตั้งใจ มีวงดนตรี 1 วงด้วยซึ่งครูใหญ่บอกว่ากำลังเริ่มเรียนดนตรีกัน แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงเข้าพรรษาและห้องประชุมนี้อยู่ใกล้วัด ชาวบ้านไม่อยากรบกวนพระในวัด จึงไม่ได้เล่นดนตรีสด แต่มีการฟ้อนรำโดยใช้การเปิดเทปเบาๆ ซึ่งก็น่าดูมาก นอกจากนั้นยังจัดนักร้องหรือที่เรียกภาษาไทผาเกว่า “หมอคำ” ชื่อ Je Hom และ Chaw Pya มาขับร้องสดๆ ให้พวกเราฟังด้วย เพลงที่เธอร้องเป็นเพลงที่ไพเราะน่าฟัง เป็นคำภาษาไทที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความจริงใจซื่อๆ ในการจากบ้านมาไกล เพลงนี้อยู่ในซีดีที่หมู่บ้านจัดทำเพื่อเผยแพร่ความสามารถทางดนตรีของลูกหลานของตน น่าภูมิใจแทน

หมอคำรุ่นใหญ่ 2 คน เขียนบทขับคล้ายแหล่สดๆ ความว่ากล่าวต้อนรับพวกเราโดยระบุชื่อพวกเราทุกคน ซาบซึ้งมากจริงๆ ในโอกาสนี้ คณะของเราได้ขับร้องเพลงรำวงลอยกระทงเพื่อเป็นการตอบแทนในความมีน้ำใจของชาวบ้าน คุณพิชญะหรือน้องเอกและคุณคณินขลุ่ยได้เชิญย่าเฒ่าแม่เฒ่าหลายคนออกมาเต้นรำกัน เป็นที่สนุกสนานกันมาก

หลังจากจบการแสดง ผมได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอและอธิบายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แก่ชาวบ้านไทผาเก และได้แจกเอกสารผัง 3 ห่วง 2 เงื่อนไขให้ชาวบ้านไว้ดูด้วย ผมได้บอกทุกคนว่าอยากให้ชาวบ้านได้รับทราบและเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เพื่อพิจารณาและนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้านชาวไทผาเกต่อไปซึ่งน่าจะเป็นไปได้เพราะหมู่บ้านมีพื้นดินที่กว้างใหญ่และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากดินอย่างเป็นระบบและอย่างเต็มที่ ผมได้ย้ำว่าผืนดินนั้นคือขุมทรัพย์ที่สำคัญของมนุษย์ ขอเพียงรู้วิธีก็จะสามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ผมยกตัวอย่างความสำเร็จของหลายโครงการพระราชดำริและหลายหมู่บ้านตัวอย่างในเมืองไทยที่ประสบความสำเร็จด้วยดี ชาวไทผาเกก็ทำได้หากตั้งใจเรียนรู้ทฤษฏีนี้ พร้อมกันผมได้นำหนังสือและเอกสารหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปแจกแก่ชาวบ้านด้วย

(มากันทุกบ้าน ล้นห้องประชุม ยิ้มแย้มแจ่มใสกันถ้วนหน้า)

ผมได้พูดถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจโดยใช้ศาสนาพุทธ การรักษาศีล 5 และยึดหลักหัวใจของพุทธศาสนาที่มีอยู่ 3 ข้อคือละความชั่ว ทำแต่ความดีและรักษาจิตใจให้ผ่องใส สำหรับเด็กๆ ผมก็บอกว่าให้รักพ่อแม่ให้มากๆ เพราะพ่อแม่คือพระพรหมของลูกๆ หากวันใดเรามีความทุกข์ใดๆ ก็ขอให้ไปหาพ่อแม่ บูชาพ่อแม่ ก็จะได้รับพรจากพ่อแม่ทุกครั้ง สุดท้ายผมได้แนะวิธีการนั่งสมาธิให้ชาวบ้านพร้อมทั้งให้ทดลองปฏิบัติกันเลย ปรากฏว่าชาวบ้านสนใจและอยากเรียนกันมากและบอกว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาสอนเรื่องการนั่งสมาธิให้

(สิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกเรือนในหมู่บ้านก้คือชานเรือน เอาไว้นั่งเล่น เลี้ยงลูกและสังสรรค์)

เย็นนั้นพวกเราหมายถึงชาวบ้านและคณะของผมจบการประชุมด้วยความสบายใจกันทุกฝ่าย คณะของเราบอกว่าเราจะทำอาหารให้ชาวบ้านทานในตอนค่ำด้วยสร้างความตื่นเต้นและยินดีให้กับชาวบ้านมาก แต่ก็ออกตัวไว้ก่อนเพราะไม่รู้ว่าจะทานได้หรือไม่  เรือนที่เราจะไปทานอาหารค่ำถือว่าเป็นเรือนที่มีชื่อเสียงที่สุดในหมู่บ้านเพราะเป็นเรือนแบบดั่งเดิม ใครแวะมาหมู่บ้านนี้ก็ต้องไปชมเรือนหลังนี้

ไข่เจียวสถานทูต

น้องๆ ที่ไปด้วย (ขลุ่ยและเอก) ตอนแรกก็ลังเลและหนักใจว่าจะทำอาหารให้ชาวบ้านทานจะไหวไหมนี่ กลัวจะเสียชื่อคนไทยที่เก่งเรื่องครัวโลก แต่เมื่อบอกว่าเป็นการตอบแทนที่เขาต้อนรับและให้ค้างคืนที่หมู่บ้าน ซึ่งคงเป็นคณะนักการทูตคณะแรกที่ (อาจหาญ) มาค้างคืนในหมู่บ้านแห่งนี้ ในที่สุดก็ตัดสินใจทำไข่เจียวอาหารหลักของคนไทย ซึ่งก็ไม่ง่ายเพราะมีแต่ไข่ไก่และผักชี ซีอิ้ว เนื้อหมูหาไม่ได้และไม่มีเวลาหาทัน เมื่อถึงบ้านและเข้าครัว ปัญหาแรกก็คือ กระทะสำหรับเจียวไข่ นึกว่าไม่มี คงเสร็จกันแน่ แต่ปรากฏว่ามีกระทะแบบบ้านเรา เตาดินใช้ฟืนถูกใส่เตรียมไว้ให้เรา น้ำมันทอดก็มี น้องๆ ทั้งสองคนเลยจัดแจงตอกไข่ ตีไข่ ใส่เครื่องปรุงแล้วทอดในกระทะอย่างชำนาญ ออกมาเป็นไข่เจียว 3 จาน น่าทานมาก ระหว่างที่ทอดไข่มีหนุ่มสาวชาวไทผาเกมาช่วยและให้กำลังใจถึงในครัว ทุกคนตั้งใจดูรายการทำอาหารของหนุ่มไทย เป็นอันว่าการทำอาหารไทยเสริมในเย็นนั้นผ่านไปด้วยดี น้องๆ แอบบอกว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทอดไข่เจียวด้วยตัวเอง

เรือนนอน

เรือนที่ชาวบ้านจัดให้เรานอนนั้นเป็นเรือนหลังใหญ่และก็มีชื่อเสียงที่สุดอีกเช่นกันเพราะเป็นเรือนที่ดูสวยงามดูดีที่สุดในหมู่บ้าน  เป็นเรือนไม้ไผ่ขนาดใหญ่  4 ห้องนอน มีเครื่องใช้ครบครัน ตู้เย็น พัดลมเพดาน โทรทัศน์ วีดีโอและคอมพิวเตอร์ เป็นครอบครัวที่มีฐานะมากที่สุดคนหนึ่งของหมู่บ้าน ประกอบด้วยพ่อเฒ่าย่าเฒ่า ลูกชายภรรยาลูกชายและลูกเล็ก 2 คน มีห้องน้ำห้องส้วม 3 ห้องอยู่ในสนามหญ้าข้างเรือน มีปั้มน้ำบาดาลสำหรับใช้อุปโภคบริโภค น้ำสำหรับดื่มนั้นก็มาจากน้ำบาดาลโดยจะมีหม้อกรอง ถัดจากห้องน้ำมีคอกวัวในสวนซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ตัว ตรงข้ามกับคอกวัวเป็นโรงเรือนสำหรับเก็บกระสอบข้าวสารเตรียมเอาไว้กินและขายตลาด ข้างหลังเรือนเป็นที่วางกองฟืนกองใหญ่ซึ่งใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงของครัวเรือนเสริมกับไฟฟ้า ที่หมู่บ้านนี้ ตามถนนหนทางในหมู่บ้านไม่มีไฟถนน มีสายไฟไปตามถนนไปตามบ้านเรือนก็จริงแต่ไม่มีหลอดไฟฟ้าที่เสา

(ฟืนจากต้นไม้ในหมู่บ้าน ยังมีพื้นที่ว่างเป่ลาอีกมากมาย สังเกตุมีต้นหมากและต้นจากซึ่งชาวบ้านบอกว่ามีขึ้นในอัสสัมเท่านั้น)

 

ดังนั้นการเดินไปไหนมาไหนนอกบ้านกลางคืนต้องใช้ไฟฉายหรือเทียนอย่างเดียวหรือไม่ก็ท้องฟ้ายามคืนเดือนหงาย เป็นบรรยากาศชนบทจริงๆ มีแต่ดาวที่เป็นเพื่อนยามค่ำคืน ก็งดงามไปอีกแบบ

การค้างคืนในหมู่บ้านถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีและหาได้ยาก ทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ดีขึ้น แม้จะเป็นเสมือนชีวิตที่ไม่ทันสมัย ราวกับล้าสมัยอยู่อีกโลกหนึ่งท่ามกลางความทันสมัยของโลก แต่นั่นก็คือวีถีดั่งเดิมของเขา และก็ของเราด้วยที่คนไทยเองก็เคยเป็นและผ่านมาแล้ว  ผมรู้สึกว่าเราคนไทยช่างโชคดีที่ประเทศชาติพัฒนามาได้อย่างมั่นคงด้วยสามสถาบันหลัก ชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ในประวัติศาสตร์โบราณ เราคนไทยไม่เคยหยุดในการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งต่างๆ จนกลายมาเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมที่ดีงามมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ เราคงเป็นนักเรียนที่ดี นำสิ่งดีๆ ของหลายวัฒนธรรมมามาปรับใช้ได้ดี หากคนไทยจะรู้สึกถึงความโชคดีนี้และรักประเทศชาติให้มากขึ้น รู้รักสามัคคีดังพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ผมเชื่อว่าประเทศจะผ่านอุปสรรคใดใดไปได้อย่างแน่นอน

(อาหารมาตรฐานของชาวไทผาเก ข้าวสวย หน่อไม้ต้ม ผักต้ม ซุ๊ปผัก ทานผักกันเยอะเลยแข็งแรงกัน)

คืนนั้น ผมนอนในห้องไม้ไผ่เล็กๆ แคบๆ แต่มั่นคงแข็งแรงดี สภาพในห้องไม่มีอะไรเลยนอกจากที่นอนผ้าห่มและมุ้งกับฝาห้องที่เป็นไม้ไผ่ขัด ประตูห้องก็ใช้เพียงผ้าม่านบางๆ ปิดไว้  เจ้าของบ้านอุตสาห์จัดให้เราได้นอน นอนไปก็คิดว่าเมื่อได้รับทราบเรื่องราวของชาวไทผาเก ผมรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง เศร้าลึกๆ เนื่องจากในปัจจุบันชาวไทผาเกเหลืออยู่เพียง 500-600 คน ประชากรจากหลายพัน บัดนี้ไม่เพิ่มไม่ลดมากนัก ในขณะที่คนแก่คนเฒ่าส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้าน คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวพากันออกจากหมู่บ้านไปสร้างชีวิตนอกหมู่บ้าน หาโอกาสและชีวิตที่ดีกว่า บ้างก็กลับมา บ้างก็ไม่กลับมาเพราะหมู่บ้านนับวันจะไม่มีอนาคต ไม่มีงานไม่มีรายได้พอที่จะอยู่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ในอนาคตสัก 20 -30 ปี ชาวไทผาเกจะเหลืออยู่เท่าใด น่าเศร้าใจยิ่งนัก

 

กลุ่มไทในอินเดียมีแต่จะสูญพันธ์ สูญวัฒนธรรมดั่งเดิม กลุ่มไทอาหมเป็นตัวอย่างที่ดี กลายเป็นคนอัสสัมนับถือศาสนาฮินดูและไม่รู้จักวัฒนธรรมดั่งเดิมของตนแล้ว กลุ่มคนไทกลุ่มอื่นๆ อีก 5 กลุ่มยิ่งน่าวิตกเพราะมีจำนวนประชากรน้อยลงทุกที

ผมนึกถึงเสียงเพลงไทผาเกที่สาวน้อย Je Hom ขับร้องในเย็นนั้นเป็นภาษาไทที่ไพเราะ น่าฟังและเป็นเพลงท้องถิ่นที่ยังคงก้องอยู่ในเวลานี้ เราคนไทยฟังพอรู้เรื่องบางคำ แต่ในอนาคตหากความเป็นเชื้อชาติไทผาเกนี้เลือนไป สิ่งเหล่านี้จะหายไปหมด วัฒนธรรมการแต่งกาย ภาษา ศิลปะ วิถีชีวิต บ้านเรือน คงจะเหลือแต่เพียงความทรงจำและเป็นสิ่งจำลองที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์  ให้คนรุ่นหลังได้ชมในฐานะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา  อนิจจา

ผมคิดเพลินจนหลับไป ความฝันของผมก็คืออยากให้ชนไทผาเกนี้ได้คงวัฒนธรรมของตนไว้ให้นานที่สุด ซึ่งเราในฐานะเชื้อสายคนไทยหรือคนไทเหมือนกันคงต้องเอื้ออาทรและให้การสนับสนุนเท่าที่จะทำได้ ซึ่งประโยชน์ที่เห็นนั้นก็ชัดเจนเพราะเป็นการช่วยเหลือญาติของเราที่ห่างหายไปนาน เป็นการอนุรักษ์สิ่งที่ก็เคยเป็นวัฒนธรรมที่มาของชาติพันธ์ของเราเอง นอกจากนั้นยังเป็นการเผยแพร่ความเป็นไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาได้เพราะความสามารถของบรรพบุรุษของเรา พระบารมีของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ซึ่งสมควรที่เราจะภูมิใจและให้ญาติเราได้รับผลดีจากความเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองนี้ด้วย

ผมคงฝันไปแต่ก็เป็นฝันที่อยากจะบอกพวกเราทุกคน ว่าผมพร้อมที่จะคิดหาทางและช่วยชาวไทเหล่านี้ และขอเรียนเชิญกัลยาณมิตรทุกท่านช่วยกันบอกต่อ ช่วยคิดช่วยทำในทางที่สามารถจะทำได้ ตามความเหมาะสม ตามกำลังศรัทธา ทางออกนั้นน่าจะมีอยู่ แต่ก่อนที่จะมาพูดถึงเรื่องทางออก มาดูกันก่อนว่าผมไปเยือนหมู่บ้านไทผาเกครั้งที่ 3 นี้ ผมได้ข้อมูลอะไรมาบ้าง.

ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ)

ผมได้รับแนวการสำรวจข้อมูลจากคุณหมอเจ้คนสวย แซ่เฮและกัลยาณมิตรหลายท่าน ค่อนข้างละเอียดและครบถ้วน ขอขอบคุณคุณทุกท่านอีกครั้ง และก็โชคดีที่ไปคราวนี้ได้รับข้อมูลที่เป็นทั้งหนังสือและข้อมูลจากชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีกมากทีเดียว มาดูกันว่าผมได้อะไรกลับมาบ้าง

ข้อมูลทั่วไป 3 หลัก

หลักแรกคือ "คน"

จำนวนมากน้อยเพียงใด- ชาวไทผาเกที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้มีเพียง 444 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 223 ผู้ชาย 221 คน จำนวนครอบครัวทั้งหมด 90 ครัวเรือน 

ความต่างของจำนวนวัย- อายุสูงสุด 102 ปี  เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มีจำนวน 73 คน 

เกิดปีละ 3 คน ตายก็ปีละ 3 คน 

การศึกษา-อัตราการู้หนังสือสูงร้อยละ  93  ซึ่งสูงกว่าระดับรัฐ โดยผู้หญิงมีอัตราการู้หนังสืออยู่ที่ร้อยละ 88

ความต่างของรายได้- เป็นครูได้ประมาณ 15 000 รูปีต่อเดือน เกษตรกรไม่แน่นอน ทอผ้า ผ้าฝ้ายผืนละ 700 รูปี ผ้าไหมผืนละ 3000 รูปี ผืนหนึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละคน

(ตัวเลขจากการสำรวจเมื่อปี 2001* ชาวไทผาเกร้อนละ 42 มีรายได้มากกว่า 50000 รูปี ต่อปี ร้อยละ 25 มีรายได้อยู่ที่ 10300 รูปี โดยเฉลี่ยครอบครัวมีรายได้ 36240 รูปี เดือนละ 3000 รูปี ซึ่งถือว่ารายได้ต่ำอยู่ที่วันละ 100 รูปี )

ขนาดเฉลี่ยของครัวเรือน 4-6 คน ประกอบด้วยพ่อแม่ ลูกประมาณ 2 คน ปู่ย่า ตายายมักอยู่บ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่อยากได้ลูกชายมากกว่าลูกหญิง

(ตัวเลข 2001*อยากได้ลูกชายร้อยละ 37 อยากได้ลูกสาว ร้อยละ 14 ส่วนเหตุผลของการมีลูกร้อยละ 23 คิดว่าทำให้ครอบครัวมีความสุข ร้อยละ 10 อยากมีลูกเพราะช่วยให้ครอบครัวเข้มแข็ง และสามีอยากมีลูกเพิ่มเพียงร้อยละ 6 )

อาชีพ- เกษตรกรรมส่วนใหญ่ โดยผู้ชายทำไร่ทำนา ประมาณ 70 ราย  ผู้หญิงทำกับข้าว ดูแลบ้านเรือนและทอผ้า

เกษตรกรมีนาเฉลี่ยคนละประมาณ 1 เอเคอร์หรือไร่ครึ่ง นอกจากผู้มีฐานะดี ได้รับมรดกจากพ่อแม่จะมีมากกว่านี้

แหล่งพลังงาน" ที่ครัวเรือนใช้ -ใช้ฟืนที่เป็นไม้  มีไฟฟ้าถึงแต่ก็ไฟดับบ่อยเหมือนในเมือง

พึ่งพาจากแหล่งใด- ฟืนมาจากต้นไม้ที่มีอยู่ในบริเวณบ้านและในป่าใกล้เคียงและก๊าซหุงต้ม

สาเหตุเสียชีวิตของเด็ก 3 ลำดับแรก ............ไม่ทราบ

อายุที่น้อยที่สุดและมากที่สุดของเด็กที่เสียชีวิต ............ไม่ทราบ

อายุเฉลี่ย- 74 ปี

ความต่างด้านศาสนาในชุมชน- ไม่มีเพราะเป็นพุทธ(เถรวาท) ทั้งหมด มีวัดพุทธอยู่ 2 แห่ง           

และความต่างของสัดส่วนเมื่อเทียบกับระดับรัฐ-  น้อยมาก ชาวไทเป็นพุทธทั้งหมด เป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐอัสสัมและในเมืองดีบูรการ์

อายุสูงสุดของคนที่ยังมีชีวิต -102 เป็นผู้หญิง (ย่าเฒ่า)

อายุน้อยที่สุดของผู้ใหญ่ที่เสียชีวิต ......ไม่ทราบ

เรื่องของสุขภาพที่มักต้องหาที่พึ่งพา - มีชาวบ้านที่เรียนหมอ 2 คนไปทำงานในเมืองดีบูรการ์ รักษาทุกคนในหมู่บ้านโดยใช้ยาสมัยใหม่ เพราะว่ารวดเร็วทันใจกว่าสมนุไพร

สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต ..........ไม่ทราบ

หลัก 2 คือ สิ่งแวดล้อม

แหล่งน้ำบริโภค วิธีได้มา วิธีการใช้แหล่งน้ำใช้น้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่ มีแม่น้ำอยู่ใกล้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย

ความไกล-ใกล้ ของแหล่งน้ำทิ้งจากครัวเรือน- หมู่บ้านอยู่ติดแม่น้ำ  แต่มีน้ำบาดาลอยู่ใกล้ๆ เรือน

ความไกล-ใกล้ของขยะจากครัวเรือน -ส่วนใหญ่ใช้หลังบ้านทิ้งขยะ

วิธีจัดการของเสียจากคนและสัตว์เลี้ยง -ใช้การเทลงดินให้ดินซึมซับไป

ความใกล้-ไกลของที่อยู่สัตว์เลี้ยงกับคน -คอกเลี้ยงวัวอยู่ประมาณ 15 เมตรจากเรือน ผู้มีฐานะดี มีวัวประมาณ 10 ตัว มีควายไว้ใช้ไถนารวมทั้งเครื่องยนต์ไถนาด้วยและนิยมจ้างคนอัสสัมท้องถิ่นเป็นคนงาน”กุลี” ชาวไทผาเกไม่ไถนาเอง

หลัก 3  คือ ความสัมพันธ์

ระหว่างคนในครัวเรือนเป็นพี่น้องกัน เป็นญาติกันเพราะนิยมแต่งงานกันเองในหมู่บ้าน โดยพ่อแม่เป็นคนหาคู่ให้ตั้งแต่เด็ก

ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงอยู่กันอย่างใกล้ชิด เลี้ยงวัว หมู ไก่ มีการจับปลาในแม่น้ำ บางบ้านเลี้ยงเป็ด

ระหว่างคนกับน้ำบริโภค อุปโภคพึ่งน้ำบาดาลเป็นหลักและมีเพียงพอ การทำนาใช้น้ำฝนตามฤดูกาลย่างเดียว และปลูกข้าวครั้งเดียวต่อปี มีคิดจะใช้น้ำฝนหรือเก็บน้ำไว้ใช้

ระหว่างคนกับตลาดสินค้าชาวไทผาเกสมถะมาก ไม่ผลิตเพื่อตลาดหรือธุรกิจ แต่ผลิตเพื่อบริโภคในครอบครัวและหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านไม่มีนโยบายที่จะสร้างตลาดแต่อย่างใด เช่นผ้าทอถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีคนต้องการแต่ก็ผลิตตามสั่ง มิได้คิดจะผลิตจำนวนมาก หัตถกรรมต่างๆ ก็ผลิตเพื่อใช้ในหมู่บ้านเท่านั้น

 

ในหมู่บ้านมีคนที่มีคอมพิวเตอร์ประมาณ 5 เครื่องเอง

มีโรงเรียนระดับประถมและมัธยม 1 แห่งในหมู่บ้าน ระดับมัธยมปลายต้องออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน ซึ่งชาวไทผาเกไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าเรียนเพราะถูกจัดเป็นชนกลุ่มน้อยจึงได้สิทธิ์ในเรื่องการศึกษาจากรัฐ เด็กๆ เรียนฟรี

ข้อเสนอและทางออก

หลังจากเล่าข้อมูลที่ได้มาแล้ว มาถึงบทสุดท้าย ก็คือ ข้อเสนอแนะและทางออกที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับหมู่บ้านไทผาเกที่อยากจะเห็น

กิจการโฮมเสตย์

สิ่งหนึ่งที่ได้หารือกับหัวหน้าหมู่บ้านก็คือการทำโฮมเสเตย์หมู่บ้านไทผาเกซึ่งมีความเห็นด้วยและคิดว่าเป็นไปได้ และเป็นความต้องการของชาวบ้านที่เริ่มเห็นความหวังว่าจะมีกิจกรรมที่เกิดรายได้กับพวกเขา  ผมได้บอกว่าการทำโฮมสเตย์ในเมืองไทยนั้นเป็นกิจกรรมครัวเรือนที่ได้รับความนิยมไม่น้อยโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วิธีการก็คือการจัดห้องพักในบ้านในสภาพที่เหมือนกับวิถีชีวิตปรกติของชาวบ้าน คนที่สนใจมาโฮมเสตย์นั้นส่วนใหญ่ต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตของท้องถิ่นโดยมีความสะดวกในเรื่องที่พักพอสมควร สำหรับคนไทยนั้นอาจต้องการความสะอาดเรื่องของห้องน้ำมากเป็นพิเศษ

ชาวบ้านอาจไม่ต้องสร้างบ้านเรือนเพิ่มเติมแต่มีห้องแบ่งให้ผู้มาใช้บริการระยะสั้นๆ คิดค่าบริการย่อมเยาว์ หากมีบ้านเรือนในหมู่บ้าน 70 หลัง ก็อาจเริ่มจากบ้านที่มีความพร้อม  5 -10 หลัง นักท่องเที่ยวอาจสนใจร่วมกิจกรรมของชาวบ้านเช่นการทอผ้า การออกไปชมสวนและวิธีการทำนา กิจกรรมที่วัดพุทธหรือแม้แต่การจัดกิจกรรมล่องเรือในแม่น้ำ ก็น่าสนใจ และหากชาวบ้านมีสินค้าที่ระลึกก็สามารถจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่มาพักได้ ทั้งนี้ ผมจะได้ส่งตัวอย่างของโฮมเสตย์ในเมืองไทยให้หัวหน้าหมู่บ้านต่อไป

การสร้างคน

สำหรับผม การช่วยเหลือคน ไม่ได้อยู่ที่การให้เงินทุนแต่อยู่ที่การให้ความรู้เพื่อสร้างบุคลากรที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ในระยะยาว ความคิดของผมจึงอยากจะสร้างคนไทผาเกให้มีความรู้ในเรื่องเกษตรกรรม วิชาชีพต่างๆ งานพัฒนาชุมชนโดยเฉพาะทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งจะทำให้คนสามารถนำความรู้กลับไปพัฒนาหมู่บ้านของตนได้ต่อไป การสร้างคนตรงนี้คือการให้ทุนคนไทผาเกไปเรียนที่เมืองไทยซึ่งน่าจะมีสถาบันและหน่วยงานของไทยที่ตรงกับข้อเสนอนี้

อีกวิธีหนึ่งก็คือการเชิญชวนให้ผู้รู้รวมทั้งนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ของเมืองไทยในสาขาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวไทผาเกไปดูงานกันเป็นคณะที่หมู่บ้านเพื่อจะสามารถเห็นจากของจริงและสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ชาวไทผาเกได้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญมาก วิธีนี้ก็น่าจะเป็นไปได้

บันทึกนี้ อาจยาวไป แต่ก็ยังไม่หมดเรื่องเล่า  ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้คนอีกหลายท่านในหมู่บ้านไทผาเกที่น่าสนใจและน่ายกย่อง ผมคงสบายใจและถือว่าได้ทำสิ่งที่อยากทำ ตั้งใจทำและควรทำส่วนหนึ่งแล้ว คืนนี้ผมยังคงต้องฝันต่อ ฝันว่าวันพรุ่งนี้จะยังมีอยู่ และ จะคิดทำสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมและชาวไทผาเก ญาติของเรากลุ่มหนึ่งบนพื้นโลก ขอให้ทุกท่านจงประสบแต่ความเจริญ สุขกายสุขใจตลอดไปครับ

ราตรีสวัสดิ์ครับ

หมายเลขบันทึก: 462973เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2011 02:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ยอดเยี่ยมมากคะ เป็นผลิตผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนเกิดเป็นข้อมูลที่มีคุณค่า

ได้พลอยเรียนรู้หลักการสำรวจชุมชน แบบชัดเจน ดูง่าย ไปด้วย :-)

เท่าทีดู อายุเฉลี่ย ถือว่ามีอายุยืนคะ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้น เข้าใจได้คะ ว่าสำคัญ แต่บอกยาก

เพราะหากดูจากทะเบียน ก็มักไม่จำเพาะเช่น "โรคชรา" , "โรคหัวใจ"..

บางทีต้องใช้เวลา ในการลงฟิลด์ (หรือ อสม ?) ไปสอบถามแต่ละบ้าน น่าจะได้ข้อมูล เป็นทั้งงานวิจัย และเพื่อพัฒนาต่อไป

น่าตื่นตาตื่นใจได้พบเห้นเพื่อนร่วมเชื้อชาติ

ที่ท่านทูตเล่ามานี้ นึกออกและมองเห็นภาพชัดเจน แจ่มจ้าอย่างมากเลย
เพราะเกิดทันได้เห็นและอยู่ในสภาพแวดล้อมบรรยากาศแบบนั้นมาด้วย

อาตมาขอร่วมมีความฝันกับท่านทูตด้วยคน ฝันไปว่าอยากเห็นเด็กๆเยาวชนไทยเรากับเด็กไทผาเกได้พบปะเจอะเจอกันบ้าง เยาวชนจากเมืองไทยเรานั้นมีโอกาสมากกว่าที่จะไปเยี่ยมเยือนถิ่นไทผาเก จะเป็นอย่างนั้นได้คงต้องอาศัยอาสาสมัครผู้ใหญ่ใจดีพาพวกเขาไป ให้เด็กๆไปเรียนรู้แบบคณะของท่านทูตคิดว่าน่าจะดี(ขอให้ฝันเป็นจริง, มีความฝันบ้างก็ยังดี)

สวัสดีค่ะท่านทูต

มาดูความละเมียดละไมของชีวิตที่โน่น ดูทุกคนมีความสุขจัง

ขอให้ฝันของท่านเป็นจริงนะคะ

Ico48

คุณหมอครับ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจครับ ให้กำลังใจได้ดีครับ

แหม ผมได้คำใหม่ๆ จากกัลยาณมิตรเสมอ คำแรก ก็ จปฐ. มาครั้งนี้ได้ อสม. ก็ได้รู้เพิ่มว่า อสม.คือ โครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โอ้ ดีจังครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ หากจะมี อสม.ไปหมู่บ้านไทผาเกได้ก็จะดีมากครับ

ในข้อเสนอและทางออก ผมได้ลองฝันดูว่า หากจะมีการต่อยอด ด้วยการที่พวกเราช่วยกันส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รับทราบถึงแนวคิดนี้ได้ ก็จะดีนะครับ

ในส่วนของผม ก็จะพยายามส่งต่อไปยังหน่วยที่น่าจะสนใจต่อไป

สิ่งที่ได้รับจากการทำครั้งนี้คือความสุขใจครับ แม้ยังไม่รู้ว่าจะไปต่อได้ถึงไหน แต่ก็ยังเป้น"วันนี้" อยู่ครับ ก็จะทำวันนี้ให้ได้

วันพรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง เลยขอวางเอาไว้ก่อนครับ

เจริญสุขนะครับคุณหมอ

Ico48

 

อจ.ครับ บ้านเรือนในหมู่บ้านยังคงเป็นเรือนไม้ไผ่แทบทุกหลัง ยกเว้นวัดและอาคารประชุม แต่ที่น่าสังเกตุก็คือชาวบ้านไม่สนใจวิธีการเก็บรักษาน้ำฝน  เพราะน้ำบาดาลมีใช้พอเพียง ความจริงหากชาวบ้านรู้วิธีที่จะสร้างบ้านราคาถูก ก็น่าจะพัฒนาเรือนที่พักอาศัยเหล่านี้ได้ดีขึ้นนะครับ

ผมว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างสมถะ และยังไม่คิดจะเรียนรู้จากโลกภายนอกมากนัก

แต่แม้กระนั้น ผมก็ยังเห้นว่าก็ยังสมควรที่จะได้นำความความรู้ไปเผยแพร่ให้เขาทราบครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาทักทายและให้กำลังใจกัน

Ico48

นมัสการครับ

หมู่บ้านนี้ต้องการนักพัฒนาสังคมและจิตใจครับ เพราะยังไม่มีการเรียนการสอนมากนัก ชาวบ้านมีความสนใจจะเรียนรู้เหมือนกันแต่เนื่องจากไม่ค่อยมีคนเข้าไปสอนเลยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างไทยกับไทผาเกน่าสนใจมากครับ ผมคิดว่าเป็นประโยชน์แน่นอน เป็นการสร้างบุคคลากรที่ดีให้กับสังคม ปัญหาสำคัญคงอยู่ที่เรื่องงบประมาณ

ผมอาจจะลองเสนอเส้นทางนี้กับบริษัททัวร์เพื่อที่จะเพิ่มเส้นทางการไปเยือนอินเดียให้พาคนไทยไปยังอัสสัมและหมุ่บ้านไทผาเกบ้าง ก็น่าจะทำให้ความฝันชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ดี คงต้องเก็บความฝันดีๆ แบบนี้เอาไว้ครับ เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็คงจะเกิดได้ครับ

นมัสการขอบพระคุณครับ

Ico48

ครับ เนื่องจากเป็นคนไทกลุ่มเดียวที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามเอาไว้ได้ และอยู่ในประเทศที่มีความหลากหลายเหลือเชื่อเช่นอินเดีย จึงยิ่งมีความน่าสนใจครับ

ความฝันของผมจึงอยากให้คนไทยได้ไปสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบนี้ครับ จะทำให้เรามีสติ ไม่ฟุ้งเฟื้อกับโลกสมัยใหม่มากนัก

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะพี่โยคี

รอบันทึกนี้อยู่ค่ะ

ต้องขอขอบคุณพี่หมอเจ๊ และนักสำรวจจากสถานทูตไทยด้วยนะคะ

ที่ทำให้รู้จัก ไทผาเก พี่น้องของเราอย่างชัดเจน

มองเห็นวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ พร้อมกับภาพประกอบ

ทำให้หวนคิดไปถึงเมื่อครั้งรับราชการใหม่ๆ

กับชนบทที่แทบจะเหมือนกันเช่นนี้

ชนบทมีเสน่ห์เสมอ ยังความซื่อบริสุทธิ์เอาไว้

น่าเสียดาย ถ้าคนในหมู่บ้าน ละบ้านกันไปเรื่อยๆเช่นนี้

แรงใจของไทยทั้งหลาย คงทำให้ชาวไทผาเก คงอยู่ต่อไปในหน้าประวัติศาสตร์โลก

และเรื่องราวที่พี่โยคีและคณะได้กระทำไป

ก็เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์

ที่ชาวไทยผาเก จะเล่าลือต่อไปไม่รู้จบ

ถ้ามีโอกาส ก็อยากไปนอนบ้านไม้ไผ่จัดแตะเช่นกันค่ะ

Ico48

โยคีน้อย

กำลังจะเขียนเชิญชวนต่อ

อยากให้หมออนามัยไปดูงานและลงพื้นที่สัก 10 วัน คงต้องคิดกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร จะระดมทุนกันอย่างไร คิดหนอ คิดหนอ

คิดหนอ คิดหนอ

 

สาธุ นะคะ

ด้วยความยินดีค่ะขอเป็นอาสาสมัครนำร่อง

เพราะเก็บวันลาไว้แล้วค่ะ

ช่วยกันคิดนะคะว่าจะใช้หมออนามัยไปทำอะไรได้บ้าง

ให้เป็นประโยชน์กับชาวไทผาเกของเรา

ด้วยความเต็มใจ และจะทำให้ดีที่สุดนะคะ

  • แวะมาเรียนขอดูภาพ "ตลาด" และ "สินค้าในตลาด" ค่ะ
  • ถ้าเป็นไปได้ น่าชวนชาวบ้าน
  • ทำบัญชีครัวเรือนดูนะคะ
  • จะได้ข้อมูลที่เข้าใจชุมชน
  • ลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง
  • และได้จุดเริ่มเล็กๆในการพัฒนา
  • แบบก้าวทีละก้าวให้ก่อน
  • เพื่อช่วยเติมเต็มฐานความรู้ที่ำจำเป็น
  • สำหรับการสานต่อความฝัน
  • ของชุมชนต่อไป

หมอเจ้ครับ

ในการอธิบายเรื่องเศราฐกิจพอเพียง ผมได้พูดถึงเรื่องการทำบัญชีครัวเรือนด้วย ก็เป็นที่สนใจของชาวบ้าน แต่อย่างว่าครับ เวลาที่แนะนำนั้นน้อยมาก จึงได้เฉพาะสาระสำคัญ การนำไปใช้คงต้องตามถามอีกที

ตลาดในหมู่บ้านไม่เห็นครับ ตลาดในเมืองนี้ เป็นตลาดสดข้างถนนชั่วคราว ตามชุมชนต่างๆ  

ภาพที่นำมาให้ดูเป็นตลาดสดในเมืองดีบูรการ์ครับ อุดมสมบูรณ์เหมือนตลาดบางแคบ้านเราเลยครับ

 

สวัสดีค่ะ

ผักเหมือนที่บ้านเราเลยนะคะ

คุณพ่อท่าน สบายดีไหมคะ เคยไปเยี่ยม blog ท่านที่ดูดอกตะไคร้บาน

 

Ico48

สวัสดีครับ ถือว่าอุดมสมบูรณ์มากทีเดียวครับ อินเดียมีประชากรมากกว่าครึ่งทานมังสะวิรัติครับ พืชผักจึงเป้นที่นิยมและหาง่ายครับ

คุณพ่อของผมสบายดีครับ ท่านอายุ จะ 84 ปีแล้ว

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท