การตัดสินใจของผู้บริหาร


นัทธี จิตสว่าง

ปราชญ์ในทางการบริหารหลายท่านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจะต้องเป็นผู้มีการตัดสินใจที่ดี การตัดสินใจจึงนับเป็นหัวใจของการบริหารเหมือนดังที่ ลี ไอค็อกคา อดีตประธานบริษัทรถยนต์ไครสเล่อร์ ชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า “ถ้าให้ข้าพเจ้าสรุปในวลีเดียวกันว่า ผู้บริหารที่ดีเป็นอย่างไรแล้วละก็ ข้าพเจ้าบอกได้เลยว่า คือ ความสามารถในการตัดสินใจ”

การตัดสินใจที่ดี มีประสิทธิภาพนั้น ต้องเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผลมีการไตร่ตรองถึงผลดี ผลเสียของทางเลือกต่างๆ เปรียบเทียบกันโดยมีข้อมูลสนับสนุนเป็นการตัดสินใจที่มุ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์การหรือส่วนรวมเป็นสำคัญ มีความชอบธรรม สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และเป็นการตัดสินใจที่ฉับไวทันเหตุการณ์นอกจากนี้ โดยเหตุที่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการตัดสินใจที่ดีของผู้บริหารจึงไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่สะสมกันมาในอดีตหรือปัญหาในปัจจุบันเท่านั้น แต่จะต้องวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและตัดสินใจล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการตัดสินใจที่มีวิสัยทัศน์                   

นั่นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากจะเห็นจากการตัดสินใจของผู้บริหาร แต่จะมีผู้บริหารสักกี่คนที่จะสามารถปฏิบัติได้อย่างนั้นได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพราะบ่อยครั้งที่ผู้บริหารต้องพบกับข้อจำกัดและทำให้ตัดสินใจ “เขว” ไปบ้าง

โดยเฉพาะผู้บริหารในองค์กรภาครัฐ จะเห็นได้ชัดว่าการตัดสินใจที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำได้ตลอดเวลา แต่ก็ไม่เกินความสามารถ ถ้าจะทำ

ผู้บริหารในองค์กรภาครัฐส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจที่ดีและกลัวที่จะตัดสินใจผิดพลาด เพราะการตัดสินใจที่ไม่ดีจะส่งผลตามมาในวงกว้างและการตัดสินใจที่ผิดพลาดหมายถึงความรับผิดชอบความเสียหายที่จะตามมา

แต่เหนือความกลัวมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การตัดสินใจของผู้บริหารภาครัฐต้องรับผิดเพี้ยนไปเหมือนดังที่เฮอร์เบิร์กไซร์มอน นักรัฐประศาสนศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่าผู้บริหารในองค์กรไม่สามารถตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผล  เปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่จะตัดสินใจด้วยเหตุผลที่จำกัดซึ่งก็จัดว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีพอสมควรแล้ว หรือพอใช้ได้แล้ว หรือพึงพอใจแล้วก็เพียงพอ

ปัจจัยดังกล่าว ไซร์มอนกล่าวว่าประกอบไปด้วย

ประการแรก อิทธิพลทางการเมืองที่ฝ่ายบริหารต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพราะข้าราชการต้องเป็นฝ่ายนำนโยบายของฝ่ายการเมืองมาปฏิบัติ ซึ่งในบางกรณีอาจมีการใช้อิทธิพลในทางที่มิชอบก็จะเป็นช่องทางให้ผู้บริหารองค์กรภาครัฐต้องดำเนินการด้วยความจำใจหรืออาจร่วมกันตัดสินใจไปในทางมิชอบด้วย เป็นการตัดสินใจที่ผิดไปจากหลักการเหตุผล นอกเสียจากที่ผู้บริหารองค์กรภาครัฐจะใช้ความสามารถและศิลปะในการบริหารการตัดสินใจหลบเลี่ยงไปได้

เรื่องผลประโยชน์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจของผู้บริหารองค์กรไม่เป็นไปตามหลักเหตุผล ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกฟ้องหรือผู้ที่มีอิทธิพล ทั้งโดยทางตรงทางอ้อม เหตุผลดีๆ และข้อมูลที่ถูกต้องอาจถูกมองข้ามไป

ปัจจัยต่อมาได้แก่การขาดข้อมูลในการตัดสินใจ บ่อยครั้งที่การตัดสินใจ เกิดความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการที่ข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการตัดสินใจในเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน มีกฎระเบียบเกี่ยวข้องมากมาย การขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาก็นำไปสู่ความล้มเหลวในการตัดสินใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในการตัดสินใจในเรื่องใดๆ ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด

ประการสุดท้าย ผู้บริหารมักจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด การถูกจำกัดด้วยระยะเวลาทำให้การไตร่ตรอง สรรหาข้อมูลและเหตุผลเพื่อประกอบการตัดสินใจทำได้ในขอบเขตที่จำกัด และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่โอริและรอม บราฟแมน นักจิตวิทยาองค์กรในหนังสือเรื่อง SWAY หรือ เขว กล่าวว่าค่านิยมหรือกรอบความคิดที่เรามีอยู่ต่อคนใดคนหนึ่งหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง จะปิดหูปิดตาไม่ให้เราพิจารณาหลักฐานทุกอย่างที่ขัดแย้งกับการวินิจฉัยของตัวเราเอง ซึ่งทั้งนี้เป็นแรงผลักดันทางจิตวิทยาบางส่วนที่ทำให้การคิดอย่างมีเหตุผลของคนเราผิดเพี้ยนไป ดังนั้น ในการตัดสินใจ ผู้บริหารจะต้องพยายามทำใจให้เป็นกลาง ฟังเหตุผลของทุกฝ่าย

การตัดสินใจของผู้บริหารที่ “เขว” ไปจากหลักการตัดสินใจที่ดีด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบในทางใดทางหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารส่วนใหญ่พยายามที่จะหลีกเลี่ยง และก้าวข้ามปัจจัยต่างๆ นี้ไปยกเว้นกรณีของผู้บริหารบางส่วน ที่ตั้งใจที่จะตัดสินใจโดยละเลยหลักเหตุผลไปสู่เรื่องของผลประโยชน์หรือค่านิยมส่วนตัว

การที่จะก้าวข้ามปัจจัยต่างๆ ที่จะมากระทบต่อการตัดสินใจที่ดีของผู้บริหารได้นั้น ผู้บริหารองค์กรต้องรู้จักบริหารการตัดสินใจ คือต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญของการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง แต่ละวัน สัปดาห์ เดือน ปี จะต้องสามารถจำแนกได้ว่าเรื่องใดสำคัญกว่ากัน เรื่องใดควรทำในเวลาใด เรื่องใดควรหาข้อมูลเพิ่มเติม และเรื่องใดควรใช้ศิลปะในการหลบหลีกการตัดสินใจในทางที่ผิดๆ

การเลื่อนการตัดสินใจไปข้างหน้าเรื่อยๆ ในเรื่องที่จำเป็นต้องตัดสินใจ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารไม่ควรทำ เพราะการตัดสินใจที่ฉับไว เด็ดขาด กล้าหาญและรอบคอบ โดยยึดหลักประโยชน์ส่วนรวม เป็นสิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาคาดหวังจากผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารไม่กล้าตัดสินใจก็จะเป็นผู้บริหารที่ดีไม่ได้ เพราะหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้บริหารองค์กรก็คือ “การตัดสินใจ”...

*******************

 

 

หมายเลขบันทึก: 462710เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2011 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท