การเขียนรายงานการวิจัย


หลักในการเขียนรายงานการวิจัย

         การเขียนรายงานการวิจัย เป็นการสื่อสาร  สื่อความระหว่างผู้วิจัยกับผู้อ่านงานวิจัย  และผู้นำผลการวิจัยไปใช้  ซึ่งสื่อผลการวิจัยออกมาในรูปของเอกสาร โดยเรียบเรียงอย่างเป็นระบบในเชิงวิชาการ  ผู้เขียนรายงานต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดให้ผู้อ่าน  ผู้สนใจได้ทราบถึงเหตุผลในการศึกษาค้นคว้า  ที่มาของปัญหา กรอบแนวคิดการวิจัย  วิธีดำเนินการวิจัยและข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยนั้นๆ

        หลักการเขียนรายงานการวิจัย (ผศ.ดร.พิชิต ฤทธิ์จรูญ, 2549)
1. มีความเป็นระบบ (systematic) รูปแบบการเขียน  วิธีการอ้างอิงและการพิมพ์ต้องเป็นไปตามกรอบโครงสร้างที่กำหนดไว้
2. ความถูกต้อง (accuracy) เนื้อหามีความถูกต้องตามหลักวิชา  ไม่บิดเบือดไปจากข้อเท็จจริงที่ค้นพบ การลงสรุปต้องไม่ลำเอียง และไม่ควรเขียนเกินกว่าข้อมูลที่มีอยู่เพื่อจูงใจผู้อ่านให้คล้อยตาม
3. ความครบถ้วนสมบูรณ์ (completeness) เนื้อหาสาระในรายงานการวิจัยต้องมีความครบถ้วนสมบูรณ์ทุกหัวข้อตามขั้นตอนกระบวนการวิจัย ครอบคลุมการตอบประเด็นปัญหาวิจัยหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่กำหนดไว้ทุกหัวข้อ
4. ความเป็นเอกภาพ (unity) คือเนื้อหาสาระในแต่ละบท แต่ละตอนต้องเป็นเรื่องเดียวกันเท่านั้น
5. ความสัมพันธ์สอดคล้องเชื่อมโยง (correspondence) เนื้อหาสาระระหว่างบท ระหว่างตอนต้องมีความสัมพันธ์สอดคล้อง  เชื่อมโยงกันโดยตลอด เป็นเหตุเป็นผลสอดรับกันอย่างต่อเนื่อง
6. ความคงเส้นคงวา (consistency) คือการใช้คำ วลี หรือข้อความในรายงานการวิจัยต้องเป็นแบบเดียวกันหรือมีความสม่ำเสมอตลอดทั้งเล่ม รวมทั้งรูปแบบการเขียนด้วย เช่น การใช้เครื่องหมายกำกับหัวข้อ วรรคตอน  การอ้างอิงหรือสัญลักษณ์ต่างๆ
7. ความกระจ่างชัด (clarity) ข้อความในรายงานวิจัยต้องมีความชัดเจน ไม่กำกวม คลุมเครือ  ผู้อ่านต้องสามารถเข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องตีความข้อความเหล่านั้น
8. ความตรงประเด็น (pertinent) เนื้อหาสาระต้องมุ่งตอบปัญหาวิจัยหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่กำหนดไว้เป็นหลัก หลีกเลี่ยงการเขียนวกวน หรือยืดยาวที่มีสาระไม่ตรงประเด็น ซึ่งไม่สามารถตอบปัญหาการวิจัยได้
9. ความมีเหตุผล (cogency) เนื้อหาสาระต้องมีเหตุผงแน่นหนา  และมีหลักฐานอ้างอิงสนับสนุนที่เชื่อถือได้
10. ความมีจรรยาบรรณ (ethics) การใช้ภาษาถ้อยคำต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือผลเสียหาย เสียชื่อเสียงแก่บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง และไม่แอบอ้างแนวความคิดหรือผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่มีการอ้างอิง หรือให้เกียรติเจ้าของผลงาน ตลอดจนนำเสนอรายงานตามข้อเท็จจริงที่ค้นพบได้เท่านั้น

        เทคนิคในการเขียนรายงานการวิจัยนั้น เราควรเริ่มเขียนรายงานการวิจัยระหว่างทำวิจัย  ไม่ต้องรอจนกระทั่งงานวิจัยเสร็จ และต้องมีการเขียน บันทึกโดยตลอดเพื่อป้องกันการลืม  และไม่ต้องรีบร้อนในการเขียน และเมื่อเขียนเสร็จแล้วควรมีเวลาอ่านทบทวนขัดเกลาสัก 2 หรือ 3 รอบ หรือให้ผู้รู้ช่วยอ่านเพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

หมายเลขบันทึก: 462259เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2011 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท