วิสัยทัศน์ในการปรับเปลี่ยน “ระบบการศึกษา” ของไทย.


การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

           การเลือกตั้งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยหลายโครงการเป็นที่ต้องตาต้องใจประชาชนคนไทยอยู่ไม่น้อย ดูได้จากคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ได้รับมาอย่างท่วมท้น ยิ่งทำให้ตอกย้ำความคาดหวังของประชาชนกับการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย...

          กระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในกระทรวงสำคัญที่หลายคนจับจ้องกันมากที่สุด ก็ได้รัฐมนตรีคนใหม่แกะกล่องอย่าง “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” มานั่งแท่นเป็นเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนล่าสุด ท่ามกลางความหวังว่า รัฐมนตรีผู้นี้จะมาปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยให้ไปแข่งขันทัดเทียมบนเวทีโลกได้ แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน ต้องลองเปิดใจรับฟังวิสัยทัศน์กันดูก่อน

            หลังรับตำแหน่งมาสดๆ ร้อนๆ“ไทยรัฐออนไลน์” มีโอกาสได้พูดคุยกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสอบถามแนวคิดและนโยบายต่างๆ ที่จะใช้บริหารการศึกษาไทยให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

            โดยนายวรวัจน์ ได้เกริ่นบางเรื่องให้ “ไทยรัฐออนไลน์” ฟังว่า “ในขณะนี้เรื่องการค้าเสรีเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณา เพราะประเทศไทยก้าวเข้ามาด้วยความไม่พร้อม ซึ่งทำให้เราเสียเปรียบในการทำสัญญา โดยเฉพาะการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งแต่ละประเทศจะเข้ามาทำการค้าโดยปลอดภาษี ซึ่งขณะนี้ไทยยังมีปัญหาเรื่องความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องภาษา เทคโนโลยี และระบบการผลิตต่างๆ ดังนั้นถ้าเปิดไปแล้วจะประสบกับปัญหาอย่างมาก ผมจึงมองว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความพร้อมก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่เศรษฐกิจอาเซียน เราจะต้องเพิ่มศักยภาพในด้านการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของภาษา ไอที และองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับเด็กไทย”


              การมองไปที่ศักยภาพของพื้นที่ว่ามีทรัพยากรธรมชาติ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ วัฒนธรรมประเพณี และสภาพฟ้าฝนเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อระบบการศึกษาไทย ผมมองเรื่องขีดความสามารถเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเห็นว่าหลักสูตรการศึกษาไทยจะต้องสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ จึงคิดแบ่งหลักสูตรการศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.ภาคเกษตรกรรม 2.ภาคอุตสาหกรรม 3.ระบบการค้าขาย 4.ภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อย่างภาพยนตร์ ดนตรี แอนิเมชั่น 5.ภาควิชาการ กลุ่มแพทย์ กฎหมาย

              นายวรวัจน์ กล่าวว่า “จากนี้ไปการศึกษาต้องมีทิศทาง ต้องเป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศและการมีงานทำ ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ประการเดียว ผมมองว่า วันนี้คนมีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะทำงาน เห็นได้จากตัวเลขจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีผู้จบการศึกษาแล้ว 2,300,000 คน โดย 500,000 คนยังไม่ได้งาน ดังนั้นเราจำเป็นต้องปรับใหม่ ต้องสอนให้คนมีงานทำ โดยจะต้องประเมินว่า การที่เด็กจะได้รับทุนจากกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เมื่อเรียนจบไปจะมีงานทำหรือไม่ ดังนั้น กรอ. จะต้องให้เงินกู้กับเด็กในจำนวนที่เพียงพอกับการเรียน และต้องมั่นใจว่าเด็กจะต้องมีงานทำ จากนั้นพอเด็กมีงานทำและมีเงินเดือนแล้วถึงจะชดใช้คืน จะผ่อนชำระ 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปีขึ้นไป”

             นี่คือนโยบายคร่าวๆ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการชี้แจง พร้อมกันนี้ นายวรวัจน์ยังได้กล่าวถึงประเด็นร้อน สืบเนื่องจากเรื่องกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า “เรื่องยุบ กยศ. นั้น ตอนนี้คงต้องพักไว้ก่อน และจะให้หยุดดำเนินการฟ้องร้องด้วย ส่วนเด็กที่ยังมีปัญหา เราจะดึงกลับมาเรียนและอบรมใหม่ โดยให้ทาง กศน.หรืออาชีวะ เป็นผู้ฝึกอาชีพให้ใหม่ จากนั้นเราจะเริ่มวางระบบเศรษฐกิจใหม่ โดยจะเริ่มทำธุรกิจเพื่อการศึกษา โดยใช้แต่ละจังหวัดเป็นพื้นฐาน เราพัฒนาเด็กผ่านระบบการศึกษา การสร้างผลผลิตทางการเกษตร ทำโลจิสติกส์แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภายในประเทศด้วยกัน โดยใช้หน่วยของระบบการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ”

                เมื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจจำลอง เด็กเริ่มพัฒนาทรัพยากรและทำงานอยู่ในจังหวัดของตัวเอง ท้องถิ่นก็จะเกิดการสร้างงานและรายได้ให้กับพื้นที่ของตนเอง ตอนนี้ก็จะเป็นการยกระดับวิชาชีพครูขึ้นมาด้วย

              นายวรวัจน์ กล่าว “เราจะแบ่งครูออกเป็น 2 ระบบ คือ ครูวิชาการ และครูผู้เชี่ยวชาญ โดยครูวิชาการจะมาจากบุคคลภายนอกก็ได้ ซึ่งตอนนี้ ศกอ.กำลังดำเนินการ และผมมองว่าบางทีบุคคลภายนอกเก่งและมีความสามารถมากกว่าอาจารย์ทั่วไปก็เป็นไปได้ จึงอยากให้บุคคลเหล่านั้นมาสอนนักเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ครูทั้ง 2 ระบบก็คงจะต้องร่วมมือกันอยู่ดี โดยจะต้องนำองค์ความรู้ของครูทั้งคู่มาแปลงให้ง่ายต่อการเข้าใจของเด็ก”

              วิธีการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยของไทยจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ นายวรวัจน์ ระบุว่า “เรื่องโอเน็ต-เอเน็ต เรื่องนี้กำลังให้มหาวิทยาลัยลงไปดูหลักสูตรการศึกษาต่างจังหวัด เพื่อให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งก่อนหน้านี้ระดับประถมก็คิดหลักสูตรประถม มัธยมก็คิดหลักสูตรมัธยม อุดมศึกษาก็คิดในหลักสูตรอุดมศึกษา ซึ่งมันไม่สามารถเชื่อมองค์ความรู้กันได้ ต่อจากนี้ไปเราจะให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ เวลาไม่นานเราจะได้นักศึกษาที่มีความสามารถแบบเฉพาะเจาะจงและมีศักยภาพจริงๆ”

               ความสำคัญของโรงเรียนแตกต่างกัน โรงเรียนต่างจังหวัดมีทรัพยากร ที่ผ่านมาหลักสูตรไม่เคยสอนให้ใช้ทรัพยากรได้ แต่ถ้าวันนี้ปรับเปลี่ยนใหม่ ให้สามารถใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นได้ จนสามารถสร้างมูลค่า สร้างอาชีพได้ ความสำคัญของโรงเรียนก็จะเปลี่ยนไปตาม โดยโรงเรียนขนาดใหญ่จะต้องเปลี่ยนไปสอนการเงิน บัญชี หรืออะไรแทน ตรงนั้นน่าจะช่วยทำให้น้ำหนักของโรงเรียนแต่ละแห่งเกิดความเท่าเทียมกัน เด็กก็ไม่ต้องแย่งกันเข้าโรงเรียนดังๆ และจะเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการสอบแข่งขัน หรือสอบเอ็นทรานซ์ได้ด้วย ไม่ใช่เรียนมาทั้งหมด 12 ปี เพื่อสอบเอ็นทรานซ์เพียงครั้งเดียว

             “เราจะเปลี่ยนระบบใหม่ ภายใต้แนวคิด เรียนไปมีงานทำไป มากกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยแบ่งให้ระดับมัธยมเป็น 2 รูปแบบ คือ มัธยมเชิงปฏิบัติการ ควบคู่ไปกับมัธยมวิชาการ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยให้โรงเรียนมัธยมต้นเริ่มปรับเปลี่ยนอาคาร ที่เน้นไปเป็นการเรียนเชิงปฏิบัติการมากขึ้น ด้วยการใช้งบประมาณจากกองทุน 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายในปีการศึกษา 2555 น่าจะได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” นายวรวัจน์ กล่าว

            ส่วนเรื่องค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นนั้น นายวรวัจน์ มีความเห็นว่า "วันนี้เราไม่คิดจะปล่อยมหาวิทยาลัยออกไปนอกระบบอยู่แล้ว เพราะการออกไปนอกระบบจะให้มหาวิทยาลัยทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่วันนี้เองเรากำลังจะดึงมหาวิทยาลัยกลับเข้าสู่ระบบ เช่นเดียวกับงานวิจัยที่เราก็ดึงกลับมา โดยแบ่งเป็น 30:70 คือ 30 เป็นความรู้ทางวิชาการจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ส่วน 70 จะเป็นไปตามแผนการพัฒนาประเทศ ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องนี้"

              พูดถึงนโยบายการศึกษาไทยกันแล้ว “ไทยรัฐออนไลน์” อยากให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ พูดถึงตัวชี้วัดความสำเร็จในการบริหารกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้รัฐมนตรี “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล“ โดยนายวรวัจน์ กล่าวว่า “ผมพยายามทำให้ดีที่สุด สิ่งที่วัดได้ คือ 1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ 2. เด็กมีงานทำประมาณ 80% โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ทั้งนี้ต้องมีเรื่องงบประมาณและความร่วมมือขององค์กรเป็นสำคัญ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยเปลี่ยนแปลง วันที่ตัดสินใจมาที่กระทรวงศึกษาธิการ มันเหมือนเป็นการท้าทายตนเองว่า ผมอยากทำ เมื่อมีโอกาสทำ ผมจะต้องทำให้ดีที่สุด”

         “ไทยรัฐออนไลน์” ถามว่าเหนื่อยไหม นายวรวัจน์ ตอบว่า “ผมว่ามันท้าทาย ผมกำลังปฏิรูประบบการศึกษาจริงๆ โดยหล่อหลอมทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาดำเนินงานร่วมกัน โดยให้ทุกคนทำงานด้วยใจ แต่จะไม่ใช้การออกคำสั่ง ซึ่งวันนี้ก็ทำมาถึง 70-80% แล้ว”

          นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้ที่บอกว่าจะมาปรับเปลี่ยน “ระบบการศึกษา” ของไทย.

 

 

ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 22 กันยายน 2554

คำสำคัญ (Tags): #การจัดการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 462176เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2011 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท