ทฤษฎี


ทฤษฎีเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนความคิด ความเชื่อของบุคคลที่เป็นผู้สร้างทฤษฎีนั้น ๆ และเอื้อประโยชน์อย่างมากในการให้บุคคลอื่น ๆ นำไปใช้อ้างอิง อธิบาย ตีความปรากฏการณ์นั้น ๆ

ทฤษฎี : ความหมายและลักษณะ

            ความหมายของทฤษฎีจากแหล่งต่าง ๆ มีลักษณะร่วมที่เหมือนกันในประการสำคัญ ๆ ดังนี้

  1. ทฤษฎีเป็นสิ่งที่แทนความคิดความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ผ่านการสังเกต
  2. ความคิดความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่บุคคลสร้างขึ้นใหม่ในลักษณะที่เป็นมโนทัศน์ มีความเป็นนามธรรม เป็นตัวแทนที่ครอบคลุมปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็น  ไม่ใช่เป็นการสรุปข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์
  3. ความคิดความเชื่อที่มีลักษณะเป็นมโนทัศน์นี้จะได้รับการนำมาจัดเรียงอย่างเป็นระบบมีความสัมพันธ์กัน ที่เรียกว่าข้อเสนอ
  4. ข้อเสนอหลาย ๆ ข้อที่รวมและสัมพันธ์กันนี้ จะมีระดับที่สูงกว่ามโนทัศน์และมีลักษณะความเป็นนัยทั่วไปในการนำไปใช้อธิบายและทำนายปรากฏการณ์นั้น ๆ

         จากลักษณะสำคัญ ๆ ของทฤษฎีดังกล่าวนี้ จะเห็นว่า ทฤษฎีจะมีหน้าที่สำคัญ ๆ สองกรณี คือ ใช้อธิบายและทำนายปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีนั้น ได้อย่างครอบคลุม เช่น ทฤษฎีแรงจูงใจ ทฤษฎีการเสริมแรง ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง เป็นต้น ทฤษฎีที่กล่าวมาจะช่วยอธิบาย และทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ หรืออธิบายการร่วงหล่นของวัตถุ อย่างมีเหตุผล น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะใช้อธิบายและทำนายพฤติกรรมของมนุษย์คนใดหรืวัตถุใดก็ตาม ทฤษฎีจึงเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนความคิด ความเชื่อของบุคคลที่เป็นผู้สร้างทฤษฎีนั้น ๆ และเอื้อประโยชน์อย่างมากในการให้บุคคลอื่น ๆ นำไปใช้อ้างอิง อธิบาย ตีความปรากฏการณ์นั้น ๆ

 

  การสร้างทฤษฎี 

                การสร้างทฤษฎีมีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกันตามประเภทของทฤษฎี ดังนี้

        1. ทฤษฎีเชิงวิตรรก (Rational  theory) คือทฤษฎีที่สร้างขึ้นโดยกำหนดข้อความที่เป็นสัจพจน์ขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นข้อความที่ถือว่าเป็นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์ทดสอบในเชิงประจักษ์  ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกข้อความทำนองนี้ว่า “Postulate” หรือ “assumption” หลังจากนั้นก็ทำการนิรนัยข้อความออกมาจากสัจพจน์ดังกล่าวหลาย ๆ ข้อความ แล้วสร้างข้อสรุป ก็จะทำให้ได้เป็นความรู้ความจริง ซึ่งจะถูกต้องยอมรับได้มากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับความสมเหตุสมผลเป็นหลัก ตัวอย่างของทฤษฎีเชิงวิตรรกได้แก่ ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์และเรขาคณิต

         2. ทฤษฎีเชิงประจักษ์ (Empirical theory) คือทฤษฎีที่สร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นพื้นฐานในการสร้าง กล่าวคือทฤษฎีจะเกิดขึ้นได้ภายหลังจากการสังเกตรับรู้ปรากฏการณ์มาแล้วเป็นเวลานานพอสมควร ขั้นตอนในการสร้างทฤษฎีเชิงประจักษ์มีดังนี้

                ขั้นที่ 1 กำหนดเรื่องที่จะสร้างทฤษฎี เพื่อทำการอธิบายและทำนายว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร การกำหนดเรื่อง จะทำให้นักวิจัยสังเกตปรากฏการณ์ในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างตรงประเด็น

                ขั้นที่ 2 กำหนดขอบเขตของปรากฏการณ์หรือเรื่องที่จะสร้างทฤษฎีว่าครอบคลุมในแง่มุมใดบ้าง

                ขั้นที่ 3 กำหนด จำแนก ให้คำนิยาม มโนทัศน์ และตัวแปรต่าง ๆ ที่ใช้แทนปรากฏการณ์หรือประเด็นที่ได้จากการสังเกต

                ขั้นที่ 4 จัดระบบและลำดับความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์และตัวแปรต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อเสนอต่าง ๆ ควรสร้างเป็นแผนภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์หรือตัวแปรเพื่อให้เห็นถึงลักษณะความสัมพันธ์นั้น ระหว่างมโนทัศน์ที่นำมาจัดความสัมพันธ์นั้น

                ขั้นที่ 5 ใช้เหตุผลเชิงตรรกะสรุปข้อเสนอต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นสัจพจน์ตามเรื่องที่กำหนดสร้างเป็นทฤษฎี

             ขั้นตอนการสร้างทฤษฎีเชิงประจักษ์จะเป็นไปตามลำดับด้วยการเริ่มต้นจากการสังเกตปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมไปสู่การสร้างมโนทัศน์ ข้อเสนอ และสัจพจน์ที่มีความเป็นนามธรรมขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งมีความเป็นนามธรรมมากขึ้นเท่าไร ก็จะมีคุณสมบัติความเป็นนัยทั่วไปในการนำไปใช้มากขึ้นตามไปด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

รัตนะ  บัวสนธ์. (2552). ปรัชญาวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิพ์แห่งจุฬาลงกรณ์   มหาวิทยาลัย.

ห้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย รศ.ดร.อรุณี  อ่อนสวัสดิ์ 

 

คำสำคัญ (Tags): #ทฤษฎี
หมายเลขบันทึก: 461993เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2011 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท