สมมุติฐาน (Hypothesis)


สิ่งที่น่าจะนำมาพิจารณาประกอบการตั้งสมมุติฐานคือ การมองปัญหาและความสนใจของผู้วิจัย ความรู้ตามแนวทางของทฤษฎีหรือผลการวิจัยครั้งก่อน ๆ เกี่ยวกับปัญหานั้นและหลักการแห่งเหตุผล

สมมุติฐาน (Hypothesis)

         สมมุติฐาน หมายถึงข้อความที่แสดงถึงการคาดคะเนคำตอบเกี่ยวกับผลการวิจัย ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวแปร โดยอาศัยหลักฐานหรือความรู้เดิม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการค้นคว้า เพื่อทำการพิสูจน์ตรวจสอบความถูกต้องของสมมุติฐานนั้น และเท็จจริงของเรื่องที่ต้องการศึกษา

 ประเภทของสมมุติฐาน (Type of hypothesis)

            สมมุติฐานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สมมุติฐานการวิจัย และสมมุติฐานทางสถิติ

    1. สมมุติฐานการวิจัย (Research hypothesis) เป็นข้อความที่คาดเดาคำตอบ หรือสันนิษฐานคำตอบของการวิจัยไว้ล่วงหน้า ซึ่งเขียนบรรยายโดยใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน  ในการทำการวิจัยไม่จำเป็นว่าการวิจัยทุกเรื่องจะต้องมีสมมุติฐานการวิจัย การวิจัยบางลักษณะเช่น การวิจัยเชิงสำรวจ  ผู้วิจัยมักจะไม่ได้ตั้งสมมุติฐานไว้ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะพบสิ่งใด หรือการวิจัยที่ไม่มีทฤษฎีหรือตัวอย่างในการวิจัยเรื่องนั้น ๆ มาก่อน

    2. สมมุติฐานทางสถิติ (Statistical  hypothesis) เป็นสมมุติฐานที่เขียนอธิบายคำตอบในรูปโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ที่คาดคะเนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปรหรือมากกว่า สมมุติฐานทางสถิติประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน ได้แก่

         2.1 สมมุติฐานศูนย์ (Null hypothesis) เป็นสมมุติฐานทางสถิติที่ตั้งเอาไว้เพื่อการทดสอบ ซึ่งเขียนไว้ในลักษณะที่ไม่แสดงความแตกต่าง ระหว่างค่าพารามิเตอร์ที่ต้องการทดสอบ นิยมใช้สัญลักษณ์ H0 แทนสมมุติฐานศูนย์  เช่น

                                H0 : µ 1 = µ 2

                                H0 : s1 =  s2

                                H0 :  Pxy = 0

        2.2 สมมุติฐานอื่นที่เป็นทางเลือก (Alternative hypothesis) เป็นสมมุติฐานทางสถิติที่ตรงข้ามกับสมมุติฐานศูนย์ที่ต้องการทดสอบ ซึ่งเขียนไว้ในลักษณะที่แสดงความแตกต่างระหว่างค่าพารามิเตอร์ที่ต้องการทดสอบ โดยตั้งขึ้นมาเป็นทางเลือกในกรณีปฏิเสธสมมุติฐานศูนย์ จะได้มีสมมุติฐานอื่นรองรับ และถ้ายอมรับสมมุติฐานศูนย์ จะได้ปฏิเสธสมมุติฐานอื่น โดยสมมุติฐานอื่นมักจะเป็นสมมุติฐานที่คาดว่าจะเป็นผลของการวิจัย  นิยมใช้สัญลักษณ์  H1 หรือ HA แทนสมมุติฐานอื่น ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ

         1) สมมุติฐานแบบไม่มีทิศทาง (Non-directional Alternative hypothesis) เป็นการกล่าวถึงค่าพารามิเตอร์ว่ามีค่าไม่เท่ากับค่าใดค่าหนึ่ง ใช้ในกรณีที่ผู้วิจัยไม่สามารถจะบ่งบอกได้ว่าตัวแปรใดมากกว่าตัวแปรใด สัมพันธ์กันในทิศทางใด แต่รู้ว่าตัวแปรเหล่านั้นแตกต่างกัน จึงใช้สำหรับทดสอบแบบสองทาง (Two-tailed Test) เช่น

                                                H1 :  µ 1 ≠  µ 2

                                                H1 :  s1   ≠  s2

                                                H1 :   Pxy   ≠    0

      2) สมมุติฐานแบบมีทิศทาง (Directional Alternative hypothesis) เป็นการกล่าวถึง ค่าพารามิเตอร์อย่างเจาะจงว่ามีค่ามากหรือน้อยกว่าค่าใดค่าหนึ่ง ใช้ในกรณีที่ผู้วิจัยมีความมั่นใจอย่าเพียงพอในการคาดหวังความสุมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษาว่ามีทิศทางใด จึงใช้การทดสอบแบบทางเดียว  (One-tailed Test) เช่น

                                                H1 :  µ 1 >  µ 2

                                                H1 :  s1 >  s2

                                                H1 :   Pxy> 0

                 การตั้งสมมุติฐานอื่น ๆ จะเป็นแบบมีทิศทางหรือไม่มีทิศทาง ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง แต่สิ่งที่น่าจะนำมาพิจารณาประกอบการตั้งสมมุติฐานคือ การมองปัญหาและความสนใจของผู้วิจัย ความรู้ตามแนวทางของทฤษฎีหรือผลการวิจัยครั้งก่อน ๆ เกี่ยวกับปัญหานั้นและหลักการแห่งเหตุผล

 

เอกสารอ้างอิง

เทียมจันทร์  พานิชย์ผลินไชย(ม.ป.ป.). ระเบียบวิธีวิจัย . พิษณุโลก : คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร.

รัตนะ  บัวสนธ์. (2552). ปรัชญาวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2551). ระเบียบวิธีวิจัย. พิษณุโลก : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

หมายเลขบันทึก: 461986เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2011 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท