พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

รายงานการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์คำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลซึ่งร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 – วันที่ 10 ม.ค.2554 (เนื้อหา)


เป็นรายงานสรุปการดำเนินงานฉบับย่อ ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาเพียงบางส่วนเท่านั้น

รายงานการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์คำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล

ซึ่งร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 วันที่ 10 ม.ค.2554

ภายใต้ความรับผิดชอบ

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ

ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

  ความเป็นมา

 

เนื่องด้วยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีภารกิจที่จะต้องดำเนินการจัดการปัญหาและให้ความช่วยเหลือกับกรณีร้องเรียนของผู้ถูกละเมิดสิทธิในสถานะบุคคล และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อันเป็นผลที่สืบเนื่องจากปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย  โดยกรณีร้องเรียนเหล่านี้ได้ร้องเรียนเข้ามายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและยังไม่ได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น

            ดังนั้นเพื่อให้ภารกิจดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ จึงได้ประชุมหารือและมีมติเห็นพ้องในคราวประชุมครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ให้พิจารณาและสำรวจกรณีร้องเรียนซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เพื่อให้ทราบถึงจำนวนที่แน่นอนของกรณีร้องเรียน สภาพปัญหา เพื่อจำแนกประเภทสิทธิที่ถูกร้องเรียน และนำไปสู่การทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาในขั้นตอนต่อไป

            ในวันที่ 22-25 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 น.ส.บงกช นภาอัมพร และน.ส.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ คณะทำงานฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสำรวจแฟ้มคำร้องของผู้ที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ตามที่ปรากฏแฟ้มคำร้องอยู่จริง และวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2554 พบแฟ้มคำร้องอีก 8 แฟ้มคำร้อง

ผลจากการการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อเท็จจริงตามแฟ้มคำร้องดังกล่าวได้นำมาจัดทำขึ้นเป็นรายงานการสำรวจและสังเคราะห์คำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ซึ่งร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยแบ่งผลการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นระยะ คือ รายงานการสำรวจและสังเคราะห์คำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ซึ่งร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก่อน ปี พ.ศ. 2553 และ รายงานการสำรวจและสังเคราะห์คำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ซึ่งร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 วันที่ 10 ม.ค.2554

 โดยรายงานฉบับนี้ เป็นรายงานการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์คำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลซึ่งร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 วันที่ 10 ม.ค.2554

 

  ขอบเขตการดำเนินการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์คำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล

ขอบเขตด้านเนื้อหา             -   เป็นการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์คำร้องซึ่งเป็นกรณีร้องเรียนของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายและกรณีร้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อันเป็นผลที่สืบเนื่องจากปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นคำร้องที่ปรากฏคำร้อง ตัวเอกสารอยู่จริง ไม่ว่าจะมีเลขคำร้องที่แน่นอนหรือไม่

ทั้งนี้เป็นคำร้องที่ปรากฏแฟ้มคำร้องอยู่จริงในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2554 และเป็นคำร้องที่ร้องเรียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2554

ขอบเขตด้านระยะเวลา        -   การดำเนินการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์กรณีร้องเรียนดำเนินการใน วันที่ 22-25 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 และระหว่างวันที่ 13-31 มกราคม พ.ศ.2554

ขอบเขตด้านวิธีการ           -   การสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์นั้น คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนแรก คือ สำรวจปัญหา โดยการพิจารณาแฟ้มคำร้อง คำร้องที่ไม่ได้จัดเข้าแฟ้ม คำร้องที่ยังไม่มีเลขคำร้องโดยสมบูรณ์ รวมถึงเอกสารอื่น ๆ เพื่อประกอบการทำความเข้าใจข้อมูลในคำร้อง โดยเริ่มต้นจากการสำรวจประวัติของผู้ร้อง สำรวจข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างพร้อมทั้งเอกสารประกอบข้อกล่าวอ้าง สำรวจปัญหาที่ผู้ร้องประสงค์จะร้องเรียน  รวมถึงคณะทำงานฯ ต้องดำเนินการพิจารณาสภาพปัญหา การต้องการความช่วยเหลือของผู้ร้อง และสรุปผลออกมา โดยอาศัยข้อมูลจากข้อเท็จจริงในแฟ้มคำร้องเป็นหลัก อย่างไรก็ตามมีกรณีที่ผู้ร้องเรียนบางรายไม่สามารถสื่อความถึงสภาพปัญหาของตนเองได้ชัดเจนถูกต้อง และไม่เข้าใจถึงสถานะบุคคลตามกฎหมายของตนเอง

ขั้นตอนที่สอง จากขั้นตอนการสำรวจปัญหาเสร็จสิ้นลง ข้อมูลที่ได้นำไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาในการจัดการกรณีร้องเรียนของผู้มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ถึงสาเหตุที่ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการจัดการให้สำเร็จลุ่ล่วงได้

ขั้นตอนที่สาม คือ สังเคราะห์กรณีร้องเรียน โดยแยกแยะกรณีร้องเรียนต่างๆ ลงในรายละเอียดว่ามีปัญหา และข้อเสนอะแนะใหการจัดการลำดับต่อไปอย่างไร

 

เมื่อได้ประมวลผลแฟ้มคำร้องดังกล่าวซึ่งประกอบไปด้วยคำร้องที่อยู่ในแฟ้มคำร้องและมีเลขคำร้อง คำร้องที่อยู่ในแฟ้มคำร้องแต่ไม่มีเลขคำร้อง และคำร้องที่ไม่ได้จัดเข้าแฟ้ม เอกสารความเห็นทางกฎหมาย ที่มีลักษณะของเอกสารปะปนกันและต้องคัดกรองใหม่ จึงดำเนินการแบ่งคำร้องเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามแนวทางในการดำเนินงานตามขั้นตอนต่อไปดังนี้

  1. 1.       คำร้องเรื่องสิทธิในสถานะบุคคล โดยคำร้องเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลนี้ได้จำแนกกลุ่มบุคคลที่

มีปัญหาออกเป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ได้แก่

1.1     คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือ คนไร้สถานะทางทะเบียน

1.2     คนที่มีข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติไทยแต่ถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฏรไทย

1.3     คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยและถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย

1.4     คนต่างด้าวที่เกิดนอกประเทศไทยและถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย

1.5    คนต่างด้าวที่มีจุดเกาะเกี่ยวเข้มข้นกับรัฐต่างประเทศ

และกรณีร้องเรียนที่ไม่สามารถจำแนกได้

  1. 2.       คำร้องเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน
  2. 3.       คำร้องเรื่องสิทธิในคุณภาพชีวิต
  3. 4.       คำร้องเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
  4. 5.       คำร้องเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

และกรณีร้องเรียนที่ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอต่อการแบ่งประเภท

หลังจากนั้นคณะทำงานได้บันทึกรายละเอียดการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์กรณีร้องเรียนแต่ละรายใน

รูปแบบตารางสรุปการสำรวจและสังเคราะห์คำร้อง แล้วจึงนำมาจัดทำเป็นรายงานการสำรวจ วิเคราะห์และสังเคราะห์คำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลซึ่งร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 วันที่ 10 ม.ค.2554 ฉบับนี้

 

  การสำรวจและจำแนกคำร้องของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลและสิทธิด้านอื่น ๆ

                ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 หลังการสำรวจคำร้องของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลซึ่งยื่นคำร้องมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 – วันที่ 10 ม.ค.2554 และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง  พบคำร้องที่ปรากฎแฟ้มคำร้องจำนวนทั้งสิ้น 27 แฟ้มคำร้อง โดยแบ่งเป็นผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลจำนวนทั้งสิ้น 56 ราย ซึ่งในแฟ้มคำร้องจำนวนนี้นั้น เป็นแฟ้มคำร้องที่มีเลขคำร้องแล้วจำนวน 21 แฟ้มคำร้อง ส่วนแฟ้มคำร้องอีกจำนวน 6 แฟ้มนั้นยังไม่มีเลขคำร้อง

 

  วิเคราะห์ลักษณะของกรณีร้องเรียน ปัญหาที่พบ และจำนวนกรณีร้องเรียนของบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ซึ่งยื่นคำร้องเข้ามายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 – วันที่ 10 ม.ค.2554

          จากการสำรวจกรณีร้องเรียนของผู้มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ซึ่งร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-วันที่ 10 มกราคม 2554 สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาในการจัดการกรณีร้องเรียนได้ดังต่อไปนี้

          สภาพปัญหา

          1. จากการสำรวจแฟ้มคำร้องของผู้ประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล พบแฟ้มคำร้องในลักษณะดังกล่าวต่อไปนี้

  • ปรากฏแฟ้มคำร้อง และเลขคำร้อง
  • ปรากฏแฟ้มคำร้อง แต่ไม่พบเลขคำร้อง ซึ่งเป็นไปได้ว่าคำร้องดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้อยู่ในสารระบบคำร้องของคณะกรรมการสิทธิฯ
  • คำร้องยังไม่ได้จัดเข้าแฟ้ม และลงเลขคำร้อง ซึ่งเป็นไปได้ว่าคำร้องดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้อยู่ในสารระบบคำร้องของคณะกรรมการสิทธิฯ
  • กรณีร้องเรียนของผู้ประสบปัญหาบางรายได้รับการแก้ไขจนสำเร็จลุล่วงแล้ว แต่ขาดการจัดทำรายงานสรุปผล

2. จากการสำรวจแฟ้มคำร้อง และวิเคราะห์ลักษณะที่ปรากฏ ทำให้พบข้อด้อยในภาพรวมเกี่ยวกับข้อมูลในแฟ้ม

คำร้องอันส่งผลประการสำคัญต่อการจัดการแก้ปัญหากรณีร้องเรียน

  • คำร้องของผู้ประสบปัญหาขาดข้อเท็จจริงประการสำคัญอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่นำไปสู่การกำหนด และพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมาย จุดเกาะเกี่ยวประการสำคัญ คือ วันเกิด สถานที่เกิด ข้อมูลบิดา ข้อมูลมารดา
  • ผู้ประสบปัญหากล่าวอ้างข้อเท็จจริงมาในคำร้อง แต่กลับไม่ได้แนบพยานหลักฐานประกอบข้อกล่าวอ้างนั้น
  • คำร้องของผู้ประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ขาดข้อเท็จจริงที่ชัดเจนถึงเหตุแห่งการละเมิดสิทธิ สิทธิที่ถูกละเมิด และผู้ที่กระทำการละเมิดสิทธิ
  • คำร้องไม่ได้ระบุที่อยู่อันสามารถติดต่อได้ของผู้ที่ประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล หรือผู้ร้องเรียนแทน ทำให้การแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อการแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร การแก้ไขปัญหาจึงขาดความต่อเนื่อง

          สาเหตุแห่งปัญหา

          จากการสำรวจและวิเคราะห์แฟ้มคำร้อง กรณีร้องเรียนของผู้มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายนั้น

พบว่าประเด็นอันเป็นสาระสำคัญที่ทำให้การจัดการกรณีร้องเรียนตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ไม่สามารถลุล่วงไปได้นั้น

          ประการแรก  เพราะขาดข้อเท็จจริงของผู้ประสบปัญหา ทำให้ไม่สามารถกำหนดปัญหาที่ชัดเจน และไม่สามารถแก้ปัญหาได้

          ประการที่สอง เมื่อต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกลับไม่สามารถติดต่อผู้ประสบปัญหาตามที่อยู่ในแฟ้มคำร้องได้

          ประการที่สาม คำร้องบางคำร้องได้รับการแก้ปัญหาแล้ว แต่เมื่อขาดการติดตามผลทำให้คณะกรรมการสิทธิฯ ไม่สามารถทราบได้ว่าคำร้องดังกล่าวได้รับการแก้ปัญหาแล้ว จึงไม่ได้จัดทำรายงานเพื่อปิดคำร้องดังกล่าว ทำให้กลายเป็นคำร้องที่ค้างอยู่ ส่งผลให้การจัดการกรณีร้องเรียนจึงค้างคาอยู่เช่นนั้น

          อย่างไรก็ตามสาเหตุทั้งสามประการ ส่วนหนึ่งมาจากผลของกระบวนการจัดการกรณีร้องเรียนที่ยังมีปัญหา โดย

เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการรับคำร้องของผู้ประสบปัญหา อันเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการจัดการกรณีร้องเรียน ซึ่งพบว่าขาดการสอบถาม ตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ถัดมาในขั้นตอนการจัดเก็บคำร้องอาจจะยังไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ พิจารณาได้จากว่า คำร้องบางคำร้องไม่ถูกจัดเข้าแฟ้ม บางคำร้องไม่ระบุเลขคำร้อง และในส่วนของการติดตามความคืบหน้าของกรณีปัญหานั้นก็อาจจะไม่ได้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ไม่ทราบว่าแต่ละคำร้องแก้ปัญหาอยู่ในขั้นตอนใด

          รายละเอียดลักษณะและปัญหาของกรณีร้องเรียนในแต่ละประเภทกลุ่มคน

          สำหรับกรณีร้องเรียนตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ถึง วันที่ 10 ม.ค.2554 ที่พบแฟ้มคำร้องจำนวน 27 คำร้องหรือผู้ประสบปัญหาจำนวน 56 รายนี้ สามารถสรุปผลการสำรวจและนำไปสู่การวิเคราะห์ลักษณะ และสภาพปัญหาของกรณีร้องเรียนในรายละเอียดของแต่ละกลุ่มคนที่มีปัญหา ทำให้ทราบถึงเหตุผลที่กรณีร้องเรียนค้างเก่ายังไม่สามารถดำเนินการจนเสร็จสิ้นได้ โดยกรณีร้องรียนมีลักษณะและปัญหาที่พบในรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

1.กรณีร้องเรียนเรื่องสิทธิในสถานะบุคคล จำนวน 48 ราย โดยแบ่งเป็น                                           

          1.1 กรณีร้องเรียนประเภทคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลหรือ คนไร้สถานะทางทะเบียน  จำนวน 6 ราย           

 ลักษณะของกรณีร้องเรียนและปัญหาที่พบ

          1. กรณีร้องเรียนจำนวน 2 กรณีที่ร้องเรียนว่าไปขอรับการสำรวจเพื่อเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรแต่ได้รับการปฏิเสธ เมื่ออุทธรณ์คำสั่งก็ไม่ได้รับการพิจารณา

          2. กรณีร้องเรียนเรื่องถูกจำหน่ายรายการบุคคล จำนวน 2 กรณี ซึ่งอาจจะมีลักษณะของการสวมตัว

          3. ผู้ประสบปัญหาความไร้รัฐ หรือไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร ได้รับผลกระทบเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในหลักประกันสุขภาพ

          4. ผู้ประสบปัญหาความไร้รัฐ หรือไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร ได้รับผลกระทบเรื่องสิทธิทางการศึกษา และสิทธิในการประกอบอาชีพ

 

          1.2 กรณีร้องเรียนประเภทคนที่มีข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติไทยแต่ถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียน

ราษฏรไทย  จำนวน 26 ราย

          ลักษณะของกรณีร้องเรียนและปัญหาที่พบ

          1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากแฟ้มคำร้อง พบว่าทุกกรณีร้องเรียนอ้างข้อเท็จจริงอันแสดงถึงจุดเกาะเกี่ยวว่าเป็นคนสัญชาติไทยตาม ม.23 พรบ.สัญชาติ(ฉบับ4)พ.ศ.2551

          2. พบกรณีร้องเรียนที่อ้างว่าเกิดในประเทศไทย แต่ขาดเอกสารรับรองการเกิด

          3. พบกรณีร้องเรียนที่ระบุว่าได้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยมาเป็นเวลานานเกินกว่ากำหนดพิจารณา 90 วันแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการจนเสร็จสิ้น

          4. พบกรณีร้องเรียนของผู้ที่ถูกระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรจึงยังมิได้ดำเนินการยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย

 

          1.3 กรณีร้องเรียนประเภทคนต่างด้าวเกิดในประเทศไทยและถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย จำนวน 6 ราย

          ลักษณะของกรณีร้องเรียนและปัญหาที่พบ

          1.พบกรณีร้องเรียนของผู้ทื่ยื่นคำขอสัญชาติไทย ตาม ม.7 ทวิ แต่ไม่ได้รับการดำเนินการโดยปัจจุบันเรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย

          2. พบกรณีร้องเรียนของบุตรแรงงานต่างด้าว

 

             1.4 กรณีร้องเรียนประเภทคนต่างด้าวเกิดนอกประเทศไทยและถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย จำนวน 6 ราย 

             ลักษณะของกรณีร้องเรียนและปัญหาที่พบ

             1. กรณีร้องเรียนบางรายได้ยื่นคำขอสถานะต่างด้าวนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา

             2. กรณีร้องเรียนบางรายขาดข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมาย

 

          1.5 กรณีร้องเรียนประเภทคนต่างด้าวที่มีจุดเกาะเกี่ยวเข้มข้นกับรัฐต่างประเทศ จำนวน 3 ราย   

          ลักษณะของกรณีร้องเรียนและปัญหาที่พบ

          เป็นกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานต่างด้าวทั้งเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลและสิทธิขั้นพื้นฐานประการอื่นๆ ระหว่างรอการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง

 

          1.6 กรณีร้องเรียนเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลที่ไม่สามารถจำแนกกลุ่มได้ จำนวน 1 ราย

          ลักษณะของกรณีร้องเรียนและปัญหาที่พบ

          เป็นกรณีร้องเรียนของชาวบ้านอำเภอแม่อายที่ประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ซึ่งร้องเรียนมาเป็นกลุ่ม

 

2. กรณีร้องเรียนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน จำนวน 8 ราย                                                                      

          ลักษณะของกรณีร้องเรียนและปัญหาที่พบ

          สรุปได้ว่าเป็นกรณีร้องเรียนในเรื่องสิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาวเขา

 

  ข้อเสนอแนะสำหรับการติดตามความคืบหน้ากรณีร้องเรียนในลำดับต่อไป

ข้อเสนอแนะการสร้างระบบการจัดการ

            การสร้างระบบการจัดการกรณีร้องเรียนของผู้มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลนั้น ควรพิจารณาให้ตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นโดยการรับคำร้องเรียน จนกระทั่งสรุปผลการติดตามกรณีร้องเรียนเพื่อปิดกรณีร้องเรียน ว่ามีแต่ละขั้นตอน อย่างไร โดยขอเสนอประเด็นพิจารณาดังต่อไปนี้

            1. การเริ่มต้นกระบวนการโดยการรับคำร้องเรียน

  • ·         การร้องเรียนที่ผู้ประสบปัญหาสามารถร้องเรียนได้มีกี่ช่องทาง แต่ละช่องทางต้องดำเนินการอย่างไร
  • ·         ผู้ที่สามารถร้องเรียน คือ ใคร (ผู้ประสบปัญหา, ผู้ร้องเรียนแทน)

2. สาระสำคัญซึ่งจำต้องสอบถาม ตรวจสอบจากผู้ร้องในเบื้องต้น

  • ·         กรณีที่ผู้ร้องแจ้งว่าถูกละเมิดสิทธิ จำต้องสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่าถูกละเมิดสิทธิอะไร ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการละเมิด ผู้ละเมิด ผู้ถูกละเมิด และมีพยานหลักฐานประกอบหรือไม่
  • ·         กรณีร้องเรียนเรื่องสิทธิในสถานะบุคคล ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นสำหรับการกำหนดสถานะบุคคล คือ ข้อมูลเรื่องสถานที่เกิด วันเกิด ข้อมูลบิดา ข้อมูลมารดา เอกสารประจำตัวของผู้ประสบปัญหา
  • ·         ทุกกรณีร้องเรียน จะต้องสอบถามถึงที่อยู่ของผู้ร้องที่สามารถติดต่อกลับได้

3. การจัดเก็บกรณีร้องเรียนเข้าสู่สารระบบคำร้องของคณะกรรมการสิทธิฯ

  • ·         เมื่อมีการร้องเรียน คำร้องดังกล่าวจะเข้าสู่สารระบบคำร้องของคณะกรรมการสิทธิฯ ได้อย่างไร
  • ·         คำร้องในสารระบบคำร้องของคณะกรรมการสิทธิฯ ถูกจัดเก็บ ณ ที่ใด ตามรูปแบบ และวิธีการใด

4. การนำคำร้องเพื่อเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแก้ปัญหา ดำเนินการโดยใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ดำเนินการเมื่อไร อย่างไร

            5. การดำเนินการแก้ปัญหากรณีร้องเรียน

            6. การติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการแก้ปัญหา ควรบันทึกการติดตามเคสทุกครั้งหลังการดำเนินการเพื่อให้ผู้มารับผิดชอบต่อทราบได้ว่าเรื่องอยู่ในขั้นตอนใด และการบันทึการติดตามเคสควรอยู่ในรูปแบบใดจึงจะมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องของงาน

            7. การสรุปผลการดำเนินการแก้ปัญหากรณีร้องเรียน เมื่อกรณีร้องเรียนนั้นได้รับการแก้ปัญหาเสร็จสิ้น

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการติดตามความคืบหน้ากรณีร้องเรียนแต่ละกรณีในลำดับต่อไป

ข้อเสนอแนะเพื่อการติดตามกรณีร้องเรียนเหล่านี้นั้น เป็นข้อเสนอแนะที่มาจากขอบเขตข้อเท็จจริงจากคำร้องที่ส่วนใหญ่ยังขาดข้อเท็จจริงสำหรับการวินิจฉัยแก้ปัญหา และพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้นจึงควรจะต้องติดต่อหาตัวผู้ประสบปัญหาเพื่อการแสวงหาข้อเท็จจริงในลำดับต่อไปก่อน ด้วยเหตุดังกล่าวในเบื้องต้นของการติดต่อผู้ประสบปัญหานั้นมีข้อเสนอแนะ 2 ประการ คือ 1) ติดต่อตัวผู้ประสบปัญหาโดยตรง ด้วยการโทรศัพท์และทางจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษร หรือตามวิธีการอื่นใดตามที่วิธีปฏิบัติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 2) ตามหาตัวผู้ประสบปัญหาโดยประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานในพื้นที่อำเภอ จังหวัด ในพื้นที่อันเป็นภูมิลำเนาของผู้ประสบปัญหาเพื่อให้ช่วยตรวจสอบรายการบุคคลของผู้ประสบปัญหาในฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ ทั้งนี้เพราะหลายกรณีร้องเรียนได้ร้องเรียนเข้ามายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นเวลานานแล้ว ข้อมูลสถานที่ติดต่อในคำร้องอาจจะเปลี่ยนแปลงไป การติดต่อผู้ประสบปัญหาโดยตรงอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ

            สำหรับกรณีที่สามารถติดต่อผู้ประสบปัญหา หรือผู้ร้องเรียนแทนได้แล้วนั้น ได้ทำข้อเสนอแนะสำหรับการติดตามกรณีร้องเรียนมาเป็นรายๆ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ขั้นตอนการดำเนินการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายในปัจจุบัน และปัญหาในการพัฒนาสถานะบุคคล

 

 

หมายเลขบันทึก: 461571เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2011 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท