"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ ฯพณฯ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ศธ.


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

             หลังจาก "วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าประจำการกระทรวงเสมาเพียงไม่กี่วัน ข่าวเรื่องการแจกแท็บเลตให้กับนักเรียน และครู และการแบ่งภาคการปกครองให้รัฐมนตรีช่วยว่าการช่วยดูแลภาคต่าง ๆ ของประเทศนั้น ดูเหมือนจะส่งเสียงดัง ออกมาข้างนอกมากขึ้น

            รวมถึงเรื่องแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน และหลักสูตร 5 แท่ง ที่ "วรวัจน์" เตรียมจะนำมาปรับใช้ในการบูรณาการทางการศึกษา ซึ่งมีมหาวิทยาลัยใน ทุกจังหวัด และสภาวิจัยแห่งชาติเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการโรงเรียนในสังกัด สพฐ. นักเรียนอาชีวะทั่วประเทศ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะมุ่งเน้นเรียนเพื่อไปประกอบสัมมาชีพในอนาคต มากกว่าเรียนเพื่อให้รู้ว่ามีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เรียนจบในปริมาณเท่าไหร่

            ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะมีบางส่วนที่ "วรวัจน์" ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อบ้างแล้ว แต่ก็เชื่อแน่ว่าการให้ "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ ครั้งนี้ น่าจะมีอะไรที่มากกว่า

            เพราะ "วรวัจน์" ใช้เวลาศึกษาเรื่องการศึกษามากว่า 10 ปี ขณะเดียวกัน เขาก็ยอมรับกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ด้วยว่า เขาพร้อมที่จะมานั่งเก้าอี้ตัวนี้ และพร้อมที่จะวางรากฐานการศึกษาเสียใหม่เพราะการศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งหากเป็นของลูกหลานคนไทยทุกคน

            ที่สำคัญ เขาอยากเห็นการศึกษาของไทยทัดเทียม และก้าวหน้ากว่าประเทศต่าง ๆ ในประชาคมอาเซียนด้วยกัน ฉะนั้น ต่อคำตอบของ "วรวัจน์" ในเรื่องมุมมองการศึกษา จึงเป็นคำตอบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

- ทำไมถึงคิดว่าการศึกษาของเราสู้หลายประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนไม่ได้

            เพราะผ่านมา เราเรียนแบบไม่ได้นำไปใช้อะไร เราจึงไม่มีองค์ความรู้ ยิ่งตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องจัดองค์ความรู้เสียใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีขีดความสามารถมากขึ้น โดยให้เขาเรียนเฉพาะทางตามทักษะความชำนาญของเขา

- การบูรณาการในเรื่อง 5 แท่งของหลักสูตร และ 5 ยุทธศาสตร์ทำอย่างไร

           เรามองจังหวัดเป็นกลุ่ม และให้ มหาวิทยาลัยวางแผนในการพัฒนาจังหวัด ขณะเดียวกัน ก็ให้มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งมองตลาดโลก คือมหาวิทยาลัยไหนมีความเชี่ยวชาญในตลาดต่างประเทศ อย่างใครเก่งประเทศไหน ก็โฟกัสไปที่ประเทศนั้นเลย ให้เขาศึกษา เพื่อให้รู้สเป็กของสินค้า

         ผมจึงมาจัดแทร็กในเรื่องการเรียนการสอนเสียใหม่ เพื่อให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาชอบ และเขาจะได้มีองค์ความรู้ เพื่อพร้อมจะไปทำงานในระดับอาเซียน

- แท็บเลตมาเกี่ยวอะไรกับการจัดการศึกษา

         แท็บเลตเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างถนนสายใหญ่ให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงวางท่อเชื่อมไปในสถานศึกษาต่าง ๆ พอวางเสร็จก็จะมีคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดการประสานงานไปทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายสินค้าจากภาคหนึ่งไปยัง อีกภาคหนึ่ง

         เรามีกองทุนตั้งตัวได้ เพื่อให้เกิดธุรกิจต่าง ๆ ภายใต้เศรษฐกิจขนาดเล็กของมหา"ลัยที่กำกับดูแลจังหวัด นักศึกษาก็ได้ฝึกงาน ได้เรียนรู้ในระบบการผลิตอุตสาหกรรม ค้าขายตั้งแต่ยังเรียนอยู่ โดยมีมหา"ลัยเป็นพี่เลี้ยง โดยเรามีศูนย์บ่มเพาะเป็นพี่เลี้ยงให้ และถ้าวันหนึ่งเขาเข้มแข็ง เขาก็จะเติบโตไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่

- ระยะสั้นทำอะไรก่อน

         เบื้องต้น ผมจัดมหา"ลัยลงจังหวัด จัดงบประมาณทุกแท่งลงจังหวัดแบบบูรณาการให้มีความสัมพันธ์กัน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัด ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชย์ มองให้ชัดเลย เสร็จแล้วทำหลักสูตร แปลงหลักสูตรเป็นคอนเทนต์ และจัดการเรียนการสอน โดยให้มหา"ลัยและอาชีวะร่วมกันทำหลักสูตรขึ้นมา

- เรื่องครูทำอย่างไร

          ครูจะมี 2 ส่วน คือครูที่อยู่ในระบบเดิม เราจะพัฒนาเขา อีกส่วนหนึ่งคือครูที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสาขาข้างนอกคือภาคเอกชนก็นำมารวมกัน ครูที่มาจากมหา"ลัย เมื่อเชื่อมถึงระดับมัธยมได้ เขาจะมาสอนในระดับมัธยมได้ นักเรียนที่อยู่ในมหา"ลัย ก็จะมาสอนน้อง ๆ ในระดับมัธยมได้ ครูที่อยู่ในอาชีวะก็จะมาสอนน้อง ๆ ในระดับมัธยมได้ ทุกอย่างจะไหลเข้าหากัน ปัญหาขาดแคลนครูเราจะใช้บุคลากรไหลไปไหลมา

- แต่ภาษาอังกฤษก็เป็นปัญหาต่อการพัฒนา

         ไม่ใช่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว เรื่อง ไอทีด้วย ผมมองว่าตรงนี้เป็น base เลย ทุกคนต้องเรียน แต่น้ำหนักอาจไม่เท่ากัน อย่างพวกเรียนเกษตร ภาษาอังกฤษกับไอทีอาจจะน้อยหน่อย แต่กลุ่มอุตสาหกรรม ไอทีอาจจะหนัก แต่ภาษาอังกฤษอาจจะไม่มาก แต่พอไปค้าขาย ภาษาต่างประเทศจะเข้มข้นขึ้น

- น้ำหนักของหลักสูตรเป็นอย่างไร

         พอเราปรับระบบเรียบร้อย เด็กจะรู้เองว่าเขาควรจะมุ่งไปที่ไหน เรียนไปทำอะไร เขาจะต้องรู้ว่าต่อไปเขาต้องทำงานอะไร ทีนี้ในเรื่องของภาษา เขาจะเกิดการเรียนรู้ และฝึกฝนที่จะหัดพูดด้วยตัวเอง

- แล้วครูล่ะจะพัฒนาเขาอย่างไร

          คือครูในระบบเดิมก็พัฒนาครูไป แต่เรื่องแล็ปทอปเนี่ย ก็คือซาวนด์แล็บตัวหนึ่ง ใส่หูฟัง ครูจะฟังจากเจ้าของเสียงภาษาด้วยตัวเอง เขาจะใช้เครื่องมือตัวนี้ฝึกฝนด้วยตัวเอง ตรงนี้ใช้ได้ทั้งนักเรียนและครู ผมถึงว่าวันนี้เราอาจเริ่มต้นช้าไปหน่อย แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะความท้าทายอยู่ข้างหน้าใน ปี 2558 ที่จะเกิดประชาคมอาเซียน เราจึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งนักเรียนและครู

- ที่พูดมาทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อไหร่

         ผมเริ่มแล้วครับ เริ่มปรับหลักสูตร เริ่มดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว แต่ตอนนี้อาจไม่ค่อยเร็วเท่าไหร่ เพราะต้องรอ พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภาเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งผมมีเวลา 5-6 เดือน ก็เป็นเวลาที่ผมทำงานเชิงวิชาการ เพราะผมคลุกคลีกับนักวิจัยมาก่อนผมรู้จัก ก็เลยไม่ค่อยห่วง

- ใครจะเป็นคนจัดซื้อแท็บเลต

          จริง ๆ แล้วแท็บเลตคือเครื่องมือ ชิ้นหนึ่ง และแท็บเลตที่จะให้กับเด็กที่เรียนเกษตร กับดนตรี กับวิศวะ จะเป็นเครื่องมือที่แตกต่างกัน เนื้อหาหลักสูตรจะไม่เหมือนกัน ทีนี้จะมาถามผมว่า ใครเป็นคนซื้อ ซื้อทำไม ซื้ออย่างไรผมตอบยาก ผมให้อิสระคนทำงานคิดแทน ตอนนี้ผมให้ทาง สกอ.กับอาชีวะ และมหา"ลัยคุยกัน ดังนั้น เขาจะเช็กบาลานซ์กันเอง และจะเกิดความโปร่งใส เพราะเขาตรวจสอบกันเอง

          แต่สิ่งที่ผมอยากทำมากกว่าคือเปลี่ยนตำราเรียนให้ลดน้อยลงงบประมาณเรียนฟรีปีหนึ่ง 70,000 กว่าล้านบาท ผมเอามาปีละ 10% คือ 7,000 ล้านบาท 4 ปีถ้าอยู่ครบเทอม ผมมี 28,000 ล้านบาท ผมซื้อแท็บเลตแจกได้ทุกคนเลย

- แล้วเรื่องตำราเรียน

          ตำราเรียนไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีลิขสิทธิ์ เราแค่ดาวน์โหลดคอนเทนต์ลงไป แต่หน้าตาของคอนเทนต์ต้องเปลี่ยน ต้องมีความทันสมัย และต้องสอดรับกับความเปลี่ยนของโลก ถึงจะทำให้หลักสูตรสอดรับกับประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้าเพราะตรงนี้คือความท้าทายของผมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ชื่อ "วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

           เป็นเรื่องที่สำคัญอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้อ่าน นับเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาของประเทศไทยให้เท่าเทียมนานาชาติและการเข้าสู่อาเซี่ยนได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 461405เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2011 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท