การใช้งานกลองมโหระทึก


กลองมโหระทึก

สวัสดีค่ะเพื่อนๆชาว gotoknow ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งนะค่ะกับสาระความรู้ดีๆ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร จะนำมาฝากเพื่อนๆ สำหรับวันนี้จะขอนำเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับ กลองมโหระทึกค่ะ

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการค้นพบกลองมโหระทึก ที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว      อ.เมือง  จ.ชุมพร ซึ่งกลองมโหระทึกที่พบเป็นกลองแบบเฮเกอร์ ๑ กลองรูปแบบนี้พบมากในวัฒนธรรมดองซอน(Dongson Culture) เป็นวัฒนธรรมในช่วงยุคโลหะของเวียดนาม มีอายุราว ๒๐๐๐ - ๓๐๐๐ ปีมาแล้ว กลองมโหระทึกเป็นหลักฐานที่สำคัญที่แสดงถึงว่าการติดต่อระหว่างชุมชนโบราณในภาคใต้และเวียดนาม แสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการนำโลหะมาใช้งาน และแสดงถึงความเชื่ออีกด้วย

มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับกลองมโหระทึก โดยศึกษาจากชนเผ่าที่ยังใช้กลองมโหระทึกกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงตีความจากลวดลายที่ปรากฎบนหน้ากลอง และจากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่ากลองมโหระทึกนั้นผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาธิเช่น

  • ใช้เป็นสิ่งแสดงถึงฐานะและความมั่งมี พวกเหลียว(Liao) ในประเทศจีน ถือว่าผู้ใดมีกลองใบใหญ่จะได้รับการยกย่องให้เป็นทู-ลาว(Tu-lao) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องนับถือจากคนในชุมชน
  • ใช้เป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย พบว่าพวกกระเหรี่ยงในพม่าและภาคตะวันตกของไทยใช้กลองมโหระทึกในการตีเพื่อเรียกวิญญานของผู้ตาย โดยเชื่อว่าผู้ตายนั้นจะแปลงร่างเป็นนก และใช้กลองมโหระทึกเป็นแท่นวางเครื่องสังเวย นอกจากนี้ยังมีการตีความลายนกบินทวนเข็มนาฬิกาที่ปรากฎบนหน้ากลองว่า อาจเป็นกลองที่ใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย และในทางตอนใต้ของจีน ที่สุสานสือไจ้ซาน มณฑลหยุนหนาน ได้มีการขุดพบกลองมโหระทึกในพื้นที่สุสานด้วย 
  • ใช้ตีเป็นสัญญานในคราวออกศึกสงคราม ที่ปาเซมะ(Pasemah) เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการค้นพบประติมากรรมนักรบมีกลองมโหระทึกขนาดกลางแขวนอยู่ด้านหลัง
  • ใช้ตีในการประกอบพิธีกรรมขอฝน พบว่ากลองมโหระทึกบางใบมีการทำรูปสัตว์ต่าง เช่น กบ หอยทาก ช้าง จักจั่น ติดบนหน้ากลอง ซึ่งเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับฝน ในทางตอนใต้ของจีนเชื่อว่า กบ และคางคกจะบอกเหตุล่วงหน้าว่าฝนจะตก   
  • ใช้ในการประกอบพิธีกรรมอื่นๆ เช่น ในประเทศพม่าจะมีการตีกลองมโหระทึกในงานประเพณีของกลุ่มชนพื้นเมือง ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีการตีกลองในงานมงคล และใช้ตีในงานพระราชพิธี อย่างเช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่ากลองมโหระทึกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชน ทั้งในด้านของพิธีกรรมและความเชื่อ อีกทั้งยังแสดงถึงความสามารถทางด้านโลหะกรรมของคนโบราณเมื่อราว ๒๐๐๐ ปีมาแล้วด้วยนะค่ะ หากเพื่อนๆ ท่านใดยังไม่เคยเห็นกลองมโหระทึกก็สามารถมาชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพรค่ะ 

ข้อมูลอ้างอิงจาก

ขอบคุณภาพลายเส้นจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

เขมชาติ เทพไชย. "รายงานการสำรวจและศึกษากลองมโหระทึก ณ บ้านยวนเฒ่า ตำบลเทพราช อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช" ใน ศิลปากร ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๔, หน้า ๘๒-๙๘. 

เมธินี จิระวัฒนา. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. 

หมายเลขบันทึก: 461380เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2011 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 02:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท