จิตวิทยาสำหรับผู้บังคับบัญชา


จิตวิทยาสำหรับผู้บังคับบัญชา

 

จิตวิทยาสำหรับผู้บังคับบัญชา

ผู้บังคับบัญชาเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งในองค์การ เพราะมีหน้าที่ทั้งบริหารคนและบริหารงาน พร้อมๆกัน ผลงานของเขา จะมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเขารู้จักองค์การของเขา ดีเพียงใด ถ้าเขามุ่งงานเพียงประการเดียว ไม่ให้ความสำคัญกับคนในองค์การ จะบังเกิดผลเสียหาย ทั้งต่อตนเอง เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงาน และต่อองค์การ จะมีผลงานที่ด้อยคุณภาพหรือ ผลผลิตตกต่ำ เป็นต้น ผู้บังคับบัญชายุคใหม่ จะเป็นผู้บริหารที่รอบรู้เรื่อง "คน" และเอาใจใส่ ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยใช้วิจารณญาณ ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของคนตามหลักจิตวิทยาในด้านความคิด ความต้องการ ตลอดจนการแสดงออกด้วย กิริยาท่าทางและการพูดจา สังเกตพฤติกรรมทั้งในส่วนบุคคลและพฤติกรรมของกลุ่ม ว่าพฤติกรรมเหล่านั้น มีเหตุผลใดมาเกี่ยวข้อง หรือมีปัญหามาจากเรื่องใด เมื่อวิเคราะห์เหตุและผลแห่งปัญหานั้นได้ถูกต้องชัดเจน ผู้บริหารจะต้องคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
ใช้อุปสรรคและปัญหานั้นเป็นโอกาสในการพัฒนาคน พัฒนางานและพัฒนาตนเองได้อีกด้วย


สิ่งที่ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับคน ได้แก่
๑. ทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์
๒. ทฤษฎีความต้องการของบุคคล
๓. แรงจูงใจในการทำงาน
๔. ทัศนคติและความพอใจในงาน
๕. ขวัญและการบำรุงขวัญ
๖. กระบวนการกลุ่ม
๗. การสร้างทีมงาน
๘. 4Q (IQ EQ AQ MQ) กับการพัฒนาความเป็นผู้นำ

ทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์

ดร.ไวท์ เป็นผู้สร้างทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์ หรือที่นิยมเรียกว่า "การบริหารปฏิกิริยาสัมพันธ์" (Interaction Management) ซึ่งกล่าวถึง พฤติกรรมการแสดงออกของบุคคล ที่สามารถสังเกตได้ ๓ ทาง คือ

(๑) การแสดงออกทางร่างกายด้วยท่าทาง (Physical) หรือภาษาท่าทาง (Gesture Language)
(๒) การแสดงออกโดยการพูด (Verbal)
(๓) การแสดงออกทางอารมณ์ (Emotional)

แนวคิดการบริหารปฏิกิริยาสัมพันธ์ มุ่งวิเคราะห์พฤติกรรม ๓ ด้าน คือ กาย วาจา และใจ (ซึ่งตรงกับแนวคิดตามหลักศาสนาพุทธ) ในลักษณะเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อเรารู้สึกสบายใจ เราจะพูดจาด้วยคำพูดที่น่าฟัง ท่าทางการแสดงออก จะดูสดชื่น กระตือรือร้น ยิ้มแย้ม แต่ถ้ามีคนทำให้เราโกรธ เราจะพูดถ้อยคำที่รุนแรง สีหน้าท่าทาง แววตาจะบอกชัดว่ากำลังโกรธ ในกรณีที่คนโกรธนี้ มีข้อสังเกตว่า คนแต่ละคนจะแสดงออกไม่เหมือนกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นๆ ได้แก่ อุปนิสัย ของแต่ละคน ประสบการณ์เดิม การเรียนรู้ และ ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น ตัวแปรเหล่านี้มีผล ให้พฤติกรรมบางอย่างถูกเก็บกดเอาไว้ จากที่ได้กล่าวไปจะเห็นได้ว่า ความคิดจิตใจ และอารมณ์ เป็นตัวกำหนด การแสดงออกด้านร่างกาย ด้วยท่าทาง และคำพูด และในทางกลับกัน ด้านร่างกาย ก็เป็นตัวกำหนดการแสดงออกด้านจิตใจได้เช่นกัน เช่น คนที่สุขภาพไม่ดี ร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัว เขาจะมีสภาพจิตใจอ่อนล้า ท้อแท้ ไม่มีพลังใจ สามารถสังเกตท่าทางได้แม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดบอกเราก็ตาม เช่น ท่าทางอิดโรย สีหน้าและแววตาหม่นหมอง สรุปว่า ทฤษฎีปฏิกิริยาสัมพันธ์นี้ ช่วยในการวิเคราะห์ การแสดงออกของบุคคลในเบื้องต้นได้ว่า กิริยา ท่าทาง คำพูด และอารมณ์ ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงปัญหาบางประการที่อยู่ในความคิดและจิตใจของเขานั่นเอง

คำสำคัญ (Tags): #บริหาร 5
หมายเลขบันทึก: 461125เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2011 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท