หนังสือผูกอีสาน : ทางรอดหรือทางล่ม !!!


ทางรอด? หรือ ทางล่ม?

 ทางรอด?

                        หนังสือผูกอีสาน  คือ ใบลานที่จารด้วยอักษรธรรมอีสานหรืออักษรไทยน้อย  ร้อยด้วยด้ายเรียกว่า  สายสนอง  ทบรวมกันเป็นผูก  เรื่องราวต่าง ๆ อาจต้องใช้ใบลานหลายผูกบรรยายเรื่องราวจึงนำผูกเหล่านั้นมามัดรวมกันเป็นมัดเรียกว่า  “หนังสือผูก” หนังสือผูกเหล่านี้มีความเชื่อว่าผู้หญิงห้ามจับต้องด้วยเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และสำคัญทางศาสนา  การจารและการอ่านจึงมีเพียงเพศชายเท่านั้น  แต่ก็ใช่ว่าจะห้ามเลยเสียทีเดียวผู้หญิงสามารถว่าจ้างให้จารใบลานเพื่อถวายวัดได้  บ้างก็ถวายผ้าซิ่นไหมผืนใหม่ที่ยังมีสวมใส่ถวายเพื่อห่อใบลาน  บ้างถวายเส้นผมเพื่อทำเป็นสายสนองร้อยใบลาน

                 วรรณกรรมที่นิยมเอามาอ่านส่วนมากจะเป็นนิทานที่ให้คติธรรม และมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน เช่น สังข์ศิลป์ไชย  กาละเกด  นางผมหอม  สุวรรณจักรกุมาร โสวัตร  เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้จะ ทำให้ผู้ฟังได้รับทั้งความบันเทิงใจพร้อมทั้งสาระที่มีคุณค่าต่อชีวิต  (http://www.gotoknow.org/blog/mikau/254533)

            ปัจจุบันมีนักวิชาการให้ความสนใจเรื่องราวที่บันทึกในใบลาน  โดยการปริวรรต  การถ่าย-ถอด  การแปล  และการศึกษาวิจัย  เป็นที่น่ายินดีว่า  มีหลายมหาวิทยาลัยที่ให้ความสนใจและเอาใจใส่ต่อหนังสือผูกของชาวอีสาน อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามเป็นโต้โผใหญ่ในยุคเริ่มแรก(ยุคแสวงหา/โหยหา)ในการจัดทำทะเบียนเอกสารโบราณทั่วทั้งภูมิภาค  หลังจากนั้นเกือบยี่สิบปีต่อมามหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ก็เปิดตัวโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้สำรวจ  ศึกษา  วิจัย  จัดระบบพร้อมทั้งทำฐานข้อมูลและจัดการอบรมและมีนิทรรศการถาวร(พิพิธภัณฑ์)อย่างครบวงจร   ตามด้วยฐานข้อมูลใบลานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

            จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยที่เป็นเสาหลักของภาคอีสานทั้งสามแห่ง(มมส., ม.ข., ม.อุบลฯ) ได้ให้ความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มมส.(มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงนักอ่านใบลานอยู่หลายครั้ง  อาทิการค้นพบโบราณวัตถุ   การค้นพบบวรรณกรรมสำคัญ  การค้นพบตำรายา  เป็นต้น ลมหายใจของนักอ่านใบลานก็ยังคงอยู่ต่อไปได้อีกแน่   ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  ก็มีการประกวดการอ่านอักษรธรรมอีสานขึ้นเป็นการสร้างแรงกระตุ้น(เหมือนเอาเครื่องไฟฟ้าไปปั้มหัวใจ)วัฒนธรรมการอ่านหนังสือผูกอยู่รอด(อย่างมีคนมองเห็น)  และยังมีคุณครูหัวใจนักอ่านใบลานหลายทำสร้างหลักสูตรเพื่อใช้เรียนใช้สอนในโรงเรียน  อาทิ ครูวัฒน  ศรีสว่าง  เป็นต้น  ความอยู่รอดของวัฒนธรรมหนังสือผูกก็คงมีอยู่อย่างแน่นอน

 

ทางล่ม?

            เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ได้ทราบข่าวว่ามีพระรูปหนึ่งในอีสานขายหนังสือผูกพร้อมตู้เก็บหนังสือด้วยราคา 50,000  บาท  ข่าวนั้นทำให้นักอ่านใบลานอย่างผมเศร้าสลดใจเป็นอย่างมาก  จนกระทั่งได้สนทนากับว่าที่ร้อยตรีภูวนาท  มาตบุรม(นักอ่านใบลานตัวฉกาจ) ท่านเล่าให้ฟังว่า “ผมไปวัดที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนที่ผมสอน  พบว่ามีใบลานเก็บไว้ในกระสอบเพื่อนำไปเผาจึงถามท่านว่าจะเผาทำไม  พระท่านตอบว่า  เอาไว้ก็ไม่มีประโยชน์เผาดีกว่า  ผมเลยขอท่านเอามาเก็บไว้ที่โรงเรียนแล้วทำห้องพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียน  แต่ครั้งแกที่ได้ยินพระคุณเจ้าพูดเช่นนั้นก็รู้สึกว่าตัวเองน้ำตาตกใน”

            จากการศึกษาและผ่านประสบการณ์ในการอ่านใบลานมาระยะหนึ่งผมพบว่า  หน่วยงานในภาคอีสานที่รับผิดชอบรักษาวัฒนธรรม(ไม่ได้ตำหนิใครนะครับ)  มักไม่ให้ความสนใจหนังสือผูก  จนมีการซื้อขายกันอย่างโจ่งแจ้ง  กระทั้งชาวต่างชาติขนเม็ดเงินมาทำทีจ้างนักวิชาการเพื่อปริวรรตตำรายาแล้วเอาผลปริวรรตนั้นมอบให้แก่เจ้าของทุน  ซึ่งในอนาคตอันใกล้หากกระทรวงวัฒนธรรมไม่ใส่ใจเรื่อหนังสือผูกอีสาน   ใบลานภาคอื่น  และเอกสารโบราณอื่น  เราก็คงต้องไปนั่งอ่านหนังสือผูกที่เขียนโดยบรรพชนตัวเองในพิพิธภัณฑ์หรือหอสมุดของต่างชาติดังเช่นสมุดไทยเรื่องปูมราชธรรม!!!

คำสำคัญ (Tags): #อ่านหนังสือผูก
หมายเลขบันทึก: 460048เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2011 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ควรสิได้มีการปลุกจิตสำนึกให้กับเยาวชนหรือคนอีสาน ให้ได้ฮู้จักฮักษา หวงแหนภูมิปัญญา ภาษาอันเป็นฮากเหง้า มูนมังของบรรพบุรุษ ที่เคยฮุ่งเฮืองมาดนนานแล้ว อย่าให้ขาดแหว่ง...บ่ควรหลง ลืมกำพืดฮากเหง้าของเจ้าของ

 

...ไผผู้ไลลืมถิ้มภาษาแม่กำเหนิด ลืมบ่อนเกิดฮากเหง้า เฮานั้นหากบ่คือ

แม่นสิถือหลายส้น เฮียนมนต์ได้หลายซ่อ แต่ถิ้มภาษาพ่อ ย้องยอเพิ่นผู้อื่นพู้น ไผสิเว้าว่าดี นั้นแหลว...

 

อันว่าภาษาเก่าเฮานี้ คันคนรุ่นใหม่ บ่ศึกษา บ่สืบสาน

ความฮุ่งเฮืองทางวัฒธรรมของเฮาที่เคยมีมาแต่ก่อน กะคือสิเบิดไป

ขอบคุณคุณครูหลายๆครับที่สอนให้นักศึกษาได้ฮู้จักวิธีอ่านใบลาน

คนรุ่นใหม่สิได้เกิดความตระหนัก ฮักในถิ่นเจ้าของ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท