ประวัติความเป็นมาวันไหว้พระจันทร์และขนมไหว้พระจันทร์


ความฉลาดของคนในอดีตจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องเรียนต้องศึกษาความเป็นมา เพราะในแต่ละกิจกรรมแต่ละประเพณีล้วนมีที่มาที่ไปล้วนแต่มีเหตูมีผลทั้งสิ้น

          เมื่อวันศุกร์ ที่ 9 กันยายน   นักเรียนกลุ่มหนึ่งมุ่งมาที่ผม  เขาเป็นนักเรียนในโรงเรียนมุสลิมชั้นมัธยมศึกษาที่ 3  ทั้งหมด  หลังจากทักทายสวัสดีกันแล้ว ก็แสดงความประสงค์จะถามข้อข้องใจที่อยากจะรู้  เมื่ออนุญาตจึงได้รับคำถามว่า"วันไหว้พระจันทร์" ทำไมจึงเป็นวันสำคัญของคนจีน   มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

          ด้วยความสัตย์จริงผมไม่รู้ในเรื่องดังกล่าวนี้เลย ก็เลยแจ้งให้นักเรียนทราบว่า ครูไม่รู้ในประเพณีดังกล่าวนี้ด้วย  ฉะนั้นให้นักเรียนได้รออ่านใน gotoknow ในวันที่ 12 กันยายน ที่จะถึงนี้ในบันทึกของครูจะไปค้นคว้านำมาแนบไว้ น่าจะมีในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงไหว้พระจันทร์พอดี  นักเรียนคนใดที่อยากจะค้นคว้าด้วยตนเองก็สามารถกระทำได้  และพบแล้วช่วยแจ้งให้ครูทราบด้วย  นักเรียนก็แยกย้ายกันไปเรียน

          โชคดีจริงวันนี้(11กย54)พอเปิดอ่านข่าวออนไลน์ก็พบสิ่งที่ต้องการหาในเดลินิวส์ออนไลน์   ก็นำมาให้นักเรียนที่ผมรับปากว่าจะไปทำการบ้านมามอบให้ เห๖ผลที่ให้มาเปิดอ่านที่นี่ประการหนึ่งเขาจะได้พบแหล่งเรียนรู้อีกมากมายของมวลสมาชิกจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้พัฒนาด้านการอ่าน  การคิดการเขียน การค้นคว้า และรู้ว่าที่คือขุมคลังแห่งความรู้ทุกแขนงที่เขาควรเข้ามาสัมผัสและร่วมกิจกรรม

           วันไหว้พระจันทร์เป็นประเพณีที่ชาวจีนทั่วโลกทำพิธีกรรมพร้อมกันโดยยึดถือประเพณีมายาวนานที่น่ายกย่องในการยึดถือปฏิบัติติดต่อกันมาชั่วลูกชั่วหลาน

          "วันไหว้พระจันทร์" นอกจากเป็นวันไหว้บูชาดวงจันทร์ของชาวจีนแล้ว ยังเปรียบเสมือนวันแห่งความสามัคคีกลมเกลียวของชาวจีนอีกด้วย เนื่องจากเป็นวันที่ระลึกถึง การที่ชาวจีนร่วมมือร่วมใจกัน จนสามารถปลดแอกตนเองออกจากพวกมองโกลได้

           โดยมีเรื่องเล่าว่า ช่วงที่ชาวมองโกลปกครองประเทศจีนนั้น ชาวจีนบางพวกได้ร่วมมือกันต่อต้าน และมีความคิดที่จะเรียกชุมนุมพวกเดียวกันให้ได้เยอะ ๆ โดยไม่ให้ใครจับได้ พวกเขาจึงวางอุบาย ทำของไหว้ชนิดหนึ่งขึ้นมา คือขนมเค้กที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมใหญ่ ใส่ไส้หนา ๆ แต่มีจุดประสงค์ที่แท้จริงเพื่อไว้ซุกซ่อนข้อความลับของเหล่าผู้ต่อต้าน เนื้อความบอกให้ประชาชนเข้ามาร่วมชุมนุมในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 แล้วนำไปแจกจ่ายชาวจีนทุกคน 

            พวกทหารมองโกลก็ไม่ทันระวัง คิดว่าเป็นประเพณีโดยปกติของชาวจีน ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงสามารถรวบรวมพรรคพวกจนปราบทหารมองโกลลงได้ ซึ่งขนมนั้นก็คือ "ขนมไหว้พระจันทร์" ที่สืบทอดต่อ ๆ กันมานั่นเอง

          "ขนมไหว้พระจันทร์" มีหลากหลายไส้ แต่ที่เป็นแบบดั้งเดิมจะมีไส้ถั่วแดง ลูกนัทจีน 5 ชนิด และ เมล็ดบัว แต่ต่อมาก็ได้มีการดัดแปลงให้ถูกปากและมีความหลากหลายมากขึ้น จึงมีไส้ทุเรียน ไข่เค็ม ลูกเกาลัด คัสตาร์ด ฯลฯ ตามมา โดยประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานั้น หลังจากที่นำ "ขนมไหว้พระจันทร์" ไปใช้เซ่นไหว้เสร็จแล้ว คนในบ้านก็จะนำมาแบ่งกันกิน แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี จึงถือว่าขนมชนิดนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความกลมเกลียวด้วย เนื่องจากเป็นวันที่ระลึกถึง การที่ชาวจีนร่วมมือร่วมใจกัน จนสามารถปลดแอกตนเองออกจากพวกมองโกลได้
           ประเพณีที่มีมาแต่โบราณไม่ว่าของชนชาติใดล้วนมีที่มาที่ไปและมีความหมายทั้งสิ้นการที่ชนชั้นรุ่นลูกหลานได้ยึดถือปฏิบัติก็เป็นสิ่งที่ดีซึ่งขึ้นอยู่กับ การถ่ายทอดความสำคัญให้รู้รายละเอียดที่ชัดเจนไว้ตอบคำถามคนรุ่นหลังได้ให้หายสงสัยและทราบความเป็นมานั่นคือความสมบูรณ์ ที่รุ่นลูกหลานต้องการ

.......................................................................................

       แหล่งที่มาข้อมูล    เดลินิวส์ออนไลน์  11  กันยายน 2554        

หมายเลขบันทึก: 459762เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท