กรณี : การฆ่าตัวตายหรือการทำวินิบาตกรรม


คำว่าอัตวินิบาตกรรมนั้น หมายถึง การที่บุคคลใด บุคคลหนึ่ง "จงใจ" ทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง และวิธีการนั้นได้ส่งผลให้เขาตายตามที่ตัวเองต้องการ

กรณี : การฆ่าตัวตายหรือการทำวินิบาตกรรม

 

         ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ข่าวคราวทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือการทำวินิบาตกรรม อย่างมากมาย เป็นข่าวดังทางสื่อสารมวลชน ซึ่งไม่แพ้ข่าวเกี่ยวกับการบ้านการเมือง ข่าวการโยกย้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไปเป็นเลขาธิการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ 6 กันยายน 2554 ได้นำเสนอข่าวการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “การป้องกันการฆ่าตัวตายในหลากสังคมหลายวัฒนธรรม” แถลงข่าวโดยนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต ว่า  ปี 2553 คนไทย "ฆ่าตัวตาย" กว่า 3.7 พันคน เฉลี่ยวันละ 10 ราย ชายมากกว่าหญิง กรมได้ดำเนินการชำระข้อมูลการฆ่าตัวตายของคนไทยตั้งแต่ปี 2540-2553 ทำให้ได้ข้อมูลว่า หลังจากที่กรมจัดทำโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2542 อัตราการฆ่าตัวตายลดลงจากปีละ 5,700 ราย หรือคิดเป็น 8 ต่อประชากรแสนคน เหลือเพียง 5.9 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2553 หรือ 3,761 รายต่อปี เฉลี่ยวันละ 10 ราย โดยเพศชายมีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 9.29 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าเพศหญิงที่มีอัตราอยู่ที่ 2.62 ต่อประชากรแสนคน [1]

     นายแพทย์อภิชัย มงคล ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อจำแนกตามช่วงอายุในกลุ่มเพศชาย พบว่า กลุ่มอายุ 80-84 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 10.73 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 75-79 ปี อยู่ที่ 10.19 ต่อประชากรแสนคน ตามด้วยอายุ 70-74 ปี 8.37 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ ภาคเหนือตอนบนยังเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดแม้ตัวเลขจะลดลง โดย 5 จังหวัดแรกที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ จ.ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน และเชียงใหม่ อยู่ที่ 20.02, 15.63, 14.45, 13.03 และ 12.47 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

      สำหรับ 5 จังหวัดที่มีอัตราต่ำสุด ได้แก่ จ.ปัตตานี หนองคาย นราธิวาส ยะลา และพิจิตร อยู่ที่ 0.77, 1.76, 1.77, 1.86 และ 2.17 ต่อประชากรแสนคน วิธีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุด ได้แก่ การแขวนคอ/รัดคอ ร้อยละ 66.42 รองลงมา คือ พิษจากยาฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ ร้อยละ 19.81 พิษจากยา ตัวยา และสารชีวภาพอื่น ร้อยละ 4.28 สารเคมีและสารพิษ ร้อยละ 3.67 กระสุนปืนร้อยละ 3.11 และอื่นๆ ร้อยละ 2.71

          จากรายงานการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย ดังกล่าว จะเห็นว่าเพศชายเป็นกลุ่มที่มีการฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มเพศหญิง อยู่ในช่วงวัยชราหรือผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาก็คือว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายหรือทำวินิบาตกรรม ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทคัดย่อของผลงานวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของการฆ่าตัวตายว่ามาจากสาเหตุอะไรบ้าง ของพระนิสิตระดับปริญญาโท หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้วิจัยได้ให้ความหมายของคำว่าอัตวินิบาตกรรมนั้น หมายถึง การที่บุคคลใด บุคคลหนึ่ง "จงใจ" ทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง และวิธีการนั้นได้ส่งผลให้เขาตายตามที่ตัวเองต้องการ[2]

             ผู้วิจัยได้กล่าวว่า จากการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวกับการทำอัตวินิบาตกรรม พบว่ามี ๔ ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีทางสังคม เห็นว่า การที่บุคคลมีข้อกำหนดทางสังคมมากเกินไปหรือน้อยเกินไปจะนำไปสู่ความกดดันและทำให้หาทางออกโดยการทำอัตวินิบาตกรรมในที่สุด ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ คิดว่า ผู้ทำอัตวินิบาตกรรมมีความก้าวร้าวภายในจิตใจ และมักเป็นคนที่มีความสูญเสียบุคคลที่ตนรักมากจึงทำให้ตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม ทฤษฎีเมินนิงเจอร์ อธิบายว่า การทำอัตวินิบาตกรรมมีสาเหตุมาจากแรงกระตุ้น ๓ประการ กล่าวคือ แรงกระตุ้นที่มีความต้องการฆ่า แรงกระตุ้นที่มีความต้องการถูกฆ่า และแรงกระตุ้นที่มีความต้องการตาย ทั้งสามเป็นแรงกระตุ้นหลักที่ทำให้คนทำอัตวินิบาตกรรมและทฤษฎีจิตพลวัต คิดว่าการสูญเสียคนรัก สูญเสียสถานะทางสังคมหรือสูญเสียทรัพย์สินเงินทองอย่างกระทันหัน เป็นเหตุให้ทำอัตวินิบาตกรรมได้เช่นกัน

          กล่าวโดยสรุป การทำวินิบาตกรรม คือ การทำชีวิตให้ตกล่วงโดยมีเจตนา ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหลักธรรมเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายไว้ในหลักศีลห้า ข้อที่หนึ่ง คือ ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ความหมายของศีลห้าข้อที่หนึ่งได้รวมหมายถึงกลุ่มบุคคลที่ทำวินิบาตกรรมต่อตนเองด้วย ทางพระพุทธศาสนาถือว่าจะฆ่าบุคคลอื่นหรือจะฆ่าตนเองก็ตาม ถ้าผลของการกระทำดังกล่าวสำเร็จถือว่าเป็นบาปคือสิ่งที่เศร้าหมอง แม้ตายลงไปก็ตกนรกอเวจี ไปสู่ภูมิที่ถูกทรมาน ดังนั้นบุคคลที่คิดจะฆ่าตัวตายจะต้องมีสติสัมปชัญญะ คือจะต้องรู้ตัวเสมอว่าชีวิตที่เกิดขึ้นมาได้ในโลกใบนี้เป็นเรื่องที่แสนลำบากยากเข็ญเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นจะต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่า มีประโยชน์ต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยใช้หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง โดยใช้หลักธรรมสังคหวัตถุ 4 และหลักของพรหมวิหาร 4 ชีวิตจะมีแต่ความสุขตลอดไป การฆ่าตัวตายก็จะไม่เกิดขึ้นกับบุคคลนั้นอย่างแน่นอน.



[1] หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  ฉบับวันอังคารที่ 6 กันยายน 2554  

[2] พระธิติวุฒิ จนฺทโสภโณ (หมั่นมี) Master of Arts ( พุทธศาสนมหาบัณฑิต (ป ) การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาอัตวินิบาตกรรม ตามแนวพุทธจริยศาสตร์

 

 

หมายเลขบันทึก: 458901เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2011 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท