NHSO-PCN
เครือข่าย Palliative Care สปสช. NHSO-PCN

How to start palliative care : รพ.หัวทะเล


งาน Palliative Care จะเกิดขึ้นและสามารถก้าวต่อไป คงจะต้องมีนโยบายและโครงสร้างบุคลากรอย่างชัดเจนและที่สำคัญคือต้องมี Disease manager โดยเฉพาะแพทย์ที่กำหนดนโยบายลงมาทำเองจะดีมาก นอกจากนี้ยังจะสามารถบริหารทีมงานได้เป็นอย่างดี เป้าหมายหลักของทีมงานคือ การบูรณาการ Palliative care ให้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยในงานประจำของเรานั่นเอง เพื่อเติมเต็มให้มีการดูแลอย่างครบวงจรและเป็นองค์รวม

 

How to Start Palliative Care  กับ นายแพทย์สายลักษณ์  พิมพ์เกาะ

            ผมคิดว่าโรงพยาบาลอื่นๆ หรือโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเองก็ตาม  ได้มีการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมาเป็นเวลานานแต่มักอยู่เฉพาะกลุ่มโรค  เฉพาะพยาบาลที่มีใจรัก  และเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยและญาติอย่างจริงจัง  ซึ่งบทบาทของแพทย์ได้เข้ามีส่วนร่วมน้อยมากโดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางอย่างพวกผม 

                ขณะที่เรื่องการดูแลคนไข้แบบองค์รวมเป็นสิ่งท้าทายสำหรับบุคลากรสาธารณสุขยุคนี้  แพทย์เฉพาะทางอย่างเรา ๆ ก็มักจะยกให้เป็นภาระของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว   พวกเราดูแลรักษาคนไข้หายดีแล้วก็ส่งต่อกลับชุมชนไป  แม้แต่คนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายถ้าเบิกไม่ได้นอนเตียงสามัญ   แพทย์อย่างเราก็ไม่รู้จะทำอะไร ผู้ป่วยและญาติก็มักจะถูกแนะนำให้รับกลับบ้านดีกว่า  สำหรับผู้ป่วยที่สามารถอยู่ห้องพิเศษ  และต้องการอยู่นาน ๆ และอยากเสียชีวิตที่โรงพยาบาลด้วยละก็   เรากลับรู้สึกว่าจะทำอย่างไรดีที่ต้องไป round  ทุกวัน    คือไม่รู้จะคุยกับคนไข้และญาติอย่างไร นี่ก็คือความทุกข์ที่แพทย์อย่างเราหาทางออกไม่ได้

การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา  เริ่มเกิดขึ้นด้วยการที่มีโครงสร้างองค์กรที่รองรับ   โดยเริ่มต้นจากปี 2552 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้รับถ่ายโอนโรงพยาบาลหัวทะเลที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี  2550   เพื่อจุดประสงค์ให้เป็นโรงพยาบาลสำหรับรับผู้ป่วยในที่เป็นประชาชนในท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทย

                หลังจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้ไปดำเนินการให้บริการที่โรงพยาบาลหัวทะเล  โดยมีจุดประสงค์ที่จะลดความแออัดผู้ป่วยในของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเอง โดยการนำของนายแพทย์สายลักษณ์  พิมพ์เกาะ  ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม  รองหัวหน้าศูนย์มะเร็งด้านบริการและรองหัวหน้าศูนย์แพทย์ศาสตร์ด้านการเรียนการสอน ได้นำทีมศัลยแพทย์เพื่อต่อยอดสมรรถนะและตั้งเป้าหมายของโรงพยาบาลหัวทะเลโดยให้ประชาชนในชุมชนและภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม   จึงได้ตั้งเป้าหมายของโรงพยาบาลหัวทะเลที่จะเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิที่เชื่อมโยงชุมชนกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เน้นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทางด้านศัลยกรรม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดกรองจนถึงการดูแลรักษาและฟื้นฟู ซึ่งงาน Palliative  care  ก็ได้เข้ามาอยู่ในบริบทของโรงพยาบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โรงพยาบาลหัวทะเลได้กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ  เพื่อที่จะดูแลผู้ป่วยในชุมชนเทศบาลตำบลหัวทะเล ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วๆ ไปอย่างครบวงจรและผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเป็นหลัก  โดยมียุทธศาสตร์หลักๆ  ดังนี้

การให้บริการผู้ป่วยแบบจิตสาธารณะแบบจริงจัง โดยให้ความสำคัญตั้งแต่เจ้าหน้าที่ รปภ. คนงานจนถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล และสร้างเจตคติที่ดีในการดูแลผู้ป่วยและคนเข้ามารับการบริการ  รวมถึงการลดอัตตาของเจ้าหน้าที่

  1. การพัฒนาบุคลากร โดยเน้นตั้งแต่การรับเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้โรงพยาบาลและมีจิตใจที่ดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจังและจัดอบรมให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย
  2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาล เรื่องอาคาร สถานที่และบรรยากาศที่ให้ผู้ป่วยและญาติเข้ามาอยู่ได้อย่างสบายใจ
  3. การสร้างผลงานเชิงประจักษ์ทำให้ผู้บริหารซึ่งประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แม้แต่ สปสช.เอง เห็นผลงานจากความมุ่งมั่นที่ตั้งใจทำงานอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่  ซึ่งตั้งแต่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเข้ามาดูแล  ยอดผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า และอัตราครองเตียงผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น  3-4 เท่า
  4. การประชาสัมพันธ์  โรงพยาบาลหัวทะเลเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ แทบไม่มีใครรู้จัก จึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆเพื่อให้สาธารณะรู้จักและเข้าใจบทบาทของ โรงพยาบาลหัวทะเลมากขึ้น เช่น การจัดประชุมวิชาการมะเร็งเต้านมระดับเขตตรวจราชการที่14ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยโรงพยาบาลหัวทะเลร่วมกับกลุ่มงานศัลยกรรม และศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา การจัดประชุมวิชาการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายระดับเขต   และมีการเขียนบทความลงวารสารเครือข่ายมะเร็งโคราชและวารสารอื่นๆ

หลังจากที่โรงพยาบาลหัวทะเลได้เปิดให้บริการผู้ป่วยโดยทีมศัลยแพทย์ ของโรงพยาบาลมหาราชฯในกลางปี 2552 และเริ่มดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้    งาน Palliative Care จึงได้เริ่มตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและมีการสร้างงานทางด้าน Palliative Care ดังต่อไปนี้

1.  การสร้างกัลยาณมิตร

1.1   แพทย์ที่เกี่ยวข้อง    

ไม่ว่าจะเป็นวิสัญญีแพทย์   แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว  หรือจิตแพทย์   ตลอดจนเจ้าหน้าที่อื่นๆ  เช่น นักสังคมสงเคราะห์    เข้ามาเป็นที่ปรึกษาร่วมช่วยแก้ปัญหา  พร้อมทั้งเป็นวิทยากรอบรมให้ทีมงานโรงพยาบาลหัวทะเล

1.2   ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน

โดยเราต้องให้การยอมรับและให้ความสำคัญว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนร่วมกัน  ทางโรงพยาบาลหัวทะเลได้จัดกิจกรรมร่วมกันกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเช่น กิจกรรมจิตอาสา  ตลาดนัดสุขภาพ  ศิลปะบำบัด  เป็นต้น

1.3  เจ้าหน้าที่ PCU  ทั้งในเขตอำเภอเมืองและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมา  

โดยภาควิชาศัลยศาสาตร์ได้นำนักศึกษาแพทย์ออกตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างต่อเนื่องภายใน 5 ปี และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ PCU  สร้างระบบการส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชฯ นอกจากนั้นทีมศัลยแพทย์ยังเป็นวิทยากรอบรมเจ้าหน้าที่ PCU  เรื่องโรคมะเร็งเต้านมทางด้านศัลยกรรมอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดมีสัมพันธภาพและมีการดูแลส่งต่อผู้ป่วยร่วมกับชุมชนได้ดีขึ้น

2.  สร้างแนวทางการดูแลผู้ป่วย  Palliative Care  ของโรงพยาบาลหัวทะเล

2.1  หาคนที่มาเป็น Disease manager  ซึ่งของโรงพยาบาลหัวทะเลเริ่มจากผมเองในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล

2.2  กลุ่มเป้าหมาย ก็เริ่ม focus เฉพาะผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้น  โดยเราเริ่มจากการดูแลผู้ป่วยกลุ่ม IPD ที่มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้

                - ผู้ป่วยมะเร็งทางด้านศัลยกรรมที่ unresectableหรือ stage 4 เช่น   advance CA esophagus  หรือ  GI  malignancy อื่นๆที่มี carcinomatosis peritoniiหรือ  visceral metastesis จน ณ ปัจจุบัน เราได้ขยายเกณฑ์โดยรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอื่นๆ มากขึ้น

                นอกจากนั้น  เรายังให้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ คู่ขนานกับการดูแลผู้ป่วย  Palliative care  เพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม   ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วย CVA  with pressure sore หรือบางรายต้องใส่ Tracheostomy หรือ  Gastrostomy ซึ่งอย่างน้อยการที่เรารับผู้ป่วยมาดูแลต่อ  ก็สามารถที่จะเตรียมและ Improve nutrition  และง่ายต่อการทำแผล    ขณะเดียวกัน ญาติๆ ก็มีเวลาที่จะเตรียมความพร้อมของครอบครัวเพื่อรอรับผู้ป่วยกลับโดยโรงพยาบาลได้จัดทำคู่มือขั้นตอนและกิจกรรมการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองดังนี้

 หลังจากที่มีการรับ Admit  ผู้ป่วยรายใหม่ของโรงพยาบาลหัวทะเลที่เป็นผู้ป่วยมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังพยาบาลจะรายงานให้ผมทราบโดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ผมซึ่งเป็น Disease manager  จะทบทวนแฟ้มประวัติผู้ป่วยและประสานกับแพทย์เจ้าของไข้เดิมที่ส่งคนไข้มาเพื่อให้เข้าใจตรงกันเรื่อง การวินิจฉัยและพยากรณ์โรค  ยืนยันให้ผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลแบบ Palliative care

2. แพทย์จะแจ้งข้อมูลทั้งหมดหลังจากทบทวนแฟ้มประวัติผู้ป่วยให้ทีมพยาบาลที่ร่วมดูแลรับทราบและตกลงแนวทางร่วมกันที่จะดูแลผู้ป่วย

3.หลังจากนั้น  แพทย์ และพยาบาลผู้รับผิดชอบจะต้องร่วมกันแจ้งข้อมูลให้กับญาติที่ใกล้ชิด  เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบต่อไป  ซึ่งมักจะต้องใช้เวลาในการสร้างสัมพันธ์กับญาติและผู้ป่วยประมาณ 1-2 วัน

4.การค้นหาปัญหาผู้ป่วยและสร้างกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วย ให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยทั้งหมดต้องลงบันทึกในแบบฟอร์มต่างๆ ที่ได้จัดทำขึ้น และได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมซึ่งขึ้นอยู่กับสมรรถนะของเจ้าหน้าที่ โดยทางโรงพยาบาลหัวทะเลได้ตั้งสมรรถนะสำหรับเจ้าหน้าที่แต่ละระดับแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่แต่ละระดับมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย  เช่น 

-  คนงาน  รปภ.  ช่วยดูแลญาติ  ช่วยให้กำลังใจ  ช่วยพาทำงานฝีมือ 

- ผู้ช่วยเหลือคนไข้  ดูแลในกิจวัตรประจำวัน  พูดคุยให้กำลังใจ  พาสวดมนต์  อ่านหนังสือให้ฟัง

- พยาบาลซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจะให้การดูแลแบบองค์รวม ค้นหาปัญหา  ความต้องการของผู้ป่วยและจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการ

-  แพทย์จะเป็น Disease manager  เพื่อตัดสินใจ รับผิดชอบและแก้ปัญหาทั้งหมด ทั้งของผู้ป่วย ญาติ และแม้แต่เจ้าหน้าที่เอง

5. ในกรณีที่ตัวโรคคุกคามมากขึ้น ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจที่จะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลทีมPalliative care ของโรงพยาบาลหัวทะเลจะมีแนวทางในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ทีมผู้ดูแลจะวางแผนร่วมกับญาติในเรื่องมิติทางด้านกฎหมาย (Living will)  และให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมจนผู้ป่วยเสียชีวิต

6. ในกรณีที่ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการดีขึ้น หรือต้องการไปเสียชีวิตที่บ้าน  เราจะมีการทำ Discharge plan ตลอดจนจัดหาและสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์บางอย่างให้และส่งต่อให้ PCU  ดูแลต่อไป

3. พัฒนาระบบการเรียนรู้ และงานคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง 

3.1 สร้างแบบการประเมิน และบันทึกแนวทางการดูแลผู้ป่วย

3.2 นำกรณีผู้ป่วยมาทบทวนอย่างต่อเนื่อง

3.3 สร้างแฟ้มประวัติแยกผู้ป่วยที่เป็น Palliative Care  เพื่อง่ายต่อการศึกษาต่อไป

3.4 มีการอบรมองค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่

4.   การต่อยอดงาน Palliative care 

4.1ให้โรงพยาบาลหัวทะเลเป็นแหล่งฝึกของนักศึกษาแพทย์และพยาบาล ซึ่งปัจจุบันก็มีนักศึกษาแพทย์จาก รพ.มหาราชนครราชสีมา และนักศึกษาพยาบาลจากมหาวิทยาลัยวงษ์เชาวลิตกุล มาฝึกงาน  ซึ่งสามารถเป็นแรงผลักดันแพทย์  พยาบาล   และเจ้าหน้าที่ให้ต้องฝึกฝนตนเองที่จะเป็นครู ในการดูแลผู้ป่วย  Palliative มากขึ้น

4.2 งานให้คำปรึกษาผู้ป่วยมะเร็งตลอด 24 ชั่วโมง โดยเริ่มจากการให้คำปรึกษาผู้ป่วยนอกมะเร็งเต้านมและมะเร็งทางนรีเวชรายใหม่ทุกรายที่เข้ารับการรักษา และสามารถให้คำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

4.3 การตั้ง OPD  Palliative Care การทำ Home ward   ซึ่งขณะนี้เราได้เริ่มดำเนินการในการทำ Home ward แล้ว  ส่วนการดำเนินการให้มี OPD  Palliative Care  ก็เป็นงานท้าทายที่เราจะได้หาแนวทางและปรึกษาหารือกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 458587เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2011 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันและชื่นชมคะ

โดยความเห็นแล้ว

การดูแลแบบองค์รวม ไม่ใช่ความสามารถพิเศษเฉพาะของหมอ fammed แต่อย่างไรคะ

ทุกสาขาสามารถ ดูแลแบบองค์รวมได้ โดยเฉพาะ Palliative care ทุกคนคือ "team member" คะ

อยากเห็นทำงานร่วมกันแบบพี่น้อง ไม่ต้องมีแบ่งแยก งาน specialist งาน primary care

ขอบคุณคุณหมอค่ะ ที่ร่วมติดตามและแลกเปลี่ยนความเห็นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท