การส่งเสริมสุขภาพในเด็ก กับการพัฒนาชุมชน ที่โรงเรียนบ้านหนองเหล็ก จ.อุดรธานี


"สังคมที่ได้สมาชิกสังคมที่มีจิตอาสาในการทำงานส่วนรวม คนที่มีจิตใจรักษาความสะอาด และมีสุขภาพที่ดี.... จากการอบรมสอนสั่ง และทำตามอย่างเข้าใจรู้แก่นแท้ของการกระทำ..จะเป็นสังคมที่น่าอยู่เพียงใด”

การส่งเสริมสุขภาพในเด็ก กับการพัฒนาชุมชน ที่โรงเรียนบ้านหนองเหล็ก จ.อุดรธานี 

 

“ขอบคุณ ขอบคุณ ที่แม่ครัวเมตตาการุณ ทำอาหารให้รับประทาน พวกเราซาบซึ้งน้ำใจ ต่อแต่นี้ไปจะตั้งใจเรียน ทำความดีตอบแทน ขอบพระคุณค่ะ/ครับ” เสร็จสรรพก็รับถาดอาหารไปตามปริมาณที่เหมาะควรของแต่ละคน...คงเดาได้นะครับว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ในโรงอาหารของเด็กน้อย เสียงเจื้อยแจ้วน่ารักๆ พร้อมท่าทางพนมมือที่แสนน่าประทับใจเพื่อขอบคุณแม่ครัวของเด็กๆ ที่ทำอาหารให้พวกเขาอิ่มท้องและมีพลังพร้อมที่จะเรียนรู้ในครึ่งบ่ายวันนี้

นี่เป็นกิจวัตรนิสัยที่ครูช่วยปลูกฝังให้เด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านหนองเหล็ก จ.อุดรธานี ได้ประพฤติจนเป็นนิสัย ให้เกิดการนอบน้อม รู้ในบุญคุณ และเน้นการทำความดีตอบแทน  หลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบเห็นมากกว่านี้ในคราที่ชาวคณะโรซ่าแซบไปเยี่ยมเยือนคือ เด็กๆ ช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน แบบไม่ผักชีโรยหน้า ด้วยการเก็บกวาดนั่นนิด ตรงโน่นหน่อย ไม่ได้ทำแบบเอาเป็นเอาตาย แต่ทำละเล็กละน้อย และช่วยกันทำโดยไม่ต้องแบ่งเวร หรือแบ่งเขตทำ ซึ่งการไม่แบ่งส่วนมากมักจะเกิดพื้นที่สุญญากาศ ไม่มีคนทำ แต่ที่นี่กระจายตัวคนละเล็กละน้อยแต่ครอบคลุม...จะเรียกว่าจิตอาสาได้หรือไม่?

 

ที่นี่ผมอยากจะเรียกกว่า “โรงเรียนปลอดถัง” แนวคิดเช่นนี้ “ครู” เริ่มต้นแน่นอน แต่ผลที่ปรากฎต่อมาคือ เด็กๆ ได้คิดตาม (คิดแบบพิจารณา) และลงมือทำด้วยความเข้าใจและตั้งใจ ... แนวคิดที่ว่า ถ้าไม่มีถังขยะ ก็คงไม่มีที่ให้ทิ้งขยะ ฉะนั้นขยะที่มีในมือของใครก็ตามในโรงเรียน ต้องไปหาที่ทิ้งที่อื่น และลามปามหรือเลยเถิดไปเป็นนิสัยว่า จะไม่มีขยะหรือไม่สร้างขยะ (ถ้าไม่จำเป็น..ก็คงต้องมีบ้างนะ) และเสริมแรงนิสัยดีๆ ของการไม่สร้างขยะ และไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดนั้นด้วยการ “ไม่มีร้านค้าขายขนมให้ดาษดื่นเกินจำเป็น” จะก็เพียงร้านเดียวในโรงอาหาร และมีถังขยะเพียงจุดเดียวในโรงเรียนรองรับเอาไว้ ผลลัพธ์ของโรงเรียนปลอดถังคือ โรงเรียนสะอาดมากกกกกกกกก...และการไม่มีร้านค้าขนม น้ำอัดลม น้ำหวาน ก็เป็นการช่วยให้ปิดช่องทางทำลายสุขภาพลงไปได้อีกจุดหนึ่ง..ได้ประโยชน์สองต่อเช่นนี้ ชาญฉลาดสุดๆ นะครับผมว่า

 

ผอ.สำราญ วรรณกุล เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว...ผมเริ่มเงยหน้าเล็กน้อย เหลือกตามองเพดาน และเริ่มคิดเลขในใจว่า สิบกว่าปีที่แล้ว เด็ก ป.๖ อายุประมาณ ๑๒ ขวบ บวกไปอีกสิบกว่าปี (คิดๆๆๆๆ *& %^) #$%” เครียดพอสมควรครับ) …. คำตอบคือ อย่างน้อยเด็กรุ่นนั้นก็ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีแล้วนะตอนนี้ ก็ถือว่าวัยรุ่นและเป็นกำลังสำคัญของชุมชนได้แล้ว...คำถามหรือข้อสังเกตของผม ผุดขึ้นทันทีว่า “แล้วสังคมที่ได้สมาชิกสังคมที่มีจิตอาสาในการทำงานส่วนรวม คนที่มีจิตใจรักษาความสะอาด และมีสุขภาพที่ดีอันเนื่องจากรู้จักประมาณตนในการกินอาหารและเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จากการอบรมสอนสั่ง และทำตามอย่างเข้าใจรู้แก่นแท้ของการกระทำ..จะเป็นสังคมที่น่าอยู่เพียงใด

 

 

การฟูมฟักนิสัยใจคอ รวมถึงการดูแลสุขภาพ เริ่มได้จากโรงเรียน จากนั้นจะส่งผลถึงตัวเด็กในอนาคตและสังคมของพื้นถิ่นนั้นในอนาคตเช่นกัน.. “สำคัญที่ชุมชนนั้นๆ จะไม่มีนโยบายหรือข้อกำหนดของชุมชน ในการต่อยอดรักษาความดีงามที่ติดตัวเด็กจากโรงเรียนออกไปนี่สิ” คำกล่าวของ ผอ.ที่แสดงความห่วงใยในภาพรวมของชุมชน

 

“ครูจะทำหมดนี่เลยหรือครับ โดยเฉพาะอันนี้” ผมไถ่ถามครูหลังจากอ่านเอกสารโครงการที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพของเด็กให้ดีขึ้นกว่าเก่า ซึ่งก็มีเยอะครับ เยอะจริงๆ ท่านที่ได้ติดตามอ่านการเยี่ยมยามโรงเรียนต่างๆ มาบ้างแล้ว คงทราบว่ากิจกรรมโดยทั่วไปมีอะไรบ้าง ทั้งแนวประชาสัมพันธ์ บอกกล่าว ประกวด..แต่ที่ผมถามว่า “โดยเฉพาะอันนี้” นั่นก็คือการส่งเสริมให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการส่งเสริมสุขภาพของเด็กๆ ในทั้งชั้นเรียนและเวลาทั่วไปในขณะอยู่โรงเรียน ซึ่งครูนิตยา รีรมย์ ขยายความให้ฟังว่า ต้องการให้เด็กๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครู และกับเพื่อนเด็กๆ ด้วยกัน ให้เกิดเป็นนิสัยหรือวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน...

นี่เท่ากับมอบของขวัญล้ำค่าให้กับเด็กๆ และสังคมเลยนะครับ ทั้งทีมกัปตันสุขภาพทั้ง ๕ (น้องกอล์ฟ ไอดิน มะปราง ครีม โอแมน ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กแกนนำสุขภาพ) และเด็กต่างๆ ในโรงเรียน ได้รับโอกาส ได้รับมอบพื้นที่ทางความคิดและการสร้างทำ ให้ได้เติบโตทั้งความคิดและวัตรปฏิบัติที่งดงาม เด็กที่มีคุณภาพเช่นนี้จบออกไปและเติบโตเป็นพลเมืองของถิ่นฐานตนเอง...ในอนาคตที่ไม่ไกลเกินฝันถึง การพัฒนาด้านต่างๆ ในสังคม ก็คงไม่ยากเย็นดังเช่นวันวานเป็นแน่...ขอปรบมือให้ดังๆ ครับ

 

 ก่อนขึ้นรถออกจากโรงเรียนแห่งนี้ ก็พูดจาส่งแรงใจแรงเชียร์ให้กับครูทุกท่านและเด็กๆ ทีมกัปตันสุขภาพ...และแม้ว่าจะไม่ได้ร่วมกินข้าวด้วยกันกับครูและเด็ก แต่ก็อิ่มครับ อิ่มกับเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินและพบเห็นเอง พร้อมกับถ้อยคำประโยคที่ทำให้นอกจากอิ่มแล้ว ก็ยังมีอาการสะอึกตามมาด้วย นั่นคือ “ครูที่นี่ทำงานกันจริงจัง เป็นงานที่ต้องทำกันอยู่แล้ว จะไม่มีคำว่าเป็นภาระหรอกครับ หากเมื่อไรที่เราเกิดความรู้สึกว่าเป็นภาระขึ้นมา นั่นแสดงว่าเราไม่ได้เตรียมการหรือวางแผน”  ผอ.กล่าวทิ้งท้ายแบบยิ้มๆ ให้พวกเราได้รู้สึกสะท้อนและมองกลับมาหาตนเองว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่....

 

สะอึกไปตลอดทางเลยครับ!

 

 

ธนะภูมิ ชาญประไพ

อุดรธานี / ๒ ก.ย. ๒๕๕๔ (ลงบันทึกวันที่ ๔ ก.ย. ๒๕๕๔)

การเข้าเยี่ยมครั้งที่ ๑ ตามโครงการ "โฮมฮักลูกหลายโภชนาการดี" สนับสนุนสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ปี ๒๕๕๔" ระหว่างวันที่ ๒๘ ส.ค. ๕๔ - ๒ ก.ย. ๕๔

สนับสนุนโดย บริษัทไฮคิว อุตสาหกรรม จำกัด ร่วมกับ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

หมายเลขบันทึก: 458199เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2011 00:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ...

การไปเยี่ยมโรงเรียนได้บทเรียนที่ดี บางครั้งดูเหมือนไม่มีอะไร เเต่ลึกลงไป ก็มีเรื่องดีๆให้เราได้เรียนรู้

โห...เอารูปหนูมาลงเน็ตด้วยหรอคะ

กอล์ฟ มะปราง ครีม โอแมน....บอกว่าคิดถึงพวกพี่ๆทีมงานโรซ่าพาแซบ

(รวมหนูด้วยนะคะ..อิอิ)

สวัสดีจ้าหนูไอดิน หนูไอดินและเพื่อนๆ กัปตันสุขภาพ เป็นอย่างไรกันบ้างจ๊ะ

อรุณสวัสดิ์ค่ะ ...ท่านอ. แฮปปี้

ชื่นยามเช้ากับกล้วยไม้ดิน และแคทรียาสวย ๆ นะคะ..^_^

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท