ภาษาไทยกับชีวิตประจำวัน


ถึงภาษาไทยหนูจะใช้ไม่ได้ แต่ภาพวาดของหนูสวยนะ

   ตลอดปีที่ผ่านมาได้เข้าไปทำงานวิจัยในพื้นที่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจพืชอาหารของชุมชน โดยเข้าไปทำการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และภูมิปัญญาต่าง ๆ ร่วมกับชาวบ้าน (ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อหมู่บ้านนะค่ะ) ในการนำพืชท้องถิ่นที่มีอยู่ตลอดทั้งปีมาอุปโภคบริโภค ในกิจกรรมพวกเราได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี และพวกเขาก็เห็นความสำคัญของการสำรวจพืชท้องถิ่นเหล่านี้เพื่อจะนำมาวิเคราะห์ต่อไปว่า พืชชนิดไหนใกล้หมดหรือถูกทำลายระบบนิเวศน์แล้ว ก็จะทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต่อไป ในระหว่างที่เข้าไปสำรวจพืชท้องถิ่นนั้นก็จะมีตัวแทนชาวบ้านและกลุ่มเด็กนักเรียน (หรือที่พวกเราเรียกว่า น้อง ๆ เพราะพวกเราไม่ใช่ครูค่ะ)ไปช่วยสำรวจด้วย โดยที่ชาวบ้านเป็นผู้ให้ข้อมูลการใช้พืชท้องถิ่นชนิดนั้น ๆ เด็ก ๆ ก็จะเป็นผู้ซักถามและจดบันทึกข้อมูลนี้ไว้ ถูกบ้างผิดบ้างไม่ว่ากันค่ะ ส่วนของพวกเราก็จะเก็บข้อมูลไปพร้อม ๆ กับทุกคน และสอนให้เด็ก ๆ เก็บตัวอย่างพืชแต่ละชนิดไว้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลพืชต่อไป พืชบางชนิด เด็ก ๆ ไม่ต้องรีรอให้ผู้ใหญ่เป็นคนบอกข้อมูล พวกเขาจะรีบบอกพวกเราทันทีว่า กินส่วนไหน กินอย่างไร แล้วรสชาติเป็นอย่างไร พร้อมกับเล่าประสบการณ์ดี ๆ ที่พวกเขามาเก็บกับพ่อแม่เมื่อครั้งที่ผ่านมาทำสวนทำไร่
    เมื่อกลับมาถึงทุกครั้ง ก็จะช่วยกันสรุปบทเรียนจากการไปสำรวจพืช ล่าสุดก็เช่นกัน เวลาผ่านมาหนึ่งปี พวกเราช่วยกันสรุปและให้เด็ก ๆ วาดแผนที่ทางเดินสำรวจพืชท้องถิ่น..พวกเขาสามารถวาดและระบุได้เลยว่าพืชชนิดไหนขึ้นตามป่าเขา หรือริมห้วย หรือบริเวณหมู่บ้าน พวกเราก็ใช้โอกาสนี้สอนวิชาภาษาไทยไปในตัวด้วย ส่วนเรื่องวาดภาพ ไม่ต้องไปยุ่งเลย เพราะเด็ก ๆ วาดได้ดีกว่าพี่ ๆ เสียอีก


อร่อยกับผลไม้ป่า


แผนที่ที่น้อง ๆ วาดค่ะ

   ขณะที่ทำกิจกรรมอยู่ ไปสะดุดอยู่คำหนึ่ง คือ ให้น้อง ๆ สะกดคำว่า บุกป่า ทีละคน มีน้องคนหนึ่งเรียน ป.5 สะกดเสียงดัง ฟังชัด อย่างมั่นใจว่า "บอ-อุ-กอ=กุบ, ปอ-อา-ปา-ไม้เอก=ป่า" "กุบป่า" งงกันใหญ่เลย ต้องสอนให้สะกดใหม่ หลายสิบรอบเหมือนกันกว่าจะได้ พี่ ๆ เลยเข้าใจความรู้สึกของครูเลยว่า มันยากนะกว่าจะสอนภาษาไทยให้เด็กนักเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองแต่ใช้ภาษาถิ่นตัวเองเป็นภาษาที่หนึ่ง เหนื่อยแทนครูทุกคนและเอาใจช่วยเกินร้อยเลยค่ะ


ภาพวาดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน

ภาพวาดจากการที่ได้ไปจับปลากับพ่อในลำห้วย

    จากกิจกรรมเล็ก ๆ ได้ทำให้ชาวบ้านและน้อง ๆ ทุกคนเห็นความสำคัญของพืชท้องถิ่น และการอนุรักษ์ต่อไป ยังทำให้น้อง ๆ รู้สึกรักและหวงแหนในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้สมุนไพรจากป่ามารักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ ของตนเอง ครอบครัว และชุมชน แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังพึ่งยารักษาโรคจากภายนอก....
    แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดจากกิจกรรม คือ ไม่ต้องมีสื่อใด ๆ ที่หรูหรา ฟู่ฟ่า เช่นเดียวกับโรงเรียนในเมือง นักเรียนก็เกิดการเรียนรู้ได้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวจริง ๆ...ผืนป่าและลำห้วยคือห้องเรียน ต้นไม้ ต้นหญ้า สายน้ำ ปลา คือสื่อการเรียนรู้  ชาวบ้านและน้อง ๆ คือครูของพวกเรา และที่สำคัญ คือ ได้อิ่มท้องกับผลไม้ป่า
...............................

บันทึก..หลังเขา

หมายเลขบันทึก: 457066เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ภาพวาดเด็กน้อยงามแต้ๆหลายๆเจ้า มาส่งกำลังใจ ขอบคุณค่ะ

บันทึกนี้น่ารักครับ ;)...

เขียนเรื่อย ๆ นะ ครูรออ่านครับ ;)...

ขอบคุณค่ะสำหรับกำลังใจจากคุณ Poo

อาจารย์ Wasawat Deemarnค่ะ ขอบคุณค่ะสำหรับกำลังใจที่ยิ่งใหญ่

มีเรื่องเล่าเยอะแยะมากมาย แต่เขียนไม่ออก มีอารมณ์นิ่ง ๆ เมื่อไหร่ถึงเขียน

แย่จังเลยนะค่ะ

สวัสดึค่ะIco48 แวะมาอ่านบันทึก 'ภาษาไทยกับชีวิตประจำวัน' เป็นธรรมชาติ น่ารักมากค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณ ดร.พจนา ที่มาให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท