๑๙๑.สถานการณ์พุทธศาสนาในหลวงพระบาง ประเทศลาว


นี้คือ สถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเพื่อนบ้านของไทย และในอีก ๔ ปี ประเทศเหล่านี้ก็จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศเหล่านี้พร้อม หรือไม่พร้อมก็ต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งหนึ่งที่จะต้านทานความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ ก็คือพระพุทธศาสนา ที่ยังคอยฉุดรั้งให้ความคิดและจิตใจคนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้สงบเย็นลงได้

     จากการกล่าวสุนทรพจน์ของสาธุจันทริน  จินธมฺโม รองประธานพุทธศาสนสัมพันธ์แห่งหลวงพระบาง ในงานสัมมนาพระพุทธศาสนาลุ่มน้ำโขง ณ โรงแรมเกทเวย์ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ได้จัดขึ้นในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

 

     ทำให้ทราบว่าท่านพยายามใช้ภาษาที่สามารถสื่อกันได้ในที่ประชุม โดยกล่าวว่ามีความปีติยินดีที่ได้มาร่วมงาน และนับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มาร่วมสัมมนาระหว่างประเทศ นับว่าการจัดงานครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ความผูกพันธ์ระหว่างจังหวัดพะเยาและแขวงหลวงพระบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่องสว่างจากฝั่งไทยไปจนถึงฝั่งประเทศลาว

 

     เมื่อมาถึงตอนนี้ ท่านใช้คำว่า "ข้าน้อย" เป็นตัวแทนของชาวหลวงพระบาง หรือล้านช้าง เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีภาษาพูดที่ไม่ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษที่ดูเป็นทางการเกินไป มีวิถีชีวิตด้านการกินการอยู่คล้าย ๆ กัน ตลอดจนถึงมีพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลักในการยึดถือเหมือนกัน

 

     หากดูตามประวัติศาสตร์แล้ว สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ก็เป็นเขยเมืองเชียงใหม่ มีการข้ามไปมา ร่วมเป็นพันธไมตรีต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล ปัจจุบันก็มีทั้งเขยลาว สะใภ้ลาว แต่งงานข้ามกันไปมา จึงให้ความสัมพันธ์นี้ไม่ขาดสาย แม้จะมีเหตุการณ์ทางบ้านเมืองอย่างไร? ผู้คนสองประเทศก็ไม่ท้อแท้ ยังคงดำรงชีวิตสืบต่อกันไปอย่างไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง

 

     การมาครั้งนี้จะว่ามาในนามส่วนตัว หรือมาในนามของชาวหลวงพระบาง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เป็นโอกาสอันดี เป็นงานพิเศษในเรื่องของแม่น้ำของ (โขง) มีการแลกเปลี่ยน (ภาษาตั๊กเว้า) ระหว่างผู้นับถือพุทธศาสนาในบรรยากาศทางวิชาการ ทางด้านการศึกษาของสงฆ์

 

     แม้ว่าพระพุทธศาสนา สังคมทั้งสองประเทศจะยังคงเผชิญหน้ากับสถานการณ์โลกาภิวัตน์ทั้งด้านเทคโนโลยี การสื่อสารที่ไร้พรมแดน วัตถุนิยม ฯลฯ ที่เข้ามาท้าทายประชาชนของประเทศต่าง ๆ ความเปลี่ยนแปลงนี้ สงฆ์จะดำรงอยู่ได้อย่างไร?

 

   สำหรับการศึกษาของสงฆ์ในลาว ในปี 2010-2011 (ประเทศลาวใช้ ค.ศ. ในการบอกศักราช แทน พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๔)  แม้จะมีโรงเรียนมัธยมต้น และมัธยมตอนปลาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ตอนนี้มีวิทยาลัยสงฆ์เพียง ๒ แห่งเท่านั้น แต่อยู่ทางภาคกลางและภาคใต้ โดยมีนักเรียน (นิสิต-นักศึกษา) ๑๐๒๔ รูป มีครู(อาจารย์) ๔๑ คน มีอาจารย์ที่เป็นพระ ๕ รูป (หากดูตามนี้แล้ว วิกฤติศาสนทายาทยิ่งกว่าเมืองไทยอีก)

 

     ในแต่ละปีที่ผ่านมาพระภิกษุสามเณรที่จบมัธยมปลายทั่วประเทศ ๓๐๐ องค์ (รูป) แต่ได้มีโอกาสเรียนต่อแค่ ๒๐๐ รูป ขณะนี้ ได้สำรวจพระภิกษุสามเณรลาวที่ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาต่างประเทศ จำนวน ๔๕๔ รูป แยกเป็น เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย จำนวน ๔๓๖ รูป ไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย ๑๒ รูป ไปเรียนต่อที่ประเทศพม่า ๕ รูป และที่ประเทศศรีลังกา จำนวน ๑ รูป เท่านั้น นับว่าในปัจจุบันระบบการศึกษาไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน

 

     สำหรับรัฐบาลประเทศลาวแล้ว ปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนแก่การศึกษาสงฆ์อยู่มิใช่น้อย เช่น ได้จัดสรรงบประมาณบางส่วนให้ ส่งบุคลากรเข้ามาช่วยในการสอนในระดับต่าง ๆ ส่วนองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ลาว ก็มีนโยบายด้านการศึกษาอยู่มิใช่น้อย

 

     สำหรับอุปสรรค์ในการศึกษาของพระสงฆ์ลาว มีหลายอย่าง คือ

     ๑.สถาบันการศึกษามีน้อย ไม่หลากหลาย ขาดแคลนด้านวัสดุอุปกรณ์ในการศึกษาค้นคว้า จำนวนพระภิกษุสามเณรได้ไปศึกษาต่อมีน้อย ด้านบุคลากรไม่เพียงพอ ขาดบุคลากรที่ตรงสายหลายสาขา เช่น ภาษาบาลี เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

     ๒.แรงจูงใจให้ทำงานเพื่อพระศาสนามีน้อย พระภิกษุสามเณรที่มีความรู้มาก ๆ อยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องลาสิกขาออกไป

     ๓.การอุปถัมภ์จากประชาชนมีน้อย

 

     ปัจจุบันในชนบทของลาวประชาชนนิยมสนับสนุนให้ลูกหลานของตนเข้ามาบวชเรียนมากขึ้น นับว่าเป็นผลดีอย่างมาก ดังนั้น การสัมพันธ์(จัดสัมมนา)ครั้งนี้ นับเป็นไมตรีต่อประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ(โขง) ที่ได้เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับชนระดับล่างมากขึ้น

 

     นี้คือ สถานการณ์ทางพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศเพื่อนบ้านของไทย และในอีก ๔ ปี ประเทศเหล่านี้ก็จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศเหล่านี้พร้อม หรือไม่พร้อมก็ต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งหนึ่งที่จะต้านทานความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ ก็คือพระพุทธศาสนา ที่ยังคอยฉุดรั้งให้ความคิดและจิตใจคนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้สงบเย็นลงได้

หมายเลขบันทึก: 456907เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท