ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย


เป็นเพียงผู้ชายคนหนึ่งที่ห่วงใยเธอ...

          ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทยมีอยู่มากมายทั้งที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์  รวมทั้งที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์  แต่มีอยู่จริง มีคุณค่า  มีความสำคัญ  อาจจะเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าที่กล่าวถึงเรื่องราวความเป็นมาของผู้คนในชุมชนเหล่านั้น  เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันเป็นที่รับรู้ของชุมชนท้องถิ่นและผู้ที่สนใจ  แต่ขาดความสนใจ  ไร้การเอาใจใส่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ถูกหมางเมินมองอย่างไร้ค่าจากผู้มีอำนาจในระดับต่างๆ  ทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศไม่สามารถเผยตัวตน  แสดงบทบาทแห่งการรับใช้ชุมชนออกมาได้

          ชุมชนโบราณเมืองบางขลังก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับชุมชนโบราณแห่งอื่นๆ  แต่มีความโชคดีกว่าชุมชนแห่งอื่นบางประการ  ดังนี้

         ๑. มีหลักฐานปรากฏอยู่ในศิลาจารึก หลักที่ ๒ วัดศรีชุม ด้านที่ ๑ บรรทัดที่  กล่าวถึงพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองมารวมพลกันที่เมืองบางขลัง  เกณฑ์นักรบเมืองบางขลังเข้าตีเมืองสุโขทัยคืนมาจากขอมสบาดโขลญลำพง แล้วสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงของกรุงสุโขทัย

         ๒. การเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๐ ปรากฏอยู่ในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง  ที่เป็นเสมือนวรรณกรรมการท่องเที่ยวเล่มแรกของประเทศไทย (หน้า   - )

         ๓. การเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐

         ๔. การเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรร่องรอยประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ณ โบราณสถานวัดโบสถ์ ตำบลเมืองบางขลัง  เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ และทรงรับสั่งกับนายสุวิทย์  ทองสงค์  นายก อบต.เมืองบางขลังว่า “ ให้ดูแลเด็ก เยาวชนและชาวบ้านให้เขาเข้าใจประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้มีความตระหนัก รัก หวงแหนในโบราณสถานที่มี  โบราณสถานแห่งนี้ควรได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ”

         ๕. มีโบราณสถานที่สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัยได้ขุดพบ  จำนวนทั้งสิ้น ๒๒ แห่ง  และกรมศิลปากร  ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ ๒ แห่ง  ได้แก่  โบราณสถานวัดโบสถ์ ตำบลเมืองบางขลัง อำเภอสวรรคโลก และโบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล ตำบลบ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองบางขลังแต่ต่อมาถูกแบ่งแยกตามเขตการปกครองแบบใหม่) ซึ่งก่อสร้างด้วยก้อนอิฐและศิลาแลง

         ๖. มีโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงความเก่า โบราณ และความรุ่งเรืองในอดีต  เช่น  การขุดแต่งทางโบราณคดีของสำนักศิลปกรที่ ๖ สุโขทัยที่วัดโบสถ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒  พบถ้วย ชาม ไห ฯลฯ ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกมนุษย์ ๑๔๗ ใบ  มีการบรรจุเครื่องใช้ของผู้ตายลงไปด้วย  เช่น  คันฉ่องสำริด  เต้าปูนสำริด แหนบสำริด เป็นต้น  ร่วมทั้งมีการขุดพบพระเครื่องกรุเมืองบางขลังเป็นที่ยอมรับกันว่าขลังและศักดิ์สิทธิ์ 

         ๗. มีการค้นพบพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในฆลฑปวัดโบสถ์  เป็นพระพุทธรูปสำริดโบราณตามแบบศิลปะสุโขทัย ๓ องค์ พระยืน ๑ องค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านซ่าน อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติเช่นกัน  ชาวเมืองบางขลังได้จำลองพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์ ด้วยพิธีกรรมแบบโบราณและพิธีพุทธาภิเษกยิ่งใหญ่ มาประดิษฐานยังวัดโบสถ์เมืองบางขลังแล้ว  โดยรายการกบนอกกะลาถ่ายทำตลอดงาน (เผยแพร่ทางช่อง ๙ เมื่อวันที่ ๑๐, ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒)

        ๘. มีแหล่งตัดศิลาแลง    ที่เมืองบางขลังก็มีการสำรวจพบแหล่งตัดศิลาแลงบริเวณเชิงเขาเดื่อ  พบลักษณะของการตัดศิลาแลงเป็นแท่งสี่เหลี่ยม  บางชิ้นยังมีร่องรอยของการตัดยังไม่สำเร็จ  เขาเดื่อนี้ นาตยา  ภูศรี นักโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภูเขาสำคัญของเมือง  เนื่องจากพบโบราณสถานเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่  ปัจจุบันเหลือส่วนฐานเพียงเล็กน้อยบนยอดเขาเดื่อ  ซึ่งลักษณะเช่นนี้คล้ายกับยอดเขาพระศรีของเมืองศรีสัชนาลัย  ซึ่งมีโบราณสถานอยู่บนยอดเขา  และมีแหล่งตัดศิลาแลงอยู่บริเวณเชิงเขาพระศรี

         ๙. ผู้นำทั้งฝ่ายปกครองท้องที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความใส่ใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสุวิทย์  ทองสงค์  นายก อบต.เมืองบางขลัง  ได้สนับสนุนกิจกรรมทางด้านประวัติศาสตร์  ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมอย่างเต็มกำลัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมการจัดพิมพ์หนังสือหลายๆ เล่ม เพื่อเป็นหลักฐาน เป็นเอกสารค้นคว้า  อ้างอิง  เผยแพร่องค์ความรู้ให้แพร่หลาย ตลอดจนเป็นข้อวิวาทะเพื่อความงอกงามทางปัญญาต่อไป

        ๑๐. มีความรัก ความสามัคคีของผู้คนในตำบล ของส่วนราชการและข้าราชการ พนักงาน อบต.

         ด้วยข้อเท็จจริง ๑๐ ประการดังที่กล่าวมา   ถือได้ว่าเป็นทุนท้องถิ่นที่มีอยู่ ตัวผู้เขียนจึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเมืองบางขลังมาเป็นลำดับ โดยมีเครือข่ายหรือพันธมิตรที่เข้มแข็งให้ความเมตตาช่วยเหลือ ทั้งภาคราชการ  เอกชน  ประชาชน  จนทำให้เมืองบางขลังได้รับรางวัลต่างๆ  จำนวน ๑๑ รางวัล เป็นเสมือนดั่งเครื่องปลอบขวัญ  ยาหล่อเลี้ยงกำลังใจ  ตลอดจนเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการพยายามนำทุนของท้องถิ่นมารับใช้สังคม   ดังนี้

        ปี ๒๕๕๑  รางวัลธรรมาภิบาล กระทรวงมหาดไทย 

        ปี ๒๕๕๒  รางวัลพระปกเกล้า  สถาบันพระเกล้า, รางวัลองค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม  กระทรวงวัฒนธรรม, รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานดีด้านสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รางวัลหน่วยงานสนับสนุนกีฬาดีเด่น การกีฬาแห่งประเทศไทย, รางวัลธรรมาภิบาล  กระทรวงมหาดไทย (ปีที่ ๒)  

        ปี ๒๕๕๓  รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานดีด้านสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปีที่ ๒), รางวัลองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ดีเด่นแก่ผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นด้านการจัดสวัสดิการสำหรับคนพิการ  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการกีฬาจังหวัดสุโขทัย  การกีฬาแห่งประเทศไทย, โล่ผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ภาค ๕ ครั้งที่ ๓๙  จังหวัดสุโขทัย

        อย่างไรก็ตาม  ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจในเจตนารมณ์แห่งเรา  ดังนั้นจึงขอโอกาสนี้นำเรียนชี้แจง  ถ้าสิ่งที่เราได้ดำเนินการไปไม่เป็นที่ถูกอก ถูกใจของท่าน  หรือขัดแย้งต่อความรู้สึกนึกคิด หรือข้อเท็จจริงตามความเห็นของท่าน  ไม่ต้องต่อว่า หรือดุด่าใคร ให้ด่าผู้เขียนซึ่งขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว    ผู้เขียนต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้  จะแก้ไขข้อผิดพลาด ทำให้ถูกใจท่านในโอกาสต่อไป  ขอชี้แจงเหตุผลแห่งการกระทำ  ดังนี้

        ๑. เมืองบางขลัง  เป็นตำบลที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกในหลืบ  ไม่มีใครมาสนใจ ใส่ใจ จึงพยายามที่จะนำเสนอ กู่ก้อง  ร้องตะโกน ให้ผู้คนทราบว่า  ยังมีชุมชนเก่าแก่ที่เกิดร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัย  เมืองเก่าศรีสัชนาลัย คิดวิธีการดึงดูดดึงความสนใจในรูปแบบต่างๆ  ทำให้ “ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง” เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น  ผู้เขียนหวังเพียงปลุกเมืองบางขลังให้ตื่นและมีที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์ชุมชนบ้าง...และใช้จุดแข็งนี้ต่อเติม เพิ่มความรัก ความสามัคคีให้แก่คนในท้องถิ่น  ไม่ใช่ท้องถิ่นนิยมจนเกินเหตุ  และไม่มีเจตนาที่จะเชิดชูท้องถิ่นของตนเองว่าวิเศษ เลอเลิศกว่าใครหรือเหยียบย้ำท้องถิ่นอื่น  เพียงแต่ในเมื่อเรามาทำงานรับใช้ท้องถิ่น  ได้รับเงินเดือนของท้องถิ่นใด  เราจำเป็นต้องทำงานเพื่อท้องถิ่นนั้น  เหมือนกับปลัดดำจากคู่เดือด (ช่อง ๓) ยืนตะโกนซ้ำๆ ท่ามกลางสายฝนว่า “ข้าราชการ  ต้องทำงานรับใช้ประชาชน”

        ๒. ผู้เขียนเป็นนักรัฐศาสตร์ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ หน้าที่ของผู้เขียนคือการพัฒนาตำบลเมืองบางขลังในทุกๆ ด้าน  ตั้งแต่อยู่ในท้องถึงเชิงตะกอน  ส่วนหน้าที่ในการ ค้นคว้า  เรียบเรียง   หรือชำระประวัติศาสตร์เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์  นักโบราณคดี  อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เมืองบางขลังปรากฏกายขึ้นผ่านการรับรู้ของผู้คนในสังคมบ้างแล้ว   เช่น

         -รศ.วุฒิชัย  ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายให้แก่นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า ถึงนวัตกรรมการพัฒนาท้องถิ่นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมและจารีตประเพณี ได้ยกตัวอย่างโครงการ “เสวนาประวัติศาสตร์” ของ อบต.เมืองบางขลัง มีใจความว่า จัดให้มีการเสวนาร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์  นักโบราณคดี  บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ชาวบ้าน ชุมชน ประชาชน เด็ก เยาวชนในเขตตำบล เพื่อให้เกิด “สำนึกรักท้องถิ่น” และ “สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น”

          - ผศ.ดร.อรทัย  ก๊กผล  ผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า  จัดทำโครงการวิจัยการบริหารงานที่เป็นเลิศขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประยุกต์ใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ  เห็นว่า   อบต.เมืองบางขลังได้รับรางวัลพระปกเกล้า ประจำปี ๒๕๕๒ รวมทั้งมีศักยภาพและความเหมาะสมที่จะนำมาเป็นหน่วยกรณีศึกษาในการวิจัย  จึงได้ส่งนักวิจัยมาถอดบทเรียน

          มีการพูดกันทางอินเตอร์เน็ต  เกี่ยวกับการเชิญเที่ยวจังหวัดสุโขทัยว่า

          “...ที่สำคัญยังมีเมืองเก่าแก่ชื่อเมืองบางขลัง ซึ่งเป็นเมืองที่อายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ไทย จนมีข้อสรุปจากการเสวนาของนักโบราณคดีหลายครั้งว่า ...ไม่มีเมืองบางขลังก็ไม่มีพระธาตุดอยสุเทพ...ไม่มีเมืองบางขลังก็ไม่มีกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์...และไม่มีเมืองบางขลังก็ไม่มีประเทศไทย สำหรับเมืองบางขลังนี้ปัจจุบันยังคงเหลือโบราณสถานให้เห็นที่วัดโบสถ์ อ.สวรรคโลก กรมศิลปากรกำลังบูรณะอยู่ บรรยากาศ Unseen จริง ๆ ลองศึกษาประวัติดูจะพบว่าน่าสนใจมาก น้อยคนนักที่จะรู้จัก ถ้ามีโอกาสลองแวะชมกันนะคะ”

“อย่าไปหลงคารมของปลัดอบต.บางขลังโง่ๆ นักเลย เป็นเมืองโบราณก็ดีแต่ไม่ใช่เมืองที่ใหญ่อะไรหรอก” (ขังทั้งบาง)    ความจริงแล้วไม่ต้องชมกันถึงขนาดนั้นก็ได้...

         “ผมเป็นคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างจริงจัง ที่เมืองบางขลังแห่งนี้ นักโบราณคดีให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดของเมืองไทย หากคุณเป็นคนสุโขทัยหรือคนเมืองบางขลัง ถ้าศึกษาเกี่ยวกับโบราณคดีแล้วคุณจะภาคภูมิใจมาก”  (นักโบราณคดี)

         “เคยไปบางขลังมาแล้วเพราะเพื่อนที่ทำงานอุทยานศรีสัชนาลัยพาไป กลับมาก็เลยหาอ่านในอินเตอร์เน็ตดูเป็นเมืองที่มีประวัติน่าสนใจมากอายุเป็นพันปีเลย” (ไม่รู้จักปลัด อบต. แต่เคยไป)

         ในเมื่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชุมชนโบราณเมืองบางขลังได้เผยตัวตนให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จัก  ได้สัมผัส ได้เรียนรู้ ได้วิพากษ์วิจารณ์แล้ว  ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง  ต่อไปเราคงจะไม่มุ่งเน้นงานทางด้านนี้  แต่จะหันไปมุ่งเน้นกิจกรรม โครงการในด้านอื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย อันจะเป็นการสร้างเสริมการกินดี อยู่ดีมีความสุขให้กับประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เช่น  จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารประจำหมู่บ้าน (อาจใช้ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านหรืออาคารอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้านซึ่งมีอยู่แล้ว) เป็นทั้งห้องสมุดที่มีหนังสือต่างๆ มีข้อมูลข่าวสาร  ประวัติหมู่บ้าน  ผู้นำหมู่บ้าน  ภูมิปัญญาท้องถิ่นในหมู่บ้าน สินค้าของหมู่บ้าน ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพมานั่งผลิตสินค้าหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีของหมู่บ้าน  ตลอดจนการสรุปปัญหา ความต้องการของหมู่บ้าน  การวิเคราะห์จุดเด่น  จุดด้อย  โอกาสในการพัฒนา และปัญหาภัยคุกคามที่จะพบ ฯลฯ  และนำข้อมูลของแต่ละหมู่บ้านไปจัดรวมไว้ที่ทำการ อบต.อีกแห่งหนึ่ง  ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทั้ง ๒ แห่ง  ข้อมูล ณ ที่ทำการ อบต. เป็นเสมือนดั่งหน้าด่าน หรือข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่จะลงไปศึกษาพื้นที่จริงยังหมู่บ้านนั้นๆ

         ๓.ในการทำงานร่วมกันย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้างซึ่งเป็นธรรมดา   แต่การทำงานด้วยปากหรือด้วยการพูดนั้นง่ายและคนมักจะเชื่อในสิ่งที่พูด (ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสชี้แจงเหตุผล ข้อเท็จจริง) เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มาสัมผัส ไม่ได้ร่วมงานกัน ไม่ได้เห็น จึงทำให้หลงใหลได้ปลื้มไปกับประติมากรรมแห่งน้ำลาย  ควรจะมองคนด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานที่ได้รับมอบหมายหรืองานในหน้าที่เป็นหลักจะดีกว่า  เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจให้แก่คนทำงาน

         ๔.ด้วยความแตกต่างกันของวัฒนธรรมองค์กร  ไม่แปลกหากการทำงานของแต่ละฝ่าย แต่ละส่วนอาจจะช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปเพราะไม่สามารถไปสั่งหรือก้าวล่วงข้ามหน่วยงานได้  ไม่เป็นไรครับ  ขอให้ได้คิด ได้ทำ เพราะต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือการอยู่ดี มีสุขของประชาชนเช่นเดียวกัน 

         ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ดังที่กล่าวมา  ทำให้ผู้เขียนอดเป็นห่วงสถานภาพและความคงอยู่ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ได้  การสร้างบ้านแปลงเมืองด้วยทุนท้องถิ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  ต้องกระทบกับความเชื่อ  ความไม่รู้  ไม่เอาใจใส่  ไม่เห็นคุณค่า  การลองผิดลองถูก  การดูถูกเหยียดหยาม  ต้องเจอปัญหาต่างๆ มากมาย  เมื่อดำเนินการไปได้บ้างแล้วก็จะต้องเจอกับกระแสตรวจสอบ  กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งกูรู (ผู้รู้) กูรู้ (คิดว่าตนเองรู้และถูกต้องมากกว่าคนอื่น) ในด้านต่างๆ  ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ปฏิบัติท้อแท้  เบื่อหน่าย  พาลไม่คิด ไม่ทำ ปฏิบัติตนตามน้ำไปเสีย 

         ได้อ่านหนังสือพบเรื่องที่น่าสนใจจึงจะขอนำมาเล่าในที่นี้   เรื่องมีอยู่ว่ามีชายสองคน  ต่างปลูกต้นไม้และดูแลต้นไม้คนละต้น   ชายคนที่ ๑ เฝ้าดูแลพรวนดิน รดน้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืชสม่ำเสมอ  ส่วนชายคนที่ ๒  ไม่ค่อยให้ความใส่ใจเท่าไหร่  นานๆ จะรดน้ำ พรวนดิน สักที  เมื่อเวลาผ่านไป  วันหนึ่งมีลมพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก  พัดพาทำลายสิ่งต่างๆ  เมื่อพายุฝนพัดผ่านไป  ปรากฏว่าต้นไม้ของชายคนที่ ๑ ถูกพัดถอนราก ถอนโค่น  ไปกับกระแสน้ำ   แต่ต้นไม้ของชายคนที่ ๒ มีความบอบซ้ำบ้างแต่ก็ยังยืนต้นอย่างมั่นคงอยู่ได้  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า  ต้นไม้ของชายคนที่ ๑ ไม่ต้องดิ้นรน แสวงหาอาหาร รอรับอย่างเดียว เพราะถูกดูแล เอาใจใส่  ให้อาหารสม่ำเสมอ แตกต่างไปจากต้นไม้ของชายคนที่ ๒ ที่ทั้งรากแก้ว รากฝอยต่างต้องดิ้นรน ซอนไซแสวงหาน้ำ หาอาหารเพื่อความอยู่รอด  ทำให้มีรากแก้วที่ฝังลึกและรากฝอยแผ่กว้าง  เมื่อมีลมพายุพัดกระหน่ำก็สามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างคงทน  ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่าคนเราควรจักต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด  เพื่อที่จะได้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้

          ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็คงเป็นเช่นเดียวกัน ที่จะต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เป็นรากแก้วที่ชวนรากฝอยซอนไซแผ่กว้างและฝังรากลึกเพื่อลมหายใจที่ยั่งยืน  เมื่อประสบปัญหา อุปสรรคหรือถูกทอดทิ้งก็ยังสามารถคงอยู่ได้  

          ความหวัง  ความฝัน  ความเชื่อ  เป็นเพียง ๓ สิ่งที่มอบแทนใจให้กับทุกท่าน  เพราะสิ่งเหล่านี้จะเสมือนเข็มทิศ  เสมือนเป้าหมาย  ที่จะนำพาเราฝ่าข้ามไปสู่ความสำเร็จ และแสดงให้เห็นว่า  เรา...คงยังมีลมหายใจอยู่...

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 456727เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2011 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

Thank you for the historic note on 1000+ years old บางขลัง.

This seems a great example of a historic community (or settlement) -- not a built-up นคร.

I note 'bangkhung' in the url. Is this an official 'romanized' name for บางขลัง?

สวัสดีครับคุณวิทยา เกษรพรหม ได้อ่านเรื่องราวของ "บางขลัง" แล้วได้ความรู้หลากหลายทั้งโดยทางตรง และทางอ้อม เขียนได้ดีและยาวมาก หลากหลายอรรถรส อาจจะติดน้อยใจนิดๆ ด้วย ผมอยากให้อบต.แถวบ้านผมมีแนวคิดเพื่อสังคมและส่วนรวมเหมือนที่นี่จ้ง

 "สิ่งไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องจริง ไม่อยู่กับร่องกับรอย สักวันก็ปรากฏ"

ขอเป็นกำลังใจให้ทำงานประสบความสำเร็จครับ

ขอขอบพระคุณสำหรับทุกความคิดเห็นครับ


เขียนดีมากค่ะ ได้ความรู้เยอะเลย

นู๋เรียนสาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมเลือกเอกประวัติศาสตร์ค่ะ อ่านแล้วมีความสนใจมากขึ้น เพราะมีวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิาน ที่จะต้องศึกษา อยากถามอาจารย์ว่าประวัติศาสตร์ชาติกับประวัติศาสตร์ท้องถินมีความแตกต่างกันอย่างไรค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท