รมว.ศธ.แจงแท็บเล็ตป.1เหมือนของเล่นเด็


แท็บเล็ต

               เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวชี้แจงกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปรายพาดพิงนโยบายด้านการศึกษา ว่าดำเนินการไม่เหมาะสม อาทิ นโยบายซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน ฟื้นกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และเรื่องการยกเลิกการประเมินผลงานวิทยฐานะ ว่า สำหรับเรื่องแท็บเล็ตตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาอยู่ว่าจะแจกอย่างไร อาทิ แจกโดยยึดความพร้อมของโรงเรียน ครู และนักเรียน ถ้าโรงเรียนหรือนักเรียนไหนพร้อมก็แจกได้เป็นต้น ทั้งนี้ ตนก็ยังได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอบถามไปยังโรงเรียนทั่วประเทศว่า ใครพร้อมหรือต้องการจะรับแท็บเล็ตบ้าง
              รมว.ศธ.กล่าวว่าอีก ส่วนกรณีที่มีการอภิปรายพาดพิงว่าการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 นั้นไม่เหมาะ ตนก็ขอชี้แจงว่าแท็บเล็ตที่จะให้นักเรียนชั้น ป.1 ไม่ได้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สูง เพราะจะยึดเหมาะสมกับเด็กในวัยนี้เหมือนเป็นของเล่น ส่วนระดับชั้นอื่นก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้นด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูที่ตนจะยกเลิกแล้วให้ผู้ปกครองเข้ามาประเมินข้าราชการครูที่ยื่นขอวิทยฐานะแทนนั้น ก็เป็นเพราะต้องการให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนในการประเมิน ซึ่งจะสามารถบอกผลได้ดีที่สุดกว่ากรรมการที่เป็นใครก็ไม่ทราบและไม่เคยอยู่ ในชุมชนมาก่อน
              “การประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่ที่อยากให้ปรับนั้น เน้นประเมินจากผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ที่ออกมา ซึ่งต่อไปข้าราชการครูไม่ต้องทำผลงานเล่มหนาๆ หรือต้องไปเสียเงินจ้างคนอื่นทำนับแสนบาท เพราะผมจะลดการทำผลงานที่เป็นเอกสารให้น้อยที่สุด เบื้องต้นผมก็ได้มอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ไปพิจารณาเพื่อจัดทำเกณฑ์การประเมินใหม่แล้ว ถึงแม้อาจต้องแก้กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องก็จะต้องดำเนินการ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ จากการรับฟังความเห็นของข้าราชการครูก็สะท้อนออกมาว่า การทำผลงานวิทยฐานะทำให้ไม่ค่อยมีเวลาในการเรียนการสอน” นายวรวัจน์ กล่าว 
             นายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายที่จะให้ผู้ปกครองนักเรียนเป็นผู้ประเมินผลงานวิทยฐานะข้าราชการครูว่า นโยบายดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาครูที่ใช้เวลาสอนไปทุ่มเททำผลงานเพื่อขอวิทยฐานะได้ เพราะครูบางกลุ่มอาจจะใช้ช่องทางดังกล่าวหันไปหาเสียงสนับสนุนจากผู้ปกครองแทน ทั้งๆ ที่ควรจะยึดการทุ่มเทในการสอนเป็นหลัก ทั้งนี้ ส่วนของเกณฑ์การประเมินโดยใช้ผู้ปกครองเป็นผู้ประเมินนั้น อาจมีปัญหาเรื่องมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงมีมิติเดียวในการประเมิน ดังนั้น แนวคิดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
            "เป็นเรื่องที่ดีที่จะให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนในการประเมินครู แต่น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดระบบการประเมินตอนนี้ เพราะปัญหาครูทุ่มเทเรื่องเอกสารผลงานจนละเลยเด็ก ก็ต้องแก้กันให้ตรงจุด อีกทั้งผู้ปกครองบางคนอาจจะมีมุมมองเพียงมิติเดียวคือมองที่บุตรหลานตัวเอง จึงไม่น่าจะเพียงพอในการใช้ประเมิน และนอกจากนี้เรื่องแนวทางในการประเมินต้องตอบโจทย์เรื่องอคติส่วนตัวของผู้ปกครองและปัญหาด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน จึงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

 

ที่มา : ไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2011

สาระสำคัญ :  "วรวัจน์" แจงอภิปรายในสภาแจกแท็บเล็ตยึดความพร้อม ครู รร.ไหนพร้อมให้ยกมือขึ้น ส่วนแท็บเล็ตของเด็ก ป.1 เหมือนเป็นของเล่น ไม่ได้ไฮเทค ปฏิเสธไม่ได้ยกเลิกวิทยฐานะครู เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการประเมิน ให้ผู้ปกครองมาประเมินครูแทนทำผลงานเล่มหนาๆ ด้าน อจ.จุฬาฯ ชี้ของจริงทำยาก แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะ ร.ร. ยึดหลัก '3 อี' รับนโยบายแท็บเล็ตเอกชนหนุนสุดตัว-ติงขึ้นเงิน1.5หมื่นควรมีเงื่อนไข ( 27 ส.ค.54)   

           นายชาญณรงค์ ลักษณียนาวิน ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนในเครือภาษานุสรณ์บางแค กล่าวว่า การใช้แท็บเล็ตเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจกับการทดลองเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ และใช้แทนหนังสือหรือสมุดจดได้ โรงเรียนเอกชนต่างๆ ก็มีความพร้อมที่จะรองรับนโยบาย เพราะส่วนใหญ่ต่างก็มีประสบการณ์ด้านการสร้างห้องเรียนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ผ่านระบบE-linguaที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมการเรียนนอกเหนือการเรียนภายในห้องเรียนปกติ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำควบคู่ คือ การพัฒนาเนื้อหาหรือแอพพลิเคชั่นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้นโยบายดังกล่าวสำเร็จเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ต่างประเทศมีการพัฒนาด้านนี้รุดหน้าไปมาก ในขณะที่ในเมืองไทยยังคงให้ความสำคัญกับฮาร์ดแวร์เป็นหลัก และควรเตรียมโครงข่ายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตขั้นพื้นฐานด้วยไวไฟ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยโรงเรียนควรเตรียมพร้อมรองรับนโยบายดังกล่าวด้วยหลักการ 3 อี คือ

              E-Subject หรือเนื้อหาบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ โดยโรงเรียนอาจจะต้องมีการนำเข้าซอฟต์แวร์บทเรียนมาจากต่างประเทศ นำเนื้อหาในพื้นที่สาธารณะมาทำเป็นบทเรียนสำเร็จรูป หรืออาจสร้างขึ้นเองทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับบทเรียนในชั้นเรียน และคำนึงให้เนื้อหาสอดคล้องกับวัยของเด็ก เช่น ในระดับชั้นป.1 ควรเป็นเนื้อหาสั้นๆ เน้นภาพเคลื่อนไหว และให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้
             "E-Teacher หรือการเตรียมครูให้รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบทเรียน แนะนำให้นักเรียนใช้แท็บเล็ตเพื่อประโยชน์ของการเรียนรู้ด้านการศึกษาอย่างแท้จริง อาจจะต้องมีการอบรมเพิ่มเติม หรือทำเป็นคู่มือสำเร็จรูปสำหรับการปฏิบัติการสอนของครูอาจารย์ และการปรับโลกทัศน์ สู่การเป็น E-School หรือโรงเรียนที่มีการใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นกระแสในวงการศึกษาทั่วโลก

                ส่วนที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำให้กับผู้ที่จบปริญญาตรี 15,000 บาท จะส่งผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนอย่างแน่นอน เพราะต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กนักเรียนเข้าศึกษาลดลงหรือคงที่ จึงควรเพิ่มเงินเดือนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อจูงใจให้ครูปฏิบัติการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" นายชาญณรงค์ กล่าว

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

คำสำคัญ (Tags): #แท็บเล็ต
หมายเลขบันทึก: 456379เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2011 04:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท