พัฒนางานจากการเรียนรู้มันสำปะหลัง


ไปร่วมเวทีการเรียนรู้ของเครือข่ายผู้ปลูกมันสำปะหลัง

 

เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ผมได้มีโอกาสไปร่วมเวทีการเรียนรู้ของเครือข่ายผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นเวทีระหว่างนักส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังของอำเภอต่างๆ กับเกษตรกรแกนนำผู้ปลูกมันสำปะหลังจากชุมชนพื้นที่เป้าหมายที่มาจากอำเภอต่างๆ  ซึ่งจัดที่ศาลาการเรียนรู้บริเวณสำนักงานเกษตรอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร นอกจากนี้ ยังได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการเพิ่มประสทิธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอีกด้วย

 

    วัตถุประสงค์ของการจัดเวทีการเรียนรู้ของเครือข่าย ในวันนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของนักส่งเสริมการเกษตรที่ได้ทำแปลงทดลองการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี ที่ชื่อ คุณสวัลย์ ขาวทอง ซึ่งเป็นนักส่งเสริมการเกษตรประจำสำนักงานเกษตรอำเภอคลองลาน  และจากประสบการณ์ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดีที่ชื่อ คุณสุชานันท์ จันทร์ปรี  หมู่ที่ ๕ ตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร นับได้ว่า เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีในการผลิตมันสำปะหลังที่ได้ผลผลิตดี

 

     ทั้งนี้เรามีเป้าหมายที่จะให้นักส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ได้มีความเข้าใจ ในวิธีการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่  ณ.ปัจจุบันต้องมีความรู้ในเชิงวิชาการด้านเทคโนโลยีการผลิตมันสำหลัง คือจะต้องมีความรู้ทั้งเรื่องดิน การเตรียมดิน การปลูก พันธุ์ การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต จากประสบการณ์ อย่างน้อยๆ ก็ได้มาฟังเรื่องเล่า ที่คุณสวัลส์ ขาวทอง ได้ทดลองทำ พร้อมนำเสนอผลจากการทดลองที่ผ่านมา รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักส่งเสริมการเกษตร ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเสริมสร้างพลังใจในการที่จะพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรต่อไปนั่นเอง 

  

      จากการที่ได้ฟังเรื่องเล่าของคุณสวัลย์ ขาวทอง ทำให้เราได้ทราบว่าการผลิตมันสำปะหลังในเขตตำบลคลองน้ำไหล จะมีผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ  หากศึกษาต่อไปก็พบว่าอาจจะมาจากหลายสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ลักษณะของดิน  ชนิดของพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลูก ระยะปลูก วิธีการปลูก  การดูแลรักษา ซึ่งรวมถึงการใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดโรคและแมลง การให้น้ำ และการกำจัดวัชพืชเป็นต้น จึงจำเป็นที่ต้องทำการทดลองด้วยตนเอง ถึงจะมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตมันสำปะหัลง หากได้ผลเป็นอย่างไรก็สามารถที่จะนำไปแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรที่เขามีประสบการณ์ตรงจากการปลูกมันสำปะหลังได้โดยนำมาเปรียบเทียบกัน

  

          คุณสวัลย์ ขาวทอง ได้เล่าต่อไปอีกว่า ทุกวันนี้เขาทำงานอย่างทุมเทเวลาให้กับงาน มีการออกแบบการเก็บข้อมูลของแปลงทดลอง ทุกระยะ ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังพบว่ามีเครื่องมือที่สำคัญในการบันทึกเก็บข้อมูลและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ก็คือแบบเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิตต่อไร่ ซึ่งสามารถนำเสนอในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรที่ได้ผลอย่างเห็นได้ชัดที่เกษตรกรสนใจ 

 

        ในช่วงภาคบ่ายของวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้ ทางทีมงานยังได้พานักส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จากอำเภอต่างๆ ไปศึกษาดูงานในแปลงปลูกของเกษตรกรพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้านที่มีประสบการณ์ในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง ที่ชื่อ  คุณสุชานันท์ จันทร์ปรี หมู่ ๕ ตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 

 

      จากนั้น คุณสุชานันท์  จันทร์ปรี ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อ ๔-๕ ปีก่อนตนเองได้มาเช่าพื้นที่ดินจำนวน ๑๕ ไร่ เพื่อทำการปลูกส้มเขียวหวาน ปัจจุบันได้เลิกปลูกส้มไปแล้ว ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งมีประสบการณ์ในการปลูกมันฯมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปีแล้ว ที่ผ่านได้ทำงานร่วมกับเกษตรตำบลที่ชื่อคุณสวัลย์ ขาวทอง  โดยได้ปรับแนวคิด ในการทดลองปลูกมันสำปะหลัง  ทำการบันทึกจัดเก็บข้อมูล การสังเกต การวัดผลผลิตที่ได้ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้ว่า การที่จะเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ผลที่ดีนั้น จะต้องมีความรู้ หลายๆด้านเช่น เรื่องลักษณะของดินปลูก วิธีการปลูก การคัดเลือกพันธุ์ การตัดท่อนพันธุ์ ระยะปลูก การใส่ปุ๋ยทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี  การใช้สารสกัดชีวภาพและฮอร์โมน การให้น้ำ การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู การเก็บเกี่ยว รวมทั้งเทคนิคารลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ 

 

       คุณสุชานันท์ จันทร์ปรี ได้เล่าให้ฟังต่อว่าปัจจุบันนี้ มีกลุ่มเกษตรกรที่มีอาชีพการปลูกมันสำปะหลังจากชุมชนข้างเคียง และที่อยู่นอกชุมชน มาขอศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในแปลงปลูกมันสำปะหลังของตนเองมีจำนวนหลายร้อยคนแล้วและมาอย่างต่อเนื่อง

        ตามที่คุณสุชานันท์ ได้เล่าให้พวกเราฟัง เรายังได้เห็นแปลงปลูกมันสำปะหลัง ที่มีระยะปลูกที่เหมาะสม ซึ่งคุณสุชานันท์ ได้ยืนยันว่าว่า ต้นมันสำปะหลังหากปลูกในยะที่ห่างจะให้ผลผลิตสูงมาก มากกว่าที่พี่น้องเกษตรกรทั่วไปที่ยังนิยมปลูกถี่ซึ่งจะให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ระยะห่างระหว่างต้นที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ ๑ เมตร ๓o เซนติเมตรและระยะห่างระหว่างแถวคือ ๑ เมตร ๕O เซนติเมตร  ผลผลิตที่เคยได้ต่อไร่ จะอยู่ระหว่าง ๘ -๑ตัน ทุกวันนี้มีเกษตรกรในชุมชนนี้ได้นำความรู้และมีการปรับเปลี่ยนระยะปลูกที่เคยปลูกถี่มาเป็นระยะห่างแล้วหลายราย  

 

           จากข้อสรุปจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ทำให้นักส่งเสริมการเกษตร ได้ทราบว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาอย่างจริงจัง โดยมีการทำแปลงทดลองด้วยต้นเอง มีการจัดเก็บข้อมูลทุกระยะ เพื่อทำการวิเคราะห์ อย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกันก็จะต้องทำการคัดเลือกเกษตรกรที่เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า เพื่อทำการทดลองพร้อมบันทึกเก็บข้อมูลทุกระยะ ควบคู่กันไป ซึ่งจะเป็นการเสริมหนุนให้มีประสบการณ์ มีความรู้อย่างมีเหตุผลและกำหนดแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังได้

 

           สุดท้ายก่อนจากกันวันนี้ ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ณ.กระท่อมน้อยพักร้อนที่ตั้งอยู่ในแปลงปลูกมันสำปะหลังของคุณสุชานันท์ จันทร์ปรี   พวกเราในเวทีนี้ได้ข้อคิดร่วมกันว่า ต่อไปเราจะต้องเริ่มต้นค้นหาโจทย์/ปัญหาในการผลิตมันสำปะหลังในชุมชน   เพื่อออกแบบในการทำงานร่วมกันต่อไปครับ

 

เขียวมรกต

๒๖ สค๕๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 456291เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2011 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สวัสดีครับลุงเขียวมรกต
  • ยินดีต้อนรับการกลับสู่ g2k อีกครั้ง
  • วันนี้บรรยากาศการ ลปรร.เยี่ยมมากครับ
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันนะครับ

ผมก็ปลูกมันสำปะหลังเหมือนกัน พันธ์ห้วยบง อยู่แถวอำเภอประโคนชัย อายุมันเกือบสองเดือนแล้วไม่ทราบว่าควรใสน้ำหรือปุ๋ยเม็ดดีครับ รบกวนด้วยครับ

  • ขอบคุณอ.สิงห์ป่าสัก
  •  ที่เข้ามาลปรร.และให้กำลังใจ
  • ถึงเวลาแล้วครับที่ต้องเร่งสร้างและพัฒนาการเรียนรู้แก่ทีมงาน

 

  • ขอบคุณท่านอ.โสภณ
  • ที่แวะมาเยี่ยมและลปรร.
  • ใช่ครับบางครั้งหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดเพลี้ยแป้งระบาด
  • จากการศึกษาก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้ศัตรูพืช(เพลี้ยแป้ง)เกิดการระบาด
  • แต่ทั้งเกษตรกรและภาคีเมื่อปลูกมันฯแล้วก็ต้องดูแลไม่ใช่แลดูครับ
  • ขอบคุณครับ

 

  • ขอบคุณท่านดินสอชาวนา
  • ที่แวะมาลปรร.กัน
  • ยินดีครับ เมื่อปลูกมันฯไปแล้ว สองเดือนซึ่งอยู่ในระยะกำลังเจริญเติบโต
  • ผมไม่แน่ใจว่าเคยใส่ปุ๋ยไปบ้างหรือยัง หากว่ายังไม่เคยใส่ให้สังเกตุว่าดินในแปลงปลูกมันฯยังพอมีความชื้นอยู่หรือไม่เมื่อใส่ปุ๋ยเม็ดไปแล้วต้องคำนึงว่าต้นพืชจะนำไปใช้ได้หรือไม่  หากจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเม็ดควรจะทำการกลบปุ๋ยด้วยไม่ควรนำไปกองไว้ที่พื้น
  • ถ้าเป็นไปได้ลองใช้ปุ๋ยน้ำ(ฮอร์โมนรกหมูและฮอร์โมนไข่)ผสมน้ำพ่นทั้งทางใบและทางดิน ควบคู่กันไป ที่ผ่านมาคุณสุชานันท์(เกษตรกร)เคยได้ผลผลิตถึง ๑o ตัน แต่อาจจะอยู่ที่ช่วงการเตรียมดินว่ามีการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ไปบ้างหรือไม่
  • แต่ก็มีเกษตรกรบางราย เขาใช้มูลสุกรหมัก แล้วกรองเอาน้ำฉีดพ่นก็ได้ผลผลิตดีเช่นกัน
  • ลองไปอ่านประสบการณ์ของคุณบุญธรรม ได้ที่      http://www.gotoknow.org/blog/peekwong17/349055
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท