ศ.นพ. ธีระ ทองสง เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสูตินรีเวช คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ตนเองไม่เคยรู้จักอาจารย์มาก่อนเลย ท่านเป็นคนผิวคล้ำ วัยสี่สิบปลาย หน้าเข้มเหมือนคนใต้ และเมื่อได้ยินเสียงท่าน ก็แน่ใจได้เลยว่า ท่านเป็นคนใต้แท้ๆ ท่านเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ และก็เลยทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ต่อที่นั่น
ไม่อยากเชื่อเลยว่า ยังมีอาจารย์แพทย์ หรือแพทย์แบบท่านอยู่ ด้วยการบอกกล่าวเล็กๆ น้อยของผู้ดำเนินรายการ บอกว่า ขณะนี้ ท่านยังใช้รถมอเตอร์ไซด์อยู่เลย แล้วก็ได้ข่าวว่ารถรถมอเตอร์ไซด์คันแรกในชีวิตอาจารย์แพทย์ของท่าน นักเรียนช่วยกันซื้อให้ ท่านบอกว่า ท่านสอนนักศึกษานอกเวลามาตลอด 20 ปีและ ก็ไม่ได้ขอค่าตอบแทนเลย ถึงท่านจะสมถะ พอเพียง แต่ไม่ล้าสมัย อันนี้ยืนยันได้จาก สไลด์ที่ประกอบการบรรยาย ที่ทำได้อย่างมืออาชีพมากๆ ถึงท่านเป็นคนสมถะ พอเพียง แต่ไม่พอเพียงเรื่องการทันโลก ทันวิชาการ ท่านมีผลงานวิจัยมากมายในระดับนานาชาตินับเป็นหลักร้อย
ในการบรรยายนั้น ท่านพูดเรื่อง สุขเกินพอ กับ ชีวิตที่เกินพอ เป็นแนวคิดและปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ซึ่งใช้ได้กับทุกวิชาชีพไม่เฉพาะแพทย์ หรืออาจารย์แพทย์เท่านั้น ท่านพูดได้อย่างสนุกสนาน แต่มีสาระมากๆ และผู้ฟังรับรู้ได้ว่าท่านสื่อมาจากใจ จากการปฏิบัติจริงของท่านเอง
ท่านเขียนบทความเรื่อง “อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกับความพอ” มีความยาว 5 หน้า A4 บรรจุอยู่ในหนังสือประกอบการประชุม เป็นบทความที่มีความลึกซึ้งมาก และถึงแม้เป็นบทความเกี่ยวกับบทบาทครู แต่โดยเนื้อแท้แล้ว คิดว่าเป็นแนวคิดสำหรับทุกวิชาชีพ เนื่องจากในส่วนที่ท่านพูดในห้องประชุม จดไม่ทัน หากนำมาเล่า ก็ไม่ได้เนื้อหาที่ครบถ้วน จึงได้ mail ไปขออนุญาตท่าน นำบทความบางส่วน มาเผยแพร่ในบล็อก ท่านก็อนุญาต
บางส่วนจากบทความ “อาจารย์มหาวิทยาลัยกับความพอ”
อาจารย์ที่พึงปรารถนา
กระผมระลึกได้ถึงสมัยที่กระผมเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่เคยถามตนเองว่า
อยากจะเห็นอาจารย์ของตนเป็นเช่นไร อยากได้อาจารย์แบบไหน
ใจเรารู้ดีว่า ต้องการอาจารย์ที่เป็นกัลยาณมิตร ที่เป็นแบบอย่าง
ถ่ายทอดความรู้ ทักษะด้วยเมตตา ขยัน ตรงเวลา สร้างสรรค์
คิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เรารู้สึกว่าศิษย์มีครู
รู้สึกว่าดีใจที่ได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ถ้าผมจะเคารพอาจารย์
ก็มิใช่เพราะผมขับรถราคาแพง มีตำแหน่งวิชาการสูง
เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โต แต่เป็นเพราะอาจารย์ทำอะไร
อุทิศตนเช่นไร เสียสละเพียงใด…..
วิถีครู
หลายปีมานี้
ความสุขจากความเป็นครูสูญหายไปจากใจครูหลายคน กระผมถือว่า
เราได้สูญเสียส่วนสำคัญที่สุดของชีวิตไปแล้ว จากนี้ไป
แม้เราอาจมีอะไรขึ้นมามากมายในชีวิต ก็ไม่อาจมาทดแทนได้
เราจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งที่ยิ่งกว่าเงินทอง
ความสำเร็จสูงส่งของชีวิตครู
คือการได้ตื่นมาถามหาความสวยงามในชีวิต
ทุกเช้าที่ตื่นพร้อมด้วยความกรุณา และคำถามว่า วันนี้
เราพอจะให้อะไรใครได้บ้าง
แทนที่ว่าวันนี้เราได้อะไรจากการที่เราจะไปทำงาน
ภารกิจสำคัญชิ้นหนึ่งของครู
คือการสร้างบรรยากาศให้เกิดความใฝ่ฝันที่จะเรียนรู่และอยากทำสิ่งดีๆ
ทั้งในและนอกชั้นเรียน ทำให้จิตใจนักเรียนปลอดโปร่ง
สร้างบรรยากาศกันเอง บรรยากาศของกัลยาณมิตร ผมคิดว่า
การสร้างความปรารถนาดีที่แท้จริงจากใจครู
เป็นภารกิจเบื้องต้นที่ต้องพัฒนาให้เกิดก่อน
และสร้างแรงบันดาลใจให้ใครๆ ต่อใครเกิดความปรารถนาที่จะดี
สิ่งจำเป็นเบื้องต้นของชีวิตครู คือความใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ให้ ซึ่งเป็นหัวใจที่อบอุ่น และมีความสุข แล้วครูจะมีความสุขในการสอน สุขใจในการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ (วิจัย) ทุกห้องเลคเชอร์ มีความสุขงดงามซ่อนอยู่ ความดีงามแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ในชีวิตครับ กระผมอยากเห็นครูทุกคนรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นครู มากกว่าภูมิใจที่ได้เป็นผู้บริหาร เป็นผู้มีธุรกิจทางวิชาชีพที่รุ่งเรือง เป็นเจ้าพ่อวิชาการ บางครั้ง เราอาจสำคัญตนว่าจบสูง ความรู้ดี มี authority มีระดับ กรีดกรายอยู่ในสังคมนี้อย่างหยิ่งทะนง แต่เราอาจไม่ได้อยู่ในหัวใจของใครเลยที่อยู่รอบด้าน…………………………………
บทบาทคือแบบอย่าง
กระผมเชื่อว่าความสุขในการงาน
คือความสำเร็จของมนุษย์ ครูอาจารย์
ควรมีชีวิตการทำงานอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องฝืน
เป็นแบบอย่างโดยเต็มใจ ครูควรเป็นแบบอย่างให้กับศิษย์
มากกว่าที่จะให้ศิษย์เป็นแบบอย่างให้ครู
พฤติกรรมของครูจะสอนศิษย์ได้ดีกว่าคำพูด
ครูจะต้องคงความศรัทธาไว้ในใจศิษย์เสมอ
และพฤติกรรมครูจะกำหนดพฤติกรรมเด็กเสมอ ยกตัวอย่างเช่น
ครูแพทย์สอนให้แพทย์ออกตรวจโอพีดีตรงเวลา เก้าโมงตรง
แต่อาจารย์ออกไม่ค่อยตรงเวลา คำสอนนั้นมักจะไม่มีคุณค่า
……………
เป้าหมายในชีวิต
อาจารย์ก็เหมือนคนทั่วไป ที่เราต่างได้ถูกยุยงให้สร้างวิถีทาง
สร้างบันได เพื่อก้าวไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่เราเองก็เลือนราง
เราได้พากันลงทุนทั้งชีวิต
ที่จะก่อร่างสร้างหนทางที่เราไม่รู้เป้าหมาย
เราถูกกระซิบให้วิ่งไปข้างหน้าเพื่อไขว่คว้าสิ่งที่สังคมชี้นำเสมอ
เรายินยอมอุทิศชีวิตเพื่อสร้างรากฐานแห่งการมีโอกาสเข้าถึงเงิน เครดิต
ทรัพย์สิน เกียรติยศ
เราถูกปล่อยให้อยู่ในโลกของจินตนาการเหล่านั้นมานานนับสิบๆ ปี
นับครั้งไม่ถ้วนที่เราเพ้อฝัน เคลิบเคลิ้มอยู่กับบางสิ่งบางอย่าง
จนคลั่งไคล้ทุ่มเทชีวิตไปกับมัน แต่ทุกครั้งที่เราไขว่คว้า
หรือแม้แต่ได้มาบำบัดความใฝ่ฝัน แต่แล้วในที่สุดเราก็พบว่า
สิ่งใดที่หามาได้นั้น หาได้มีคุณค่ามากมายไม่……
ถึงแม้ทุกวันนี้เรามีการเรียนการสอนที่ลึกซึ้ง สลับซับซ้อนซอกซอนลงลึกในทุกสาขาวิชา แต่โศกนาฏกรรมทางการศึกษาได้บังเกิดขึ้นอย่างน่าใจหาย กลับกลายเป็นว่า คนที่มีความรู้มาก กลับใหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หยาบคายต่อสภาพแวดล้อมผู้ให้กำเนิด ใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และโอกาสที่เหนือกว่า คดโกงมนุษย์ด้วยกันในมาดที่น่าบูชา มีระดับ บางทีแสงสว่างของมันสมองก็ไม่ทำให้หัวใจหายมืด การดำเนินชีวิตจึงอยู่อย่างรู้สึกขาดแคลนท่ามกลางความมั่งมี อึดอัดด้วยความไม่รู้จักพอ หงุดหงิดง่าย เปราะ เหงา เซ็ง ผสมผสานด้วยทัศนะอันร้อนระอุว่าต้องการหาเงินเพิ่มอีกเพื่อนำมาบำบัดปัญหาเหล่านี้ วิทยาการอาจอำนวยวิถีทางทำมาหากินที่รุ่งเรือง แต่วิถีทางจิตใจยังร่นเร่ ระหกระเหิน สั่นสะเทือนด้วยการกระทบน้อยใหญ่ โศกๆ ซึมๆ เฮฮา แล้วก็หลบมาเซ็งอย่างโดดเดี่ยว การดำเนินชีวิตอุทิศทุ่มตัวเพื่อซื้อสวัสดิการที่เหลวไหลของสังคมเช่นนี้ มีระบาดให้เห็นตัวอย่างอยู่มากมาย จงขอโอกาสให้กับตนเอง ได้ถามหาเป้าหมายแห่งการมีชีวิตของตนเองด้วยเถิด
….ยังมีต่อในบันทึกหน้า…….
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย รศ.พญ. ปารมี ทองสุกใส ใน Join Smart Path
คำสำคัญ (Tags)#มหาวิทยาลัย#ประชุมวิชาการ#อาจารย์#เชียงใหม่#ครู#ความพอเพียง#ชีวิตพอเพียง#คณะแพทย์#ธีระ#ทองสง
หมายเลขบันทึก: 45601, เขียน: 21 Aug 2006 @ 13:42 (), แก้ไข: 23 Jun 2012 @ 21:36 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 14, อ่าน: คลิก