ขั้นหน้ากระดาษงานเยียวยา AARกับตนเอง


ได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าขาดสติ ตัวชั่วที่อยู่ภายในก็พร้อมที่จะซ้ำเติมเราได้เสมอ แต่ถ้าเราอดทน เรียนรู้ ตั้งใจทำให้สิ่งดี ๆ ที่เราตั้งใจไว้ เราจะได้ทั้งผลของการทำงาน ได้ทั้งบทเรียน และได้กระบวนการจัดการในตนเองไปด้วยในตัว

จากการทะยอยนั่งเขียนบันทึกสิ่งที่ได้เห็น ได้เรียนรู้ ผนวกกับเสียงบันทึก และภาพที่พอจะจำได้ คำถามที่ครู ถามกับติ๋วระหว่างขับรถกลับว่า

“เราได้เรียนรู้อะไรกับตนเองบ้าง”

ตอนนั้นตอบครูแบบกระท่อนกระแท่น

 “ว่าได้เห็นว่า สติอย่างต่อเนื่อง และความอดทนของครูทำให้ผ่านและเผชิญสิ่งต่าง ๆ ได้”

มานึกย้อนกับตนเองตอนเช้า ๆ ที่เดินเข้าห้องบรรยาย ยอมรับค่ะว่า

“ติ๋วตื่นกลัว มากกว่าตื่นรู้”

สิ่งที่เห็นคือ หน้าตาของน้อง ๆผู้ชายโดยส่วนใหญ่ ที่หมองคล้ำ ก้าวร้าว พร้อมที่จะมีเรื่อง นี่คือ ข้อมูลที่ ณ ขณะนั้น จิตติ๋วปรุงแต่งออกมา ส่วนคนที่ดูมีอายุขึ้นมาบ้าง ก็สีหน้าและแววตาเศร้าหมอง และมีน้องตัวเล็ก ๆ น่าจะวัยประถมศึกษา ยืนตีกลองเล่นอยู่ข้างหน้า นี่คือ สิ่งที่ประสาทสัมผัส จับได้ ณ ขณะนั้นที่เดินตามหลังพี่กะปุ๋ม และท่าน ผอ.

ครูจัดแจงวางของต่าง ๆ ไว้ข้างหน้า ติ๋วเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะวางอะไร กับการก้าวเดินตามหลังครู มีเพียงสิ่งเดียวที่ยึดมั่นอยู่คือ ความมั่นใจในครู จะเรียงว่า เป็นความไว้วางใจอย่างไม่มีเงื่อนไขก็ได้ค่ะ เพราะหากไม่รู้ หรือ เจออะไรยาก ๆ ก็ อดทน ทำไป ทนเอา บนพื้นฐานว่า

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ดีเสมอ”

พิธีกรเริ่มเรียกผู้ร่วมประชุมเข้ามาในห้อง การรับรู้ของติ๋วกับเสียงที่กระทบ รู้สึกว่า

“มันคือคำพูดเรียบ ๆแต่ปนไปด้วย การข่มขู่”

สิ่งที่หยิบยื่นเป็นข้อเสนอ ที่ผู้ฟังต้องยอมจำนน เห็นได้ว่า จิตติ๋วค่อนข้างมองหลายอย่างในด้านลบ กับการเผชิญอารมณ์เชิงลบในตนเอง จึงเป็นเพียงการอดทนและมีสติ พอเผลอสติก็จะเหม่อ คิดและรู้สึกสงสารทุกคนที่มารวมกันที่นี่ ๆ แต่ก็ยอมรับว่า

“ไม่มีปัญญาจะช่วยใครได้ ทั้งผู้คุมและผู้ถูกคุม”

แต่เชื่ออะไรไหมค่ะ ติ๋วเชื่ออย่างลงใจว่า

“พระอาจารย์และครู ช่วยได้”

เป็นเรื่องแปลกดีสำหรับสิ่งที่ปรากฏในจิตของตนเอง ณ ขณะนั้น

พอไมค์เริ่มเข้ามือครู หลายอย่างเคลื่อนไป เพราะติ๋วไม่รู้จะทำอะไร และก็ยังมีความรู้สึกหวาดกลัวอยู่ภายใน และเสียงตอกย้ำกับตนเองว่า

“เคสยาก ๆ แบบนี้ แกทำไม่ได้หรอก”

สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้น แต่การมากับครู

“แผนมีไว้หลวม ๆ ไม่จำเป็นต้องทำตามนั้น แต่ต้องมี”

 นี่คือ คำกล่าวที่ครูช่วยย้ำ ระหว่างที่ขับรถมา”

มันเลยมีความรู้สึกที่ตะโกนในใจว่า

“อาจจะไม่ต้องทำก็ได้ ไม่ได้ทำก็ดีนะ ฮ่า ๆ”

นี่ตัวชั่วแหลมมาจะ ๆ แต่สุดท้ายพอครู ยื่นไมค์ มาและส่งเวทีให้ทุกอย่างก็ถูกดำเนินไปอย่างตั้งใจ แม้จะเห็นจุดบกพร่องกับตนเอง แต่ก็พอได้ กับการที่ไม่เคยยืนขึ้นมาทำแบบนี้เอง

ได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าขาดสติ ตัวชั่วที่อยู่ภายในก็พร้อมที่จะซ้ำเติมเราได้เสมอ แต่ถ้าเราอดทน เรียนรู้ ตั้งใจทำให้สิ่งดี ๆ ที่เราตั้งใจไว้ เราจะได้ทั้งผลของการทำงาน ได้ทั้งบทเรียน และได้กระบวนการจัดการในตนเองไปด้วยในตัว

อืมแบบนี้นี่เอง ครูจึงมักจะบอกว่า ไม่ใช่เรามาสอนเขาแต่เขาต่างหากหล่ะ ที่มาสอนเรา

ระหว่างอยู่ข้าง ๆเวที ติ๋วก็พยายาม Capture จดบันทึกสิ่งต่าง ๆให้ได้มากที่สุด อยู่ ๆ ครูก็เดินมาบอกว่า

“ติ๋ว Capture อยู่เหนาะ เดี๋ยวพี่จะให้ติ๋วขึ้นสรุป ก่อนเที่ยงสักสิบห้านาที”

ครานี้งานเข้าค่ะ แม้ครูไม่บอกก็ทำอยู่ แต่พอครูมาบอกก็ ตื่นกลัว จิตหนอจิต ต้องทำเพื่อเสนอ ก็จะมีการจับใจความสำคัญ เล่าลำดับเหตุการณ์และแลกเปลี่ยน จะว่าไป ที่ไม่ยากเพราะทุก ๆ ครั้ง ที่จบ Section ครูก็สรุปตอนท้ายอยู่แล้ว ไม่ใช้ติ๋วเก่ง แต่ครูช่วยสรุปให้แล้วต่างหากค่ะ หน้าที่คือ เรียงร้อย ถ้อยความที่ครูสรุป แล้วก็เติมชีวิตชีวานิดหน่อย

ก็อย่างว่า งานหน่ะไม่ถึงกับยากนะ สำหรับติ๋ว แต่ที่ยากกว่าคือ การจัดการในตนเอง จัดการอะไรหล่ะ ความคิด ความหวาดกลัว ความฟุ้งซ่าน ความตื่นเต้นทั้งหลายแหล่ ต่างหากที่ยาก แต่ก็เหมือนครูให้กุญแจสำคัญมาด้วยว่า

“มีสติ หายใจลึก ๆ ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจยาว ๆ หายใจเข้า สบาย หายใจออกสบาย”

สิ่งเหล่านี้แหละค่ะ ที่พาให้ผ่านพ้นมาได้

สิ่งต่าง ๆ ที่ครูพาดำเนิน กับการเผชิญสิ่งต่าง ๆ คือ สติ อดทน เอาใจใส่ จุดยืนของครู ณ วันนั้น คือ เสาหลักนะ สำหรับติ๋ว ไม่ว่า ใครก้าวขึ้นไปบรรยาย ครูก็ช่วยไปค้ำชู ให้ก้าวย่างได้อย่างมั่นคง

 

 

มานึกย้อนกับตนเอง จะหาหลักยึดก็จะเพียงบางคราที่รู้สึกว่า

“หวั่นไหว หรือสั่นคลอน ที่กอดหลักมั่น ๆคือ ตอนทุกข์บีบคั้น แต่ไม่ใช่ทุกขณะ”

ส่งผลให้ สติยังกระปิดกระปรอย แต่ครู ทำให้เห็นอย่างประจักษ์จิต ประจักษ์ใจว่า มีสติทุกขณะ ปรากฏต่อเนื่องเป็นสมาธิ ดำรงอยู่กับปัญหา ด้วยปัญญา

เพราะสติติ๋วยังน้อย อะไรมากระทบ ก็ยังสั่นไหว แต่การได้ไปในวันนั้นสอนติ๋วได้เยอะจริง ๆว่า “อย่าประมาทแต่ถ้าพลาดก็เอาใหม่”

ยิ่งได้ทบทวนกับตนเอง ก็ยิ่งชัดเจนว่า

“นี่โจทย์ใหญ่ นี่นา ได้เรียนรู้ก็เยอะ แต่ที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นปัญญาเพราะไม่ค่อยทบทวน”

 ถ้าไม่เขียนก็ไม่มีทางได้เข้าใจกับตนเองเลยนะเนี๊ย

กราบขอบพระคุณครูค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 455894เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2011 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท