วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๓๒. อุดมศึกษากับการพัฒนาภูมิภาค และเมือง


          เมื่อวันที่ ๑ ก.ค. ๕๔ สถาบันคลังสมองของชาติ จัดการสัมมนาชุด "มหาวิทยาลัยไทยบน เวทีโลก" ครั้งที่ ๖ เรื่อง "อุดมศึกษากับการพัฒนาภูมิภาคและเมือง : ประสบการณ์จาก อัมสเตอร์ดัม"   โดยเชิญ Mr. Rik Bleeker, Director, Amsterdam Knowledge Network Foundation (KennisKring Amsterdam), Amsterdam, The Netherlands มาเป็นวิทยากร   ดังเล่าแล้วในตอนที่ ๓๑

 

          ผมมองว่า นี่คือรูปแบบหนึ่งของ ๑ มหาวิทยาลัย ๑ จังหวัด หรือการทำงานวิชาการสาย รับใช้สังคม   โดยที่ไม่มองแบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำ หรือต่างมหาวิทยาลัยต่างทำ   แต่ดำเนินการ แบบเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง   และมีกลไกจัดการให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเข้ามาร่วมกันพัฒนาพื้นที่   ซึ่งเป็นงานที่ยาก
          ทางนคร อัมสเตอร์ดัม จึงใช้กลไกจาก OECD มาช่วยเป็นตัวกลาง ทำให้มีวิธีคิดแบบใหม่  ที่ผู้คนในพื้นที่ ฝ่ายธุรกิจ และฝ่ายวิชาการ มาร่วมกันมองอนาคตของพื้นที่ (นครอัมสเตอร์ดัม) ที่สามารถแข่งขัน อยู่ดี ในท่ามกลางสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก   และมีการจัดตั้งสถาบันที่ทำหน้าที่จัดการความสัมพันธ์หรือความร่วมมือของ Triple Helix หรือสามฝ่าย  ชื่อ Amsterdam Knowledge Network Foundation (AKNF)
          เท่ากับ AKNF เข้าไปทำหน้าที่จัดการให้เกิด comprehensive demand ให้แก่มหาวิทยาลัย   เพื่อให้มหาวิทยาลัยตอบสนองได้ง่ายขึ้น เป็นระบบขึ้น   และเกิดกลไกถาวร ที่เรียกว่า Economic Development Board  ซึ่งนำไปสู่การทำงานพัฒนา 7 cluster ของเมือง   ที่นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเข้าไปทำงานร่วมกับฝ่ายธุรกิจ   Development Cluster จึงเป็นกลไกการทำงานร่วมกันในระดับปฏิบัติ
          ตอนบ่ายมีการนำเอาตัวอย่างของมหาวิทยาลัยไทย ที่ทำงานรับใช้สังคมมาเล่า ๔ มหาวิทยาลัย
          ผมฟังแล้วเกิดความคิดว่า   คนในวงการอุดมศึกษามักติดอยู่กับวิธีคิด  ที่คิดอยู่บนฐานของ มหาวิทยาลัย   ทำให้ทำงานวิชาการรับใช้สังคมได้อย่างจำกัด   จะทำงานรับใช้สังคมได้อย่างมีพลัง  ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไปคิดอยู่บนฐานของพื้นที่หรือเมือง   ร่วมกันคิดอย่างบูรณาการทั้งระบบ และมียุทธศาสตร์ ของพื้นที่  
          จึงต้องตั้งหน่วยงานเล็กๆ ทำหน้าที่ตัวกลาง   เพื่อเป็น “พื้นที่” ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่หรือเมือง   เข้ามาร่วมกันคิดบนฐานใหม่ คือฐานของพื้นที่หรือเมืองนั้นๆ   เป็นฐานร่วม   เพื่อป้องกัน ไม่ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดมั่นอยู่กับฐานเดิมของตน
          วิชาการรับใช้สังคม จึงต้องมีกลไกการจัดการที่แยกออกไปจากมหาวิทยาลัย จึงจะทำงานได้ผลจริงจัง
 
วิจารณ์ พานิช
๒๔ ก.ค. ๕๔
  
          
        
        
       
หมายเลขบันทึก: 455785เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2011 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2014 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท