๑๘๘.พุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนลาวแขวงหลวงพระบาง


นี้เป็นสถานการณ์พุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน ที่พระสงฆ์ลาว แม้จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิการเมืองการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่ก็ได้พยายามรักษาพุทธศาสนาเอาไว้ ตลอดจนถึงการสร้างสรรค์ผลงานให้กับสังคมชุมชนได้อย่างงดงาม เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่สาธารณชนตลอดไป

  

              การศึกษาครั้งนี้ (2550-2553) ผู้วิจัยได้เข้าไปสัมภาษณ์พระนักเผยแผ่โดยกำหนดคุณสมบัติซึ่งประกอบด้วย เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก เป็นพระที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ และเป็นพระที่มีแนวคิดด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 14  รูป

                จากการเข้าไปเก็บข้อมูลในหลวงพระบางหลายครั้ง ทำให้ผู้วิจัยได้เห็นถึงอุปสรรคจากการทำงานในประเทศที่มีระบบการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ที่แตกต่างกับประเทศเสรีอย่างมาก ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

       1.ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร แม้ว่าจังหวัดพะเยา ภาคเหนือของไทยกับหลวงพระบางภาคเหนือของลาวจะมีภาษาที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก แต่หลายครั้งการสื่อสารกันเขาก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างร้อยเปอร์เซนต์ สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากอีกประการหนึ่งก็คือศัพท์และสำนวน การออกเสียง ฯลฯ แม้ประชาชนฝั่งลาวจะนิยมดูและฟังข่าวสารไทยจากสื่อโทรทัศน์ และวิทยุก็ตาม

     2.บริบท หมายถึงบริบททางวัฒนธรรมในการติดต่อประสานงาน บริบทของคำพูด บริบทของเนื้อหาหรือเป้าหมายก็ต่างกัน แม้พื้นฐานเดิมของไทยล้านนา-ลาวล้านช้างจะมีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมกันมาก่อนก็ตาม

     3.เจตนาที่มีความไม่ไว้วางใจคนไทย เช่น เมื่อผู้วิจัยถามว่าพระพุทธศาสนาในหลวงพระบางเป็นอย่างไรบ้างในยุคปัจจุบัน? ทั้งพระและโยมมักจะได้รับคำตอบรับเชิงปฏิเสธว่า “...พระพุทธศาสนาก็เหมือนเมืองไทยทุกอย่าง ศาสนาก็อันเดียวกัน พระเจ้าก็อันเดียวกัน คำสอนก็อันเดียวกัน...” นั้นก็หมายความว่าคนไทยจะไปจ้องจับผิดหรืออย่างไร ซึ่งสิ่งนี้ต้องพยายามทำความเข้าใจต่อไป ยิ่งลาวกับไทยมีอดีตที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันระหว่างบรรพบุรุษไทยเข้าไปรุกรานลาว ทำให้มีการปลูกฝังเรื่องความรักและความแค้นของชาติ คงจะคล้าย ๆ กับไทยยุคหนึ่งที่พยายามปลูกฝังความรักและความแค้นของชาติต่อคนพม่า

     4.การหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม หรือตอบไม่ตรงคำถาม บ่อยครั้งที่พระภิกษุและประชาชนชาวลาวพยายามไม่ตอบคำถามแบบตรง ๆ เช่น เมื่อแรกพบกันผู้วิจัยถามชื่อประชาชนคนหนึ่ง ตอบว่าชื่อภูมา แต่เมื่อสัมภาษณ์ไปแล้วเมื่อขอชื่อ นามสกุลจริง กลับตอบว่าชื่อภูมี เป็นต้น การทำงานแต่ละครั้ง ผู้วิจัยต้องสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย และต้องรอจังหวะใหม่ แล้วกลับมาถามประเด็นในภายหลังอีกครั้งหนึ่ง หรือไม่ก็ให้ทีมงานช่วยสร้างบรรยากาศ เป็นต้น

     5.ความกลัวต่ออาญาแผ่นดิน ในประเด็นนี้ เป็นที่ทราบดี การแสดงทัศนะใดใด ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อกฏหมายบ้านเมืองของลาวเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อทางการลาว ได้มีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ในทัศนะของผู้วิจัยเห็นว่ามีความยืดหยุ่นอยู่มากหากเทียบเคียงจากการไปเก็บข้อมูลในครั้งก่อน เช่น สามารถถือสมุดและปากกาไปจดได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทางการได้ผ่อนปรนในประเด็นนี้มากขึ้น

     6.การเดินทางไปเก็บข้อมูล แม้ระยะทางจะไม่ไกล แต่การคำนวณระยะเวลาในการเดินทางเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนด้วยความไม่สะดวกเรื่องถนน การติดต่อประสานงาน เอกสารที่เกี่ยวข้อง และระยะเวลาในการอยู่อาศัย

     7.การสัมภาษณ์ครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้คำว่า “พุทธศาสนาหัวก้าวหน้า” แทนคำว่า “พุทธศาสนาเชิงรุก” เนื่องจากลองใช้คำว่าพุทธศาสนาเชิงรุกแล้วไม่ได้ผล หรือไม่เข้าใจ ดังนั้นผู้วิจัยต้องตีความหมายโดยอาศัยบริบทคำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์มาวิเคราะห์และอธิบายเพิ่มเติมด้วย

     จะอย่างไรก็ตาม เมื่อผู้วิจัยได้เจออุปสรรคทางด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้วิจัยเมื่อกลับเข้าไปทำงานในช่วงหลัง ๆ จึงได้อาศัยพระสอน จอมพระจันทร์ นิสิตลาว ที่เข้ามาเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ช่วยเป็นล่ามในการสื่อสารให้

     ดังนั้น ผู้วิจัยได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์จนได้แนววิธีปฏิบัติ จำนวน 9 แนวทาง จึงนำมาสรุปลงในพุทธศาสนาเชิงรุก 3 ด้าน คือด้านการเผยแผ่ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ มีรายละเอียดดังนี้

 

พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการเผยแผ่ 

     พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการเผยแผ่นี้ มี 4  แนวทาง คือ 1)รุกด้วยการเผยแผ่ผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์  2)รุกด้วยการฝึกอบรม  3)รุกด้วยการเขียนหนังสือ 4)รุกด้วยการตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทั้งนี้มีพระที่มีคุณสมบัติจำนวน 6 รูป ดังนี้

1.รุกด้วยการเผยแผ่ผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้ ถือว่าเป็นพุทธศาสนาเชิงรุกที่ก้าวหน้ากว่าพะเยาเป็นอย่างมาก แม้หลวงพระบางจะมีพระสงฆ์ทำงานด้านนี้น้อยก็ตาม แต่พระสงฆ์ที่โดดเด่นด้านนี้คือสาธุอ่อนแก้ว กิตฺติภทฺโท มีรายละเอียดดังนี้

     สาธุอ่อนแก้ว  กิตฺติภทฺโท ได้ให้ความหมายพุทธศาสนาเชิงรุก ไว้ว่า  “...กระบวนการที่ได้มาซึ่งแนวทางการใช้สื่อสารทางเทคโนโลยีเพื่อการเผยแผ่พุทธศาสนาต่อประชาชนอย่างทั่วถึง...” ท่านหมายถึงการทำพุทธศาสนาเชิงรุกนั้นต้องทำเป็นกระบวนการ โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเผยแผ่เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่และมีการกระจายไปอย่างกว้างขวาง

     เท่าที่ผ่านมาสาธุอ่อนแก้ว กิตฺติภทฺโท ได้ทำงานด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาทางด้านสถานีวิทยุกระจายเสียงในทุก ๆ วันพระ 15 ค่ำ และหลายครั้งต้องเดินทางไกลเพื่อไปออกรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ณ กรุงเวียงจันทร์ ซึ่งเนื้อหาที่ได้แสดงออกต่อสาธารณชนโดยมากก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณี กิจกรรมทางพุทธศาสนา เนื้อหาของพุทธประวัติ ธรรมะและความสามัคคีภายในชาติ เป็นต้น

2.รุกด้วยการฝึกอบรมประชาชน

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้ แม้จะมีพระสงฆ์ร่วมกันทำอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ต่อเนื่อง คือผู้ที่ทำงานไม่มั่นคงในศาสนา ดังคำของรองประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ลาว กล่าวว่า “...พระหัวก้าวหน้าดีในด้านสังคม สามารถทันคน ทันโลก เผยแผ่บ่เบื่อ บ่เซ็ง แต่ไม่มั่นคงในศาสนา เพราะเอาแต่สังคม ไม่เอาตนเอง (วิปัสสนากัมมัฏฐาน)...” แต่ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและมีผลงานโดดเด่นอยู่ในขณะนี้คือสาธุคำเสาร์ จิตฺตโท มีรายละเอียดดังนี้

     เท่าที่ผ่านมาสาธุคำเสาร์ จิตฺตโท ได้ทำงานด้านการฝึกอบรมประชาชน ข้าราชการ ตลอดถึงเด็กและเยาวชนตามโครงการที่ได้จัดทำขึ้นทั้งในวาระประจำปีและตามโอกาสที่กระทำซึ่งบางครั้งร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐ แม้จะมีการเมืองเกี่ยวข้อง แต่ท่านก็ใช้หลักและเทคนิคในการสอดแทรกพระธรรมคำสอนอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส

 

3.รุกด้วยการเขียนหนังสือ

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้ แม้จะไม่ชัดเจนอย่างประเทศไทย แต่ในอดีตมีพระที่มีบทบาทด้านนี้คือสาธุใหญ่คำจันทร์ (มรณภาพแล้ว) ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านนี้เอาไว้มาก ส่วนในปัจจุบันแม้จะมีไม่มากนัก เมื่อได้รับการยืนยันว่ามีพระนักเขียนอยู่ จึงได้สำรวจดูในห้องสมุดเท่าที่สัมผัสดูมีหนังสืออยู่ 4 ประเภทคือ

    3.1.หนังสือที่เขียนเป็นภาษาไทย เช่น พระพุทธศาสนาในประเทศลาว เขียนโดย พระอาจารย์ดำรง พ. ธรรมิกมุนี เป็นพระสงฆ์นอกพื้นที่และหนังสือดังกล่าวก็มีการจัดพิมพ์ขึ้นในประเทศไทย

     3.2.หนังสือที่เขียนเป็นภาษาลาว เช่น หนังสือไหว้พระสวดมนต์แปล เขียนโดย พระอริยมุนีศรีสุทธรรมโลกาจารย์  ซึ่งก็ไม่ใช่คนในท้องถิ่นหลวงพระบางอีก เช่นกัน

     3.3.หนังสือที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Buddhism  and  Democracy  Theravad  Buddhist  Perception  เขียนโดย  D.P.Dhammikammuni ก็เป็นพระจากแขวงอื่นไม่ใช่หลวงพระบาง

     3.4.หนังสือที่เป็นตำราเรียน เขียนเป็นภาษาลาว ได้แก่หนังสือนักธรรม บาลี ซึ่งโดยมากเป็นวิชาพุทธประวัติ วิชาธรรมะ วิชาวินัย ฯลฯ โดยมากเนื้อหาที่ปริวรรตมาจากภาษาไทย

     ส่วนสาธุคำน้อย ญาณวํโส ได้มีส่วนในการเขียนหนังสือ(ปริวรรต)ประเภทแบบเรียนเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาประจำโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ท่านได้รับผิดชอบอยู่  แม้ว่าการจัดทำหนังสือแต่ละครั้งต้องได้รับอนุญาตจากภาครัฐก่อนเสมอ ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลาในการขออนุญาตมากซึ่งเป็นระบบธรรมดาของการเมืองการปกครองที่ปิดอยู่แล้ว

 

4.ตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้  นับว่าเป็นที่นิยมของพระสงฆ์และประชาชนลาวเป็นอย่างมาก ประกอบกับทัศนคติที่มีความผูกโยงเข้ากับพระธรรมวินัยมากกว่าไทย มีพระที่ทำงานที่มีผลงานดีเด่นด้านนี้ 3 รูป มีรายละเอียดดังนี้

                สาธุสมสุวัน  ปญฺจสีโร เท่าที่ผ่านมาท่านได้ทำงานอย่างหนักด้านการนำพุทธศาสนาออกสู่สาธารณชน โดยสร้างสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานให้เป็นที่ฝึกหัดปฏิบัติ ฝึกอบรมประชาชนแล้ว ท่านยังสร้างวัดให้เป็นวัดน่าอยู่ สวยงามเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง นับว่าท่านได้สร้างวัดให้ร่มรื่นให้เกิดสัปปายะขึ้นแก่ชุมชนมิใช่น้อย

                สาธุบุญมี  สจฺจสงฺโฆ  เท่าที่ผ่านมาท่านนำประชาชนเข้าวัดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้วท่านยังเป็นพระนักเทศน์อีกด้วย

                สาธุปันยา  สงฺฆธมฺโม          เท่าที่ผ่านมาท่านได้ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพุทธศาสนาและเข้าวัดปฏิบัติธรรมอย่างดียิ่ง

 

พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการศึกษาสงเคราะห์

     พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการศึกษาสงเคราะห์นี้ มี 2  แนวทาง คือ  1)รุกด้วยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม  2)รุกด้วยการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้มีพระที่มีคุณสมบัติจำนวน  3 รูป ดังนี้

1.รุกด้วยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม

     สาธุบัว ญาณวโร  เท่าที่ผ่านมาท่านได้รับภาระในการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญของลาว ซึ่งมีตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่  7 เป็นอย่างดี แม้แต่การศึกษาก็แบ่งออกเป็นสองช่วงคือระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ให้มีการจัดการเรียนการสอนตอนเช้า  ส่วนในภาคบ่ายเป็นของมัธยมปลายคือ มัธยมปีที่ 4 – 7 อันเนื่องมาจากอาคารสถานที่ที่จำกัด ตลอดทั้งจำนวนครูอาจารย์ด้วยที่ยังเป็นปัญหา

     สาธุคำปาง ภูปญฺโญ  เท่าที่ผ่านมาท่านได้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญซึ่งถือว่าก้าวหน้าที่สุดของหลวงพระบางในขณะนี้ เนื่องจากความหลากหลายของการศึกษาของพระภิกษุสามเณรมีไม่มาก โอกาสในการเข้าถึงการศึกษายังมีข้อจำกัดอยู่มาก

 

2.รุกด้วยการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

     สาธุบุญจิน  จินฺตวโร  เท่าที่ผ่านมาใช้กิจกรรมการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมในการพัฒนาคน และแทรกแนวคิดพุทธศาสนาเพื่อการพัฒนาเข้าไปด้วย  ลักษณะเด่นของท่านคือการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดใหม่สุวรรณพูมาราม ซึ่งภาพจิตรกรรมดังกล่าวนั้นได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหาเวสสันดรชาดกเอาไว้อย่างน่าสนใจ

 

พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการสาธารณสงเคราะห์

     พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการสาธารณสงเคราะห์นี้ มี 3  แนวทาง คือ  1)รุกด้วยการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ  2)รุกด้วยการพัฒนาสังคม  3)รุกด้วยการประสานญาติโยม  ทั้งนี้มีพระที่มีคุณสมบัติจำนวน  5 รูป ดังนี้

1.รุกด้วยการรักษาป่าต้นน้ำ

     สาธุบุญเพ็ง  ผริตธมฺโม  เท่าที่ผ่านมาท่านได้จัดกิจกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยดูแลผืนป่าโดยการนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างวัดกับชุมชนอีกด้วย

      ในประเด็นนี้ ผู้วิจัยลองยกตัวอย่างที่จังหวัดพะเยาว่ามีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการบวชต้นไม้ และการสืบชาตาแม่น้ำ ท่านแสดงทัศนะว่าต้นไม้ไม่ใช่คนจะบวชทำไม สืบชาตาก็ไม่ควร ซึ่งภายในลึก ๆ แล้วคณะสงฆ์และประชาชนลาวกลับมองในประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าขบขัน ไม่ได้มองที่กลยุทธ์ในการทำกิจกรรมอย่างพระสงฆ์ไทย

 

2.รุกด้วยการพัฒนาสังคม

     สาธุบุญเลิด  รวิวณฺโณ เท่าที่ผ่านมาท่านได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าฝ่ายสาธารณูปการ (การก่อสร้าง) ซึ่งการก่อสร้างศาสนสถานในแขวงหลวงพระบางทั้งหมดต้องผ่านความเห็นชอบและการเข้าไปดูแลและควบคุมจากท่าน ขณะที่ผู้วิจัยเข้าไปเก็บข้อมูลท่านได้รับผิดชอบในการดูแลการก่อสร้างวิหารวัดบ้านนาใหม่ ตำบลนายาง เมืองน้ำบาก แขวงหลวงพระบางอยู่

     สาธุจันทริน  จินฺตธมฺโม  เท่าที่ผ่านมาสาธุจันทริน จินฺตธมฺโม ถือว่าเป็นพระที่มีหัวก้าวหน้ามากที่สุดในเมืองหลวงพระบาง จากการไปสัมผัสการทำงานที่มีเครื่องมือทางการสื่อสาร สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผนวกกับกระบวนคิดและวิธีการสื่อสารที่สามารถชี้ให้เห็นภาพรวมของหลวงพระบางจากอดีตสู่ปัจจุบันตลอดไปจนถึงอนาคตได้เป็นอย่างดี

     สาธุทองก้อน  ปญฺญาวีโร  เท่าที่ผ่านมาท่านได้พัฒนาวัดให้เป็นที่พึ่งของประชาชนในด้านต่าง ๆ ประกอบกับการมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาด้วย

 

3.รุกด้วยการประสานญาติโยม

     สาธุบุญทัน  ปุญฺญกาโม  เท่าที่ผ่านมาท่านได้บริหารกิจการคณะสงฆ์และประสานญาติโยมในการเข้ามาส่งเสริมพุทธศาสนาเชิงรุกอย่างแท้จริง ซึ่งเห็นได้จากอาคารสิ่งปลูกสร้างที่พัฒนาขึ้นมากตามลำดับ และยังแสวงหาทุนในการสร้างวิทยาลัยสงฆ์หลวงพระบางซึ่งจะเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาเชิงรุกต่อไปในอนาคต

 

     นี้เป็นสถานการณ์พุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน ที่พระสงฆ์ลาว แม้จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิการเมืองการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่ก็ได้พยายามรักษาพุทธศาสนาเอาไว้ ตลอดจนถึงการสร้างสรรค์ผลงานให้กับสังคมชุมชนได้อย่างงดงาม เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่สาธารณชนตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 455503เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2011 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท