การตัดสินคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์


การตัดสินคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์

 

             การตัดสินคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ ในฐานะที่กวีนิพนธ์เป็นทั้งวัตถุแห่งสุนทรียะและเป็นทั้งเครื่องมือในการเสนอปรัชญาของนักคิดไทย กวีนิพนธ์จึงทำหน้าที่ในการตีแผ่ชีวิตทั้งในด้านสุขและทุกข์ ทำให้เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง เห็นความสำคัญของชีวิตและซาบซึ้งในคุณค่าของชีวิต มองในแง่สุนทรียศาสตร์ กวีนิพนธ์เป็นทัศนศิลป์และเป็นวิจิตรศิลป์มีภาระในการสนองความต้องการด้านสุนทรียะ 

             กวีนิพนธ์นั้นเป็นศิลปะแห่งการใช้คำสื่อความหมายให้เกิดความงาม และความงามนี้เป็นทั้งจิตวิสัย(Subjective) และวัตถุวิสัย(Objective)(1) คือ ทั้งขึ้นอยู่กับจิตและขึ้นอยู่กับวัตถุประกอบกัน ความงามมิได้อาศัยจิต หรืออาศัยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ความงามมีอยู่ทั้งในสภาพแวดล้อมและในจิตมนุษย์เรา ที่ความงามมีอยู่ในจิตได้แก่จิตที่กระทำปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อม  มาตรการตัดสินความงามจึงแตกตางกันไปตามรสนิยมและยุคสมัย  ผู้ประพันธ์กวีนิพนธ์ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด มีความมุ่งหมายสร้างสรรค์ความงามหรือสุนทรียะขึ้นตามมาตรการของตน  กวีนิพนธ์หรือวรรณคดีจึงเป็นวิจิตรศิลป์อย่างหนึ่ง

             กล่าวโดยพันธกิจนักปรัชญากับนักกวีมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ปรัชญาใช้เหตุผลเพื่อเข้าใจสัจธรรม ในขณะที่กวีใช้อารมณ์ความรู้สึกสร้างศิลปะในตัวอักษรเพื่อให้เข้าสัจธรรม 

            ทั้งนักปรัชญาและนักกวีมุ่งไปสู่ความเข้าใจในสัจธรรม เพียงแต่ใช้เครื่องมือต่างกัน  สัจธรรมตามทัศนะของนักปรัชญากับนักกวีก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน นักปรัชญายอมรับสัจธรรมและตัดสินคุณค่าโดยเหตุผล ส่วนนักกวียอมรับสัจธรรมและตัดสินคุณค่าโดยอารมณ์ความรู้สึก เมื่อนักปรัชญามองดูดอกไม้ สัจธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเห็นคือ ความงาม แต่จะยอมรับสัจธรรมนั้นว่าเป็นจริงหรือไม่ ก็ต้องพยายามสืบค้นต่อไปว่าความงามมีอยู่ในดอกไม้หรือมีอยู่ในจิต  

             ส่วนนักกวีมองดูดอกไม้  ความงามของดอกไม้อาจทำให้กวีเกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรงทันที จนเกิดการตัดสินคุณค่าแห่งความงามของดอกไม้

เมื่อนายมีเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรัง    เห็นมวลดอกไม้นานาชนิดระหว่างทาง   นายมีได้ตัดสินคุณค่าของดอกไม้ดังนี้

           เห็นสาวหยุดหยุดยืน                 ค่อยชื่นจิตพี่ยิ่งคิดถึงนุชที่สุดหมาย

           ได้หยุดชมหยุดเชยเคยสบาย      ทั้งหยุดก่ายหยุดกอดแม่ยอดรัก

                                                                                                (นิราศพระแท่นดงรัง)

การตัดสินคุณค่าของดอกไม้ว่ามีความงามเหมือนผู้หญิงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นจริงโดยทั่วไป สุนทรภู่กล่าวว่า    "เห็นพุ่มพวงปุบผายิ่งอาลัย    สลดใจขุกคิดถึงคู่เคียง" (นิราศพระบาท) กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโรรสก็กล่าวไว้เช่นกันว่า

                เลบมือนางนี้หนึ่ง                   นขา  นางฤา

                ต้องดั่งต้องบุษบา                  นิ่มน้อง

                ชงโคคิดชงฆา                      นุชนาฏ  เหมือนฤา

                เรียมรเมียรเดื่อปล้อง              ดั่งปล้องสอสมร

                                                                (เตลงพ่าย)

               แม้วิธีการของกวีกับนักปรัชญาจะแตกต่างกัน ในการพยายามตีความคุณค่าของดอกไม้ แต่สัจธรรมที่เกิดกับนักปรัชญาและนักกวีก็เป็นอย่างเดียวกันคือ ความงามและการตัดสินคุณค่าของดอกไม้นั้น  ขอให้สังเกตข้อความดังไปนี้

นักปรัชญา  :        วัตถุเป็นบ่อเกิดแห่งความงาม

                          ดอกไม้เป็นวัตถุชนิดหนึ่ง

                         ดอกไม้เป็นบ่อเกิดแห่งความงาม

นักกวี   :              สาวหยุดหยุดย่างช้า                 หวังชัก       ชวนแม่

                          รักใช่รักแรมรัก                        สุดรู้

                          นางแย้มจะยลพักตร์                 ฤาพบ       พานเลย

                         ซ่อนกลิ่นกลอยซ่อนชู้               ชื่อซ้ำใจถวิล

                                                                                                    (นิราศนรินทร์)

            วิธีการเข้าถึงความจริงแห่งความงามที่ซ่อนอยู่ในดอกไม้ข้างต้น ทำให้เกิดโลกทัศน์เฉพาะของนักกวีและนักปรัชญา   แม้วิธีการอธิบายความงามของดอกไม้จะแตกต่างกัน  นักปรัชญาตัดสินความงามของดอกไม้โดยใช้หลักตรรกะ  กวีตัดสินความงามของดอกไม้โดยใช้อารมณ์ความรู้สึก แต่ทั้งสองก็ต้องการสื่อให้ผู้รับสารทราบถึงความจริงของดอกไม้ที่ตรงกันคือความงาม  ถึงกวีจะไม่ได้บอกว่า  กวีคิดถึงความงามของหญิงคนรักเพราะใช้หลักเหตุผลทำให้เกิดปัญญาจนรู้ว่าความงามมีอยู่ในดอกไม้ หรือดอกไม้เป็นวัตถุที่ทำให้เกิดความงาม  หรือความงามมีอยู่ในจิต ดอกไม้กระตุ้นให้ความงามขึ้นในจิต กวีจึงคิดถึงหญิงคนรัก

             แต่เมื่ออ่านโคลงบทนี้เราเห็นได้ทันทีว่าความงามที่เกิดขึ้นแก่กวีผู้ประพันธ์ไม่ได้ผ่านการวิจารณ์ตามหลักเหตุผล(Logic)  ความจริงทางสุนทรียะในดอกไม้ที่เกิดแก่กวีผู้ประพันธ์จึงไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล

             ถ้าอธิบายตามหลักปรัชญาว่าทุกอย่างอธิบายโดยเหตุและผลจึงยอมรับได้ นั่นก็หมายความว่า เมื่อเห็นดอกไม้ทุกคนจะต้องคิดตามหลักเหตุผลจนเกิดปัญญาก่อนว่า ดอกไม้นี้เป็นดอกอะไร  เป็นสีอะไร  ความงามที่ปรากฏในดอกไม้นี้เป็นวัตถุที่ลอกเลียนแบบหรือถ่ายแบบมาจากพระเจ้า เมื่อทราบตามหลักเหตุผลแล้ว  ความรู้สึกว่างามจึงเกิดขึ้นตามมา 

            แต่ในความเป็นจริงเมื่อเห็นดอกไม้ความรู้สึกว่างามเกิดขึ้นทันที    สำหรับนักกวีแล้ว   ความงามนั่นแหละคือความจริงและความจริงก็คือความงามนั่นเอง

เมื่อนักปรัชญากับนักกวีเห็นดอกไม้ดอกหนึ่ง วิธีการอธิบายความงามของดอกไม้จึงแตกต่างกันออกไป  แต่เมื่อสรุปคือทั้งสองก็พูดถึงความงามเช่นกัน  

              แม้จะมีผู้ปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับกวีนิพนธ์ในแง่ของการใช้ปัญญาและเหตุผลในการวิจารณ์ชีวิต  สังคม  และสรรพสิ่ง โดยแยกกวีนิพนธ์ออกเป็นส่วนหนึ่งจากการใช้ปัญญาและเหตุผล     โดยจัดให้กวีนิพนธ์เป็นศิลปะที่มีไว้สำหรับเทศนาสั่งสอนประชาชนให้เป็นคนดีตามหลักศาสนา กวีนิพนธ์จึงไม่เกี่ยวกับการใช้ปัญญาเพื่อเข้าไปตรวจสอบสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัส จนนักปรัชญาบางท่านเน้นว่า  กวีต้องไม่ใช้บทกวีของเขาในการค้นหาความคิดนามธรรมเพราะเชื่อว่าศิลปะต่ำกว่าปรัชญา

             โดยรูปแบบ  แม้กวีนิพนธ์จะเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก  ส่วนปรัชญาเป็นเรื่องของปัญญาและเหตุผล  แต่กวีนิพนธ์ก็มิได้ว่างไร้จากการใช้ปัญญาเสียทีเดียว 

             ผู้ประพันธ์พยายามใช้ปัญญาเพื่อขบคิดสัจธรรมเช่นเดียวกับปรัชญา    นักปรัชญานำเสนอแนวคิดของตนโดยใช้ตรรกวิธี   ส่วนนักกวีเลือกศิลปะเพื่อสุนทรียะในการนำเสนอ โดยที่กวีนำเอาสัจธรรมต่างๆ มาหลอมรวมกันเข้าแล้วเคลือบด้วยน้ำคำหวานคือ ภาษากวีมีเป้าหมายให้ผู้เสพวรรณคดีได้รับสุนทรียรส และสัจธรรมในคราวเดียวกัน สัจธรรมที่เกิดจากปรัชญามีรสแห่งแล้ง แต่สัจธรรมที่เกิดจากกวีนิพนธ์ผู้ประพันธ์เชื่อว่ามีรสหวานเสนาะโสต "ถนอมถนิมประดับโสต" นักกวีจึงใช้กวีนิพนธ์แสดงสัจธรรม  เมื่อสุนทรภู่กล่าวว่า

อันอ้อยตาลหวนลิ้นแล้วสิ้นซาก      แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย

แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลายเจ็บจนตายไม่เหมือนเหน็บให้เจ็บใจฯ   

 (เพลงยาวถวายโอวาท)

             แม้สุนทรภู่จะไม่ได้มุ่งเสนอหลักปรัชญาในฐานะของนักปรัชญา แต่คุณค่าที่กวีนำเสนอก็เป็นปรัชญาในตัวของมันเอง เพราะกวีต้องการนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของจิตที่รับอารมณ์ เท่ากับว่ากวีเข้าไปวิจารณ์สภาพจิตมนุษย์โดย การตัดสินความงามของกวีข้างต้น ไม่ได้ขึ้นต่อการตัดสินด้วยเหตุผล  แต่กวีตัดสินด้วยความรู้สึก

             ประเด็นดังกล่าว เจตนา นาควัชระกล่าวว่า ถ้าจะพิจารณากันให้ถ่องแท้  คุณค่าของวรรณคดีนั้นเป็นคุณค่าที่มีอยู่ในตัวของวรรณกรรมเอง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคุณค่าที่ผูกพันอยู่กับจุดประสงค์ของผู้แต่ง หรือกับความเชื่อถือของผู้ประพันธ์ ประสบการณ์ของศิลปินผู้มีโลกทัศน์อันลุ่มลึกและกว้างไกลได้กลั่นกรองมาแล้วนั้น  ย่อมจะมิต้องพึ่งคุณค่าอันใดที่มาจากภายนอกนั่นก็แสดงว่า เหตุผลมิใช่วิธีการเพียงอย่างเดียวที่จะทำให้เข้าถึงสัจธรรมตามความเป็นจริง  แม้กวีผู้เพ่งพินิจพิจารณาด้วยอารมณ์ความรู้สึก ก็สามารถเข้าถึงสิ่งนั้นๆได้ตามความเป็นจริงได้ ในคัมภีร์ทางศาสนาได้จำแนกนักกวีไว้เป็น ๔ ประเภท    คือ 

          ๑.  จินตกวี   

          ๒.  สุตกวี 

          ๓.  อรรถกวี 

          ๔.  ปฏิภาณกวี   

            จินตกวีและปฏิภาณกวีใช้อารมณ์ความรู้สึกหรือความสะเทือนใจในการสร้างสรรรค์ผลงาน ส่วนสุตกวีและอรรถกวีใช้ปัญญาในการสร้างสรรค์ผลงาน สุตกวีและอรรถกวีสร้างสรรค์ผลงานโดยมุ่งสารัตถะ และสารัตถะนั้นอาจจะเกิดจากการได้ยินได้ฟัง   เพ่งพินิจ  หรือไตร่ตรองตามปัญญาก็ได้ 

            โดยนัยนี้กวีนิพนธ์จึงมิใช้เพียงเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก   หากอยู่ที่สารัตถะที่กวีต้องการน้ำเสนอ แต่อาศัยความเพลิดเพลิน(สุนทรียะ)เป็นสื่อแสดงออก "ถึงเถาวัลย์พันเกลียวไม่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน" (พระอภัยมณี)  ผู้ประพันธ์มิเพียงแต่ต้องการให้เข้าถึงสุนทรียรสของภาษาเท่านั้น หากแต่ต้องการให้เข้าถึงสารัตถะที่ผู้ประพันธ์สอดแทรกไว้ในสุนทรียรสนั้นด้วย   เป็นการเข้าไปวิจารณ์สภาวจิตของมนุษย์ว่ามีสภาพวกวนเกินหยั่งรู้             

              หากพิจารณาคุณค่าของดอกไม้ในแง่สัจธรรม ความจริงที่มีอยู่ในดอกไม้ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อการตัดสินด้วยเหตุผล   แต่ดอกไม้ก็มีความจริงอยู่ในตัว  กวีนิพนธ์ที่กวีรังสรรค์ขึ้นด้วยวรรณศิลป์ก็เช่นเดียวกัน มีเนื้อหาที่รองรับความจริงอยู่ในตัว  ความงามความไพเราะของกวีนิพนธ์บทหนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องตัดสินด้วยเหตุผล  กล่าวอีกนัยหนึ่ง องค์ประกอบทางวรรณศิลป์ที่กวีรังสรรค์ขึ้นนั่นเองเป็นความงามความไพเราะและมีสัจธรรมอยู่ในตัว(2)

              ดังนั้น บทประพันธ์ที่ไพเราะแต่เสียง  ยังไม่ถือว่ามีความไพเราะสมบูรณ์  ความไพเราะที่นับว่าสมบูรณ์จะต้องเกิดจากความเด่นทางด้านเสียงซึ่งสัมพันธ์กับความหมายที่มุ่งอันติมสัจ(Ultimate truth) คือความจริงอันสูงสุด

              นอกจากผู้ประพันธ์จะนำธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือในการสร้างศิลปะเพื่อให้เกิดสุนทรียะแล้ว ผู้ประพันธ์ยังได้ใช้สุนทรียรสแห่งกวีนิพนธ์เคลือบสัจธรรมเอาไว้  หากผู้เสพกวีนิพนธ์อย่างพินิจก็จะได้รับความจริง ๒ ประการในคราวเดี่ยวกัน คือ ความไพเราะแห่งกวีนิพนธ์หรือสุนทรียรสแห่งกวีนิพนธ์  และสัจธรรมของสรรพสิ่งที่สอดแทรกอยู่ในความไพเราะ 

เมื่อ น.ม.ส. อ่านลิลิตตะเลงพ่ายจบลงได้กล่าวถึงรสแห่งกวีนิพนธ์ดังกล่าวว่า

             ทรงเชลงเตลงพ่าย                  รึงใจ

             ผู้สดับฤทัย                             ทุกผู้

             คำหอมกล่อมกลอนไพ              เราะโสต

             ยังไม่มีใครสู้                            แต่นั้นนานมาฯ

                                                                  (สามกรุง)

ภาษากวีนั้นเป็นภาษาดนตรี และดนตรีก็ดำรงอยู่ในชุมชนมนุษย์มีพันกิจเช่นเดียวกันกับกวีนิพนธ์

เพลโต้(๔๒๘-๕๔๗ ก่อน ค.ศ.) นักปรัชญาชาวกรีกกล่าวว่า "ดนตรีรวมทั้งศิลปะ วรรณคดี เพลง และอื่นๆ ซึ่งดีงาม เพื่ออบรมใจให้อ่อนโยน และช่วยทำให้จิตวิญญาณได้ส่วน คนที่ไม่มีดนตรีการ  วิญญาณย่อมไว้ใจไม่ได้"  (3)

             ความงามของกวีนิพนธ์นั้นเปรียบเสมือนความไพเราะของดนตรี  ดนตรีให้ความเพลินใจอย่างไร กวีนิพนธ์ก็มีพันธกิจเช่นนั้น และสุนทรียะแห่งกวีนิพนธ์นั้นคุณพุ่มเชื่อว่าสามารถทดแทนดนตรีได้ เมื่อคุณพุ่มประพันธ์กวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อุทิศกวีนิพนธ์นั้น "แทนสังคีตเครื่องดีสี" (เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติคุณพุ่ม) 

             เจตนา  นาควัชระกล่าวว่า  "การที่กวีแต่งงานประพันธ์ขึ้นมาแล้วอุทิศให้ "ผู้อื่น" นั้น  อาจจะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะประกันคุณภาพของงานศิลปะ  เพราะถ้าไม่ดีไม่มีคุณค่าแล้วก็ไม่กล้ามอบเป็นสมบัติของผู้อื่นที่ตนเคารพ  คุณค่าที่กล่าวถึงอาจมิใช่คุณค่าในเชิงสุนทรียะเท่านั้น

             นักประพันธ์ไทยมีความภูมิใจที่จะใช้กวีนิพนธ์แทนดนตรี หรือเขียนกวีเพื่อร้องทำนองเพลง เพื่อให้ประชาชนเกิดความเพลิดเพลิน  จนบางครั้งแม้จะอยู่ในช่วงระหว่างเผชิญความทุกข์ ก็สามารถใช้ศิลปะร้อยเรียงสรรพสิ่งเป็นดนตรีได้   จนเรียกได้ว่า "ระบายความทุกข์เป็นสุนทรียะ" เช่น นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง และเพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า แม้ผู้ประพันธ์จะเป็นช่วงที่กำลังเผชิญกับความเป็นความตาย แต่กวีก็สามารถนำเหตุการณ์นั้นมาเสนอในรูปแห่งสุนทรียะได้ กวีมองสภาวะแวดล้อมรอบตัวกวีด้วยความรู้สึกนึก "คิดคล้ายละม้ายเหมือนดนตรี "(นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง)

              ความพยายามในการใช้กวีนิพนธ์แทนดนตรีเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของนักคิดไทย   เพราะเชื่อว่าดนตรีนั้นมีค่าสำหรับชาวเมืองอย่างมาก  เมื่อกวีจะตัดสินค่าของดนตรีจึงตัดสินด้วยคุณค่าของเพชร  ดังที่สุนทรภู่ได้ตัดสินคุณค่าของดนตรีไว้ว่า  "อันดนตรีมีค่าทุกอย่างไป   ย่อมใช้ได้ดั่งจินดาค่าบุรินทร์"  (พระอภัยมณี)

กวีเชื่อว่าเสียงแห่งดนตรีก็คือเสียงแห่งกาพย์กลอนนั้นเองเมื่อประโคมดนตรีจึงประโคมด้วยท่วงทำนองแห่งกาพย์กลอน เช่น

           ".....................  จับพิณดีดประสานสำเนียงครวญ

             แกล้งประดิษฐ์คิดขับเป็นกาพย์กลอน   กระแสเสียงลอยร่อนโหยหวนฯ   (กากีกลอนสุภาพ)

             แม้จุดประสงค์ของการประพันธ์ผลงานจะมีความแตกต่างกัน แต่วัตถุประสงค์หลักซึ่งถือว่าเป็นพันธกิจหลักของผู้ประพันธ์คือ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุนทรียะ พันธกิจดังกล่าวเกือบจะเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของผู้ประพันธ์  เพราะเชื่อว่าคำที่ประพันธ์ขึ้นโดยฉันทลักษณ์นั้นมีความงามไพเราะอ่อนหวานเป็น "พจนารถสุนทร" ประพันธ์ต้องใช้ศิลปะในการใช้อักษรให้เป็นวัตถุแห่งสุนทรียะ    เจ้าพระยาพระคลังแถลงไว้ในอิเหนาคำฉันท์ว่า 

             ศรีศรีสวัสดิเสร็จ                            เผด็จฉันท์บริบูรณ์

             สังวาสรสพูน                                พจนนารถสุนทร

            เริ่มเรื่องชวารัก                              แลพินักธกล่าวกลอน

            หวังไว้สถาวร                                 กระวีชาติธรารมย์

            เปรมปรีดีเปรมปราชญ์                     พจนารถบันสม

            บันสานดำนานคม                           สฤษดิรสเป็นเชิงฉันท์ฯ

                                                               (อิเหนาคำฉันท์)

            แม้ในพระราชนิพนธ์รามเกียรติก็ได้กล่าวถึงสุนทรียะแห่งกวีนิพนธ์ไว้ว่า "ปานสุมาลัยเรียบร้อยสร้อยโสภิต  พิกสิตสาโรช  โอษฐสุคนธ์วิมลหื่นหอม   ถนอมถนิมประดับโสต" (รามเกียรติ) ความงามของอักษรที่ถูกเรียงร้อยขึ้นด้วยศิลปะแห่งฉันทลักษณ์นั้นเปรียบได้ดังดอกไม้  สุนทรภู่ก็กล่าวไว้เช่นกันว่าการเขียนบทกวีเพราะ "เจ้าประดิษฐ์คิดขับให้เพราะจับจิตใจ"  (บทเห่กล่อมพระบรรทม) แม้เจ้าพระยาพระคลังก็แถลงไว้ว่า "วิชาขับกาพย์เกลี้ยงกล่าวกลอน"นั้นสามารถ "บำเรอจิตอิสเรศให้เรืองรณ" (วรรณคดีพระคลัง)

            ในขณะที่พระยาตรังกวีผู้มาจากปักษ์ใต้แถลงไว้ตรงกันกับกวีจากเมืองหลวงว่า "เสียงกวีเสมอเสียงทิพย์ย้อย  เสนาะสำนวนเทียม  ทิพย์ย้อย"    (นิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย) ความเชื่อที่ว่ากวีนิพนธ์เป็นดนตรี เป็นอุดมการณ์ร่วมกันของนักคิดไทย  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะนักกวีทุกคนปรารถนาลบล้างความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียกรุงศรีอยุธยา และต้องการสร้างความสุขขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยอุดมการณ์เดียวกัน

            คุณค่าทางด้านปรัชญาของวรรณคดีจึงมิใช่เพียงความงาม ความไพเราะที่เกิดจากวรรณศิลป์เท่านั้น   แต่วรรณคดีดำรงอยู่มีสถานะเป็นเครื่องมือในการวิจารณ์ชีวิตและสรรพสิ่งให้เห็นแก่นแท้ของสิ่งนั้นๆ ตามความเป็นจริง

____________________________________

(1) ในแง่จิตวิสัย นักปรัชญาบางท่านเชื่อว่า  ความงามขึ้นอยู่กับจิต  ตำแหน่งแห่งที่ของมันอยู่ที่จิตของแต่ละบุคคลที่รับรู้มัน  ความงามไม่มีในสิ่งแวดล้อม  มีอยู่ในจิตเท่านั้น มันเป็นสิ่งที่มีความจริงอยู่ในจิต ดังนั้นปรัชญาเมธีกลุ่มนี้จึงถือว่าความงามเป็นจิตวิสัย

ในแง่วัตถุวิสัย นักปรัชญาบางท่านเชื่อว่า ความงามขึ้นอยู่กับวัตถุ มันอยู่ในสิ่งทั้งหลาย สามารถมีอยู่ในวัตถุตลอดไป โดยที่ไม่อาศัยจิต จิตจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม มันก็คงอยู่อย่างนั้น  จึงเรียกความงามเป็นวัตถุวิสัย

(2) กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์กล่าวว่า  ภาษาที่จะจับใจคนได้ ๔ ประการ คือ (๑) ในทางความหมาย (ก) อาศัยความหมายของถ้อยคำตามหลักไวยากรณ์ที่ผูกขึ้นเป็นประโยค และ (ข) อาศัยค่าของคำแต่ละคำในการชวนให้นึกคิดหรือนึกฝัน และ (๒)ในทางเสียง    (ก) อาศัยความกระเพื่อมไปเป็นลำนำของเสียง และ    (ข) อาศัยคุณภาพของเสียงแต่ละพยางค์

  (3) ฟื้น  ดอกบัว. .ปวงปรัชญากรีก.(กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๒),๑๕๗.

 

ที่มาจากหนังสือ ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย ผู้แต่ง ญาณวชิระ

http://www.jariyatam.com/introduction-to-theory-of-thai-philosophy/theory-of-thai-aesthetic-/195-2009-06-30-07-31-42

หมายเลขบันทึก: 455482เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2011 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท