คุณสมบัติของ EIS


คุณสมบัติของ EIS

 

          ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการถูกนำมาประยุกต์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานของธุรกิจ แต่ระบบสารสนเทศมิใช่แก้วสารพัดนึกที่รวบรวมข้อมูลทุกประเภทที่ผู้ใช้สามารถนำมาใช้งานได้ตลอดเวลา เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีและต้นทุนการพัฒนา ดังนั้นการพัฒนาระบบสารสนเทศแต่ละชนิดจะต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ เพื่อกำหนดคุณสมบัติของสารสนเทศแต่ละรูปแบบอย่างเหมาะสม เพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ EIS มีคุณสมบัติที่สำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. สนับสนุนการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Plannig Support ) ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญต่อการวางแผนกลยุทธ์ขององค์การ ดังนั้นผู้พัฒนา EIS สมควรจะมีความรู้ในเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy ) และปัจจัยสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Factors) เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดแผนทางกลยุทธ์ที่สมบูรณ์

     

  2. เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ ( External Environment Focus ) ปกติสิ่งที่ผู้บริหารต้องการจากระบบสารสนเทศคือ การที่จะสามารถเรียกสารสนเทศที่ต้องการและจำเป็นต่อการตัดสินใจออกมาจากฐานข้อมูลขององค์การได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะข้อมูลและข่าวสารที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องการประกอบการตัดสินใจ โดยส่วนมาก EIS จะถูกออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลที่มาจากภายนอกองค์การ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร

     

  3. มีความสามารถในการคำนวณภาพกว้าง (Broad-basedComputing Capabilities ) การตัดสินใจของผู้บริหารส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่มีโครงสร้างไม่แน่นอนและขาดความชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะมองถึงภาพโดยรวมของระบบแบบกว้างๆ ไม่ลงลึกในรายละเอียด ดังนั้นการคำนวณที่ผู้บริหารต้องการจึงเป็นลักษณะง่าย ๆ ชัดเจน เป็นรูปธรรม และไม่ซับซ้อนมาก เช่น การเรียกข้อมูลกลับดู การใช้กราฟ การใช้แบบจำลองแสดงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

     

  4. ง่ายต่อการเรียนรู้และใช้งาน (Exceptional Ease of Learning and Use ) เนื่องจากผู้บริหารจะมีกิจกรรมที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกองค์การ ผู้บริหารจึงมีเวลาในการตัดสินใจในแต่ละงานน้อยหรือกล่าวได้ว่าเวลาของผู้บริหารมีค่ามาก ดังนั้นการพัฒนา EIS ควรที่จะเลือกรูปแบบการแสดงผล หรือการตอบโต้กับผู้ใช้ในแนวทางที่ง่ายต่อการใช้งานในเวลาที่สั้น เช่น ตารางแสดงผล กราฟ ภาษาที่ง่าย และการตอบโต้ที่รวดเร็ว เป็นต้น

     

  5. พัฒนาเฉพาะสำหรับผู้บริหาร (Customization ) การตัดสินใจของผู้บริหารส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ต่อพนักงานอื่นและต่อการดำเนินธุรกิจขององค์การ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์และออกแบบระบบ (SystemAnalyst and Designer ) ต้องคำนึงถึงในการพัฒนา EIS เพื่อให้สามารถพัฒนา EI S ที่มีศักยภาพสูงมีประสิทธิภาพดีเหมาะสมกับการใช้งานและเป็นแบบเฉพาะสำหรับผู้บริหารที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ตามต้องการ เช่น ข้อมูลใดที่เป็นที่ต้องการของผู้บริหารอย่างมาก หรือมีการเรียกมาใช้บ่อยควรออกแบบให้มีขั้นตอนการเข้าถึงที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เช่น โดยการกดปุ่มบนแป้นพิมพ์เพียงไม่กี่ปุ่ม หรือการเคลื่อนที่และการใช้งานเมาส์ท (Mouse )บนจอภาพ หรือการสั่งงานด้วยเสียงพูด ซึ่งต่างจากนระบบสารสนเทศสำหรับบุคลากรระดับอื่นในองค์การที่ต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่าในการเข้าถึงข้อมูลลักษณะเดียวกัน เป็นต้น




        ปัจจุบันมีชุดคำสังสำเร็จรูปสำหรับประมวลข้อมูลและสนับสนุนการตัดสินใจให้ผู้บริหารออกวางจำหน่ายตามท้องตลาดมากขึ้น  นอกจากนี้ EIS ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของการใช้งานที่หลายหลายของผู้บริหาร เช่น การเงิน การตลาด การผลิต การวิเคราะห์สถานการณ์และการวางแผนกลยุทธ์ เป็นต้น รวมทั้งมีความสามารถที่จะเชื่อมต่อกับระบบข้อมูลภายนอกองค์การที่จะสามารถดึงเอาสารสนเทศที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้บริหารที่ใช้ในการวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และตัดสินใจในปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น

http://www.sirikitdam.egat.com/web_mis/120_122/section5.html

คำสำคัญ (Tags): #คุณสมบัติของ EIS
หมายเลขบันทึก: 455321เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท