๑๘๖.พุทธศาสนาเชิงรุกในชุมชนชายแดนไทยจังหวัดพะเยา ๑


นี้เป็นตัวอย่างบุคลากรทางพุทธศาสนาที่ทำงานขับเคลื่อนพุทธศาสนา ให้เกิดการเคลื่อนไหว ผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา แท้ที่จริงยังมีพระภิกษุในจังหวัดพะเยาอีกจำนวนมาก ที่ได้ทุ่มเท สร้างสรรค์ให้กับพุทธศาสนาทั้งในระยะสั้นและยาว แม้ในระยะต้นยังมีผลงานที่ยังไม่โดดเด่นเป็นที่รู้จัก แต่ในอนาคตจะได้นำเสนอเป็นลำดับต่อไป

 

     การศึกษาครั้งนี้ (ระหว่างปี 2550-2553)  ผู้วิจัยได้เข้าไปสัมภาษณ์พระนักเผยแผ่โดยกำหนดคุณสมบัติซึ่งประกอบด้วย เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุก เป็นพระที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ และเป็นพระที่มีแนวคิดด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 25  รูป โดยผู้วิจัยได้นำมาวิเคราะห์จนได้แนววิธีปฏิบัติ จำนวน 15 แนวทาง จึงนำมาสรุปลงในพุทธศาสนาเชิงรุก 3 ด้าน คือด้านการเผยแผ่ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ มีรายละเอียดดังนี้

 

พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการเผยแผ่ 

     พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการเผยแผ่นี้ มี 5  แนวทาง ประกอบด้วย 1)รุกด้วยการเขียนหนังสือ 2)รุกด้วยการอบรมบรรยายธรรม 3)รุกด้วยการตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน 4)รุกด้วยการบรรยายออกทางวิทยุ 5)รุกด้วยการให้คำปรึกษา ทั้งนี้มีพระที่มีคุณสมบัติจำนวน 10 รูป ดังนี้

1.รุกด้วยงานเขียนหนังสือ

            พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้  แม้พะเยาจะมีพระที่เป็นต้นแบบทั้งในอดีตและปัจจุบัน เท่าที่สามารถค้นคว้าได้มี  4  ยุคด้วยกัน คือ  ยุคตำนาน  ยุคใต้เงาล้านนา  ยุคใต้เงาสยาม  ยุคปัจจุบัน แต่ในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะยุคปัจจุบันเท่านั้น พระสงฆ์ที่ทำงานด้านนี้คือพระอุบาลีคุณูปมาจารย์  มีรายละเอียดดังนี้

      พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้ให้ความหมายพุทธศาสนาเชิงรุกไว้ว่า “...การนำพุทธศาสนาออกไปสู่สาธารณชนให้กว้างออกไป โดยไม่จำกัดเฉพาะภายในวัด หรือรูปแบบการนำเสนอ เช่นงานเขียนหลายเรื่องก็สอดแทรกคติธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นแนวปฏิบัติอยู่แล้ว...”

     เท่าที่ผ่านมาพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ได้อุทิศตนโดยการปริวรรษอักษรล้านนา สู่อักษรไทย ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวโดยมากจะประกอบไปด้วยประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์เมืองพะเยา หลักคำสอนทางพุทธศาสนา ตำนานพระธาตุ กฎหมายสำหรับกษัตริย์ อันเป็นจารีตโบราณ แล้วนำสิ่งที่ปริวรรตได้จัดพิมพ์เผยแผ่เป็นหนังสือ โดยมากจัดพิมพ์เผยแผ่ในวาระครบอายุวัฒนมงคลประจำปี งานฉลองศาลา กุฏิ งานฉลองสมณศักดิ์ งานตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานที่สอดแทรกคติธรรมทางพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียบประเพณีต่าง ๆ อันเป็นพุทธศาสนาเชิงรุกที่สำคัญที่สามารถเป็นหนังสืออ้างอิงของนักวิชาการต่าง ๆ ได้

     พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค  6  เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ที่มีผลงานเผยแพร่จำนวน  30  เล่ม โดยใช้เวลาในการทำงานตลอด  50  ปี (จากอายุ  40-94  ปี) เป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในด้านเอกสารล้านนาคดีศึกษา  มีการอ้างอิงและให้การยอมรับสูงมากจากนักวิชาการทุกระดับ  มีลูกศิษย์ที่สำคัญคือ ขรรชัย  บุญปาน  สุจิตต์  วงษ์เทศ  พิเศษ  เจือจันทร์พงษ์  ฯลฯ

     นอกจากงานด้านการปริวรรตแล้วยังมีงานด้านโบราณวัตถุอีกเป็นจำนวนมาก  และจากการรวบรวมผลงานดังกล่าวไว้  จนสามารถสร้างหอวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงานเผยแผ่ให้สาธารณชนได้ นับเป็นผลงานที่โดดเด่นอย่างยิ่งของท่าน 

 

2.รุกด้วยการบรรยาย อบรมธรรมะ

            พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้  แม้จะมีพระที่ทำงานจำนวนมาก แต่ที่ทำแล้วโดดเด่น มี  2  แนวทางด้วยกัน คือ  การบรรยายธรรมตามงานต่าง ๆ และการฝึกอบรมประชาชนและเด็กเยาวชน พระสงฆ์ที่ทำงานด้านนี้มีสองรูป ประกอบด้วยพระมหากรภพ  กตปุญฺโญ  และพระมหาจีรเดช  ญาณวโร  มีรายละเอียดดังนี้

             พระมหากรภพ  กตปุญฺโญ   ให้ความหมายของคำว่าพุทธศาสนาเชิงรุก “...คือการสื่อสารกับคนให้มีความเข้าใจในวงกว้าง โดยใช้คำคม บทกลอนสอนใจ คำที่ร้อยเรียงและทักษะการพูดในการเผยแผ่ ทั้งนี้ต้องทำงานเชิงรุกคือมีการวางแผน การร่วมกันทำงานและการไม่จำกันอยู่แต่ในวัดเท่านั้น...”

     เท่าที่ผ่านมาได้ออกบรรยายธรรมะให้กับประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อชี้แจงขยายธรรมะให้เป็นที่ถูกใจคนมากกว่า การมองธรรมะว่าสูงส่งจนคนทั่วไปไม่เข้าใจเพราะภาษาที่ใช้ ไม่ถูกจริตและเข้าใจยาก ดังนั้น จึง มีหลักในการเผยแผ่  3  ประการคือ

     ก.เพราะเป็นโอกาส ที่มีญาติโยมได้มอบโอกาสให้

     ข.เพราะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องทำ

     ค.เพราะเป็นผลประโยชน์ในเรื่องของรายได้ ซึ่งรายได้นี้สามารถนำมาสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ได้ที่มีผลงานด้านการเผยแผ่  100 ครั้ง/ปี

 

             พระมหาจีรเดช  ญาณวโร   ให้ความหมาย คำว่าพุทธศาสนาเชิงรุก “...คือการเผยแผ่คำสอนพุทธศาสนาออกไปสู่ประชาชนให้ได้รับมากที่สุดอาจอาศัยสื่อที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น คอมพิวเตอร์ โปรแจกเตอร์ ภาพยนตร์ แผ่นซีดี เป็นต้น ล้วนแล้วเป็นสื่อที่เยาวชนให้ความสนใจ ดังนั้นหัวใจของพุทธศาสนาเชิงรุกก็คือการรู้จักประยุกต์ใช้สื่อที่เป็นอิเลคโทนิคและคำสอนทางพุทธศาสนา...”

     การเผยแผ่ด้วยการฝึกอบรมเข้าค่าย  พระที่มีความโดดเด่นด้านนี้  คือ  พระมหาจีรเดช  ญาณวีโร  ที่มีผลงานด้านการเผยแผ่  100 ครั้ง/ปี ลักษณะที่ทำงานทุกวันนี้คือจัดค่ายพุทธบุตร ตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนถึงการเข้าค่ายคุณธรรมในลักษณะอื่น ๆ ตามที่ต้นสังกัดจะกำหนดมา

     ดังนั้นจะเห็นว่าพุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้  มีพระภิกษุสงฆ์พะเยาได้เผยแผ่ด้วยการเทศน์  บรรยาย อบรม  เข้าค่ายฝึกอบรม  เท่าที่สามารถค้นคว้าได้มี  2  ลักษณะด้วยกัน  คือการเผยแผ่ด้วยการบรรยาย  การเผยแผ่ด้วยการฝึกอบรมเข้าค่าย  โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกลักษณะนี้  เป็นเจตนารมณ์ของเจ้าภาพที่ต้องการให้มีรูปแบบของงานที่นิยมให้มีการให้มีการเทศนาธรรมใน  โอกาสต่าง ๆ  เช่น  งานบำเพ็ญกุศล  งานพิธีศพ  งานสมโภชน์ต่าง ๆ  เป็นต้น  โดยทั่วไปมี  2  รูป กล่าวคือ  1) เจ้าภาพเป็นผู้อาราธนาด้วยตนเอง  ด้วยการสนิทสนม คุ้นเคยเป็นการส่วนตัว  หรือจัดทำหนังสือ  2) เจ้าภาพอาราธนาคณะสงฆ์ภายในวัดหรือองค์กร  สงฆ์ในองค์กรนั้น ๆ จะเลือกให้ทำหน้าที่ในการฝึกอบรมบรรยาย

 

3.รุกด้วยการตั้งสำนักวิปัสสนา

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้  มีพระภิกษุสงฆ์พะเยาได้การปฏิบัติธรรมโดยใช้วิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นตัวเชื่อมกับสังคม  เท่าที่สามารถค้นคว้าได้มี  2  ลักษณะด้วยกัน  คือรูปแบบการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน  และรูปแบบเจริญสมถกัมมัฏฐาน  มีรายละเอียด ดังนี้

     3.1.รูปแบบการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน  เป็นการนำหลักสติปัฏฐานสี่มาปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจของประชาชน พุทธศาสนาแนวนี้ประกอบด้วย

                พระญาณวิทย์  อติธมฺโม  วัดป่าสักคำอรัญวาสี ได้ให้ความหมายของคำว่าพุทธศาสนาเชิงรุก “...คือการนำธรรมะที่เป็นนามธรรมสู่รูปธรรมโดยผ่านการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม...”

     เท่าที่ผ่านมาได้จัดสร้างสำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อให้ประชาชนได้ทดลองนำธรรมะมาใช้ นับว่าเป็นการเผยแผ่เชิงรุกอย่างหนึ่ง เท่าที่ทราบได้มีองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามาฝึกอบรมตลอดทั้งปีเป็นจำนวนมาก

     สำนักปฏิบัติธรรมวัดป่าสักคำ มีบุคลากรในการฝึกอบรมมาก  แต่ไม่มีความพร้อมในด้านสถานที่ให้บริการ  ทุน  และวัสดุอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวก  จุดเด่นของสำนักนี้คือเน้นสายสติปัฏฐานที่เป็นแนวของพระอาจารย์ทอง วัดพระธาตุศรีจอมทอง และวัดร่ำเปิง จังหวัดเชียงใหม่

 

                พระเทพวิสุทธิญาณ วัดอนาลโย  ได้ให้ความหมายของคำว่าพุทธศาสนาเชิงรุก คือการนำเสนอพุทธศาสนาที่สามารถนำมาปฏิบัติได้เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงตามทัศนะของพุทธศาสนา

                เท่าที่ผ่านมาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามาใช้พระวิทยากร และสถานที่ในการฝึกอบรมตลอดทั้งปี ทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัด โดยทางวัดได้เอื้อประโยชน์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้  ส่วนการพัฒนาจิต  พระที่มีความโดดเด่นด้านนี้  คือ พระเทพวิสุทธิญาณ  วัดอนาลโยทิพยาราม  ซึ่งมีบุคลากรในการฝึกอบรมมาก  มีสถานที่ในการให้บริการพร้อม  มีทุนในการสนับสนุนจำนวนมาก  มีวัสดุอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกมากกว่า  จุดเด่นของสำนักนี้คือมีชื่อเสียงด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานซึ่งได้มาจากฉายาหลวงพ่อขาว  อนาลโย  ซึ่งเป็นสายเดียวกันกับหลวงปู่มั่น

                3.2.รูปแบบการเจริญสมถกัมมัฏฐาน  เป็นการนำหลักสมาธิมาปฏิบัติเพื่อเพ่งกระแสจิต  พระที่มีความโดดเด่นด้านนี้  คือ  พระครูสันติธรรมาภิรมย์ (ครูบาอ่อน รตฺนวณฺโณ) วัดสันต้นหวีด 

      พระครูสันติธรรมาภิรมณ์      ได้ให้ความหมายของคำว่า “...พุทธศาสนาเชิงรุกคือการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เข้ามาพึ่งบุญบารมีได้โดยไม่จำกัดรูปแบบวิธีการแต่ต้องแทรกคำสอนทางพระพุทธศาสนาเข้าไปด้วย เนื่องจากพระเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคมโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นพระจึงเป็นผู้รักษาโรคทางจิตวิญญาณ...”

                เท่าที่ผ่านมาพระครูสันติธรรมาภิรมณ์ ได้เป็นที่พึ่งของประชาชนในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการให้กำลังใจ และความสบายใจ ท่านสอนธรรมผ่านวัตถุมงคลหลายรุ่น ก่อนมอบให้ประชาชนมักสอนธรรมะก่อนเสมอ เช่น ฆราวาสธรรม 4  หัวใจเศรษฐี  ฯลฯ

 

4.เชิงรุกด้วยการจัดรายการทางวิทยุ

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้มีที่ได้ทำงานอยู่คือ พระครูศรีวรพินิจ ซึ่งได้ให้ความหมายคำว่าพุทธศาสนาเชิงรุก “...คือการนำพุทธศาสนาก้าวออกไปข้างนอกวัด โดยไม่นิ่งอยู่กับที่ ช่องทางไหนที่ทำได้ก็จะทำโดยไม่จำกัดรูปแบบและวิธีการซึ่งการเผยแผ่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการเทศนาธรรมในท้องที่ต่าง ๆ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นวัด โรงเรียน สำนักงานหรือบ้านเรือน ตลอดจนถึงการจัดรายการวิทยุ เพื่อจะได้สื่อธรรมะให้ครอบคลุมกว้างที่สุดเพราะเท่าที่ผ่านมาการเผยแผ่ธรรมด้วยวิธีนี้ได้ผลเร็ว และครอบคลุมมากกว่าวิธีอื่น ๆ...”

     เท่าที่ผ่านมาพระครูศรีวรพินิจ ได้จัดรายการวิทยุชื่อว่ารายการแสงโคมคำ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เวลา 22.00-22.30 น.ซึ่งการเผยแผ่ในรูปแบบนี้กินพื้นที่จังหวัดพะเยาและบางอำเภอในจังหวัดเชียงรายและลำปาง

    เมื่อถามถึงการใช้ภาษาท้องถิ่นในการเผยแผ่  เนื่องจากกลุ่มผู้ฟังหรือกลุ่มลูกค้าเป็นคนท้องถิ่นโดยมาก  และอีกประการหนึ่งที่ใช้คัมภีร์ใบลานซึ่งเป็นการเทศน์แบบโบราณตามคัมภีร์ก็เนื่องจากว่าการเผยแผ่มิใช่การเทศน์อย่างเดียวแต่หมายรวมไปถึงวัฒนธรรม  ประเพณี  พิธีกรรมไปด้วย  เช่น  ธรรมพุทธาภิเษก  ธรรมสืบชาตา  ธรรมขึ้นบ้านใหม่  การสู่ขวัญนาค  ฯลฯ

               

5.เชิงรุกด้วยการให้คำปรึกษา

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้ คือพระครูสุจินธรรมสาร  ซึ่งได้ให้ความหมายพุทธศาสนาเชิงรุก “...คือการใช้ธรรมะให้ถูกกับจริตความต้องการของญาติโยม การสร้างขวัญกำลังใจ โดยผ่านการสื่อสารที่เป็นคำพูดที่ดี ตัวพระก็คือสื่อรูปแบบหนึ่งต้องเป็นตัวอย่างทั้งทางกาย วาจา ใจ...”

     เท่าที่ผ่านมาพ่อค้า ประชาชนทุกระดับเข้ามาเพื่อขอคำปรึกษา หลายครั้งได้ออกไปปฏิบัติศาสนกิจ คือกิจของพระศาสนาในที่ต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

     การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมากเป็นเรื่องของการสมทบทุน ในการบำรุงศาสนสมบัติและการทำกิจกรรมมากกว่าอย่างอื่น

 

     ส่วนพระอธิการกันทวี  ฐานนุตฺตโร    ได้ให้ความหมายคำว่าพุทธศาสนาเชิงรุก “...คือการทำงานที่เข้าถึงตัวประชาชนให้ได้ และต้องรู้ว่าประชาชนต้องการสิ่งใด แล้วจึงสามารถตอบสนองความต้องการเบื้องต้นคือคำปรึกษาได้ เท่าที่ผ่านมารู้ว่าประชาชนต้องการขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก อันเกิดจากความทุกข์ที่บีบคั้น จึงต้องหาอุบายในการนำคนเข้าหาธรรมะ เมื่อคนสบายใจแล้ว จะคิดจะทำงานสิ่งใดก็จะเป็นมงคลทั้งหมด...”

                เท่าที่ผ่านมา ได้ให้คำปรึกษาโดยสอดแทรกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้กับประชาชนไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ครั้งต่อเดือน

     ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชน จะเป็นไปในรูปแบบของการเข้ามาช่วยในกิจการของวัดมากกว่า เช่น เมื่อวัดมีการก่อสร้าง ก็สมทบทุนทรัพย์หรือวัสดุอุปกรณ์ในการร่วมสร้าง หรือเมื่อมีงานประเพณีก็ร่วมกันออกความคิดเห็น และร่วมแรงร่วมใจในการทำ

 

พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการศึกษาสงเคราะห์

     พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการศึกษาสงเคราะห์นี้ มี 5  แนวทาง ประกอบด้วย 1)รุกด้วยการตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 2)รุกด้วยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี 3)รุกด้วยการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม 4)รุกด้วยการปลูกต้นกล้าเยาวชน 5)รุกด้วยการตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูง ทั้งนี้มีพระที่มีคุณสมบัติจำนวน 6 รูป ดังนี้

 

1.รุกด้วยการตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

            พุทธศาสนาแนวนี้มีพระสุนทรกิตติคุณ   ซึ่งได้ให้ความหมายพุทธศาสนาเชิงรุกไว้ว่า “...คือการนำพุทธศาสนาสู่เยาวชนทั้งในและนอกวัด เพื่อเด็กและเยาวชนคือต้นกล้าในการเจริญเติบโตและช่วยพุทธศาสนาถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป อันเป็นกิจกรรมด้านการศึกษาสงเคราะห์ให้กับสังคมเมืองพะเยา...”

     เท่าที่ผ่านมาได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นที่วัด โดยมีเด็กและเยาวชนจาก 18 โรงเรียนรอบกว๊านพะเยาได้เข้ามาศึกษาซึ่งทางวัดได้อนุเคราะห์โดยการจัดอาหารกลางวันและค่ารถให้กับเด็กทุกคน นอกจากนี้แล้วยังได้ส่งพระอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปช่วยสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ในนามของวัดอีกด้วยโดยเฉพาะโรงเรียนประชาบำรุง จากการที่ผ่านมามีเด็กนักเรียนเข้าสมัครสอบธรรมศึกษาปีละไม่น้อยกว่า 600 คน

     ด้วยการจัดตั้งพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นพุทธศาสนาเชิงรุกที่เปิดการเรียนการสอนให้เด็กเยาวชนเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในวันอาทิตย์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้กลายเป็นนโยบายของรัฐที่พยายามให้มีทุกตำบลโดยมีสำนักงานวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อม

 

2.รุกด้วยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม (แผนกธรรมบาลี-แผนกสามัญ)

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้  มีสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางศาสนา หรือศาสนทายาท ในจังหวัดพะเยา เท่าที่สามารถค้นคว้าได้มี  2  รูปแบบด้วยกัน  คือ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี และโรงเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ 

                รูปแบบโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีในจังหวัดพะเยามี 2 โรงเรียน(สำนักเรียน) ส่วนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ  ในจังหวัดพะเยา  มีจำนวน  9  โรงเรียน นอกจากนี้แล้วยังมีโรงเรียนการกุศลของวัดอีก 1 โรงเรียน มีรายละเอียด ดังนี้

    พุทธศาสนาแนวนี้ มีพระครูสิริปริยัตยานุกูล ซึ่งได้ให้ความหมายคำว่าพุทธศาสนาเชิงรุก “...ว่าการจะทำงานพุทธศาสนาเชิงรุกในยุคโลกาภิวัตน์ต้องมีหลัก 4 ท.คือทันใจ ทันสมัย ทันเกมส์ และทันเหตุการณ์  ทันใจหมายความว่าการทำงานต้องให้ทันทีอย่าชักช้า  ทันสมัยหมายความว่ายุคนี้โลกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรต้องจับกระแสให้ทัน  ทันเกมส์คือต้องรู้ว่าคู่แข่งคิดอย่างไรกล่าวคือต้องรู้เขารู้เรา  และทันเหตุการณ์คือต้องใส่ใจในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นอย่านิ่งเฉยต้องเอามาเป็นอุปกรณ์ในการสื่อสารกับคนให้ได้...”

     เท่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดตั้งสำนักศาสนศึกษา  โดยการสร้างสำนักเรียนบาลีขึ้นในท้องถิ่น  โดยสำนักศาสนศึกษาวัดดอนไชย  เป็นสำนักเรียนที่สอนตั้งแต่  ประโยค ป.ธ.1-2  ถึง  ป.ธ.3

           ส่วนพระครูสุภัทรพรหมคุณ ได้ให้ความหมายพุทธศาสนาเชิงรุก คือการประสานโดยการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เป็นนามธรรม ไปสู่รูปธรรมที่ประชาชนสามารถจับต้องได้ สัมผัสได้ เท่าที่ผ่านมาจะรุกในสองส่วนคือการประสานกับภาครัฐในเรื่องของกฎระเบียบ งบประมาณรายได้และภาคเอกชนขอการสนับสนุนในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์การศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร

                

 3.รุกด้วยการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

     พุทธศาสนาแนวนี้มีพระครูอนุรักษ์บุรานันท์  ซึ่งได้ให้ความหมายพุทธศาสนาเชิงรุก “...คือการนำเสนอธรรมะในรูปแบบที่เป็นปริศนาธรรม โดยเฉพาะวัตถุโบราณ เป็นสื่อที่ดีที่สุดเพราะศิลปะเป็นสิ่งที่งดงามย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความงามทางด้านจิตวิญญาณของคนรุ่นก่อนที่ได้สร้างสรรค์งานที่ทรงคุณค่าขึ้นมา...”

     เท่าที่ผ่านมาได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองพะยาวขึ้นมาโดยการสะสมพระพุทธรูปเก่า เครื่องมือเครื่องใช้เก่าเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา และเห็นคุณค่าทางด้านโบราณวัตถุพร้อมกับจะได้ซาบซึ้งในคุณค่าธรรมะที่แฝงอยู่ในโบราณวัตถุนั้น ๆ

   พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้  มีพระภิกษุสงฆ์พะเยาที่ได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น  โดยการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์วัตถุโบราณและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น  เท่าที่สามารถค้นคว้าได้มี  2  รูปแบบด้วยกัน  คือรูปแบบหอวัฒนธรรมนิทัศน์ และรูปแบบพิพิธภัณฑ์ 

 

 4.รุกด้วยการปลูกฝังเยาวชนต้นกล้า

     พุทธศาสนาเชิงรุกแนวนี้  มีการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้นมาเพื่อเป็นต้นกล้าคุณธรรม เพื่อให้แสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ  เท่าที่สามารถค้นคว้าได้มี  2  รูปแบบด้วยกัน  คือ การใช้กิจกรรมเป็นสื่อกลางและการใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง  มีรายละเอียด ดังนี้

      พระครูสุวิมลสารคุณ ได้ให้ความหมายพุทธศาสนาเชิงรุกไว้ว่า “...การทำงานการเผยแผ่ที่มีเป้าหมาย มีการวางแผน เพื่อบรรลุเป้าประสงค์บางอย่างที่ตั้งเอาไว้คือความสงบสุขของประชาชน กลุ่มที่มีพลังขับเคลื่อนมากและมีจิตสาธารณะคือเยาวชน...”

     ที่ได้จัดตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้นมาเพื่อทำงานขับเคลื่อนชุมชน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแนวคิดในการสำนึกรักบ้านเกิด  จึงมีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ให้เด็กและเยาวชนเข้ามาคลุกคลีกับวัดตั้งแต่อายุน้อย ๆ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีงาม โดยมีแนวคิดว่าตอนนี้ยังไม่ต้องรักประเทศไทย เนื่องจากกว้างเกินไป แต่ต้องรักบ้านเกิดตนเองก่อน 

     เมื่อรุ่นพี่จบไปแล้วยังให้กลับมาเป็นพี่เลี้ยงให้รุ่นต่อไปด้วยการใช้ระบบพี่สอนน้องคือรุ่นหนึ่งสามารถส่งต่อให้กับคนอีกรุ่นหนึ่ง  แม้จบรุ่นที่จบไปได้งานทำแล้วก็ยังสามารถรวมกลุ่มกันและกลับมาทำกิจกรรมในช่วงวันหยุดยาว  เช่น  ช่วงเทศกาลวันสงกรานต์  มีกิจกรรมทอดผ้าป่าระดมทุน  การออกค่ายไปช่วยเหลือโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร  จัดโครงการดูแลผู้ยากไร้ในชุมชน  โครงการคนนอนวัด รูปแบบก็คือให้ผู้นำชุมชนได้เข้ามานอนวัดและชักจูงคนมาด้วย เป็นต้น

     กิจกรรมนี้ทางวัดได้ใช้คำว่า “กลุ่มจิตอาสา” เพื่อเป็นสื่อในการสอนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และมีความรักในชุมชนของตนเอง สอนให้มีการรู้จักให้ สอนให้มีการรู้จักการเผื่อแผ่ให้กับสาธารณะ บางครั้งต้องพาเด็กไปดูในถิ่นทุรกันดาน ซึ่งจะทำให้เด็กได้มีความคิดเปรียบเทียบ จะได้เห็นท้องถิ่นที่ด้อยกว่า และให้เกิดการสำนึกรักบ้านเกิด อยากช่วยเหลือ อยากให้ เป็นต้น

     ส่วนกิจกรรมที่น่าสนใจคือ เด็กได้รวมตัวกันเพื่อออกเยี่ยมคนในชุมชน โดยเด็กคิดและวางแผนกันเอง เช่น การขอรับบริจาคอาหารการกิน เครื่องใช้ ทั้งจากวัด พ่อค้า ประชาชน หน่วยงานต่าง ๆ ฯลฯ เมื่อได้แล้ว เด็กจะช่วยกันขนใส่ล้อเข็น แล้วเดินไปเป็นกลุ่มเพื่อไปเยี่ยมเยือนผู้ยากไร้ในชุมชนตามจุดต่าง ๆ นี้เป็นงานหนึ่งที่วัดดอนไชยได้ทำร่วมกับเด็ก ๆ  กิจกรรมดังกล่าวนี้ เดิมเป็นประเพณี “ตานตอด” คือ “ทานทอด” หรือการให้ทานต่อ ๆ ไป ซึ่งการให้ทานในลักษณะนี้เป็นการให้ทานแบบจู่โจม ไม่ให้เจ้าของบ้านรู้ตัว เมื่อนำข้าวของเครื่องใช้ไปวางไว้ที่บันไดบ้านคนที่จะรับแล้วก็จุดประทัด เมื่อเจ้าของบ้านตกใจก็เปิดประตูออกมาดูก็จะเห็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ยิ่งถ้าเจ้าของบ้านออกปากด่าแล้ว คนพะเยาถือว่ายิ่งได้บุญ

     แต่ปัจจุบัน ลักษณะการให้ทานแบบนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมาก กล่าวคือการไปเยี่ยมเยือนให้ถึงบ้าน มีการพูดคุย มีการมอบวัตถุสิ่งของ หรือเครื่องใช้ให้ เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่แอบให้ดังคนในยุคก่อน ๆ

     การมีส่วนร่วมของประชาชนคือได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ชาวบ้านบางรายเข้ามาเพื่อช่วยในการวางแผน คิดโครงการและจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้นำไปปฏิบัติต่อไป ส่วนประชาชนบางกลุ่มก็เข้าร่วมโดยการให้การสนับสนุนด้านการเงิน ทุนในการทำกิจกรรม ตลอดจนถึงการมอบวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ในการทำกิจกรรมในแต่ละครั้ง

     การมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของประชาชนอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อมีกิจกรรมเกิดขึ้นวัดจะประกาศให้ประชาชน โดยทางกลุ่มแม่บ้าน หรือผู้ใหญ่บ้านจะมาพาลูกบ้านมาทำอาหารให้กับเด็ก ๆ เยาวชน นับได้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในส่วนของการส่งเสริมและสนับสนุนด้านอาหารการกินมากกว่าลงมือปฏิบัติเอง

 

     ส่วนพระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ     ได้ให้ความหมายพุทธศาสนาเชิงรุกไว้ว่า “...คือการทำงานเผยแผ่โดยรุกเข้าไปสู่ชุมชน ให้มีส่วนร่วมโดยมีกิจกรรมเป็นตัวเชื่อมระหว่างวัดกับประชาชนโดยมีเยาวชนเป็นแกนหลัก...”

     เท่าที่ผ่านมาได้ทำงานเพื่อชุมชนโดยนำเอาแกนนำเยาวชนมาฝึกอบรม ทำกิจกรรม เช่น มีการฟ้อน การตีกลองชะบัดชัย การเล่นดนตรีพื้นเมือง เป็นต้น เมื่อเด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว อนาคตจะดีไปเอง และได้สร้างชื่อให้กับตนเองและชุมชนด้วย

     เดิมทีเด็กแต่ละหมู่บ้านจะรวมตัวกันก่อน โดยในส่วนของวัดตั๊มม่อนนั้นจะดูเด็กคนไหนที่มีแวว ก็ให้เข้ามาอบรมโดยการฝีกหัดผ่านค่ายต่าง ๆ เพื่อให้เป็นคนมีจิตสาธารณะ หรือเมื่อมีกิจกรรมภายในชุมชน เช่น งานปอย เด็กก็จะรวมตัวกัน โดยการใส่เสื้อทีมเขียนคำว่า “ต้นกล้า” นี้คือจุดเริ่มต้นแต่ละหมู่บ้าน แต่เมื่อเด็กได้ทำงานอย่างเข้มแข็ง เทศบาลเห็นความสำคัญและพลังจากเด็ก ๆ ก็ได้มีการผลักดันให้เกิดสภาเด็กเยาวชนขึ้น เรียกว่าสภาเด็กนี้ ได้ทำงานในหมู่บ้านของตนเองแล้วขยายสู่การทำงานในระดับตำบล

     แนวคิดนี้มาจากความคิดที่ว่า โดยธรรมชาติจะให้เด็กเดินมาเข้าวัดเพื่อไหว้พระสวดมนต์เองอย่างในอดีตนั้นยาก ดังนั้นวัดจึงหากิจกรรมบันเทิงเข้ามาเป็นตัวเชื่อม เช่น การฟ้อน การตีกลองสะบัดชัย ฯลฯ แต่ก่อนที่จะทำกิจกรรม ต้องให้เด็กไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิก่อน นี้เป็นกลวิธีในการนำมาใช้

     บางครั้งกิจกรรมไม่ใช่จำกัดอยู่แค่ในวัดอย่างเดียว แต่หมายถึงชุมชน เช่น การเก็บขยะในชุมชน การทำความสะอาดในที่สาธารณะในตำบล โดยชี้ให้เห็นว่านี้ไม่ใช่เป็นการทำงานอย่างเดียวนะ แต่เป็นการปฏิบัติธรรมด้วย

     นอกจากนี้แล้ว ยังได้พยายามพูดกับชุมชนเพื่อให้พื้นที่สำหรับเด็ก เช่น หมู่บ้านใดมีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือ ก็เชิญเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เข้าไปด้วย ด้วยการดึงเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นการฝึกเด็กให้มีการปฏิบัติเพื่อสาธารณะ หลายครั้งที่โยนปัญหาให้กลุ่มเด็ก ๆ คิดกันเอง เช่น วันพ่อปีนี้ หรือวันแม่ปีนี้จะทำอะไรบ้าง? เด็ก ๆ ก็จะเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ออกมา นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของงบประมาณเด็กอาจเสนอทำดอกมะลิขายเพื่อเป็นทุนในการทำกิจกรรมดังกล่าว

     ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ผู้นำชุมชนก็อำนวยความสะดวกในเรื่องเครื่องขยายเสียงประจำหมู่บ้าน บางครั้งเทศบาลก็สนับสนุนงบประมาณ ที่สำคัญคือเมื่อเด็กได้ทำแล้วผู้ใหญ่ในชุมชนจะช่วยกันตามศักยภาพ ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ต้องยอมรับว่าชุมชนมีหน่วยงานที่เข้มแข็งอยู่หลายกลุ่ม เช่น ประชาคมเอดส์บ้านต๊ำ เป็นต้น

     จากการทำงานสิ่งที่เป็นปัญหาคือการที่กลุ่มเด็กไม่นิ่งกล่าวคือ กลุ่มเด็กที่ทำงานด้วยจะเติบโตขึ้นไปเมื่อถึงเวลาก็ต้องย้ายออกไปเรียนหนังสือ เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องมาทดแทนเด็กรุ่นก่อน ดังนั้น สิ่งที่ใช้อยู่คือรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง

 

อ่านต่อในบันทึกที่ ๑๘๗. เนื่องจากหน้ากระดาษไม่เพียงพอ (ขาดหายไป)

หมายเลขบันทึก: 455275เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดูเหมือนข้อความตอนท้ายจะขาดหายไปนะครับ

เจริญพรขอบคุณอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อความมากเกินไป

ตอนนี้แก้ไขโดยใช้วิธี เพิ่มบันทึกขึ้นใหม่เป็น ๑๘๖ - ๑๘๗

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท