จิตเภท ฝึก กิจกรรม บำบัด ความล้า


ขอบคุณกรณีศึกษาวัย 27 ปี เคยอยากทำงาน แต่ใจสั่น ชอบอยู่นิ่ง ความจำสั้น เลยอยากอยู่บ้านเฉยๆ ครอบครัวอยากให้ชีวิตของกรณีศึกษามีเป้าหมายเลยปรึกษากิจกรรมบำบัดจิตสังคม

ความบกพร่องทางจิตสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีขณะทำงาน อาจมีผลจาก ได้แก่ หูแว่ว คิดว่าจะมีคนทำร้าย/นินทา แยกความเป็นจริงไม่ได้ ไม่ไว้วางใจใครยกเว้นครอบครัว ไม่เข้าสังคม ไม่ดูแลตนเอง ไม่ชอบอาบน้ำ เมื่อพบเพื่อนจะมีอาการกดดันตนเองและเปรียบเทียบกับเพื่อน

ปัจจุบันมีอาการคิดฟุ้งซ่าน จินตนาการเรื่องอดีต ซึ่งคิดเข้าข้างตนเอง เสียใจในอดีตถึงปัญหาความเครียดที่ทำงานและเรียน + อกหัก คิดกระวนกระวาย (ร้องไห้สลับหัวเราะ) ไม่รู้สึกตัว ต้องคอยเรียกแบบเขย่าตัว บางครั้งได้ยินแต่ไม่ตอบรับ ใจลอยเดินไปที่อ่านล้างหน้าแทนที่จะไปที่กดน้ำดื่ม คุยกับหมอได้ปกติแต่อยู่คนเดียวแบบซึมเศร้า

การประเมินและการให้คำปรึกษาทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ประกอบด้วย

1. การประเมินสุขภาวะของการทำงานของสมองสองซีกในกิจกรรมการดำเนินชีวิต พบว่า มีความไม่สมดุลของการใช้สมอง เน้นกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหว และรับรู้ข้อมูลจากสมองที่เด่นทางระบบการมองเห็นและระบบการได้ยิน แต่ใช้จริงไม่มากนัก

ดร.ป๊อป จึงแนะนำให้ปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิต โดยระดมสมองจากครอบครัว และวางแผนใน 3 เดือนเพื่อการพัฒนาทักษะชีวิตและฟื้นพลังชีวิตให้พร้อมที่จะกลับไปทำงานได้จริง เช่น ตื่นนอนแต่เช้า ฝึกดูแลตนเอง (อาบน้ำแต่งหน้าแต่งตา) มีการติดตารางเพื่อบันทึกความถี่ที่ทำกิจกรรมสำเร็จอย่างน้อย 90% (มีครอบครัวคอยเป็นพี่เลี้ยงไม่เกิน 10%) มีการใช้เวลาว่างออกกำลังกายด้วยการทำงานบ้าน-การเลี้ยงหลาน-การทำครัว เป็นช่วงๆ ให้โอกาสได้พักบ้าง มีการติดตามการกินยาอย่างต่อเนื่อง มีการพูดคิดให้กรณีศึกษาได้คิดถึงความดีของตนเองในแต่ละวัน การวางแผนทำอาหารเริ่มจากการจ่ายตลาด-การไปเรียนทำอาหารนอกบ้าน-การทำอาหารให้ที่บ้านทาน เป็นต้น ระหว่างนี้ให้ญาติปรึกษาหน่วยงานที่ควรให้โอกาสผู้ที่กำลังบกพร่องทางจิตสังคมได้ฝึกฝนทักษะการทำงานในที่ทำงานจริง ตามพรบ.สุขภาพจิตแห่งชาติ  

2. ประเมินกิจกรรมความรู้ความเข้าใจ: แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครอบครัวถึงการปรับตารางชีวิตให้ไม่จำเจ มีการเคลื่อนไหวทางความคิดสลับการเคลื่อนไหวทางร่างกายและสลับการพักผ่อนไม่เกิน 20 นาที ซึ่งกรณีศึกษาไม่สามารถต่อรองความคิดได้ดีนัก จดจำบางข้อมูล ต้องมีนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมช่วยมากกว่า 10% เขียนหนังสือได้แต่มือสั่นเล็กน้อย มีอาการง่วงนอนและปวดหัว แต่ได้ทำตามที่ ดร.ป๊อป แนะนำถึงการเดินอยู่กับที่พร้อมหายใจเข้าทางจมูกออกทางปาก และออกกำลังกล้ามเนื้อตาทั้งสองข้างด้วยการปิดตาข้างหนึ่ง ลืมหลับตาอีกข้างหนึ่ง 5 รอบ ต่อด้วยการมองนิ้ว (ดึงหว่างคิ้วขึ้น) ที่ปลายนิ้วชี้ของเพื่อนข้างหน้าวนจากจุดตรงกลางเล็กๆ จนถึงวนนิ้วเป็นวงกลมใหญ่ๆ สุดท้ายคือหลับตากระพริบตาถี่ๆ 5 ครั้งแล้วลืมตากว้าง

3. ประเมินการรับรู้พลังชีวิตด้วยความหวัง: กรณีศึกษามีความหวังบ้างในกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่ครอบครัวพร้อมช่วยเหลือ แต่ต้องให้ครอบครัวช่วยกระตุ้นถ้ากรณีศึกษาไม่มีแรงหรือไม่อยากทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ตอนนี้ไม่อยากทำงาน แต่ถ้ามีครอบครัวคอยกระตุ้นความหวัง ก็อาจจะมีพลังในการทำงานได้บ้าง ความหวังตอนนี้มีไม่เกิน 4/10 เพราะรู้สึกล้า เหนื่อยงาน และยอมรับว่างดยาเองมา 8 เดือนนั้นมีผลข้างเคียง จึงจะตั้งใจกินยาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกำลังจะตรวจเช็คผลของต่อมไทรอยด์ด้วยเพราะมีอาการใจสั่น อาการล้า และตาโปน ...ดร.ป๊อป จึงนัดที่คลินิกเพื่อเรียนรู้โปรแกรมการจัดการความล้าเพิ่มเติม และแนะนำให้ผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัดการความสุขความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตหลังโรคจิตเภทด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 455271เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ขอบคุณความรู้ดีๆ นะคะ

ขอบคุณครับคุณอักขณิชและคุณ Bright Lily

สนใจวิธีและวิธีการแปลความหมายสมองสองซึกคะ

จากรูป ส่วนสีฟ้าที่สมองซีกหนึ่ง มากกว่าอีกข้าง มีผลอย่างไรคะ

ขอบคุณมากครับคุณหมอ CMUpal

ในรูปเป็นการประเมินความรู้สึกจากสมองซีกเด่น (ตรงข้ามกับมือที่ถนัด 90%) ที่ชอบ/พึงพอใจในกิจกรรมการดำเนินชีวิต และการประเมินการรับรู้จากสมองสองซีกที่ได้ทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตจริงในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทั้งสองการประเมินในประเภทการรับความสึกที่เหมือนกัน ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การรับรส-ดมกลิ่น การสัมผัส การทรงท่า และการเคลื่อนไหว

หากสมองสองซีกทำงานได้สมดุลกับสมองซีกเด่นที่ชอบแล้ว เปอร์เซ๊นต์ควรใกล้เคียงกันอย่างน้อย 50% ขึ้นไปทั้ง Sensory Preference และ Sensory Threshold นั่นคือ เมื่อมีสิ่งเร้าที่น้อยหรือมากจนเกินไปก็ไม่ทำให้เกิดความล้าในการทำงานของสมองสองซีก หาก Sensory Threshold ต่ำกว่า 50% และไม่ใกล้เคียงกับ Sensory Preference ก็มีแนวโน้มเกิดความรู้สึกไวต่อสิ่งเร้าเกินไป หรือ Sensory Threshold สูงกว่า 50% และไม่ใกล้เคียงกับ Sensory Preference ก็มีแนวโน้มเกิดความรู้สึกช้าต่อสิ่งเร้าเกินไป มีความล้าทางความคิดที่ส่งผลต่อความสามารถทางจิตใจและร่างกายตามมา

นั่นคือ ลูกที่โดนบังคับจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในช่วง 6 ปี แรก ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของสมองซีกขวา (จิต ความคิดนามธรรม จินตนาการ อารมณ์) กับสมองซีกซ้าย (ความจริง เหตุผล ความคิดรูปธรรม) ได้

ตอบคุณหมอ CMUPal

กราฟสีฟ้า ในส่วนของการรับรส ทั้งสองซีกของสมองมีความสมดุลกัน คือ 47.5% เพียงแต่ว่า อีกรูปหนึ่งดูขยายใหญ่ไปนิดหนึ่งครับ

ขอบคุณมากคะ ที่อธิบายอย่างละเอียด ขออนุญาตคิดตามนะคะ อยากเรียนรู้จริงๆ หวังว่าคงไม่รบกวนเกินไป

ซ้ายมือ คือ sensory preference ( = ชอบ?) ขวามือคือ sensory treshold (=ใช้?)

ดร.ป๊อป ว่า "มีความไม่สมดุลของการใช้สมอง เน้นกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหว"

หมายถึงแท่งสีเขียวอ่อนริมซ้ายสุด ที่ sensory treshold มีเปอร์เซ็นต์ความใกล้เคียงของสมองสองซีกน้อยกว่า 50% และต่างจาก sensory preference ด้วย

ไม่รู้เข้าใจถูกไหมคะ

แต่จริงๆ แล้วให้นักกิจกรรมบำบัดตัวจริงแปลดีกว่า ไม่ทราบว่าเทคนิคการตรวจนี้ มีทั่วประเทศไหมคะ

ขอบคุณคุณหมอ CMUpal มากครับ

ต้องขออภัยที่ตอบช้า เมื่อวานต้องไปทำงานที่เชียงใหม่ครับ เลยไม่ได้เข้าเน๊ต

นักกิจกรรมบำบัดทั่วประเทศยังไม่ได้แปลผลการใช้ Sensory Profile Test ได้ในเชิงจิตประสาทสรีรวิทยา จิตสังคม และศาสตร์กิจกรรมการดำเนินชีวิต จึงถือเป็นการเรียนรู้ใหม่ครับ และเหมาะสมกับหลายๆ วิชาชีพ

จากข้อมูลที่คุณหมอตอบมา เข้าใจถูกต้องแล้วครับ ว่า Sensory Preference ไม่สมดุลกับ Sensory Threshold ในการเคลื่อนไหว นั่นคือ การทำงานของสมองสองซีกไม่ได้ถูกใช้ได้สมดุลกันในกิจกรรมที่ต้องอาศัยการรับรู้ทักษะการเคลื่อนไหว และมีการรับรู้ที่ต่ำกว่า 50% ทั้งความชอบและความสำคัญในการใช้

ขอบคุณมากคะ เป็นกำลังใจให้เขียนบทความน่ารู้แบบนี้ต่อๆ ไปนะคะ

ขอบคุณอาจารย์ป๊อปสำหรับการแลกเปลี่ยนการทำการประเมิน การให้คำปรึกษาทางกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ในกรณีศึกษาผู้ป่วยจริงนะคะ

จากบันทึกจิตเภทฝึกกิจกรรมบำบัดความล้า ดิฉันได้เรียนรู้

- การประเมินสุขภาวะของการทำงานของสมองสองซีกในกิจกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งได้ผลออกมาที่สามารถนำไปวางแผนการบำบัดรักษาต่อไป ซึ่งเป็นการประเมินที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นการเชื่อมโยงเอาการทำงานของสมองมาแปลผล ประสิทธิภาพการทำงานในการดำเนินชีวิต และนอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้การให้คำปรึกษาทางกิจกรรมบำบัดที่สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ คุณภาพที่ดีในชีวิตของผู้รับบริการ

- การใช้ Relaxation ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเทคนิค CBT เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย โดยการหายใจเข้าทางจมูกออกทางปาก

- ได้เรียนรู้การประเมินต่างๆทางจิตสังคม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดรักษาผู้รับบริการ

ดิฉันคิดว่าในอนาคตข้างหน้านั้นการประเมินต่างๆที่ได้เรียนรู้ข้างต้นจะสามารถแก้ปัญหา และช่วยบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการที่มีความล้า และฟื้นฟูให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข ^^

จากบทความดีๆบทนี้ หนูได้เรียนรู้วิธีการจัดการความล้าในผู้ป่วยจิตเภทเพิ่มเติม ได้รู้จักการประเมินอีก3แบบและการนำผลของการประเมินเหล่านั้นไปใช้ หากในอนาคตได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลที่คล้ายๆกันนี้ จึงคิดว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางเลือกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขอขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท