โครงการสังคมไทยคืนครูดีให้ศิษย์ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน(โครงการ “ครูสอนดี”)ของ สสค.


โครงการนี้เน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของประชาคมทั้ง 5 ภาคส่วน การสรรหาและคัดเลือกครูสอนดี ไม่เน้นการประเมินจากเอกสาร แต่ใช้กระบวนการทางสังคมจากหลายภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น เป็นผู้สรรหา นำเสนอ และมาร่วมพิจารณาคัดเลือกกัน

        ผมอยากจะเล่าถึงโครงการหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเป็นวุฒิอาสาเข้าไปช่วยด้วยใจ คือ  “โครงการสังคมไทยคืนครูดีให้ศิษย์ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน”  ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า โครงการ “ครูสอนดี” ของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน เรียกย่อๆว่า สสค. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง
        
       คุณสมบัติ  ของครูสอนดีตามโครงการนี้ จะต้อง “สอนเป็น  เห็นผล  คนยกย่อง”  โดยต้องผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้าทางการศึกษา ทั้ง 2 ระดับ  คือระดับท้องถิ่น  และระดับจังหวัด  คณะกรรมการทั้ง 2 ระดับ เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง  เพื่อระดมพลังความร่วมมือจาก 5 ภาคส่วน  ได้แก่  ภาคท้องถิ่น  ภาคเอกชน  ภาคประชาสังคม  ภาครัฐ  และภาควิชาการ  ในการเฟ้นหาครูสอนดีจากท้องถิ่นของตน
         กระบวนการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 2 ระดับ เพื่อคัดเลือกครูสอนดีและผู้รับทุนครูสอนดี  ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ
         1.การสรรหา  จาก 2 ช่องทางคือ  สถานศึกษา โดยภาคี 4 ฝ่าย(ผู้บริหาร เพื่อนครู  ผู้ปกครอง  และนักเรียน)  ร่วมกันเสนอชื่อครูสอนดีในสถานศึกษาไปยังคณะกรรมการระดับท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(เขต เทศบาล/อบต.)จะเป็นผู้เสนอชื่อครูที่สอนเด็กด้อยโอกาสนอกสถานศึกษาและครูที่สอนการศึกษาทางเลือก  รวมทั้งองค์กรสาธารณประโยชน์ที่จัดสอนเด็กด้อยโอกาสสามารถเสนอชื่อให้เขต เทศบาล/อบต.พิจารณาได้
        2.การคัดเลือก  โดยคณะกรรมการระดับท้องถิ่น พิจารณาคัดเลือกและเสนอชื่อไปยังคณะกรรมการระดับจังหวัด  จากนั้นคณะกรรมการระดับจังหวัดกลั่นกรองและพิจารณารายชื่อครูสอนดีที่คณะกรรมการระดับท้องถิ่นส่งมา  รวมถึงการคัดเลือกครูผู้รับทุนครูสอนดี  เสนอไปยังคณะกรรมการส่วนกลาง  เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนประกาศรายชื่อครูสอนดี และครูผู้รับทุนครูสอนดีรอบแรก
       3. การตรวจสอบและยืนยันรายชื่อ  คณะกรรมการระดับท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ทักท้วงผลการคัดเลือกครูสอนดี และคณะกรรมการระดับจังหวัดเปิดโอกาสให้ทักท้วงผลการพิจารณาผู้รับทุนครูสอนดี เพื่อพิจารณากลั่นกรองอีกครั้ง   จากนั้นจึงส่งไปยังคณะกรรมการส่วนกลางเพื่อกลั่นกรองและประกาศรายชื่อในรอบสุดท้าย
          โครงการนี้กำหนดไว้เบื้องต้น 3 ปี ในปี 2554 ซึ่งเป็นปีแรกจะได้ครูสอนดี จำนวน 20,000 คน ได้รับเงินคนละ 10,000 บาท  และได้รับทุนครูสอนดี จำนวน 600 ทุน ซึ่งจะได้รับเงินทุนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนใน 3 ปี คนละ 500,000 บาท
          จากการที่ผมได้เข้ามามีส่วนร่วมโครงการนี้ โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ(วุฒิอาสา)ติดตามการดำเนินงานโครงการครูสอนดี  ประจำภาคใต้ และได้ไปเยี่ยม แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะกรรมการระดับท้องถิ่น  ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้   ได้พบข้อสังเกตบางประการ  กล่าวคือ  เนื่องจากโครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการ และมีวัฒนธรรมการดำเนินงานแตกต่างไปจากโครงการอื่นๆที่ผ่านมา  จึงอาจมีปัญหาด้านการสื่อสารสร้างความเข้าใจกันบ้าง โดยโครงการนี้ส่วนกลางจะกำหนดเพียงหลักเกณฑ์และแนวดำเนินการเป็นกรอบกว้างๆ แล้วกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติได้ตามบริบทของจังหวัดหรือท้องถิ่นของตนเองได้อย่างยืดหยุ่น และร่วมกันวางแผนดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ 
         จุดเด่นที่ผมพบก็คือ โครงการนี้เน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของประชาคมทั้ง 5 ภาคส่วน  การสรรหาและคัดเลือกครูสอนดี ไม่เน้นการประเมินจากเอกสาร  แต่ใช้กระบวนการทางสังคมจากหลายภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น  เป็นผู้สรรหา นำเสนอ และมาร่วมพิจารณาคัดเลือกกัน  โดยมีความเชื่อว่า  คนในท้องถิ่นย่อมรู้จักครูในท้องถิ่นของตนได้ดีที่สุด 
             ด้วยกระบวนการสรรหาและคัดเลือกที่เป็นมิติใหม่ดังกล่าว  เมื่อผมไปเยี่ยมจังหวัดและท้องถิ่นใด  ก็จะได้รับการยอมรับ สนับสนุน จากภาคประชาสังคม และมีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ  อยากให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี  บ้างก็เสนอแนะให้ใช้กระบวนการเช่นนี้ประเมินครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเลื่อนวิทยฐานะด้วย   หลายท้องถิ่นคิดต่อยอดโครงการนี้ลงในแผนปฏิบัติการปกติของท้องถิ่น และเชื่อมโยงขยายผลไปสู่การยกย่องครูและการพัฒนาครูในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง  
           เห็นหน่วยงานและสังคมทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญในการยกย่องเชิดชูคุณครู เพื่อให้เป็นแบบอย่างและให้ครูมีกำลังใจในการอบรมสั่งสอนศิษย์แล้ว ...ช่างป็นเรื่องที่น่าชื่นใจจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 455246เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ชอบจังเลย ค่ะ สอนเป็น บางท่านเก่งแต่ถ่ายทอดไม่เก่ง

เห็นผล ก็คงดูลูกศิษย์...คนยกย่อง ...ใช่ค่ะ...

 

ศิษย์ดีสะท้อนครูดี ผลผลิต(กรรม)คือตัววัด การกระทำคือการสอนดี สอนให้เด็กเป็นคนดี (ฉลาดไม่ใช่เก่งอย่างเดียว)เป็นผลเมืองดี มีความรับผิดชอบ รู้หน้าที่ รู้จักความพอดี ครูจึงเป็นแม่แบบค่ะ สรุปครูสอนดีต้องให้ลูกศิษย์หลายๆรุ่นเป็นผู้ประเมินค่ะ

พิมพ์เขียวพิมพ์นิยมพิธีกรรมบนกระดาษ ใช้ได้ก็แค่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ ยิ่งมีรางวัลเป็นตัวล่อก็พอจะคาดเดาได้  ไม่ยากถ้าอยากรู้ว่าครูคนไหนในโรงเรียน เป็นครูสอนดีค่ะ

เนื่องจากโครงการนี้เป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานแนวใหม่ และเพิ่งเริ่มดำเนินการปีแรก จึงมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร สร้างความเข้าใจในทุกท้องถิ่นให้ทั่วถึงอยู่บ้าง แต่เมื่อเราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็เกิดความเข้าใจและเกิดตวามตระหนัก ทุกภาคี ทุกภาคส่วนต่างกระตือรือร้นที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม ที่สถานศึกษาพอใจมากอย่างหนึ่งคือการสรรหาและคัดเลือกแบบนี้จะไม่เน้นจากการเขียนเอกสาร เหมือนที่ผ่านๆมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท