คนไทยไปนาซ่า...มักบ้าบ้า


คนไทยส่วนใหญ่ได้ข่าวใครเคยทำงานนาซ่าเป็นบูชาว่าเป็นพหูสูตด้านดาราศาสตร์ไปเสียหมด คนที่ได้รับการบูชาบางคนก็เลยสวมรอยสมอ้างไปเลย ทั้งที่อาจทำงานเป็นนักบัญชี หรือ สถาปนิก

ความเห็นข้าพเจ้าต่อหายนะโลก 2012

 

ขณะที่เขียนนี้ ๓ พค. ๒๕๕๔ เมื่อสัก 2 ปีก่อน มีนักศึกษา 3 คนเข้ามาหาผม มาถามว่าปีคศ. 2012 โลกาจะวินาศจริงหรือไม่ พวกเขาเชื่อว่าผมคงให้คำตอบได้เพราะได้ยินว่าเคยทำงานกับนาซ่า  

 

ผมแอบอมยิ้มในใจว่าคนไทยเรานี่มันซื่อจริงๆ ไม่ถามก่อนว่าผมทำงานอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำกะนาซ่าจริง หรือว่า ทำกะอาจารย์ในมหาลัยที่ได้ทุนมาจากนาซ่า แล้วก็เอามาโอ่กันว่า "ทำงานกะนาซ่า" ๕ห้า5

แม้ว่าทำงานกะนาซ่าจริง ก็อาจจะเป็นนักบัญชี หรือโภชนากรให้นาซ่าก็เป็นได้ จะมีความรู้อะไรเรื่องหายนะโลกที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศไหม...ไม่เคยถาม เอาเป็นว่าทำงานกะนาซ่าต้องรู้เรื่องอวกาศ มนุษย์ต่างดาวไปหมดทุกคน ๕๕๕

  แต่ความจริงแล้วผมเป็นวิศวกรวิจัย (research engineer) เรื่องเครื่องยนต์ยานอวกาศและเครื่องบินเหนือเสียง ซึ่งก็ไม่รู้อะไรเรื่องดวงดาวอยู่ดีน่ะแหละ

 องค์การนาซ่ามีพนักงานประมาณ 20,000 คน กระจายอยู่ตามศูนย์ต่างๆทั่วประเทศประมาณ 7 ศูนย์ ในจำนวนนี้ 3 ศูนย์เป็นศูนย์วิจัย (research center)  ผมโชคดีที่ได้ไปทำงานอยู่ 2 ใน 3 ศูนย์วิจัยนี้มาแล้วด้วย คือ ศูนย์วิจัยแลงรีย์ในเวอร์จิเนีย (ซึ่งเป็นศูนย์ที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดด้วย) ทำอยู่ 7 ปี จากนั้นไปทำที่ศูนย์วิจัยเลวิสในรัฐโอไฮโอ ทำอยู่อีก 5 ปี

 จากพนักงานทั้งหมดจำนวน 20000 นี้ประมาณเพียง 5000 คนเท่านั้นที่เป็นนักวิจัย ที่เหลือเป็นพวกนักบริการ เช่น ภารโรง ธุรการ การเงิน  นักบัญชี พวกนักเชื่อมโลหะ ไปจนถึงพวกเตรียมการปล่อยจรวด (ส่วนคนขับรถนั้น นาซ่าไม่มีจริงๆ ผอ. ศูนย์วิจัยก็ต้องขับรถเอง)

 ส่วนนักวิจัยนาซ่าด้านดวงดาวผมประมาณว่าไม่น่าถึง  2% ของนักวิจัยทั้งหมด (หรือไม่ถึง 100 คน)  แต่คนไทยส่วนใหญ่ได้ข่าวใครเคยทำงานนาซ่าเป็นบูชาว่าเป็นพหูสูตด้านดาราศาสตร์ไปเสียหมด  คนที่ได้รับการบูชาบางคนก็เลยสวมรอยสมอ้างไปเลย ทั้งที่อาจทำงานเป็นนักบัญชี หรือ สถาปนิก

 ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้คืองานวิจัยส่วนใหญ่ ประมาณ 70% ของนาซ่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอวกาศเลย แต่เกี่ยวข้องกับ”อากาศ” เสียมากกว่า ดังชื่อขององค์กรก็มีคำว่า aeronautic มาก่อนคำว่า space เสียอีก หมายความว่านาซ่าทำงานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องบินอากาศ มากกว่า ยานอวกาศนั่นเอง  (NASA = National Aeronautic and Space Administration)

 อารัมภบทด้วยความอัดอั้นสะสมเสียนาน วกกลับมาเรื่องโลกาวินาศ โดยส่วนตัว (ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับนาซ่า)  ผมไม่เชื่อเรื่องหายนะโลก 2012 นี้มาแต่ได้ยินมันเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ...ไม่เชื่อโดยสิ้นเชิง เหตุผลผมบางประการคือ

 1)      โลกเราอยู่ดีๆ มาหลายพันล้านปี ก่อนแต่จะมีสัตว์เซ็ลเดียว ทำไมจู่ๆจะมาล่มสลายเพียงเพราะการทำนายทายทักของคนที่เป็นใครก็ไม่รู้ ที่วิวัฒนาการมาจากเถ้าธุลีเหล่านั้น สมองของเขาจะมาฉลาดเกินธรรมชาติที่เป็นต้นกำเนิดแห่งเขาไปได้ขนาดนั้นเจียวหรือ จะไม่โอหังเกินธรรมชาติไปหน่อยหรือ ว่าไปแล้วคำทำนายทำนองนี้มีมามากหลายแล้วในอดีต และก็ทำนายผิดมานับสิบครั้งแล้ว

2)      แม้ไม่ได้เรียนดาราศาสตร์ แต่ก็คะเนได้ไม่ยากนักหรอกว่า จักรวาลเรานี้มีมวลสารอยู่ไม่น่าถึง 1 ใน  ล้านล้านส่วน  ที่เหลือเป็นช่องว่าง (void)   ดังนั้น การที่มวลสารจะวิ่งผ่านช่องว่างมาชนกันได้นั้น โดยหลักสถิติ ผมว่ามันยากยิ่งกว่าซื้อลอตเตอรี่แล้วถูกรางวัลที่ 1  3 ครั้งซ้อนเสียอีก (นี่ว่าแบบว่าซื้อด้วยเลขเด็ดจากอาจารย์ดังแล้วด้วยนะ)

3)      แม้ว่ามวลสารใดจะวิ่งเข้าชนโลกมันก็ยังต้องแหวกม่านอากาศของโลกเข้ามาด้วยความเร็วสูง ซึ่งจะเกิดการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลกจนเกิดความร้อนมหาศาลจนเผาไหม้มันเป็นจุลไปเสียก่อน ดังเช่นที่ลูกอุกาบาตทั้งหลายในอดีตได้พบประสบมาแล้ว

4)      เรื่องสนามแม่เหล็กโลกปั่นป่วนนั้น ให้ใช้เหตุผลตามข้อ 1

5)      เรื่องภัยพิบัติธรรมชาติทั่วโลกในปีนี้ที่มีมากหลายแห่งนั้น อธิบายได้ด้วยหลักการความยุ่งเหยิงธรรมดา กล่าวคือ ภูมิอากาศของโลกเรานี้มันแปรปรวนได้เสมอ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ไม่ต่างอะไรกับตลาดหุ้น หรือ อารมณ์ของมนุษย์ แต่ในภาพรวมแล้ว มันไม่หลุดไปจากกรอบมากนักหรอกครับ อุปมาดังคนขับรถ ก็มีตกถนนไปบ้าง ด้วยหลากหลายสาเหตุ แต่คนส่วนใหญ่ก็ผ่านไปถึงจุดหมายได้

 

สุดท้ายขอให้ทุกท่านทำใจเถอะครับ อย่าไปกังวลเกินเหตุ ถ้ากลัวนักก็ให้ทำดีไว้เป็นพอ ถ้ามันไม่เกิด เราก็ได้ทำดีแล้ว ก็เป็นบุญกับตัวเอง  ถ้ามันเกิดจนเราตายหมดโลก ทำดีไว้ก็ไม่เสียหลาย ถ้าสวรรค์มีจริงก็ได้ไปสวรรค์ ถ้ามีไม่จริงก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากไปกว่านั้น

 

....คนถางทาง

หมายเลขบันทึก: 455132เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2011 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบบันทึกแบบนี้ครับ

ให้ได้วิเคราะห์กับสิ่งที่เราได้พบครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท