โครงสร้างของกฎบัตรอาเซียน


โครงสร้างของกฎบัตรอาเซียน

โครงสร้างของกฎบัตรอาเซียน

โครงสร้างของกฎบัตรนี้ ประกอบด้วย อารัมภบทและข้อบังคับ 55 ข้อใน 13 หมวด

หมวด 1 วัตถุประสงค์และหลักการ – กล่าวถึงวัตถุประสงค์และหลักการ

หมวด 2 สภาพบุคคลตามกฎหมาย – ระบุฐานะทางกฎหมาย

หมวด 3 สมาชิกภาพ – อธิบายสมาชิก การรับสมาชิกใหม่

หมวด 4 องค์กร – กล่าวถึงองค์กรและทำงานประกอบด้วย ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีประสานงาน คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ องค์กรรัฐมนตรีเฉพาะสาขา คณะกรรมการถาวรประจำอาเซียน เลขาธิการและสำนักเลขาธิการ องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน

หมวด 5 องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน – มีรายชื่อตามภาคผนวก 2

หมวด 6 ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ – เอกสิทธิ์ทางการทูตของอาเซียน

หมวด 7 การตัดสินใจ – กล่าวถึงเกณฑ์การตัดสินที่อยู่บนหลักการปรึกษาหารือและฉันทามติ

หมวด 8 การระงับข้อพิพาท – กล่าวถึงวิธีระงับข้อพิพาทและคนกลาง โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นช่องทางสุดท้าย

หมวด 9 งบประมาณและการเงิน – กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณของสำนักเลขาธิการ

หมวด 10 การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน – กล่าวถึง ประธานอาเซียน พิธีการทางการทูต ภาษาทำงาน

หมวด 11 อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ - กล่าวถึงคำขวัญ ธง ดวงตรา วันและเพลงอาเซียน

หมวด 12 ความสัมพันธ์ภายนอก – กล่าวถึงแนวทางและขั้นตอนการเจรจาของอาเซียนกับคู่เจรจา

หมวด 13 บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย – กล่าวถึงการบังคับใช้

ภาคผนวก 1 – กล่าวถึงองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา

ภาคผนวก 2 – กล่าวถึงองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน คือ รัฐสภา องค์กรภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม

ภาคผนวก 3 – อธิบายรายละเอียดธงอาเซียน

ภาคผนวก 4 – อธิบายรายละเอียดดวงตราอาเซียน

สาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน

ตามกฎบัตรนี้ อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล

วัตถุประสงค์ ของกฎบัตรเป็นการประมวลบรรทัดฐาน (Norm) และค่านิยม (Value) ของอาเซียนที่สรุปได้ดังนี้

ภาพรวมของประชาคมอาเซียน การรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ การเพิ่มความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

ด้านเศรษฐกิจ สร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวและความสามารถในการแข่งขันสูง การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีของสินค้า/บริการ การลงทุนและแรงงาน การเคลื่อนย้ายทุนเสรียิ่งขึ้น

ด้านความมั่นคงของมนุษย์ บรรเทาความยากจน และลดช่องว่างการพัฒนา ส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ

ด้านสังคม ส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างสังคมที่ปลอดภัยมั่นคงจากยาเสพติด เพิ่มพูนความกินดีอยู่ดีของประชาชนอาเซียน ผ่านโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์, สวัสดิการ และความยุติธรรม

ด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คุ้มครองสภาพแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

ด้านวัฒนธรรม ส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนโดยเคารพความหลากหลายและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

ด้านการเมืองความมั่นคง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม ตอบสนองต่อสิ่งท้าทายความมั่นคง เช่น การก่อการร้าย

หลักการ ของกฎบัตรนี้ อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การไม่แทรกแซงกิจการภายใน การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี สิ่งที่เน้นหนักคือ การรวมศูนย์กับความสัมพันธ์กับภายนอก จึงทำให้กฎบัตรนี้เป็นเสาหลักของการสร้างประชาคมอาเซียนและตอกย้ำถึงข้อผูกมัดทางกฎหมายของข้อตกลงอาเซียนต่างๆ

กลไกของอาเซียน ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นองค์สูงสุดในกำหนดนโยบายของอาเซียน โดยมีการประชุมสุดยอดปีละ 2 ครั้ง มีคณะมนตรีประสานงานอาเซียนที่มาจากรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้บริหารงานทั่วไป และคณะมนตรีประชาคมอาเซียนดำเนินการตามพันธะกรณีในแต่ละสาขา เลขาธิการเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำหรับการติดตามความคืบหน้าในกิจการต่างๆของอาเซียน รวมทั้งมีคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน

การบริหารงาน ประธานอาเซียนดำรงตำแหน่งวาระ 1 ปี และประเทศที่เป็นประธานอาเซียนจะรับตำแหน่งประธานของกลไกของอาเซียนทุกตำแหน่ง อาทิ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน มนตรีประสานงานอาเซียน มนตรีประชาคมอาเซียนคณะต่างๆ ประธานผู้แทนถาวรประจำอาเซียน

จากกำหนดให้มีการประชุมสุดยอดปีละ 2 ครั้งแสดงว่า อาเซียนกำลังปรับให้ที่ประชุมสุดยอดให้มีบทบาทเชิงบริหารอย่างใกล้ชิดกับการปฏิบัติงานมากขึ้น แทนที่จะให้ที่ประชุมสุดยอดเป็นเพียงพิธีกรรมทางการทูต รวมทั้งการบริหารงานที่ทำให้มีสอดคล้องกับประธานอาเซียนย่อมแสดงถึงความพยายามเพิ่มสมรรถนะขององค์กรในด้านประสิทธิผลของคณะทำงานด้านต่างๆมากขึ้น

ข้อบังคับที่น่าสนใจคือ การให้มีองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างข้อบังคับโดยคณะทำงานระดับสูง ขณะที่ บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก ทำให้สามารถคาดหวังองค์กรนี้ในฐานะเวทีของการเรียกร้องสิทธิและสร้างพื้นที่ต่อการรับรู้จากสาธารณะ

อ้างอิง
ประชาไท, เปิดร่าง ‘กฎบัตรอาเซียน’ (ที่ร่างกัน 10 คนจาก 10 ประเทศอาเซียน),
          9 พฤศจิการยน พ.ศ. 2550
ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ, thaiindy.org, กฎบัตรอาเซียน, 10 ธันวาคม 2551

หมายเลขบันทึก: 454581เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท