Tablet PC เทคโนโลยีที่กำลังจะคืบคลานเข้าสู่มือเด็กไทย


รัฐบาลใหม่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้เด็กๆได้ใช้ Tablet PC อุปกรณ์หน้าตาคล้ายกระดานชนวนในยุคก่อน แต่เก่งกว่าเยอะ นัยว่าเพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ได้คิดจะคัดค้านอะไร แต่ก็อดคิดถึงอะไรๆหลายๆอย่างที่อาจเป็นผลพวงที่ประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ อันเกิดจากการใช้เจ้ากระดานชนวนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นนี้ไม่ได้..

Tablet PC จัดว่าเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดย่อม ที่สามารถพกติดตัวไปไหนๆได้อย่างสบายๆ ในเมืองไทยเราก็รู้จักกันในยี่ห้อ iPad, Sumsung Galaxy และอีกหลายๆยี่ห้อก็กำลังทยอยตามมา ดังรูป

เห็นแล้วก็เชื่อว่าหลายคนคงน้ำลายไหล อยากได้กับเขาบ้าง ผู้เขียนเองก็เช่นกันครับ ไม่ปฏิเสธ

แต่ก่อนอื่น เพื่อความเป็นธรรมก็อยากจะนำ vdo clip โฆษณา Tablet PC ของบริษัทหนึ่งในต่างประเทศ ที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนมาให้ท่านดูว่าเขาใช้สอนเด็กๆกันอย่างไรบ้าง

 

ดู vdo clip นี้แล้ว ก็รู้สึกอยากให้เด็กไทยเรา ได้มีโอกาสแบบเด็กฝรั่งเขาบ้าง แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องระมัดระวังด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นของใหม่ของเรา หากเราเชื่อว่าทุกอย่างล้วนเป็นดาบสองคม การใช้ Tablet PC นี้ ก็เช่นกัน

ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอประเด็นบางประการที่คิดได้ ดังนี้

1. หากใช้กับเด็กชั้น ป.1 จะเป็นการเร็วไปหรือไม่ เพราะเด็กวัยนี้ต้องการ การพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นบางเรื่อง เช่น ทักษะการเขียนด้วยลายมือ จริงอยู่แม้เจ้า Tablet ตัวนี้จะมีโปรแกรมให้เขียนได้ก็จริง แต่ความรู้สึกสัมผัสในการเขียนก็ยังไม่เหมือนการเขียนบนกระดาษ ขณะเดียวกันการใช้ tablet ส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้นิ้วแตะ หรือการใช้ปากกา stylus (ปากกาสัมผัสหน้าจอ) จิ้ม มากกว่า ดังนั้นผู้เขียนก็รู้สึกกังวลว่า tablet นี้ จะเข้ามาขัดขวางพัฒนาการ การใช้กล้ามเนื้อของเด็กหรือไม่

2. ปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน เพราะมีโปรแกรมสำเร็จรูปออกมาให้ใช้มากมาย ซึ่งล้วนแต่พยายามทำให้ใช้งานง่ายขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการที่เราคิดว่าควรให้เด็กเล็กๆได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเหล่านี้แต่เยาวัยนั้น เพื่อให้เขาได้เรียนรู้วิธีใช้แต่เนิ่นๆนั้น ผู้เขียนกลับรู้สึกมองเห็นอีกมุมหนึ่งว่าไม่จำเป็น เพราะความง่ายของ software หรือที่มักเรียกกันว่า Apps (Application) นั้น เด็กๆยุคนี้ได้สัมผัสเมื่อไร ก็ใช้เป็นเกือบจะทันที ดังนั้นเด็กวัย ป.1 จึงควรใช้เวลากับการพัฒนาความตื่นตัวและทักษะของกล้ามเนื้อต่างๆ การเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหรือสิ่งแวดล้อม การได้สัมผัสของจริงหรือประสบการณ์จริง การอ่านหนังสือเล่ม ฯลฯ มากกว่าการคอยจ้องแต่หน้าจออย่างเดียว

3.ปัญหาความพร้อมของตัวเครื่อง (Hardware) นั้น ผู้เขียนไม่กังวล เพราะรัฐบาลตั้งใจจะซื้อแจกเด็กอยู่แล้ว แต่ที่เป็นห่วงก็คือ Software หรือ Apps ที่เป็นภาษาไทยทั้งหลาย เรามีแผนเตรียมความพร้อมด้านนี้เพียงใด หากต้องใช้จริง เราต้องมี Apps ที่มีจำนวนมากและครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยที่ยังไม่ได้พูดถึงคุณภาพของ Apps ที่จะนำมาให้เด็กใช้เลย

4.การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนและครู เพราะตรงนี้เป็นฐานสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้ใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า หากครูมีความพร้อม มีแผนการสอนที่รองรับ Tablet PC และโรงเรียนมีความพร้อมด้านการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายแล้ว ก็จะช่วยให้นโยบายนี้มุ่งสู่เป้าหมายได้ แต่ดูเหมือนประเด็นนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียนในชนบทห่างไกล ซึ่งผู้เขียนได้ยินคำให้สัมภาษณ์ของ รมต.ศึกษาคนใหม่ว่า จะให้กับนักเรียนและโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจกลายเป็นการถ่างช่องว่างของความเสมอภาคทางการศึกษาให้มากขึ้นก็เป็นได้

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางประเด็นเท่านั้น หากท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไร ก็ลองมาช่วยกันคิด ช่วยกันบอกกล่าว เพื่อว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา จะได้ไม่เป็นการสูญเปล่าครับ..

คำสำคัญ (Tags): #tablet#แท็บเล็ต
หมายเลขบันทึก: 454478เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ดีใจที่รัฐบาลมองเห็นความสำคัญและมีความตั้งใจพัฒนาทักษะการเรียนรู้

แต่จะเร็วเกินไปหรือไม่ เหมือนดังอาจารย์ว่า  เพราะปัจจุบันนี้เด็กไทยก็เริ่มมีปัญหาในเรื่องของการอยู่ร่วมกันกับสังคมอยู่แล้ว แต่ละคนมักอยู่กับจอคอมพ์

ถ้าให้กับคนที่พร้อมก่อน  แล้วคนที่ยังไม่พร้อมเขาจะได้พัฒนาอะไรเพิ่มเติมเพื่อเป็นการชดเชยกับโอกาสที่เขาขาดหายไปหรือไม่

หรือเพื่อเป็นการไม่เหลื่อมล้ำ  แจกให้กับทุกโรงเรียน  แล้วโรงเรียนที่อยู่ไกลจากสัญญาณละ จะใช้อย่างไร 

ใช่แล้วครับ การที่รัฐคิดจะแจกอะไรให้ประชาชน จำเป็นต้องมองอย่างรอบด้าน และอุดปัญหาที่จะเกิดตามมา มิฉะนั้นสิ่งที่ให้ไปก็อาจเป็นเพียงขยะในตู้เก็บของ โดยเฉพาะในเรื่อง tablet นี้ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมให้พร้อม เพราะไม่เช่นนั้น tablet pc ก็อาจกลายเป็นกระดานชนวนธรรมดาเท่านั้นเองครับ

ฟังรัฐมนตรีศึกษาฯให้สัมภาษณ์รายการคมชัดลึกวันก่อน รู้สึกวังเวงพิกล เพราะดูเหมือนท่านจะยังไม่มีแนวทางชัดเจน ในการแจก tablet pc ให้นักเรียน บอกแต่เพียงว่าโรงเรียนไหนพร้อมก็ให้ก่อน ครั้งพอถามถึงเรื่องเนื้อหาการเรียนใน tablet กับความปลอดภัยที่เด็กจะพกติดตัวไปไหนๆ และการที่เด็กอาจเปิดดูเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ กลับบอกว่าต้องให้ครูเป็นผู้ดำเนินการและคอยควบคุม แต่ก็ยังไม่มีแนวทางว่าเราจะเตรียมครูกันอย่างไร ครูจะควบคุมกันไหวหรือไม่ รวมทั้งการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับกันอย่างไร และที่น่าแปลกก็คือ บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยดูเหมือนจะเห็นชอบที่จะให้แจกเหลือเกินครับ หรือเป็นเพราะว่า รมต.บอกจะให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ประกอบ tablet ให้เด็ก คิดถึงงบก้อนโตก็เลยอือออกับท่าน รมต.ไปด้วยหรือเปล่า เรื่องนี้ไม่ใช่เด็กเล่นขายของนะครับ ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปมากแล้ว ก็โครงการที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมมาก่อน แล้วมาถึงเรื่องนี้ก็ยังจะรีบทำ โดยไม่เตรียมอะไรเลยหรือครับ ท่านไม่คิดหรือว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรกับเยาวชนของชาติบ้าง

ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับวาระแห่งชาติก็ว่าได้ เพราะเรากำลังจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน แบบเปลี่ยนโฉมหน้ากันเลยทีเดียว รัฐฯจึงควรวางแผนระยะยาวเป็นลำดับขั้น เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้กับครู การวางโครงข่าย wifi ให้ทั่วถึง การจัดเตรียมและออกแบบ apps เพื่อการเรียนรู้ให้ครบทุกกลุ่มวิชา การวางระบบความปลอดภัยและป้องกันเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ การฝึกอบรมวิธีการสอนด้วย tablet และควรมีการทดลองใช้ในบางโรงเรียนก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิด ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 4-5 ปี รัฐฯไม่ควรผลีผลามทำเพียงเพื่อเอาใจผู้ลงคะแนนเสียง แต่ต้องใช้สติปัญญาและข้อมูลให้มากๆหน่อย จะดีกว่าครับ..

เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆเหมือนแจกของเล่นให้เด็ก เหมือนแจกผ้าห่มให้คนชนบท (แม้แจกผ้าห่มให้ฟรี ก็ยังมีปัญหาว่าสร้างการพัฒนาแบบพึ่งพิงมากเกินไป) ผมเห็นด้วยกับ ดร.สมบูรณ์ในทุกประเด็นครับ แต่อยากเสริมเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมในชั้นเรียนที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผมคิดว่าเด็กประถมจำต้องเรียนรู้เรื่องวินัยจากการทำงานเป็นกลุ่ม เด็กจะเรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำงานเป็นทีมยังไง แท็บเบล็ดเป็นการเรียนรู้ที่แยกออกมาสู่ปัจเจกอย่างเห็นได้ชัด เป็นไปได้ไหมว่าเด็กจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น แล้วครูจะสัมพันธ์กับเด็กยังไง หรือความอบอุ่นแบบครู-ศิษย์จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องสี่เหลี่ยมเล็กๆไปแล้ว คุณค่านี้ถ้าหายไป อะไรจะมาทดแทนได้

บ่ายวันนี้ (5 ก.ย.54) ผมก็กำลังจะไปร่วมประชุมเรื่องนี้กับ สสส. ที่ รร.เอเชีย กทม. ได้ความอย่างไรจะมาเล่าสู่กันทีหลังครับ

ดีเลยครับ มีข้อสงสัยอะไร ก็ถามให้ละเอียดไปเลย แล้วมาแชร์ให้ฟังกันนะครับ

ในประเด็นของคุณยอดดอยนั้น น่าสนใจครับ และผมเห็นด้วย เด็กๆควรได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมและถูกทาง ตามพัฒนาการของวัย ไม่ใช่ไปใส่ยาเร่ง แถมเป็นยาเร่งที่ดูจะมีผลข้างเคียงมากด้วย ผมคิดว่าเรื่องนี้ ที่จริงก็เป็นแค่นโยบายที่ใช้เพื่อการหาเสียงเท่านั้น แต่เมื่อชนะเลือกตั้งแล้วก็ต้องทำจริง ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกล่าวหาว่าหลอกประชาชน แต่พอจะทำจริงๆ ก็ติดขัดเรื่องข้อมูล องค์ความรู้หลายๆอย่าง พอมีหลายคนทักก็หันรีหันขวาง สังเกตได้ว่าตัวท่าน รมต. มักตอบแบบไร้ข้อมูล ไร้หลักการองค์ความรู้ และไร้การเตรียมการใดๆ ซึ่งที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนไปมาก ดังนั้น รัฐบาลที่ดี ที่เก่ง ควรจะต้องทำการศึกษา และวางแผนเตรียมการให้เป็นขั้นตอน จะดีกว่าที่จะมาเร่งทำกันแบบขอไปที นี่ก็ได้ข่าวว่า รมต. บอกว่า อาจให้เด็กเก็บ tablet pc ไว้ที่โรงเรียน เพื่อป้องกันการถูกแย่งชิงจากมิจฉาชีพ ภาระก็ต้องไปตกกับครูและ ผอ. ที่จะต้องมาเฝ้าให้อีก แล้วเด็กก็จะไม่มีใช้เวลาทำการบ้านที่บ้าน แสดงให้เห็นว่าในสมองท่าน รมต. แทบจะไม่มีความรู้ หลักการอะไรเลย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ใครกระทุ้งตรงไหน ก็แก้ตรงนั้น น่าเป็นห่วงจริงๆครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท